ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิวาทะอดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” – ความจริงที่ซ่อนอยู่ (1)

วิวาทะอดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” – ความจริงที่ซ่อนอยู่ (1)

7 กุมภาพันธ์ 2012


ในห้วงที่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เปิดฉากสาวความจริง พ.ร.ก. 4 ฉบับโดยทันที เป็นการปะทะที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนบนเฟซบุ๊กและหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่าง “ธีระชย ภูวนาถนรานุบาล” กับ “ดร.วีระพงษ์ รามางกูร” ธีระชัยกลายเป็นเด็กดื้อและใจคอคับแคบ และเป็นระเบิดด้านสำหรับรัฐบาล

หากจะย้อนถึงที่มาที่ไป พ.ร.ก 4 ฉบับนั้นมาจากความต้องการใช้เงินจำนวนมากของรัฐบาล แต่ด้วยปัญหาการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีวงเงิน 2.38 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณขาดดุล 400,000 ล้านบาท ประกอบกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง โดยธนาคารโลกประเมินความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกพระราชกำหนด 4 ฉบับ เปิดช่องให้รัฐบาลกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นได้โดยไม่ติดขัดกรอบวินัยการคลัง

ทั้งนี้ เครื่องชี้วัดความยั่งยืนทางการคลังตามหลักมาตรฐานสากล จะกำหนดกรอบวินัยการคลังโดยดูจากสัดส่วนยอดคงค้างหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต้องไม่เกิน 60% ซึ่ง ณ สิ้น 30 กันยายน 2554 หรือสิ้นปีงบประมาณรายจ่าย 2554 สัดส่วนยอดสาธารณะคงค้างต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 41.71%

ยอดคงค้างหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ข้อมูลแสดงเป็นรายปีงบประมาณ
ยอดคงค้างหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ข้อมูลแสดงเป็นรายปีงบประมาณ ที่มา: สำนักบริหารหนี้สาธารณะ http://www.pdmo.go.th

เครื่องชี้วัดอีกตัวหนึ่ง ที่กำหนดเป็นกรอบความยั่งยืนภายในของการจัดทำงบประมาณของเราเอง คือ การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายหรือภาระหนี้ต่องบประมาณ (debt service ratio) ต้องไม่เกิน 15% ซึ่ง ณ สิ้นงบประมาณรายจ่ายปี 2554 มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.72%

ภาระหนี้ต่องบประมาณ ข้อมูลแสดงเป็นรายปีงประมาณ
ภาระหนี้ต่องบประมาณ ข้อมูลแสดงเป็นรายปีงประมาณ ที่มา: สำนักบริหารหนีสาธารณะ http://www.pdmo.go.th

กรอบความยั่งยืนที่รัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืมเงินเพิ่ม ไม่ใช่ยอดคงค้างหนี้สาธารณะต่อจีดีพี แต่เป็น “ภาระหนี้ต่องบประมาณ” ที่กลายมาเป็นชนวนวิวาทะอันร้อนแรงระหว่างอดีตรัฐมนตรีคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” กับ ปัจจุบันรัฐมนตรีคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่มีเงา “วีระพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และอดีตรัฐมนตรีคลัง คอยหนุนหลังช่วยแก้ต่างให้ทุกเรื่องอย่างถึงพริกถึงขิง

วิวาทะที่เกิดขึ้น มีเหตุจากตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณปี 2555 ที่นายกิตติรัตน์ชี้แจงมาตลอดว่าอยู่ในระดับสูงประมาณ 12% ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกพระราชกำหนด 4 ฉบับ ขณะที่นายธีระชัยหลังถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 1” เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 ไม่ถึงสัปดาห์ก็ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้น ปตท. กับหุ้นการบินไทยที่กระทรวงการคลังถืออยู่ให้กับกองทุนวายุภักษ์ พร้อมกับแฉตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณปี 2555 ที่เพิ่งรู้ก่อนพ้นตำแหน่งเพียง 1 วัน ว่ามีสัดส่วนอยู่ที 9.33% ไม่ใช่ 12% ตามที่นายกิตติรัตน์ชี้แจงมาโดยตลอด

ทั้งนี้ หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง นายธีระชัยได้เขียนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับวินัยการคลังซึ่งเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลไว้ 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ-ลดหนี้สาธารณะได้จริงหรือ 2) วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ 3) อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณที่ถูกต้องคือเท่าใด และ 4) อัตราส่วนภาระหนี้ 9.33 เป็นผลจากพระราชกำหนดหรือเปล่า

ด้านนายกิตติรัตน์ก็ออกมาโต้และชี้แจงในเรื่องดังกล่าวในหลายสื่อ เช่น “วิวาทะ” ธีระชัย-กิตติรัตน์” พ.ร.ก.เงินกู้ 4 ฉบับ จำเป็นหรือไม่จำเป็น-ซุกหนี้หรือไม่ซุกหนี้ ดูกันชัดๆ ซัดกันเต็มๆ” ส่วน ดร.วีระพงษ์ ก็ออกมาช่วยแก้ต่างและอัดกลับนายธีระชัยอย่างแรง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2555
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2555

วิวาทะของอดีตขุนคลังและขุนคลังคนปัจจุบัน ซึ่งต่างก็เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั้น คนในแวดวงการเงินการคลังซึ่งเป็นผู้นั่งดูนั่งฟังอยู่วงนอกหลายคนมองว่า เป็นเรื่องของระดับขุนคลังทะเลาะกัน เพราะทั้งสามท่านมีที่มาจากพรรคเดียวกันคือ “เพื่อไทย” แต่ยากจะคาดเดาว่า เหตุใดนายธีระชัยถึงออกมาเปิดโปงข้อมูลหรือเห็นต่างกับรัฐบาลหลังถูกปรับออกจากตำแหน่ง ส่วนการออกมาตอบโต้ของนายกิตติรัตน์ ชัดเจนว่าทำทุกอย่างเพราะต้องการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล

นับเป็นการเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกปากขอบคุณนายธีระชัย เพราะสบช่องใช้เป็นข้อมูลประกอบเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนด 2 ฉบับ ว่าขัดมาตรา 184 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นเดียวกัน

พระราชกำหนด 2 ฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาไว้ ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท กับ พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน

(ตอนที่2 ความจริงที่ซ่อนอยู่-ภาระหนี้ต่องบประมาณ)