ThaiPublica > คนในข่าว > ปากคำคนใน “ปู 2” – “สุรวิทย์ คนสมบูรณ์” เคลียร์ปมปรับ ครม. “ทักษิณ” จัด – “ยิ่งลักษณ์” ทำ!

ปากคำคนใน “ปู 2” – “สุรวิทย์ คนสมบูรณ์” เคลียร์ปมปรับ ครม. “ทักษิณ” จัด – “ยิ่งลักษณ์” ทำ!

3 กุมภาพันธ์ 2012


“ผมคิดว่าท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้พิจารณา ส่วนทางไกล (พ.ต.ท.ทักษิณ) พวกเราเคารพ แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้บอกอะไรมา ไม่ได้กระซิบมา คนที่กระซิบคือท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์”

เพียง 5 เดือนเศษ (สิงหาคม 2554-มกราคม 2555) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศเต็มรูปแบบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจปรับ ครม. จาก “ปู 1” เป็น “ปู 2” ทันที โดยมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีถึง “16 ตำแหน่ง” ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับคอการเมืองและประชาชนทั่วไปอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ในนามของ “ครม.ปู 2” ปรากฎต่อสาธารณะ กลับยิ่งสร้างความประหลาดใจยิ่งกว่า จนทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

บ้างก็ว่า…เป็นการตอบแทนให้กับกลุ่มการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย

บ้างก็ว่า…เป็นการสนองให้กับสัญญาใจที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่แดนไกล ได้ให้ไว้กับ “ผู้ที่สู้ตายถวายชีวิต”

หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์หนักถึงขึ้น เป็นการส่ง “อดีตลูกน้องเก่า” เข้าควบคุมอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังน้องสาว (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ “น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์” รมช.สาธารณสุข หมาดๆ ใน “ครม.ปู 2” ที่มีอดีตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีใน “ครม.ปู 1” บอกกับสำนักข่าวออนไลน์ไทบพับลิก้าว่าเป็นการปรับเพื่อให้ “คน” ตรงกับ “งาน”

จากบรรดทัดนี้ไป เป็นคำยืนยันจาก “คนใน” ที่เพิ่งผ่านการ “ปรับ ครม.” มาสดๆ ร้อนๆ

น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใน “ครม.ปู 2"
น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใน “ครม.ปู 2"

ไทยพับลิก้า : รู้สึกอย่างไรกับการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในการรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ถือว่ารัฐบาลได้ให้โอกาสผม ให้ได้ไปทำงานในกระทรวงที่ผมได้เล่าเรียนมา เคยทำงานรับราชการที่กระทรวงสาธารณสุขมาถึง 17 ปีก่อนที่จะเข้าสู่การเมือง ดังนั้น การได้กลับมาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขทำให้ผมได้มั่นใจ สบายใจ และเชื่อว่าจะสามารถทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้เต็มที่

ผมได้รับมอบหมายให้ดูแล 3 กรม กับอีก 2 หน่วยงาน คือกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมไปถึงสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก็คาดหวังว่า ในส่วนของกรมสุขภาพจิต จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตใจที่เข้มแข็งจากความเครียดที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ ซึ่งสิ่งที่ผมกำลังจะผลักดันก็คือ นโยบายชุมชนไทยไร้โซ่ตรวน เพราะทราบจากข้อมูลว่า ยังมีคนไทยไม่น้อยกว่า 1,000 คน ที่ถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนจากญาติ จากพี่ จากน้อง เอาไว้ที่บ้าน ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันเพื่อตรวจค้นให้พบว่า แต่ละพื้นที่มีคนที่ถูกล่ามโซ่ตรวนเอาไว้เท่าไรอย่างไร เพื่อนำคนเหล่านี้มารักษา ซึ่งนี่เป็นงานแรกที่ผมตั้งใจว่าจะทำออกมา

ในส่วนของกรมอนามัยนั้น ก็ตั้งใจว่าจะทำเรื่องอาหารปลอดภัยในตลาดสดน่าซื้อ ให้มีสภาวะอนามัย การรณรงค์เรื่องน้ำนมแม่ การส่งเสริมเรื่องการป้องกันมะเร็งในสตรี ทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถ้าเราฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กที่มีอายุ 12-13 ปี ในวัยก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งลงทุนเพียงคนละประมาณ 500 บาท โอกาสเกิดมะเร็งจะลดลงไปจนถึงไม่มีเลย ซึ่งตรงนี้ใช้เงินงบประมาณเพียง 600 ล้านบาท แล้วต่อไปก็จะครอบคลุมประชากรไทยทั้งประเทศ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะผลักดัน

นอกจากนี้ ผมยังคิดเรื่องการสร้างศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ เพราะวันนี้สังคมเรามีคนสูงอายุถึง 7 ล้านคน ในอนาคตเราจะมีถึง 10 ล้านคน สำหรับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เป็นเรื่องของการตรวจสารต่างๆ ที่จะเข้าไปตรวจสอบร่วมกับกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต

ไทยพับลิก้า : แล้วปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข ที่ฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมืองมักไม่ลงรอยกันจะแก้ไขอย่างไร

ผมอาสาจะเป็นคนประสานให้ครับ ในอดีต ผมเคยทำงานร่วมกับกลุ่มหมอชนบทมา แม้ผมจะไม่ได้อยู่ร่วมกับกลุ่มเขาเลยทีเดียว แต่ก็ได้ประสานงานกันมาตลอด แล้วที่ผ่านมา หมอทุกกลุ่มก็ประสานงานกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหมอชนบท หมอที่อยู่โรงพยาบาลต่างๆ ก็มาคุยกับผม แม้กระทั่งหมออาวุโสหลายคน หรืออย่างหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ใครๆ ก็บอกว่าท่านหัวก้าวหน้ามาก ผมก็คิดว่าจะไปกราบท่านอยู่ (หัวเราะแหะๆ)

“เรื่องประสานกับกลุ่มต่างๆ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ผม ที่จะประสานการทำงานร่วมกันให้ลงตัวได้ คือที่ผ่านมาอย่างกลุ่มแพทย์ชนบท ที่สามารถเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ออกมานั้นต้องมองในแง่ดี เพราะหายาก คนที่จะกล้าเสี่ยงแบบนี้ และแสดงว่ามันจะต้องมีอะไรให้เขาขุดคุ้ย แต่ถ้าเราไม่มีอะไรให้เขาขุดคุ้ย แล้วตั้งใจทำงานด้วยกันมันจะเกิดประโยชน์เพราะกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์และมีพลัง”

ไทยพับลิก้า : แล้วการควบคุมแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทยหลังการปรับ ครม. ที่อาจจะมีปัญหามากกว่ากลุ่มแพทย์ภายในกระทรวงสาธารณสุข

ผมก็ยังไม่เห็นแรงกระเพื่อมอะไรนะ ผมเป็นเลขานุการ ส.ส.ภาคอีสาน อยู่ ก็ไม่เห็นมีใครต่อว่าต่อขานอะไร หรือถ้าจะมีคนไม่พอใจอยู่บ้าง เราก็คงไม่ต้องไปอธิบายอะไร ให้เวลามันช่วยเยียวยาไป หลายคนก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมาธิการบ้างอะไรบ้าง มีตำแหน่งมีหน้าที่กันไปก็หลายคนแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร

สำหรับผมก็ไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่นนะ ผมเปรียบเทียบกับตัวผมเอง ผมว่าระยะนี้รัฐบาลจำเป็นจะต้องปรับรูปร่างหน้าตา ให้การทำงานในช่วงอีก 5-6 เดือนข้างหน้าที่เราเห็นแล้วว่าจะเป็นภาระที่หนัก รัฐบาลก็ต้องปรับดูว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร แต่อย่างน้อยที่ผมได้มาอยู่กระทรวงนี้ และเท่าที่ผมลองฟังดูจากบรรดาแพทย์ พยาบาล ก็ดูเหมือนเขาดีใจนะที่ผมมา เสียงสะท้อนเข้ามาดีมาก ว่าอย่างน้อยรัฐบาลก็เอาคนที่อยู่ในวงการการแพทย์เขามาอยู่ในหน่วยงานนี้

“คนที่เข้ามาใหม่ทุกคนก็เป็นคนที่ตรงกับงานเลย อย่างคุณนิวัฒน์ธำรง (บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ก็เป็นคนจากทางด้านสื่อมาก่อน ท่านนลินี (ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ก็เป็นคนที่ประสานงานกับต่างประเทศ ด้านกระทรวงคมนาคม (นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) เขาก็เป็นคนที่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน จบวิศวกรด้านนี้ เป็นอาจารณ์ด้านนี้มา หรืออย่างกระทรวงอุตสาหกรรม (มรว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) เขาก็จบการศึกษาด้านนี้เข้ามา รวมไปถึงกระทรวงการคลัง ท่านรองนายกฯ กิตติรัตน์ (ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ท่านก็ต้องการให้เป็นเอกภาพในเรื่องของการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน ที่ต้องทำให้เชื่อมั่นว่า เมื่อกู้เงินมาแล้วต้องสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด

“ผมเชื่อมั่นเลยว่ารัฐบาลปรับเพื่อให้ดูภาพลักษณ์หน้าตาดีขึ้น ให้คนตรงกับงานมากขึ้น การทำงานในช่วงนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและชาวต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน หรือที่ลงทุนอยู่แล้วจะได้ไม่ถอนตัวออกไป”

ไทยพับลิก้า : ยืนยันว่านั่นคือเป้าหมายของการปรับ ครม.ครั้งนี้

มันก็หวังผลได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนะ ถ้าดีก็คิดว่าจะได้อยู่ต่อๆ ไป ผมไปเยี่ยมหน่วยงาน ก็บอกเสมอว่าผมมาก็เพราะต้องการสร้างผลงาน อย่างน้อยงานเดิมที่มีคนทำเอาไว้ก็ต้องทำให้ได้ระดับดี แล้วก็ต้องมีสิ่งใหม่ที่เป็นมาตรฐานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นคนของกระทรวงสาธารณสุข มันก็ต้องมีผลงานที่ดีขึ้น แล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ ไม่ใช่ว่าทำเสร็จแล้วรู้กันเฉพาะพวกเรา เพราะการปรับ ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่เป็นการปรับเพื่อระยะยาวไปด้วย

ไทยพับลิก้า : ระยะยาวนี่หมายถึงความมั่นคงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือเปล่า

หมายถึงความมั่นใจของประชาชนต่อรัฐบาล ถ้าทำไม่ดี เขาก็คงไม่ให้อยู่นาน (หัวเราะ) เพราะว่าฝ่ายตรงข้ามเยอะมากอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : หลายฝ่ายมองว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ยังหนีไม่พ้นการตอบแทนให้กับกลุ่มก๊วนทางการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

กลุ่มต่างๆ ในพรรควันนี้ไม่มีแล้ว อย่างคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ก็เข้ามาดูแลเรื่องยาง เขาเป็นคนใต้ ผมมองว่าตรงกับงานเลยนะ การพูดการจาเขาก็มีปฏิภาณไหวพริบ ก็คงจะช่วยในเรื่องของการที่จะชี้แจงต่างๆ ได้ดี คนจะเข้าใจได้ง่าย ฟังได้ง่าย ชาวบ้านเข้าใจ และคุณวุฒิก็ตรงทุกอย่าง ส่วนที่ว่ากันว่าเขาเป็นคนสีไหนอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนสีไหนก็ตาม จะต้องทำงานให้ดี

ไทยพับลิก้า : หลายตำแหน่งก็ยังไม่ตรงใจสังคมเสียทีเดียว

คืออย่างผมก็เป็นเลขานุการ ส.ส.ภาคอีสาน นะ ในการเลือกตั้ง การคัดตัวผู้สมัคร การประเมินผลการเลือกตั้ง เรารับผิดชอบการทำโพลล์ผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสาน ของพรรคทั้งหมด เราก็ต้องคอยมองเขตไหนอ่อน เขตไหนแข็ง แล้วก็ต้องคอยประสานเชื่อมโยงกับหัวหน้าพรรค หรือท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปลงพื้นที่ จนเราประเมินกันว่าจะได้ ส.ส.มา 96 คน ซึ่งในการเลือกตั้งเราก็ได้มาถึง 104 คน ถือว่าทะลุเป้า เกินเป้าหมายไป แล้วตัวเราเองก็เป็น ส.ส. มา 8 สมัยแล้ว ถ้าไล่กันไปเรื่องอาวุโสในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย เราก็คิดเข้าข้างตัวเองตอนนั้นว่าเราก็น่าจะได้เป็นรัฐมนตรีนะ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : พ.ต.ท.ทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใครมีอิทธิพลต่อการปรับ ครม. ครั้งนี้มากกว่ากัน

ผมเองได้รับทราบว่าถูกปรับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ตอนที่ท่านนายกฯปู มาแจ้ง ดังนั้นจึงเชื่อว่า คนที่พิจารณาเรื่องปรับ ครม. คือท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพราะท่านมาบอกผมเองว่า พี่หมอ เอาพี่หมอไปอยู่กระทรวงสาธารณสุข เพราะให้เป็นคนที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการสาธารณสุขมาก่อน จะได้ไปช่วยกันทำงาน อีกอย่างท่านบอกว่าผมเป็นคนประณีประนอม เมื่อเข้าไปคงทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

ไทยพับลิก้า : บรรยากาศตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งเรื่องปรับ ครม. เป็นอย่างไร

ตอนแรกสุดผมไม่รู้ตัวเลย ว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอนนั้นผมก็เพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ เพิ่งไปประชุม ครม.สัญจร ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พอลงเครื่องบินแล้วเดินทางต่อมาทำงานที่ทำนียบรัฐบาล ก็มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลโทรศัพท์เชิญมาที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อกรอกเอกสาร เอารูปถ่าย วุฒิบัตร คุณวุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนมาด้วย ผมก็ เอ๊ะ จะเอาไปทำไม ปกติไปต่างประเทศก็ไม่ได้ใช้เอกสารมากขนาดนี้ เขาก็บอกให้เราเข้ามาก่อนๆ ให้มารับเอกสาร

พอมารับเอกสาร ก็รู้ว่าเป็นการมากรอกเอกสารเพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี แสดงว่าเขาจะให้เราไปอยู่ที่ใหม่แล้ว ตอนหลังเราก็มาทราบจากสื่อว่าเราจะได้ไปอยู่กระทรวงสาธารณสุข แล้วท่านนายกฯ ปูก็มาอธิบายให้ฟังว่าต้องการให้เรามาอยู่ตรงนี้ เราก็ยินดีอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ตรงไหน ถ้าคิดว่าเราจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ก็ยินดี ผมก็เลยคิดว่าท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้พิจารณา ส่วนทางไกล (พ.ต.ท.ทักษิณ) พวกเราเคารพ แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้บอกอะไรมา ไม่ได้กระซิบมา คนที่กระซิบคือท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์”

ไทยพับลิก้า : แต่ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ก่อนการปรับ ครม. ว่ามีหลายคนที่ต้องการเป็นรัฐมนตรี เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ในต่างประเทศ

ท่านทักษิณท่านก็เป็นผู้ที่พวกเราเคารพและศรัทธาในการทำงานของท่าน มีความปราดเปรื่อง พวกเราอาจจะมีโอกาสโทรศัพท์พูดคุยบ้างเป็นครั้งคราว บางครั้งโทรฯ ไปท่านก็ไม่ได้โทรฯ กลับ แต่ก็ไม่เป็นไร ส่งเอสเอ็มเอสบ้างอะไรบ้าง แต่ท่านไม่ได้มาสั่งงานการอะไรกับพรรคเลย ท่านมีแต่ให้กำลังใจและให้ทุ่มเททำงาน ขอให้เต็มที่นะๆ ท่านไม่เคยบอกเลยว่าต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ ผมก็เห็นแต่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นคนสั่งนะ สั่งนั่นสั่งนี่ จนเรายังชื่นชมนะว่าท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เรามองว่าอาจจะไม่ใช่คนในวงการการเมือง แต่มาทำงานการเมืองแล้วทำได้ดี รอบรู้ บางทีหน่วยงานที่เราดูแลแท้ๆ ท่านกลับรู้ละเอียดกว่าเราก็มี แสดงว่าหูตาของท่านมีมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิ่งก็ถือว่าใช้ได้ จุดเด่นเรื่องการตอบโต้ทางการเมืองที่ไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเสียหน้าเสียตาอย่างไร ท่านก็ยังให้เกียรติฝ่ายค้านในการพูดการจาต่างๆ อยู่ ซึ่งช่วยให้ความรุนแรงในการปะทะกับฝ่ายค้านนั้นเลยไม่มากนัก เพราะท่านนายกฯ ไม่ได้ตอบโต้รุนแรง ซึ่งเป็นจุดเด่นในภาวะการณ์แบบนี้เลย

ไทยพับลิก้า : เพราะอะไร ครม. ปู 2 จึงมีอดีตคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชน ที่เคยเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามารับตำแหน่งจำนวนมาก

ผมเข้าใจว่าท่านนายกฯ ต้องการคนเข้าคนที่เข้ามาทำงานแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งการดูคนเข้ามาทำงานนั้น ก็เหมือนว่าเคยเห็นใครทำงานได้ดี ก็คงมั่นใจว่าคนนั้นทำงานได้ ในภาวะเช่นนี้ ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะไปพูดเรื่องโควตาอะไรต่างๆ คงไม่ได้ เพราะต้องพูดเรื่องงานเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องเอาคนทำงานดีเข้ามาก่อน เมื่อมีความไว้ใจแล้วสามารถทำงานได้ ในอนาคตคนที่อยากเป็นทั้งหลายคงมีโอกาสได้เป็นบ้าง ถ้ารัฐบาลนี้ทำงานไม่ดี ผลงานไม่ดี ก็คงไปตั้งแต่ตอนนี้แหละ แล้วพวกที่รออยู่ในพรรคทั้งหลายก็คงไม่ได้เป็นเหมือนกัน

ผมคิดยาวๆ แบบนี้นะ ถ้ารัฐบาลอยู่ยาวคนที่รอทั้งหลายก็มีโอกาส แต่ถ้ารัฐบาลไปตั้งแต่ตอนนี้ ก็เท่ากับไปด้วยกันทั้งหมด (หัวเราะเสียงดัง) เพราะตอนนี้ฝ่ายตรงข้ามเยอะ และเริ่มมีบทบาทขึ้นมา สถานการณ์ต่างๆ ก็เอื้ออำนวย หลังเหตุการณ์น้ำท่วมที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ถ้าเราพูดไม่ดี ทำไม่ดี ก็ไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

ถ้าสำหรับผม ผมเข้ามาก็คาดหวังว่าจะต้องสร้างผลงานให้ได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะถูกพิจารณาปรับออกจากตำแหน่งเมื่อไรไม่รู้ ดังนั้นเราต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ของประชาชน แต่สำหรับรัฐบาล หากมีเวลาเพียงพอสำหรับการสร้างผลงาน ประชาชนก็ไว้ใจให้ทำงานต่อไปอยู่แล้ว ซึ่งตรงนั้นคนที่รอจะเป็นรัฐมนตรีอีกหลายๆ คนในพรรคก็ไม่ต้องห่วง ถ้ารัฐบาลมีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ปรับ ครม. ครั้งต่อไปก็มีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งอยู่แล้ว

หมอสุรวิทย์ “ขอบคุณวังพญานาค”

แม้ “น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์” จะยืนยันว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คือตัวจริงที่ผลักดันเขาให้เข้ามารับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ในรัฐบาลในทั้งครั้งแรกที่เขาได้เป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ใน “ครม.ปู 1” และก้าวมาเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ใน “ครม.ปู 2”

แต่ “น.พ.สุรวิทย์” ยืนยันว่า ทุกครั้งที่เขานึกถึงเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ที่ได้รับมา สิ่งที่เขาต้องคิดถึงด้วยเสมอคือ “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และเจ้าพ่อ “วังพญานาค”

“รมช.สาธารณสุข” หมาด ๆ เล่าว่า “วังพญานาค” นั้นเป็น “กลุ่มการเมือง” กลุ่มหนึ่ง ภายใน “พรรคไทยรักไทย” ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของ “วังพญานาค” เป็นกลุ่ม “ส.ส.ไทยรักไทย” ที่เป็น “อดีต ส.ส.พรรคเสรีธรรม” โดยมี “พินิจ จารุสมบัติ” เป็น “หัวหน้ากลุ่ม”

“ผมเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเสรีธรรม ในช่วงที่กำลังจะยุบรวมกับพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พอดี ตอนนั้น พอเข้ามาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยเต็มตัว ท่านพินิจก็ให้ผมเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย…

…ผมก็เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมานานนะ แต่พอหลังการเลือกตั้งปี 2548 แล้วต้องมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยใหม่ ครั้งนี้กลับไม่มีชื่อผมเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเหมือนเดิมอีกแล้วเฉยๆ อย่างนั้น” น.พ.สุรวิทย์เล่า

เขาบอกว่า การที่จู่ๆ ชื่อเขาก็หลุดจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครั้งนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้กับเขามาก เนื่องจากตำแหน่ง “กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย” ในยุคนั้น บ่งบอกถึงสถานะบทบาทและความสำคัญในทางการเมือง

“ตอนแรกที่มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค เราก็คิดว่าเราน่าจะได้เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยต่ออีกสมัยนะ แต่ท่านพินิจกลับไปเปลี่ยนเอาคนอื่นมาเป็นแทนเรา เพราะท่านมองว่าเราไปผูกพันกับทางวังน้ำยมของท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน (อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและอดีตหัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม)มากไป ก็เลยไม่ได้ให้เราเป็น ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ไปอะไรกับทางวังน้ำยมเลย แต่พอถึงเวลาเขาประกาศชื่อกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยก็ เอ๊ะ! ไม่มีชื่อเราแล้ว

ตอนนั้นเรารู้เรื่อง ก็นึกเคืองในใจนะว่าจะเปลี่ยนคนทำไมไม่บอกเราบ้างว่าจะเปลี่ยนคน อะไรวะ ระดับเรานี่มันต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคนะ เราเป็น ส.ส. มา 5-6 สมัย แล้วสมัยอยู่พรรคเสรีธรรมด้วยกัน เราก็เป็นถึงรองหัวหน้าพรรค ก็น่าจะต้องได้เป็นกรรมการบริหารพรรคสิ” น.พ.สุรวิทย์บอกถึงความในใจ

แม้เหตุการณ์ “เปลี่ยนชื่อ-ชื่อหลุด” ในวันนั้น จะทำให้ “น.พ.สุรวิทย์” ขัดเคืองใจ “วังพญานาค” จนตัดสินใจประกาศแยกตัวออกมา สังกัดกลุ่มการเมืองอื่น แต่เมื่อถึงวันนี้ เขายืนยันว่า “เขา” จะต้อง “ขอบคุณ” วังพญานาค! เพราะนั่นเหมือนทำให้เขาได้มีชีวิตรอดทางการเมืองต่อมากับ “พรรคพลังประชาชน” และ “พรรคเพื่อไทย”

“หลังจากนั้น พอเกิดการรัฐประหาร 2549 ก็มีการยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี โอ้โห ผมคิดถึงท่านพินิจ คนแรกเลย (หัวเราะ)”

“ถ้าวันนั้นวังพญานาคเอาผมเป็นกรรมการบริหารพรรคต่อ วันนี้ผมไม่รู้ไปอยู่ไหนแล้วนะ อาจจะหลุดวงโคจรการเมือง หรือต้องกลับไปผ่าตัดตาแล้วก็ได้ ทุกวันนี้ยังคิดในใจว่า ต้องเอาดอกไม้ไปขอบคุณวังพญานาคนะ ที่ไม่ได้ให้ผมเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยวันนั้น” น.พ.สุรวิทย์เล่าอย่างอิ่มอกอิ่มใจ กับเส้นทางทางการเมืองก่อนจะมาถึงเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ที่ไม่ใช่เพียง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” และ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เท่านั้นที่เปิดทางให้เขา !