ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > กนอ.- ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ผ่าน “6S” มุ่งสู่ Eco-industrial Town

กนอ.- ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ผ่าน “6S” มุ่งสู่ Eco-industrial Town

3 ตุลาคม 2022


นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการ “ECO Innovation Forum 2022” ภายใต้แนวคิด “Eco Journey to Carbon Neutrality” ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่าน 6 ด้านหลัก หรือ “6S” ที่มุ่งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-industrial Town) สอดรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เน้นใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ลดมลพิษ ลดผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตอบโจทย์การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)

นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในระหว่างการเป็นประธาน และปาฐกถาพิเศษ “6S” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการให้พัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (bio-circular-green) economy model ด้วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและเทคโนโลยีอย่างง่ายเพื่อการผลิตไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย กำหนดเป็นนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย 6 ด้านหลัก หรือ “6S” ประกอบด้วย

S1 — Smart Agricultural Industry หมายถึง การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (intelligent agricultural industry) โดยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

S2 — S-Curve หมายถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง (potential target industries) ภายใต้มาตรการและแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนระดับชาติ

S3 — SMEs and Factory 4.0 หมายถึง การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ ลดต้นทุน ลดของเสียในกระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

S4 — Sustainable Development หมายถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco-industrial town) ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษและบรรเทาผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

S5 — Special Zone and Industrial Area หมายถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมในมิติพื้นที่ (area-based industrial development) โดยพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล พื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมพื้นฐานในพื้นที่พิเศษภายใต้แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับบริบทของพื้นที่

S6 — Supportive and Digital Transformation หมายถึง การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม (enabling factors) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกและรวดเร็ว บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ตลอดจนเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพบุคลากรด้านดิจิทัล

รศ. ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ทางด้าน รศ. ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างและเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco-industrial town) เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดมลพิษ และบรรเทาผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งยังขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับแนวทางการดำเนินงานในหลายประเทศทั่วโลก ที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เนื่องจากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งการจัดงานในปีนี้ นอกจากเป็นงานสัมมนาวิชาการแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน เชิดชูเกียรติแก่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วย BCG model ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการยกระดับเพื่อมุ่งสู่ carbon neutrality

ขณะที่นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน  กล่าวต่อว่า ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco factory) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco industrial town) การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-products) ที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนภาคส่วนอื่นๆ และการบริโภคอย่างยั่งยืนของประชาชน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต (supply chain)

โดย ส.อ.ท. มีวิสัยทัศน์ในการ “เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม” โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้นำหลักการ BCG ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการขององค์กร และจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการพัฒนา Thailand Carbon Credit Exchange Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต รวมทั้งมีการจัดตั้ง RE100 Thailand Club เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนพลังเดิมที่ก่อมลภาวะให้กับโลก

ภายในงานมีการจัดเสวนาวิชาการในหลายประเด็น เช่น ผลสำเร็จการพัฒนานิคมฯ และโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco factory) การเสวนาในหัวข้อ New Chapter ของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การเสวนาในหัวข้อ Trend อุตสาหกรรม/นวัตกรรมใหม่ “ก้าวสู่ Carbon Neutrality” และการบรรยายพิเศษเรื่อง “เท่าทันกฎหมายและสิทธิประโยชน์ใหม่” รวมทั้งมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและประกาศนียบัตรเกียรติคุณให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class จำนวน 6 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 20 แห่ง ระดับ Eco-Champion จำนวน 38 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 จำนวน 2 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 70 แห่ง โรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น จำนวน  4 แห่ง และวอเตอร์ฟุตพรินต์ (water footprint) จำนวน 10 แห่ง โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน