ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดแผนซื้อใจซามูไรฉบับ “กิตติรัตน์” เตรียมลดภาษีรถยนต์ เปิดโต๊ะถกเจเทปป้ารอบใหม่

เปิดแผนซื้อใจซามูไรฉบับ “กิตติรัตน์” เตรียมลดภาษีรถยนต์ เปิดโต๊ะถกเจเทปป้ารอบใหม่

28 พฤศจิกายน 2011


รัฐบาลและเอกชนยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ส่งสัญญาณ “ไม่พอใจ” รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่บริหารจัดการปัญหาอุทกภัยได้ไม่ดีพอ ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่จากแดนซามูไร ต้องเสียหายนับแสนล้านบาท

โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่อยุธยาลงมาจนถึงปทุมธานี ซึ่งเป็นฐานผลิตและส่งออกของญี่ปุ่นหลายพันบริษัท ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ที่เจ็บหนักสุดๆคือ “คลัสเตอร์ยานยนต์” ไล่ตั้งแต่โรงงานประกอบอย่างกลุ่มฮอนด้า จนถึงผู้ผลิตอะไหล่และชิ้นส่วน

ญี่ปุ่นคือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เพราะมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่า 31 % ของมูลค่าการลงทุนทางตรงของต่างชาติทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกัน 4.3 ล้านล้านบาท จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดรัฐบาลต้องแคร์ภาคธุรกิจญี่ปุ่นยิ่งกว่าไข่ในหิน

ล่าสุด กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ลัดฟ้าไปโรดโชว์กับภาคเอกชนญี่ปุ่นเพื่อสร้างความมั่นใจกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย วันที่ 28 พ.ย. 2554 โดยจะไปพบกับผู้นำเอกชน 3 สถาบันของญี่ปุ่นหรือไคดันเรน พร้อมกับเข้าพบโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นด้วย

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. กิตติรัตน์ ได้หารือร่วมกับ อาไร อิซูมิ รองประธานองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า ถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาอุทกภัย

รัฐบาลไทยตัดสินใจเลือกไจก้าเป็นที่ปรึกษาการลงทุนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่ออนาคต โดยตัดทิ้งตัวเลือกที่เหลืออีก 2 ประเทศ ที่ส่งประกวดโดยรัฐบาล เนเธอร์แลนด์ และ สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเสนอตัวเข้ามาเพื่อหวังเมกะโปรเจกต์ใหญ่หลังจากนี้

ถือเป็นการ “ซื้อใจ” รัฐบาลซามูไรที่กำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงแบบเต็มพิกัด

ยังไม่นับรวมมาตรการภาษีอื่นๆที่รัฐบาลจะปูพรมตามมาหลังปัญหาอุทกภัยผ่านพ้นไปอีกด้วย…

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการลดภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนเป็นเวลา 6 เดือนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มบริษัทฮอนด้า ประเทศไทย ที่ฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะต้องจมน้ำท่วม

โดยกระทรวงการคลังเชื่อว่า บริษัทฮอนด้าต้องใช้เวลาในการปรับปรุงเครื่องจักร และฟื้นฟูสภาพโรงงานที่เสียหายอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน กว่าจะกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้ฮอนด้าจำเป็นต้องนำเข้าอะไหล่และรถยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศไปก่อน

“กระทรวงการคลังพยายามที่จะเสนอวาระการลดภาษีรถยนต์ เป็นเพื่อพิจารณาจรเมื่อวันที่ 22 พ.ย. แต่นายกรัฐมนตรียังไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เนื่องจากเกรงว่าจะถูกโจมตีจากค่ายรถยนต์อื่นๆว่ามีการเลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือธุรกิจ จึงตีกลับไปให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ที่มีรองนายกฯกิตติรัตน์เป็นประธานพิจารณาให้รอบคอบ” แหล่งข่าวระบุ

ไม่เพียงแต่มาตรการลดภาษีจากกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ยังเสนอข้อมูลให้กิตติรัตน์ แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 เพื่อเปิดทางให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ สามารถปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทลูกในประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น

ถือเป็นความพยายาม ในการ “ปลดล็อก” กฎหมายที่ควบคุมการถ่ายโอนเงินลงทุน เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย เกรงว่าการเปิดเสรีการกู้เงินระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จะเป็นช่องทางในการแต่งบัญชี อำพรางธุรกรรม ไปจนถึงการเก็งกำไรค่าเงินบาท

แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลไทยกล้าพอที่จะแก้ไขกฎหมายต่างด้าวโดยไม่ระบุว่าเป็นนักลงทุนจากประเทศใด แต่เชื่อว่าบริษัทลูกที่ญี่ปุ่นถือหุ้นข้างมากอยู่ในประเทศไทย ย่อมได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ถูกมรสุมน้ำรุมสกรัมทำให้สภาพคล่องทางการเงินเสียหาย

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะฟื้นความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและภาคเอกชนญี่ปุ่นด้วยการเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Agreement between the Kingdom of Thailand and Japan for an Economic Partnership : JTEPA) หรือเจเทปป้า เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีการค้าการลงทุนเพิ่มเติม หลังเจเทปป้ามีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550

ในเอกสาร พณ 0605/3631 ซึ่งกิตติรัตน์ จัดทำไปถึงคณะรัฐมนตรี ระบุว่า พันธกรณีที่จะต้องเจรจาต่อในประเด็นต่างๆตามข้อตกลงเจเทปป้า ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 จะเป็นการรักษาความเชื่อมั่นต่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้า และนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆของไทย

โดยมีการหยิบยกผลศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเจเทปป้า ที่จัดทำโดยศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มาสนับสนุน โดยพบว่า ข้อตกลงนี้ช่วยให้การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจาก 37,098 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2549 มาเป็น 49,787 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 โดยผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิผ่านข้อตกลงนี้ไปขายสินค้าในญี่ปุ่นกว่า 50 %

ล่าสุดในช่วงครึ่่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2554 ผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเจเทปป้าที่ 68.35 % เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.72 % เป็นตัวสะท้อนว่าเจเทปป้าช่วยเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าในตลาดแดนซามูไรเพิ่มขึ้น

ในผลศึกษาของนิด้ายังพบว่าหากรัฐบาลไทยมีการเจรจาเปิดเสรีเพิ่ม จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย โดยจีดีพีจะเติบโตขึ้้นอีก 0.28% การลงทุนในไทยจะเพิ่มขึ้น 5.97 %

โดยเชื่อว่าผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า 410 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,666 ล้านบาท ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ประโยชน์เพียง 114 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,522 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะอ้างว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวมาก แต่จริงๆแล้วยังมี “ประโยชน์ซ่อนเร้น” ที่ทางญี่ปุ่นได้จากประเทศไทยมากกว่าสิ่งที่เป็นเม็ดเงิน นั่นคือการส่งออก “กากของเสียอุตสาหกรรม” มาทิ้งยังประเทศไทย สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากทางญี่ปุ่นมีการแปรสภาพกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมของญีปุ่น ที่แต่เดิมเป็นรายการสินค้าที่ถูกควบคุมการนำเข้า มาเป็นหมวด “รายการสินค้า” ผ่านข้อตกลงเจเทปป้าหลายรายการ ตามนโยบายที่ญี่ปุ่นต้องการ “รีไซเคิล” ของเสียออกนอกประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นเลือกไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

ดังจะเห็นได้จากสถิติการนำเข้า “ของเสีย” จากภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านกรมศุลกากรตลอดช่วงที่มีผลบังคับใช้เจเทปป้า ถือว่าปริมาณสูงมากทุกปี การเดินหน้าเจรจาเจเทปป้ารอบใหม่ จึง “เข้าทาง” รัฐบาลญี่ปุ่นแบบไม่ต้องสงสัย

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือก ในช่วงเวลาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ “หลังพิงฝา” ต้องพึ่งพาความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ญี่ปุ่นเป็นทางเลือกแรกที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกไป “โรดโชว์” การมี “ของ” ในกระเป๋า เพื่อเอาไปแลกเปลี่ยนและสนทนากับบิ๊กธุรกิจของญี่ปุ่น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเลือกและทำ ไม่มีเวลามานั่งพินิจพิเคราะห์อะไรกันมากมายนัก

แนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากกุนซือทางเศรษฐกิจรุ่นเก๋าของรัฐบาล อย่าง “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มองว่าไม่ว่าวิกฤตครั้งไหน ญี่ปุ่นคือคนที่จริงใจในการช่วยเหลือ ต่างจากสหรัฐที่เข้ามาโอบอุ้มไทยแค่ผิวเผิน

งานนี้วัดฝีมือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี คนที่หลายฝ่ายบอกว่ามือไม่ถึง แต่หากแผนซื้อใจ ซามูไร เที่ยวนี้สำเร็จได้ ดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมา ก็ถือว่าหยิบชิ้นปลามันจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของรัฐบาลได้อย่างสบาย