ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทฤษฎีการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม–เครื่องมือใหม่ในการอนุรักษ์ นักวิชาการเสนอเพิ่มค่าตอบแทนธรรมชาติ

ทฤษฎีการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม–เครื่องมือใหม่ในการอนุรักษ์ นักวิชาการเสนอเพิ่มค่าตอบแทนธรรมชาติ

12 กุมภาพันธ์ 2012


แม้กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะได้รับการตอบรับมานานกว่าสิบปี แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าว จะเติบโตช้ากว่าธุรกิจการค้าและบริการที่ขยายตัวอย่างดุดัน จนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างกว้างขวาง

ที่ผ่านมา การผดุงทรัพยากรธรรมชาติถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักอนุรักษ์ หรือหน่วยงานด้านอนุรักษ์เพียงลำพัง แต่ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งหันเข็มทิศกลับมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง และพบว่าระบบนิเวศไม่ได้ถูกตีมูลค่าอย่างที่มันควรจะเป็น ทำให้การ “ตอบแทน” ความเสียหายอันใหญ่หลวงนี้ไม่ถูกต้องนัก

ผู้ที่อยู่ในแวดวงของการประกอบกิจกรรมดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าไม้ เกษตรกรรมแบบยั่งยืน หรืออุตสาหกรรมสีเขียว กลับไม่ได้รับผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการจูงใจให้เกิดพลังในการรักษาระบบนิเวศ

ตรงกันข้าม ธุรกิจที่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับสิ่งแวดล้อมกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว โดยจ่ายค่าเสียหายเพียงน้อยนิด ขณะที่ภาครัฐเองก็มีงบประมาณจำกัดในการรักษาความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

โมเดลทางเศรษฐศาสร์ล่าสุด เรียกร้องให้มีการตีมูลค่าของระบบนิเวศอย่างเป็นธรรม และก่อกระแสให้ผู้ก่อความเสียหายหรือได้รับประโยชน์ ต้องเป็นผู้ชำระค่าเยียวยาสิ่งแวดล้อม ในทางทฤษฎีที่เรียกว่า Payment for Ecosystem Services หรือ PES

โรเบิร์ต คอนสแตนซ่า พร้อมด้วยนักเศรษฐศาสตร์นานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน ร่วมกันคำนวณมูลค่าของการให้บริการระบบนิเวศทั่วโลก ซึ่งมีรวมกันถึง 3.32 หมื่นล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งโลกต่ำกว่าเกือบเท่าตัว

ในส่วนของประเทศไทย การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศอย่างถูกต้องเหมาะสม และการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ ยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่และเป็นนามธรรม ทั้งที่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โครงการเพิ่มศักยภาพการใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อคงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (Enhancing the Economics of Biodiversity and Ecosystem Services in Thailand/South East Asia หรือ ECO-BEST) จึงเกิดขึ้น โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับทุนสนับสนุนจกสหภาพยุโรป รัฐบาลเยอรมัน และศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมโฮลท์ซ (UFZ) ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ 2554-2558

โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. พัฒนาวิธีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาใช้ในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่กันชน 2. สนับสนุนการอนุรักษ์ในพื้นที่นำร่อง โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 3. พัฒนาศักยภาพของบุคลากร นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเงินทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ

“มูลค่าของเกษตรกรรม ประมง ป่าไม้ คิดเป็นสัดส่วนน้อยนิดของจีดีพี แต่เราพบว่า บริการของระบบนิเวศจากธรรมชาติ เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดมูลค่าจีดีพีในกลุ่มคนยากจน เศรษฐกิจสีเขียวจำเป็นต่อการลดความยากจนและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ระบุ

นางสาวสฤณีมองว่า ที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจยังไม่เข้าใจเกี่่ยวกับแนวคิดเรื่องการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาดูแลระบบนิเวศ เพราะเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองเท่าไหร่ จะมีเฉพาะบางธุรกิจ บางอุตสาหกรรม เช่น บริษัทยา ไบโอเทค เมล็ดพันธุ์ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ที่เริ่มหันมาสนใจต่ออนาคตของความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจหมดไปได้

ปัจจุบัน บริษัทยาจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากพันธุกรรมในระบบนิเวศถึง 60% ของการผลิตทั้งหมด เช่น กรณีของบริษัทโนวาตีส ซึ่งเป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์ธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ระบุในรายงานของบริษัทว่า ความเสี่ยงในการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ทำให้บริษัทต้องร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตยา

TEEB

ในแนวทาง ผลการศึกษาว่าด้วยเศรษฐกิจของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (The Economics of Ecosystems and Biodiversity: TEEB) แนะนำว่า ในอนาคตควรจะมีการปรับปรุง “ดัชนีทางวิทยาศาสตร์” เพื่อวัดผลกระทบและความก้าวหน้าทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน

รวมถึงขยายบัญชีประชาชาชาติ ที่วัดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ให้บันทึกมูลค่าของธรรมชาติไว้ด้วย และมีการประเมินมูลค่าทางจิตใจ หรือดัชนีเศรษฐศาสตร์ความสุข

TEEB ยังมีการเสนอเครื่องมือทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องปฏิรูประบบเงินอุดหนุนจากระบบที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

โดยปัจจุบัน ทั่วโลกมีเงินอุดหนุนภาคเกษตร ประมง พลังงาน ขนส่ง และอื่นๆ รวมกัน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความเสียหายทางธรรมชาติ

นอกจากจะต้องลดเงินอุดหนุนในภาคธุรกิจที่ก่อความเสียหายต่อธรรมชาติแล้ว รัฐต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก ให้รางวัลการอนุรักษ์ด้วยเงินอุดหนุนและกลไกตลาด เช่น Payment for ecosystem services หรือ PES ในระดับท้องถิ่น, มาตรฐานผลิตภัณฑ์, วิถีจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว, ฉลากสินค้า

ขณะที่ภาครัฐ ควรมีการออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ระบบความรับผิดทางกฎหมาย (liability) บนหลัก “ใครก่อมลพิษคนนั้นจ่าย” และหลักการ “คืนทุนทั้งหมด” (full cost recovery)

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรหันมาเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบนิเวศ อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าฝน แนวปะการัง เพื่อบำรุงและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการย้อนกลับมาฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปแล้วหลายเท่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของธรรมชาติในปี 2554 ปรากฎว่าภัยธรรมชาติทั่วโลกก่อความเสียหาย 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตราเพิ่มถึง 200% เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายในช่วงทศวรรษก่อน

ธนาคารโลกประเมินว่า การใช้น้ำใต้ดินเกินขนาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อให้เกิดความเสียหายถึง 0.3% ของจีดีพี และมลพิษในอากาศและน้ำ ก่อให้เกิดความเสียหาย 5.8% ของจีดีพี

การตัดสินใจเชิงนโยบายอาจให้ผลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงถ้ามองผ่านแว่น “ประโยชน์สาธารณะ” ที่รวมมูลค่าเชิงบวกและลบของผลกระทบต่อระบบนิเวศ แทนที่จะมองจากแว่น “กำไรเอกชน” ที่คับแคบกว่า ยกตัวอย่างเช่น จากการศึกษาในไทยพบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของฟาร์มเลี้ยงกุ้งอยู่ที่ 8,340 เหรียญสหรัฐต่อเฮกเตอร์ เมื่อมีการลงทุน เจ้าของฟาร์มจะได้กำไร 1,164 เหรียญสหรัฐต่อเฮกเตอร์ แต่กลับสร้างมลภาวะขึ้น 951 เหรียญสหรัฐ และรัฐต้องใช้เงินฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง 5,656 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ป่าชายเลนสามารถปกป้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งไว้ได้ถึง 34,453 เหรียญสหรัฐ พร้อมอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำได้ 420 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

ปัจจุบัน ประเทศเม็กซิโกใช้ระบบ PES สำหรับบริหารจัดการป่าไม้ทั่วประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายเพื่อกันพื้นที่ป่าไม้บางส่วนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ให้เจ้าของที่ดินสมัครรับค่าตอบแทนแลกกับการดูแลพื้นที่ป่า โดยสัญญาว่าจะไม่ใช้ที่ดินทำการเกษตรหรือปศุสัตว์

ระหว่างปี 2546-2553 มีเจ้าของป่่าไม้ซึ่งเป็นบุคคลและชุมชน เข้าร่วมเป็นสมาชิกของระบบนี้กว่า 3,000 ราย รวมพื้นที่กว่า 2,300 ตารางกิโลเมตร รัฐจ่ายค่าตอบแทนกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ผลลัพธ์ของระบบดังกล่าว สามารถช่วยลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าลงกว่า 1,800 ตารางกิโลเมตร หรือจาก 1.6% เป็น 0.6% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.2 ล้านตัน

นางสาวสฤณีกล่าวว่า ในส่วนของประเทศจีน มีโครงการ Grains–to-Greens Programme (GTGP) หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2541 ซึ่งพบว่าต้นเหตุสำคัญมาจากการเสื่อมสภาพของดินริมฝั่งแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลือง

โดยรัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนชาวนาในภาคตะวันตก 72 เหรียญสหรัฐต่อไร่ เพื่อแปลงที่ดินเกษตรที่ได้ผลผลิตต่ำกลับมาเป็นผืนป่า ผลลัพธ์คือ ในปี 2549 มีการแปลงพื้นที่เกษตรกว่า 1.4 ล้านไร่ กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยยึดหน้าดิน ชะลอการไหลของน้ำ นอกจากนั้นยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้าวูลอง

เทศบาลนิวยอร์ก สหรัฐ จ่ายเงินเจ้าของที่ดินในภูเขา Catskills รวม 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ปรับปรุงเทคนิคการจัดการฟาร์ม กำจัดน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำ แทนที่จะสร้างโรงกรองน้ำราคา 6,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมค่าซ่อมบำรุงปีละ 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลก็คือ ชาวนิวยอร์คจ่ายค่าน้ำประปาแพงขึ้น 9% แทนที่จะแพงขึ้นสองเท่า

ที่ประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้ โดยในปี 2553 เทศบาลเมืองนาโกยา เริ่มให้ “ใบอนุญาตพัฒนาที่ดิน” เปลี่ยนมือได้ เพราะนักพัฒนาที่ดินอยากสร้างตึกสูงกว่าที่กำหนด แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องแลกเปลี่ยนผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยการซื้อและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ที่สุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสียทางธรรมชาติ

ทิวทัศน์ใจกลางเมืองนาโกยา
ทิวทัศน์ใจกลางเมืองนาโกยา ที่มา: http://muza-chan.net/aj/poze-weblog2/nagoya-castle-view-midland-square-big.jpg

ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่มีการดำเนินการเรื่อง PES อย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงโครงการนำร่องของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ริเริ่มการประเมินมูลค่าการให้บริการของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์

โครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบจัดการพื้นที่คุ้มครองหรือ CATSPA (Catalysing Sustainability of Thailand Protected Area System) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) การสร้างแรงจูงใจด้วยกลไกทางการเงินในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ, อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร ในฐานะแหล่งนันทนาการ, ห้วยขาแข้ง ในฐานะแหล่งทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ, เขาชะเมา จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ ตั้งแต่ปี 2552 มีโครงการนำร่อง 84 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยมีเงินกองทุนให้กู้ยืมและใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน

นอกจากนั้น ยังมีโครงการนำร่อง การพัฒนากลไกการตอบแทนสําหรับการป้องกันต้นน้ำโดยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนต้นน้ํา หรือ Developing Payment Mechanism for Water Shed Protection Services and Improved Livelihood of Rural Poor ได้รับการสนับสนุนจาก WINROCK International ดำเนินการศึกษาที่ลุ่มน้ำลาว จังหวัดเชียงราย โดยให้คนในชุมชนซึ่งทำหน้าที่อนุรักษ์ได้ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินประมาณ 900-1,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีเป้าหมายขยายผลของแนวคิดดังกล่าวไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐ

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มี “แคมเปญใหญ่” เพื่อเดินหน้าโครงการจ่ายค่าตอบแทนในการดูแลธรรมชาติอย่างจริงจัง แต่การเริ่มต้นจุดเล็กๆ ของหลากหลายองค์กร ก็เป็นแสงสว่างให้แก่แนวคิดเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


หมายเหตุ: สามารถฟังการบรรยายของ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ พร้อมชมสไลด์ประกอบการบรรยาย ได้จาก slidecast ด้านล่าง: