ThaiPublica > Sustainability > Headline > แม่ฟ้าหลวงเปิดโมเดล “คาร์บอนเครดิต” ร่วมกับก.ล.ต. ดึงเอกชนดูแลป่าไม้ ตั้งเป้า 2 ปีแรก รายได้เข้าชุมชน 135 ล้าน

แม่ฟ้าหลวงเปิดโมเดล “คาร์บอนเครดิต” ร่วมกับก.ล.ต. ดึงเอกชนดูแลป่าไม้ ตั้งเป้า 2 ปีแรก รายได้เข้าชุมชน 135 ล้าน

19 ตุลาคม 2021


มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ ก.ล.ต. เผยความคืบหน้าโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” งบประมาณกว่า 43 ล้าน ร่วมกับภาคประชาชนในป่าชุมชนสี่จังหวัดผลิต ‘คาร์บอนเครดิต’ ชวนภาคธุรกิจรักษาป่าชุมชน ระยะแรกรักษาพื้นที่ 16 ป่าชุมชน รวม 19,611 ไร่ ตั้งกองทุนดูแลป่าชุมชนและกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน คาดรายได้เข้า 16 ชุมชนกว่า 135 ล้าน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงเป้าหมายโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ว่าเป็นโครงการที่มีเป้าหมายร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางระบบการวัดประเมินและจัดการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ในพื้นที่ป่าชุมชน และ ‘สนับสนุนชุมชนให้ดูแลป่า’ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยแนวคิดนี้สามารถดำเนินการได้ทันทีเนื่องจากมีพ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายรับรองการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนแล้ว และมีแรงจูงใจที่เอกชนสามารถนำงบประมาณสนับสนุนโครงการไปลดหย่อนภาษีได้

โครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” เป็นหนึ่งในภารกิจของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับกับสถานการณ์โลกร้อนโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การเตรียมปริมาณคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ให้เพียงพอสำหรับอนาคตเมื่อมีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ และจะส่งผลให้บริษัทเอกชนต่างๆ ต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือหน่วยที่แสดงว่าธุรกิจนั้นๆ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะถูกคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนเครดิต จากนั้นสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับหน่วยงานหรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าหมาย เสมือนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ และเป็นกลไกการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการสะสมคาร์บอนเครดิต

หม่อมหลวงดิศปนัดดากล่าวว่า “ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ปีละสามร้อยกว่าล้านตัน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกกำลังจะกลายเป็นกติกาหนึ่งในการค้าของโลก ซึ่งถ้าเราไม่เร่งแก้ไข ก็จะถูกกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้”

โครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ ดำเนินงานมาแล้ว 15 เดือน (1 ปี กับอีก 3 เดือน) ร่วมกับชุมชนที่รักษาป่า 16 แห่งของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 19,611 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 9,166 คน ถือเป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงจากการรักษาป่าให้สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน 16 แห่งรวม 392,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี

หม่อมหลวงดิศปนัดดาให้ข้อมูลว่า ป่าชุมชนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นอิสระ

“ชุมชนเหล่านี้ได้รับความรู้ในการดูแลป่าเพื่อประเมินเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตไว้แลกเปลี่ยนในอนาคต รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและริเริ่มขึ้น ทำให้การดูแลป่าช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ด้วย ส่วนภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมก็มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพคน สนับสนุนให้ชุมชนรักษาพื้นที่ป่า และได้คาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

โครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 43,144,200 บาท แบ่งเป็น 3 ระยะ

  • ระยะที่ 1 ปี 2563-2564 ดำเนินการในพื้นที่ 16 ป่าชุมชน พื้นที่ป่ารวม 19,611 ไร่ ทางมูลนิธิฯ จะสนับสนุนชุมชนโดยจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลป่าชุมชน และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในช่วงเวลา 3 ปีแรก รวมเป็นเงิน 17,649,900 บาท และสนับสนุนปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชุมชนในช่วง 3 ปีแรก เป็นเงินให้ชุมชนในปีที่ 4 – 6 ของโครงการฯ อีก 17,649,900 บาท
  • ระยะที่ 2 ปี 2564 – 2565 พื้นที่ป่าชุมชนเป้าหมาย 32,500 ไร่ (ประมาณ 33 ป่าชุมชน)
  • ระยะที่ 3 ปี 2565 เป็นต้นไป ขยายผลพื้นที่ป่าชุมชนให้ครบ 150,000 ไร่ ก่อนขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ สู่ป่าชุมชนทั่วประเทศ

ปัจจุบันโครงการยังอยู่ในระยะที่ 1 คาดว่าสร้างความสำเร็จในมิติต่างๆ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านจำนวน 9,166 คน ใน 16 ชุมชน ได้เงินประมาณ 135,675,900 บาท จากเงินกองทุนฯ รวม 300 บาทต่อไร่ ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ค่าแรงในการร่วมวางแปลง T-VER รวมประมาณ 360,000 บาท และรายได้จากคาร์บอนเครดิต รวมประมาณ 117,666,000 บาท ในระยะเวลา 20 ปี

มิติสังคมได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการอพยพกลับภูมิลำเนาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ต่อยอดผลผลิตจากป่าชุมชน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน รวมทั้งได้รับประโยชน์จากป่าและน้ำ

มิติสิ่งแวดล้อมคือลดปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากไฟป่า และในระยะเวลา 20 ปี คาดว่าจะมีคาร์บอนเครดิตทั้งหมด 392,220 ตันคาร์บอน ที่สามารถใช้ในการชดเชย (offset) ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมีแผนขยายโครงการต้นแบบสู่การดำเนินงานอย่างจริงจัง เข้าร่วมกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ประมาณ 32,500 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ระหว่างปี 2564 – 2565 และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 150,000 ไร่ในปี 2566 ทั้งยังประเมินว่าป่าชุมชนดังกล่าวสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและคิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 2.8 ล้านตัน และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวม 840 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ในฐานะพันธมิตรในโครงการนี้มีบทบาทในการเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานอื่นๆ ให้ร่วมวางระบบการจัดการคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการต้นแบบในป่าชุมชนทั้งสี่จังหวัด โดยล่าสุดมีธุรกิจ 7 รายที่เข้าร่วม  ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 2) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด 4) บริษัททีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด และ 7) บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (ข้อมูลวันที่ 18 ตุลาคม 2564)

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการขยายกิจกรรมอนุรักษ์ป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)