ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผ่าโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มไหนได้ประโยชน์ “มาก-น้อย” ?

ผ่าโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มไหนได้ประโยชน์ “มาก-น้อย” ?

23 ธันวาคม 2012


ประเทศไทยนำโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดามาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2525 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มต้นมี 13 ขั้นอัตรา ต่อมาในปี 2529 มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเหลือ 11 ขั้นอัตรา จากนั้นปี 2532 เหลือ 6 ขั้นอัตรา และปี 2535 ปรับลดเหลือ 5 ขั้นอัตรา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นครั้งที่ 4 ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอให้มีการปรับปรุงอัตราการคำนวณภาษีจากเดิม 5 ขั้นอัตรา เพิ่มเป็น 7 ขั้นอัตรา

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทางกระทรวงการคลังจึงมีการปรับลดอัตราภาษีลงมาเกือบทุกช่วงของเงินได้สุทธิ พร้อมกับยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อไป

ตามขั้นตอนของกฎหมาย อัตราการคำนวณภาษีใหม่จะมีผลต่อผู้ยื่นภาษีในปี 2557 เพราะกระทรวงการคลังต้องยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรมาเสนอที่ประชุม ครม. อีกครั้ง ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 เพื่อให้ผู้เสียภาษีมายื่นแบบแสดงเสียภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีอย่างไร ก่อนจะวิเคราะห์ไปถึงตรงนั้น ต้องทำความเข้าใจหลักในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อน ตามประมวลรัษฎากร กำหนดให้คนที่มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทยต้องนำรายได้รวมตลอดทั้งปี หรือ “เงินได้พึงประเมิน” มายื่นเสียภาษีกับกรมสรรพากร โดยให้นำเงินได้พึงประเมินไปหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด เพื่อคำนวณหายอด “เงินได้สุทธิ” ของผู้เสียภาษี

จากนั้นนำยอดเงินได้สุทธิไปแยกคำนวณภาษี ตามช่วงของเงินได้สุทธิ เดิมมี 5 อัตรา แต่โครงสร้างภาษีใหม่มี 7 อัตรา เริ่มต้นที่ 5%, 10%, 15%, 20%, 25%, 30% และ 35% ผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณภาษีในแต่ละขั้นอัตรา เมื่อนำมาบวกรวมกันเรียกว่า “ยอดภาษีสะสม” หรือ “ยอดภาษีสูงสุดของแต่ละขั้น” (ดูตาราง โครงสร้างใหม่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)

ตัวเลขยอดภาษีสะสม จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ที่มีเงินได้สุทธิในแต่ละช่วงชั้นอัตรารู้ว่า ต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากรสูงสุดเท่าไหร่ หรือมีเพดานสูงสุดไม่เกินเท่าไร

อาทิเช่น ถ้าผู้มีเงินได้สุทธิ 3 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วง 2-4 ล้านบาท หมายความว่า ภาระภาษีที่เขาต้องจ่ายจะไม่เกินยอดภาษีสะสม คือ 965,000 บาท เป็นต้น

เมื่อได้ข้อมูลข้างต้นจะสามารถคำนวณเปรียบเทียบได้ว่า “โครงสร้างอัตราภาษีเดิม” กับ “โครงสร้างอัตราใหม่” ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่งผลต่อผู้เสียภาษีอย่างไร

ตาราง “ผลกระทบต่อผู้เสียภาษี” ที่ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” แสดง เป็นการนำยอดภาษีสะสมของโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างภาษีที่กำลังปรับปรุงใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้เสียภาษีแต่ละช่วงชั้นของเงินได้สุทธิ “ได้ประโยชน์” หรือ “ได้รับส่วนลดกี่เปอร์เซ็นต์” จากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้

ที่สำคัญจะชี้ให้เห็นว่า “กลุ่มไหนได้มาก กลุ่มไหนได้น้อย”

การปรับโครงสร้างอัตราภาษีครั้งนี้ ทุกกลุ่มได้รับอานิสงกันอย่างถ้วนหน้า แต่ได้ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิในช่วง 150,001-300,000 บาท ภาระภาษีลดลง 50% รองลงมาจะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในช่วง 500,001-750,000 บาท หรือเสียภาษีน้อยลง 23.54% และกลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในช่วง 300,001-500,000 บาท ภาระภาษีลดลง 21.43%

ส่วนกลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิในช่วง 4 ล้านบาท ถึง 20 ล้านบาท ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษีคิดเป็นเม็ดเงินสูงสุดถึง 390,000 บาท แต่ภาระภาษีลดลงแค่ 5.60% เท่านั้น

ยกตัวอย่าง กรณีผู้เสียภาษีมีเงินได้สุทธิ 300,000 บาท โครงสร้างภาษีปัจจุบันต้องเสียภาษี 15,000 บาท โครงสร้างใหม่จ่ายแค่ 7,500 บาท ลดลง 50% และถ้าหากผู้เสียภาษีมีเงินได้สุทธิ 2,000,000 บาทต่อปี เดิมเสียภาษี 435,000 บาท โครงสร้างใหม่เสียภาษี 365,000 บาท เป็นต้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ได้นำมาคำนวณกับตัวเลขโครงสร้างผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร ปีภาษี 2551 เป็นฐานในการคำนวณ ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า รายละเอียดของการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้มีผู้เสียภาษีกลุ่มใดบ้างได้รับประโยชน์กี่ราย แต่ละกลุ่มภาระภาษีลดลงประมาณเท่าไหร่ รวมถึงรายได้ของรัฐที่หายไปมากน้อยแค่ไหน เป็นวัตถุประสงค์หลัก ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการคำนวณผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องฐานข้อมูล

ปรับภงด รัฐสูญเสียรายได้

ตารางที่นำมาแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิในช่วง 150,001-300,000 บาท เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมีจำนวน 1,135,497 ราย การปรับลดภาษีจึงเน้นไปที่กลุ่มนี้ ได้รับส่วนลด 50% ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 3,601 ล้านบาท รองมาเป็นกลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิ 5.0-7.5 แสนบาท มี 220,251 ราย รับส่วนลดภาษี 23.53% รัฐสูญเสียรายได้ 2,867 ล้านบาท อันดับที่ 3 กลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิ 3-5 แสนบาท มีจำนวน 5.27 แสนราย รับส่วนลดภาษี 21.43% รัฐสูญเสียรายได้2,606 ล้านบาท ขณะเดียวกัน การปรับลดภาษีครั้งนี้ ต้องรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนระดับล่างที่มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ซึ่งมีจำนวน 6.87 ล้านราย ยังคงได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีต่อไป

กลุ่มผู้เสียภาษีทั้ง 4 กลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนรวมกัน 8,760,693 ราย คิดเป็นสัดส่วน 97.46% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 8,988,741 ราย เนื่องจากใช้ฐานข้อมูลโครงสร้างผู้เสียภาษีปี 2551 มาประกอบการวิเคราะห์ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 17,604 ล้านบาท ตัวเลขจึงต่ำกว่าประมาณการรายได้รัฐที่เสียหายจากการลดภาษี 25,000 ล้านบาท ตามเอกสารที่นำเสนอ ค.ร.ม.

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป้าหมายของการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐบาลจึงต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท เหมือนเดิม ส่วนคนที่มีรายได้เกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป ดูเสมือนว่าได้รับส่วนลดมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้จ่ายภาษีให้กับรัฐในวงเงินที่มากนั่นเอง แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์แล้วไม่มาก ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี”

ทั้งนี้ นอกจากครม.มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราการคำนวณโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิม 5 ขั้นอัตรา เพิ่มเป็น 7 ขั้นอัตรา แล้ว ครม. ยังมีมติให้กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร กำหนดคำนิยาม “คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล” ให้มีความชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาคนที่มีรายได้ดี กระจายรายได้ไปยังคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้น จึงกำหนดให้คำนวณภาษีจาก “เงินได้พึงประเมิน” ก่อนที่จะหักค่าใช้จ่ายในอัตรา 20% ขณะที่ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” กำหนดให้คำนวณภาษีจาก “เงินได้สุทธิ”ในอัตรา 20%

ล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการปรับขั้นการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2556 ผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2555