ThaiPublica > คนในข่าว > อภิรักษ์ โกษะโยธิน ถอด swot “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อโอกาสกลายเป็นอุปสรรค เมื่อโคลนนิ่งเป็นแค่นกแก้ว

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ถอด swot “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อโอกาสกลายเป็นอุปสรรค เมื่อโคลนนิ่งเป็นแค่นกแก้ว

30 ธันวาคม 2011


“…อยู่ที่ตัวคุณยิ่งลักษณ์เอง หากไม่ปรับเปลี่ยนการทำงาน หรือวิธีคิด ปล่อยให้การทำงานถูกกำหนดโดยคุณทักษิณ หรือคนที่มีอิทธิพลในพรรค ก็จะเป็นปัญหาสำหรับคุณยิ่งลักษณ์เอง…”

พี่ชายประกาศว่า “เธอ” คือ “โคลนนิ่ง”

สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) และกลุ่มคนเสื้อแดง มอง “เธอ” เป็น “ตัวตาย-ตัวแทน” ของคนจากแดนไกล

สื่อมวลชนตั้งฉายาให้ “เธอ” ว่า “นกแก้ว”

ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเสียดเย้ยว่า “เธอ” เป็นเพียง “ตัวฆ่าเวลา”

หลังบริหารราชการแผ่นดินมา 4 เดือน จุดแข็งรื่องความเป็นเลือดแท้ “ชินวัตร” ที่เคยใช้ได้ผลในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 กลายเป็นจุดอ่อนให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ถูกโจมตีว่าทำเพื่อคนๆ เดียว

โอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลเพราะ “แบรนด์ทักษิณ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ เมื่อมาตรฐานในการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ำกว่าความคาดหวังของสังคม ซ้ำยังปรากฏภาพรอรับคำสั่งจาก “ดูไบ” ชัดเจน

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และอดีตนักการตลาดบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ตั้งวงวิเคราะห์ SWOT (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค) ของ “นายกฯ ถนัดท่อง” พร้อมวิพากษ์พรรคต้นสังกัดที่ติดภาพ “ดีแต่ด่า” ผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าก่อนเปิดศักราชใหม่ปี 2555

โอกาสอันดีที่นักการเมือง-พรรคการเมืองจะ “รีแบรนด์ดิ้ง” ตัวเอง

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์ SWOT ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังผ่านมา 4 เดือนอย่างไร

จุดแข็งของรัฐบาลคือมาโดยความชอบธรรมจากกระบวนการเลือกตั้ง และมีเสียงที่เข้มแข็งในสภา เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และยังมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีความพยายามจะขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ทั้งนโยบายประชานิยมต่างๆ รวมถึงการสร้างความปรองดอง

ส่วนจุดอ่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากความคาดหวังของประชาชน เพราะเมื่อมีจุดแข็งเรื่องเสียงสนับสนุนทั้งในและนอกสภาแล้ว คนก็คาดหวังสูงว่ารัฐบาลจะเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้เนี่ย ส่วนหนึ่งที่คนเลือกก็เพราะคุณทักษิณ ทั้งคุณยิ่งลักษณ์ หรือทีมงานที่เข้ามาน่าจะมีความพร้อมในการแก้ปัญหาปากท้องได้ดี แต่จังหวะที่เข้ามาเจอวิกฤตน้ำท่วมพอดี ทำให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าได้น้อย ทั้งโครงการรับจำนำข้าว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ฯลฯ เลยกลายเป็นว่าที่เคยรับปากไว้ว่าจะทำทันที พอเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ทำทันที

นอกจากนี้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คนคาดหวังว่าน่าจะเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ วางคนให้ตรงกับงาน แต่ผ่านมา 4 เดือนจะเห็นว่าการบริหารจัดการของรัฐบาล ไม่ได้เป็นไปตามที่คนคาดหวัง หรือไม่อาจบริหารได้ตามที่ควรจะเป็น เช่น ทีมเศรษฐกิจนำโดยคุณกิตติรัตน์ (ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว. พาณิชย์) ที่ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ และยังเจอวิกฤตน้ำท่วมเข้าไปอีก ยังไม่รวมปัญหาเรื่องตัวบุคคลคือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็เข้าไปเป็นทีมบริหาร เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งถูกวิจารณ์มากว่าใช้คนไม่ตรงกับงาน

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้พ.ต.ท. ทักษิณถือว่าเป็นโอกาส หรืออุปสรรคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนพท. เพราะยังเชื่อมั่นในคุณทักษิณ แม้ที่ผ่านมาจะมีประเด็นทางการเมืองหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวคุณยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นน้องสาว และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล หากย้อนไปดูในช่วง 1-2 เดือนแรก จะเห็นว่ารัฐมนตรีและทีมงานที่ได้รับการแต่งตั้ง ส่วนหนึ่งเป็นคนใกล้ชิด หรือเป็นคนที่คุณทักษิณให้การสนับสนุน แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะพูดว่าทุกอย่างเป็นอิสระ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพรรค แต่ในที่สุดก็ต้องไปผ่านความเห็นชอบของคุณทักษิณ หลายเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม หรือแม้แต่การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งตอนแรกดูเหมือนจะมีคุณทักษิณด้วย ตอนหลังไม่มี แต่สังคมก็ได้เห็นถึงความตั้งใจเพราะมันมีวิธีการที่ทำในช่วงนั้น เช่น นายกฯ ไม่เข้าประชุม ให้คุณเฉลิม (อยู่บำรุง รองนายกฯ) เป็นประธานการประชุมแทน เพราะเป็นนโยบายที่เคยประกาศไว้ว่าจะพาคุณทักษิณกลับบ้าน ในช่วง 4 เดือนนี้จึงเห็นว่าพท. ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคุณทักษิณ

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ไทยพับลิก้า : พูดได้หรือไม่ว่าพ.ต.ท. ทักษิณคือผู้เปิดโอกาสให้พท.ได้เป็นรัฐบาล แต่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตราบที่สังคมยังระแวงว่านโยบายนั้นๆ ทำเพื่อคุณทักษิณหรือเปล่า

ถ้ารัฐบาลจะให้ความสำคัญทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และเร่งผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่างนี้จะทำให้รัฐบาลได้รับความเชื่อมั่น นี่ยังไม่นับรวมตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์เองที่บริหารมา 4 เดือน ก็ได้เห็นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาโดยตัวนายกฯ เองอยู่แล้ว หากพท.ยังไปทำในสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่สังคมคิดว่าควรทำ นี่จะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลและพท.

ไทยพับลิก้า : การที่พ.ต.ท. ทักษิณประกาศว่าคุณยิ่งลักษณ์คือ โคลนนิ่งของตน ทำให้สังคมเกิดภาพจำหรือไม่ว่าเป็นของปลอม เป็นแค่โคลน

ผมว่าแรกๆ ยังโอเคนะครับ อาจจะรู้สึกว่าเป็นน้องสาว และคุณทักษิณเองก็ทำให้คนเลือกพท. เพราะความเป็นคุณทักษิณ จึงหวังว่าคุณยิ่งลักษณ์จะเป็นแบบคุณทักษิณ เป็นอดีตผู้บริหารภาคเอกชน คิดว่าคนก็ให้โอกาส แต่พอมาบริหารจริง ผมว่าเป็นปัญหาทั้งด้านภาวะผู้นำ มีการอ้างตลอดเวลาว่าไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และยังมีปัญหาเรื่องการเลือกใช้คน นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดอีกมากในการบริหารจัดการน้ำท่วม แต่ก็ต้องยอมรับว่าพท. เขาเก่งในการเบี่ยงเบนประเด็น (หัวเราะเล็กๆ) ในการหาเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างวันนี้คนก็มีความหวังเมื่อมีการตั้งกยน. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) หรือกยอ. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย) การได้คนอย่างดร. สุเมธ (ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) เป็นที่ปรึกษา ได้คนที่รู้เรื่องการจัดการน้ำ อาทิ ดร. ปราโมทย์ ไม้กลัด ดร. รอยล จิตรดอน มาเป็นกรรมการ ได้ดร. โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) เป็นประธานกยอ. คนบางส่วนยังเชื่อมั่นจากประสบการณ์ที่ท่านเหล่านี้มี และยังให้โอกาส

ผมว่าตัวนายกฯ น่าจะใช้โอกาสนี้ แทนที่จะปล่อยให้พท. ผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ บอกว่าไม่รู้ รัฐบาลไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของพรรค ทั้งที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ตัวนายกฯ และรัฐบาลก็มาจากการเลือกของสภาอยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้เพื่ออะไร อันนี้เป็นปัญหาของตัวนายกฯ และจะเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่น หรือโอกาสที่คนเคยให้ แต่สำหรับคนที่สนับสนุนพท. คนเสื้อแดง จะยังให้โอกาสนายกฯ หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ เพราะหลายคนก็อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดังนั้นอยู่ที่นายกฯ จะเลือกว่าในปี 2555 จะเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่อย่างไร

ไทยพับลิก้า : หากตัวโคลนนิ่งทำให้ประชาชนผิดหวังจะส่งผลกระทบต่อตัวจริงอย่างไร

คือ… จริงๆ ต้องยอมรับว่าตัวคุณทักษิณยังมีความแข็งแรง คนก็ยังดูมีความเชื่อมั่น คนในที่นี้หมายถึงคนที่สนับสนุนก็ยังดูไม่ค่อยสั่นคลอนเท่าไร หากเปรียบเทียบสมัยก่อน การมีความเสียหายรุนแรงขนาดนี้ น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มีคนเสียชีวิตเกือบ 700 คน เศรษฐกิจสูญเสีย ผลกระทบความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ธนาคารโลกคำนวณความเสียหาย 1.44 ล้านล้านบาท แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย พูดจริงๆ ว่ารัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย หากดูมาตรฐานสากล ดูเหตุสึนามิที่ญี่ปุ่น ความเสียหายรุนแรงไม่น้อยกว่าเรา ก็มีคนแสดงความรับผิดชอบ จะเป็นตัวนายกฯ เป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งผู้บริหารที่มีปรมาณูรั่วน่ะ ลาออกเลย แต่ของเราไม่มีเลย และดูเหมือนจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำไปว่าเราเคยผ่านวิกฤตน้ำท่วมใหญ่มา ตอนนี้ก็เดินหน้าไปแล้ว ไปแก้รัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนเรื่องฟื้นฟู ดร. โกร่งก็เสนอกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยที่ยังมีคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาล แต่ข่าวเรื่องนี้แทบไม่ได้รับการตอบรับเลย เป็นข่าวแป๊บเดียวแล้วจบไป ไม่มีเสียงเรียกร้องให้ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบ ต่างจากสถานการณ์ที่ผ่านมา นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ ให้โอกาสนายกฯ คนนี้มาก

ไทยพับลิก้า : ต่างจากสมัยน้ำท่วมในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่โดนถล่มเละ

(พยักหน้ารับ) ใช่ เปรียบเทียบกันนะครับ เอาให้เห็นเลย ไปน้ำท่วมช้า หรือไม่ลุยน้ำ นั่งอยู่ในเรือ โห… เป็นเรื่องราวใหญ่โตมาก หรือหลายเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อนริเริ่มและให้ความช่วยเหลือ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย 5,000 บาท/ครัวเรือน หรือการชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร 2,000 บาท/ไร่ โดยปรับจากเกณฑ์เดิม 600 บาท/ไร่ ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการช้า หากเทียบกับรัฐบาลชุดนี้ซึ่งคนคิดว่าจะทำงานเร็ว ด้วยภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) พรรคพลังประชาชน (พปช.) คุณทักษิณ หรือแม้แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เองก็มาจากผู้บริหารภาคเอกชน น่าจะทำอะไรเร็ว แต่ถ้าดูจริงๆ น้ำท่วมเนี่ย ใช้เวลาถึง 2 เดือนนะกว่าจะตั้งศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) คนก็ไม่วิพากษ์วิจารณ์ คนกลับไปวิจารณ์ว่าเป็นกระบวนการเก็บกักน้ำไว้ แล้วก็มาปล่อย คือ… เหลือเชื่อน่ะ (หัวเราะ) ว่าคนส่วนหนึ่งคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ และก็ละเลยความผิดพลาด ความช้าของรัฐบาลในการเข้าไปแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามถ้าไปถามคน คนก็เบื่อเรื่องความขัดแย้ง เบื่อการเมือง ดังนั้นบทบาทของปชป. ในฐานะฝ่ายค้าน แม้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.ต.อ. ประชา (พรหมนอก รมว. ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศปภ.) มีการยื่นถอดถอน หรือกระทั่งล่าสุดเรื่องการออกหนังสือเดินทางให้คุณทักษิณ ถ้าพูดตรงๆ สังคมก็รู้สึกเบื่อหน่าย คือคนไทยอาจจะรู้สึกว่าพอแล้วกับวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น และพอมาเจอวิกฤตน้ำท่วม คนคงอยากให้สังคมเดินหน้าไปได้ อยากให้บ้านเมืองปรองดอง แต่การที่พท. จุดเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้คุณทักษิณ อันนี้จะเป็นจุดกระตุ้นปัญหาทางการเมือง

ถ้าสังเกตดูกรณีนิรโทษกรรมเมื่อเดือนธันวาคม จะเห็นว่ามีกลุ่มหมอตุลย์ (สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสื้อหลากสี) กลุ่มสยามสามัคคีออกมาคัดค้าน ผมเชื่อว่าคนไม่อยากเห็นภาพแบบนี้อีกแล้ว หรือแม้แต่ขณะนี้รัฐบาลมีความเข้มแข็งขนาดนี้แล้ว ก็ยังเดินหน้าเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงอีก ยังไม่นับว่าในช่วงน้ำท่วม คนก็เห็นว่าถ้าเป็นแกนนำเสื้อแดงไปช่วยเหลือ จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผมว่าจริงๆ แล้วพท. และรัฐบาลน่าจะใช้โอกาสนี้มาแก้ปัญหาที่ตัวเองเรียกร้องมาตลอด ทั้งเรื่อง 2 มาตรฐาน เรื่องความไม่เป็นธรรมเพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ไทยพับลิก้า : นอกจากอารมณ์เบื่อความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว มีปัจจัยอื่นหรือไม่ที่ทำให้คนไม่ยอมเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์อาจไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ

คือ… ผมคิดว่ามันแทบจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ เลย ถ้าเป็นกลุ่มที่ชอบคุณทักษิณ กลุ่มที่สนับสนุนพท. หรือกลุ่มเสื้อแดง เขาก็เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์ยังสามารถบริหารจัดการได้ ยังให้โอกาส น้ำท่วมเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ ไม่ใช่ปัญหาจากตัวคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ปัญหาจากการบริหารจัดการ แม้วันนี้มีเสียงวิจารณ์มากว่าตัวรัฐบาล หรือตัวนายกฯ ล้มเหลวในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ก็แปลกนะ

ถ้าเป็นสังคมไทยสมัยก่อน หรือแม้แต่สื่อเองคงไม่ยอมปล่อยง่ายๆ หากบกพร่องขนาดนี้ มีความเสียหาย มีประชาชนเดือดร้อน แต่กลายเป็นว่าวันนี้มันเดินก้าวข้ามไปหมดแล้ว กลายเป็นว่าจบแล้วนะเรื่องน้ำท่วม ส่วนเรื่องฟื้นฟู เผลอๆ จบแล้วนะ ตอนนี้กำลังไปกู้เงินใหม่เพื่อฟื้นฟูประเทศไทย วางโครงสร้างแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวกันแล้ว เรื่องที่ค้างอยู่กลับไม่เป็นประเด็นที่สังคมตรวจสอบ แม้แต่เรียกร้องให้นายกฯ ต้องตอบคำถามแบบนี้ วันนี้ก็เปลี่ยนเป้าไปเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ผมว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งระบบการตรวจสอบ บทบาทของสื่อ บทบาทของภาคประชาสังคม

สำหรับกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลอยู่แล้ว เขาก็คงมีความรู้สึกว่าขนาดบริหารจัดการยังผิดพลาดขนาดนี้เลย ถ้าต้องไปกู้เงินอีก 3.5 แสนล้านบาท มันจะไหวหรือ มันจะทำได้หรือ นี่ไม่นับรวมความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุน เพียงแต่นักลงทุนเขาเร็ว เขาปรับตัว เขายืดหยุ่น ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลเขาก็สนับสนุน แต่หลายเรื่องเขาก็แสดงความคิดเห็นคัดค้าน เช่น การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล การขึ้นค่าแรง 300 บาท เขาก็อยากให้ชะลอไปก่อน มาตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก่อนดีไหม นี่เป็นประเด็นหลักๆ ที่นายกฯ ต้องทบทวนเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาที่สังคมเป็นห่วง แต่นี่ท่านเดินหน้าไปเรื่อย

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ว่าพท. ต้องแคร์กลุ่มที่เลือกตัวเองมากกว่า เพราะถ้าไม่ทำตามที่หาเสียงเอาไว้ เท่ากับไม่ซื่อสัตย์กับโหวตเตอร์ของตัวเอง

แน่นอน เขาต้องรักษาฐานเสียง 15 เสียงของเขา และเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กับเขา เพราะคนเหล่านี้ได้รับการสื่อสารผ่านสื่อของเขา ผ่านสื่อเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน และต้องยอมรับว่าแกนนำ หรือส.ส. ในพื้นที่ก็เข้มแข็ง มีกระบวนการจัดตั้งที่ดี และดูไม่หวั่นไหวต่อสถานการณ์แม้จะผิดพลาดล้มเหลวมาหลายครั้ง นี่ไม่นับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่นายกฯ ไม่ได้แสดงออกถึงภาวะผู้นำ แต่ที่ผมคิดว่าพท. เก่งคือมีทีมงานการตลาดที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์นายกฯ ได้รวดเร็วมาก เราจะเห็นภาพนายกฯ ไปตรวจเยี่ยมกระทรวง ตรวจเยี่ยมเหล่าทัพ เดินทางไปต่างประเทศ ไปพม่า กลับมาต้อนรับรองประธานาธิบดีจีน เขาเก่งนะที่มีทีมงานมาช่วยเรื่องนี้ หรือถ้าจะพูดในมุมบวกบ้าง นายกฯ ก็ปรับตัวได้เร็ว เจอความกดดันหนักขนาดนี้ ผมยังนึกว่าจะถอดใจไปแล้ว (หัวเราะ) ก็ยังเก่งที่สามารถลุกขึ้นมาได้ ทำแบบนี้อาจจะดูดี แต่ต้องดูด้วยว่ามันเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะมีเหตุให้แนวร่วมพท. แตกหักกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือพ.ต.ท. ทักษิณจะเกิดจากมูลเหตุอะไรได้บ้าง

ผมเห็นว่าก็ยังมีนะครับ เพียงแต่มีเป็นช่วงๆ เช่น คนที่มีความคาดหวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ได้รับตำแหน่ง ก็ยังเชื่อว่าคุณทักษิณเป็นคนมีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างล่าสุดที่สิงคโปร์ (มีกระแสข่าวปรับครม. ช่วงต้นปี 2555) ทุกคนก็ต้องบินไปพบ หรือเดินทางไปหาตามที่ต่างๆ ที่คุณทักษิณไป ก็ยังมีความรู้สึกกันว่าถ้าจะได้รับตำแหน่งต้องใกล้ชิดคุณทักษิณ นอกจากนี้ยังมีชุด 111 (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ที่จะหลุดในเดือนพฤษภาคม 2555 เราก็จะเห็นบทบาทของคนเหล่านี้มากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาล หรือคุณยิ่งลักษณ์จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เกี่ยวไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง อาจจะปรับปรุงด้วยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ควรจะทำ มากกว่าไปทำประเด็นการเมือง หรือทำให้เกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ขึ้นมาอีก เพราะนี่คือโอกาสของคุณ

ไทยพับลิก้า : โอกาสจะอยู่ในมือคุณยิ่งลักษณ์อีกนานหรือไม่

ก็อยู่ที่ตัวคุณยิ่งลักษณ์เอง หากไม่ปรับเปลี่ยนการทำงาน หรือวิธีคิด ปล่อยให้การทำงานถูกกำหนดโดยคุณทักษิณ หรือคนที่มีอิทธิพลในพรรค ก็จะเป็นปัญหาสำหรับคุณยิ่งลักษณ์เอง เพราะวันนี้คนเรียกร้องอยากให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างน้อยคนคาดหวังว่าต้องปรับครม. เอาเรื่องง่ายที่สุดก่อน ยังไม่ต้องไปถึงเปลี่ยนตัวนายกฯ หากนายกฯ ไม่มีภาวะผู้นำ การปรับครม. ก็สะเทือนอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : ปัญหาคือการหาคนเข้ามา ยากกว่าเอาคนออกอีก

(หัวเราะ) ใช่ มันไม่มีตัว

ไทยพับลิก้า : ถ้าดึงคนเก่งกว่านายกฯ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็มาข่มบารมี มาขี่นายกฯ อีก

แล้วเข้ามา ในพรรคเขาจะยอมหรือ คนเป็นส.ส. เข้าคิวเยอะมาก อย่างนี้เหนื่อย

ไทยพับลิก้า : นอกจากรัฐบาลต้องปรับครม. แล้ว ปชป. กลับมาเป็นฝ่ายค้านรอบนี้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

การเป็นฝ่ายค้านมันยากแน่นอน ด้วยการให้ความสำคัญ คุณอภิสิทธิ์โดยตัวตนก็ถือว่าเป็นนักการเมืองที่คนให้การยอมรับ เป็นอดีตนายกฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน และถ้าถามความตั้งใจ บทบาทฝ่ายค้านยุคนี้เปรียบเทียบกับบทบาทของพท. สมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จะเห็นว่าฝ่ายค้านยุคนี้ทำงานเต็มที่ ทั้งในการตั้งกระทู้ถาม การตรวจสอบรัฐบาลทั้งในและนอกสภา แต่บทบาทที่ออกมาในสังคมเนี่ย ถือว่าไม่เยอะ จะโดยการนำเสนอของสังคมก็ดี แม้สื่อจะบอกว่าก็พยายามให้พื้นที่อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ยังไม่นับกรณีการทำงานช่วงน้ำท่วม คุณอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำงานในฐานะฝ่ายค้านเลย พยายามไม่พูดเรื่องการเมืองเลย เว้นเวลามีการเอาคนมาทะเลาะกัน ก็ต้องพูด นี่คือสิ่งที่ฝ่ายค้านพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่สังคมก็เปลี่ยนไป ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเบื่อเรื่องการเมือง แต่ถ้ามองในมุมกลับ หากไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง การตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการคืนหนังสือเดินทางให้คุณทักษิณ การนิรโทษกรรม จะไม่มี นี่เป็นบทบาทการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายค้านทั้งสิ้น

ไทยพับลิก้า : หลังเลือกตั้งปชป. สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ว่าเป็นเพราะคนติดภาพลักษณ์ “พรรคดีแต่ด่า” ขณะนี้แก้โจทย์นั้นได้หรือยัง

ผมคิดว่าถ้าดูด้วยความเป็นธรรม ความจริงปชป. ก็พยายามออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือผลักดันในเรื่องที่มีผลกระทบจริงนะ ไม่ใช่โต้กันรายวัน จะเห็นว่าเรื่องหลักๆ ที่คุณอภิสิทธิ์ หรือทีมโฆษกปชป. ออกมา หลังๆ จะเป็นประเด็น เช่น ประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้คุณทักษิณ ประเด็นการทำงานของรัฐบาลที่บกพร่องจริงๆ พรรคก็พยายามปรับปรุงบทบาทของตัวเอง พยายามทำงานให้มีประสิทธิภาพ หลังมีเสียงสะท้อนว่าพรรคพูดแต่เรื่องการเมือง

ไทยพับลิก้า : ถือเป็นการรีแบรนดิ้งปชป. ครั้งใหญ่ได้หรือไม่

คงไม่ถึงขั้นนั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้รับบทเรียน ได้ฟังเสียงสะท้อน มีการทำวิจัย ก็มาดูว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การทำงานใกล้ชิดกับประชาชน จะเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์ลงพื้นที่เกือบทุกวันทั้งในช่วงน้ำท่วม หรือกระทั่งช่วงนี้ซึ่งเข้าสู่การฟื้นฟู นี่คือความพยายามทำในสิ่งที่ประชาชนสะท้อนมา

ไทยพับลิก้า : นักการตลาดหลายคนบอกว่าพท. ชนะเลือกตั้งเพราะประชาชนรู้สึกว่าเป็นพรรคของเขา แต่ปชป. ติดภาพไฮโซปาร์ตี้ จะสลัดภาพนี้ออกไปได้อย่างไร

ถ้ามองด้วยความเป็นธรรม มันไม่ถึงขนาดนั้น หากบอกว่าคน 15 ล้านคนที่เลือกพท. เพราะรู้สึกเป็นพวกเขา อย่าลืมนะว่าปชป. ก็มี 11 ล้านเสียง ไม่ใช่แค่ชนชั้นกลาง หรือไฮโซ เพราะ 11 ล้านนี่มันเยอะมาก นอกจากนี้ผมได้ลงพื้นที่กับหัวหน้าหลายครั้ง คนก็ให้การตอบรับนะครับ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา มันไม่ได้เป็นอย่างที่วิจารณ์เลย เพียงแต่ในพื้นที่ที่เราแพ้ อาจเพราะเราไม่มีคนในพื้นที่นั้น อย่างภาคอีสาน หรือภาคเหนือตอนบน แต่ถ้าเปรียบเทียบในพื้นที่ที่เรามีคนของเรา เช่น อุบลราชธานีก็คนอีสานเหมือนกัน หรือภาคเหนือตอนกลาง เช่น สุโขทัย พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ เรามีคนทำงานต่อเนื่อง เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานก็เลือกเรา

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้คนเหนือ และคนอีสาน จงรักภักดีต่อแบรนด์ทักษิณไม่เสื่อมคลาย

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องนโยบายตั้งแต่สมัยทรท. ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้คนในพื้นที่มีความนิยมและเชื่อมั่น ขณะที่คนบางส่วนอาจรู้สึกว่าคุณทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เลยให้การสนับสนุนพท. อีกส่วนหนึ่งคือพท. ก็มีส.ส. ทำงานในพื้นที่ ถ้าเปรียบเทียบกันตรงๆ ก็เหมือนพื้นที่ภาคใต้หลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เข้มแข็งของปชป. เพราะมีคนทำงานต่อเนื่อง ดังนั้นเราคงมานั่งดูว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พื้นที่ไหนคะแนนใกล้เคียงสูสี มานั่งดูคะแนนนิยมของพรรค แต่ถ้าเป็นตัวบุคคลคงยังไม่ใช่ เราต้องพยายามดูคนที่ทำงานในพื้นที่ เพราะก็ต้องมีเสียงส.ส. เพียงพอเพื่อที่วันหนึ่งจะได้กลับมาเป็นรัฐบาล

“นกแก้ว” ในกำมือ “แม้ว”

เมื่อมือจัดปูทางให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย ภายในเวลาเพียง 49 วัน

เป็นมือคู่เดียวกับที่คอยบงการ-ควบคุมเกมการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.)

เป็นมือที่เคยสวมทั้ง “ถุงมือกำมะหยี่” และใส่ “กำปั้นเหล็ก” เมื่อครั้งเรืองอำนาจ

เป็นมือจากแดนไกลที่คนการเมืองซีกรัฐบาล-คนเสื้อแดงอยากสัมผัส ฝ่ายตรงข้ามจ้องรวบมาสลักกุญแจมือ

เป็นมือของชายชื่อ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

4 เดือนผ่านไป มือคู่เดิมยังทำหน้าที่เหมือนเดิม ทว่าไม่เหมือนเดิม…?

ในช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เผชิญวิกฤตน้ำท่วม พ.ต.ท. ทักษิณ หายหน้า-หายชื่อไปจากภาวะวิกฤต ก่อนโผล่ออกมาปลอบรัฐบาลด้วยการทวิตข้อความเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ว่า ได้คุยกับนายกฯและผู้รู้หลายท่าน รวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศถึงแนวทางการฟื้นฟู เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจและไม่หนีไปจากไทย ซึ่งเชื่อว่านายกฯ (น้อง) จะได้ข้อสรุปก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (เอเปค)

ถือเป็นการช่วยย้ำ-ยืนยันว่านายกฯ “เอาอยู่” จริงๆ

จากนั้นเมื่อเกิดข่าวลือ-ข่าวปล่อยเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีทั้งรัฐมนตรีที่ถูกส.ส. ร่วมพรรครุมกินโต๊ะ เพราะทำงานไม่เข้าเป้า มีทั้งการซดเกาเหลาระหว่างรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กับรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) ในกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ก็ปรากฏข่าวบรรดาแกนนำ-แกนตาม-คนในข่าวต่างแห่แหนไปพบ “นายใหญ่” ทั้งที่สิงคโปร์ กัมพูชา ฯลฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม เพื่อขอรับกาวมาทาก้นให้แนบกับเก้าอี้

ก่อนที่ข่าวปรับครม. จะเงียบหายไปจากหน้าสื่อดื้อๆ แล้วปรากฎภาพ “รัฐมนตรีคู่แค้น” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวจับมือกันอย่างชื่นมื่นแทน

ต่อมาเมื่อ “นารี 1” ต้องเดินทางไปเยือนสหภาพพม่าในวันที่ 20 ธันวาคม 2554 พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ออกมาแอ่นอกให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ตนเป็นผู้ปูทางให้น้องสาวได้เข้าพบพล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของพม่า และ อองซาน ซูจี อดีตผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า (เอ็นแอลดี)

นี่เป็นความพยายามบางส่วนในการประคับประคอง “น้องนุชสุดรัก” ให้อยู่รอดปลอดภัยในโลกการเมือง

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ายิ่ง พ.ต.ท. ทักษิณยื่นมือเข้ามาโอบอุ้ม “ยิ่งลักษณ์” มากเท่าไร ก็จะเกิดประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามรุมขยี้-ขย้ำนายกฯ คนที่ 28 มากเท่านั้น ทั้งเรื่องไร้ภาวะผู้นำ ขาดความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน และเลยไปถึงมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ

มือที่ใช้ “ลูบหลัง” จึงเป็นมือที่สามารถ “ผลัก” ให้น้องสาวล้มลงได้พร้อมๆ กัน

ภาพจำของ “นายกฯ นกแก้ว” ที่ติดอยู่ในความรับรู้ของสังคม จึงไม่ใช้ “นกแก้ว” ที่อยู่ในกำมืออริราชศัตรูที่ไหน หากแต่เป็น “นกแก้ว” ในกำมือพี่ชาย!!!