ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > นิคมอุตสาหรรมฮาลาล จ.ปัตตานี ร้าง ‘ฟาตอนี อินดัสทรีส์’ ยกธง–กนอ. ปัดฝุ่นลงทุน 300 ล้าน ดึง 13 บริษัทร่วม

นิคมอุตสาหรรมฮาลาล จ.ปัตตานี ร้าง ‘ฟาตอนี อินดัสทรีส์’ ยกธง–กนอ. ปัดฝุ่นลงทุน 300 ล้าน ดึง 13 บริษัทร่วม

19 กุมภาพันธ์ 2012


ความตั้งใจของภาครัฐ ที่จะใช้นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นหนึ่งใน “หัวหอก” ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และ สงขลา ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อแผนการตั้งนิคมฯ ดังกล่าวที่อำเภอปะนาเระและอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เฟสแรกจำนวน 170 ไร่ แล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งฐานการผลิตแม้แต่รายเดียว

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชน “ขยาด” ที่จะเข้ามาเดินเครื่องจักรในนิคมแห่งใหม่คือ ความรุนแรงที่ยังทะลุทะลวงเข้ามาในพื้นที่ เช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่ผู้ก่อความไม่สงบมีการยิงปืนถล่มใส่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งเพิ่งมีการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 84 ล้านบาท

ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ต้องปรับแผนดำเนินการใหม่ จากเดิมที่ให้สิทธิบริษัท ฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด เป็นผู้บริหารพื้นที่ มาเป็น กนอ. ลงทุนและบริหารนิคมฯ แห่งนี้แทน เพื่อเป็นการการันตีว่า สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับมีความน่าสนใจ และความปลอดภัยจะต้องเกิดขึ้นเต็ม 100%

นางสมจินต์ พิลึก ผู้เชี่ยวชาญ 11 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารที่รับผิดชอบโครงการนี้กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ. ได้เดินหน้าลงทุนทำโครงการใหม่ในพื้นที่ 40 ไร่ ชื่อ “โครงการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม” โดยตั้งอยู่ในพื้นที่เฟสแรกของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เดิมที่เอกชนเป็นผู้พัฒนาไว้ภายใต้การสนับสนุนของ กนอ. แต่ยังไม่มีใครมาลงทุน

สาเหตุที่ทาง กนอ. ต้องเดินหน้าโครงการนี้เอง เนื่องจากมีผลศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์แล้วพบว่า หากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลเดินไปได้ 2-3 ปี น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านในละแวกนั้น โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน ซึ่งแรงงานในพื้นที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐต้องเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้

โดยทาง กนอ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ศึกษาความเป็นไปได้และหาผู้สนใจลงทุน พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูปไก่, บรรจุน้ำมันปาล์ม, แปรรูปพืชผลเกษตร, โรงน้ำแข็งซอง, เครื่องดื่ม น้ำผลไม้, น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น, ข้าวเกรียบ, แปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาหมึก, น้ำพริกกุ้งเสียบ และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป

นางสมจินต์กล่าวว่า โครงการนำร่องครั้งนี้จะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งได้บรรจุแผนงานโครงการไว้ในงบประมาณปี 2555 แล้ว คาดว่าจะเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ภายในปีนี้ มีระยะเวลาก่อสร้างจนถึงปี 2557 โดย กนอ. จะสร้างอาคารโรงงานและสาธารณูปโภคให้ ขณะที่ผู้ประกอบการ 13 ราย จะลงทุนด้านจัดซื้อและขนย้ายเครื่องจักรเข้ามา

ทั้งนี้ กนอ. จะยกเว้นค่าเช่าโรงงานให้ในระยะแรก และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเหมือนเดิม เพื่อให้เอกชนสามารถตั้งหลัก และมีกำลังในการว่าจ้างแรงงานในพื้นที่

จากการสำรวจของ กนอ. พบว่า ทั้ง 13 โรงงานที่สนใจลงทุน เป็นผู้ส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มีแนวโน้มธุรกิจดีมาก ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและตลาดชาวมุสลิมทั่วโลก

“เราให้อยู่ฟรี เป็นอาคารโล่งๆ เปล่าๆ และหาอินฟาร์สตรัคเจอร์ให้ ทาง กนอ. ไม่คิดค่าเช่า จนกว่าบริษัททั้งหมดจะมีรายได้จากการผลิตสินค้า” ผู้เชี่ยวชาญ 11 กนอ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทาง กนอ. ยอมรับว่ายังมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยจากสถานการณ์ที่ยังไม่สงบในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ กนอ. ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในช่วงที่บริษัท ฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ

“กนอ. จะมีการประสานทางกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า ให้มาดูแลความปลอดภัยพื้นที่ 40 ไร่และโรงงานทั้งหมด รวมถึงช่วงที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วย นอกจากนั้น ยังมีอาสาสมัครในพื้นที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลกะละ 10 คน” นางสมจินต์ระบุ

หากย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีก่อน รัฐบาลในขณะนั้น รวมถึง กนอ. และภาคเอกชน ร่วมมือกันคิดโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และพบว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส และเกิดความรุนแรงขึ้นในปี 2547 ทำให้นักลงทุนที่เคยสนใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาหนีหายไปหมด

นางสมจินต์ยืนยันว่า หากโครงการนำร่องครั้งนี้เกิดขึ้นได้ และไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงจนรับไม่ได้อีก จะสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ แต่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบโลจิสติกส์ในนิคมฯ ด้วย เพราะปัจจุบันมีปัญหามาก เช่น เรื่องถนนเข้านิคมฯ ยังไม่เรียบร้อย การขนส่งจากตัวจังหวัดปัตตานียังเป็นไปได้ยาก

นอกจากนั้น จังหวัดปัตตานียังไม่มีสนามบินเป็นของตัวเอง ผู้โดยสารหรือธุรกิจขนส่งสินค้าต้องผ่านมาทางสนามบินหาดใหญ่ซึ่งค่อนข้างไกล โดยเรื่องสนามบินนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้การขนส่งสินค้าจากปัตตานีเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียเพื่อติดตรา “ฮาลาล” หรือไปเมืองท่าอย่างสิงคโปร์ได้สะดวก

สำหรับปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่นั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก กนอ. ที่ดูแลโครงการนี้ยืนยันว่าไม่มี เพราะนิคมฯ อาหารฮาลาลไม่มีมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ต่างจากพวกนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่่งทาง กนอ. ได้นำคณะผู้สังเกตการณ์ ผู้นำชุมชน ไปดูโรงงานแปรรูปอาหารชั้นนำ เช่น สหฟาร์ม หรือ ซีพี มาแล้ว พร้อมกับไปพูดคุยกับชุมชนว่า กนอ. จะสนับสนุนการผลิตอย่างไร และมีวิธีบริหารจัดการนิคมฯอย่างไรไม่ให้กระทบต่อหลักศาสนา วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

“ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะให้ความเห็นว่าอะไรบ้างที่เกรงจะขัดกับหลักศาสนา ซึ่งเราก็รวบรวมไว้หมด และได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรด้วย ซึ่งเรายืนยันว่าการดำเนินโครงการได้คำนึงถึงบทบัญญัติด้านศาสนาอยู่แล้ว ไม่มีการขัดแน่นอน และผู้ประกอบการทุกคนก็ทราบเรื่องนี้ดี ไม่มีปัญหา” นางสมจินต์กล่าว

ตามแผนที่ กนอ. วางไว้ นิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งนี้จะเสร็จสิ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น โอกาสที่ประเทศไทยจะมีนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่รุนแรงในภาคใต้ตอนล่างจึงไม่ไกลเกินเอื้อม

แม้จะเป็นเพียงนิคมแห่งเล็กๆ และเดินหน้าไปอย่างเงียบๆ แต่ก็เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของความหวังที่พี่น้องชาวใต้จะพึ่งพาในการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่โดยใช้เศษฐกิจเป็นตัวนำ

บีโอไอเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ล่อใจ…แต่ไร้เงาผู้ประกอบการ

จุดเริ่มต้นของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี มาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดนราธิวาส ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เร่งรัดการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยใช้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รับผิดชอบ ในการหารือกับภาคเอกชน และชักชวนผู้ประกอบการที่สนใจมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2547 คณะกรรมการ กนอ. เห็นชอบให้ กนอ. ร่วมดำเนินการกับบริษัท ฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่อำเภอปะนาเระและอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรก 170 ไร่ ซึ่งทาง บริษัทฟาตอนีฯ เป็นผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค ดำเนินงานด้านเทคนิค และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ กนอ. กำหนด

กนอ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548

ต่อมา บริษัทฟาตอนีฯ ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 170 ไร่ให้กับ กนอ. และวันที่ 20 ก.ค.2548 กนอ. ได้อนุมัติผังแม่บทนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามด้วยการจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้บริการผู้ประกอบการ ณ จุดเดียว ด้วยงบประมาณ 84 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2549

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลจะแบ่งเป็นโซนอุตสาหกรรมทั่วไป โซนผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี สามารถรองรับผู้ลงทุนได้ประมาณ 70 ราย

1. ได้รับอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม

2. ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ คู่สมรส และบุคคลในอุปการะเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร

3. ได้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะตำแหน่ง สำหรับช่างฝีมือและผู้ชำนาญการ

4. อนุญาตให้ส่งเงินออกนอกราชอาณาจักร

5. ได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับของที่ใช้ในการผลิตสินค้า

6. ได้รับยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์รวมทั้งส่วนประกอบ

7. ได้รับยกเว้นภาษีอากรขาออก สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก

8. ของที่นำเข้าเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ตามมาตรา 48/49 มีสิทธิได้รับยกเว้น/คืนค่าภาษีอากร

ขณะที่สิทธิประโยชน์ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย

1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

2. ยกเว้นภาษีงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% อีก 5 ปี โดยไม่กำหนดวงเงินยกเว้นภาษี

3. ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับที่ผลิตเพื่อส่งออก 5 ปี

4. อนุญาตให้หักลดหย่อนภาษีจากค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่า เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันเริ่มมีรายได้

5. หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิ 25% ของเงินลงทุน ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน

หากมีการลงทุนส่วนขยาย สามารถรวมโครงการส่วนแรกเข้ากับโครงการส่วนขยาย และให้ได้รับสิทธิประโยชน์รวมกันและให้เริ่มยกเว้นภาษีเงินได้อีก 8 ปี ทั้งนี้ โครงการลงทุนส่วนแรกจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2550 ส่วนโครงการขยายจะต้องยื่นคำขอในช่วงระยะเวลา 8 ปี ที่โครงการแรกได้รับการยกเว้นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ประกอบด้วย

1. จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร อำนวยความสะดวกด้านการอนุมัติ อนุญาตและให้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล GMP/HACCP

2. พัฒนาระบบไฟฟ้า ประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ

3. ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งสถาบันฝึกอบรมสด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลให้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใด เข้าไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ส่งผลให้ทาง กนอ. ยินยอมให้บริษัทฟาตอนีฯ ชะลอการพัฒนาโครงการนี้ได้ และ กนอ. ได้เข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่แทน เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจจากภาคเอกชน