ความพยายามที่จะเอาใจรัฐบาลญี่ปุ่น สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554
เมื่อมีการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับ “ค่ายผู้ผลิตรถยนต์” ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2554 – 30 มิ.ย. 2555 หรือเป็นเวลา 8 เดือน
หากลงลึกในรายละเอียดตามเอกสารของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ นร.1503 ซึ่งนำเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี พบว่ามาตรการที่ออกมาเป็นการรับ-ส่งลูกของกระทรวงการคลัง และเป็นไปตามข้อเสนอของ “บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด” ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่
ทั้งนี้ตามมติครม.ระบุว่าผู้ได้รับสิทธิคือผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่เป็นโรงงานผลิตอย่างครบวงจร คือมีการผลิตตัวถัง การทำสีตัวถังและการประกอบรถยนต์ เป็นโรงงานที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ โดยไม่รวมถึงบริษัทที่ประกอบรถยนต์ขึ้นจากชิ้นส่วนเก่า
เท่ากับว่ามติครม.ดังกล่าว หนีไม่พ้นข้อครหาการ “ล็อคสเปค” ให้กับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้า ที่ได้รับความเสียหายหนักจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การผลักดันมติครม.ครั้งนี้ยังทำแบบสายฟ้าแลบ คือหลังจากที่นายกิตติรัตน์ กลับจากการเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีและผู้นำสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น หรือไคดันเรน ซึ่งกอปรไปด้วยตัวแทนภาคเอกชนรายใหญ่ในแดนซามูไร เพียงวันเดียว
นายกิตติรัตน์ ทำรายงานถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าระหว่างการหารือกับ โยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนั้น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการหยิบยกเรื่องความช่วยเหลือผู้ประกอบการญี่ปุ่นซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบเป็นกรณีพิเศษ
ก่อนจะนำไปสู่วาระการเสนอที่ประชุมครม.แบบ “พิจารณาจร” ในเช้าวันต่อมา
ปัญหาก็คือในเอกสารเสนอวาระการประชุมที่ นร.1503 ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นั้น กลับมีข้อสังเกตถึงความ “ไม่ตรงไปตรงมา” ในการจัดทำวาระดังกล่าวอย่างชัดเจน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่าเอกสารดังกล่าวระบุว่า “สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่า กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการภาษีศุลกากรในเรื่องนี้มาเพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังมิได้เสนอครม.พิจารณาแต่ประการใด”
สำหรับมติครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.นั้น เป็นแค่การเห็นชอบในหลักการ ของแผนและแนวทางดำเนินการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอว่าหลังจากน้ำลดแล้ว ต้องจัดให้มีมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุน และมาตรการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
กล่าวคือเป็นการอนุมัติแค่กรอบกว้าง ไม่ได้ระบุให้ช่วยเหลือบริษัทใดเป็นการเฉพาะ
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังได้แนะว่า แม้ครม.จะเห็นชอบ แต่ควรส่งประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าของกระทรวงการคลัง ไปให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณาก่อน จึงค่อยดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดี รองนายกฯกิตติรัตน์ ยืนยัน “แนบท้าย” ในวาระการพิจารณาจรว่า การยกเว้นภาษีดังกล่าวถือเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 9 ของพรฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและยืนยันว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องเสนอเป็นวาระจรในการประชุมครม. “วันที่ 29 พ.ย. 2554” เท่านั้น
โดยเอกสารฉบับดังกล่าว มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามอนุมัติ เนื่องจาก นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าประชุมอ้างเหตุผลว่าป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ
ขณะที่ทางค่ายรถยนต์ใหญ่อย่างโตโยต้า ซึ่งดูเหมือนว่าจะ “ตกขบวน” ความช่วยเหลือดังกล่าว ได้ทำหนังสือแย้งในภายหลังว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรการของภาครัฐครั้งนี้ เพราะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นทันทีในอุตสาหกรรมยานยนต์
แม้โตโยต้าซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ จะไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย แต่บรรดาซับพลายเออร์ที่ป้อนอะไหล่เพื่อส่งมาประกอบเป็นตัวรถยนต์ ล้วนจมน้ำกันระนาว
ถึงโรงงานประกอบยังเปิดสายพาน แต่โตโยต้าก็ยังผลิตไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิม ต้องนำเข้าอะไหล่มาจากต่างประเทศชั่วคราว มีออเดอร์กองอยู่ในมือมากมายแต่ก็วางบิลไม่ได้ นั่นหมายความว่าโตโยต้าก็เสียหายมากเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา โยอิชิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าพบ วีรพงษ์ รางมางกูร ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ยืนยันว่า โตโยต้ายังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป และจะพิจารณาเพิ่มการลงทุนในปีหน้า โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ให้ได้ 1 ล้านคัน พร้อมขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการยานยนต์หลายประเด็น แต่ไม่มีการพูดเรื่องการยกเว้นภาษีนำเข้า
ขณะที่ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา สศค.ได้มีการหารือกับผู้บริหารของบริษัทโตโยต้าฯ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงให้กับผู้บริหารบริษัทโตโยต้าว่ามาตรการชุดนี้เป็นมาตรการทั่วไปประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ 1) มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 2) มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ และ3) มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
“มาตรการชุดที่ 1และชุดที่ 2 เป็นมาตรการทั่วไป ไม่ได้ให้รายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่โรงงานที่ผลิตรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ตอนนี้มีเพียงแห่งเดียวคือโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า ส่วนมาตรการชุดที่ 3 ยกเว้นภาษีนำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ที่จะได้สิทธิ์ยกเว้นภาษี ต้องเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ทางโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของโตโยต้าที่ถูกน้ำท่วมได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้มีการหารือพูดคุยกันทางโตโยต้า ก็ไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว” ดร.สมชัยกล่าว
ขณะที่กลุ่มฮอนด้า ซึ่งโรงงานจมน้ำแบบมิดหัว ทำหนังสือในเวลาไล่เลี่ยกัน ยี่นข้อเรียกร้องถึง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง พร้อมเดินเครื่องเจรจากับรัฐบาลเต็มสูบ
แม้ฐานการผลิตฮอนด้าจะเจ็บหนักกว่า โตโยต้าหลายเท่า แต่ผู้บริหารจากญี่ปุ่นยังไฟเขียวให้ ฮอนด้า บริจาคเงินก้อนใหญ่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 100 ล้านบาท
โดยนายฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด และประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มอบให้ผ่านสภากาชาดไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2554
เป็นการสะท้อนถึงความใจถึง พึ่งได้ และความลึกซึ้งของค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ในเมืองไทย
เมื่อย้อนกลับไปดูโครงสร้างในกลุ่มฮอนด้าจะเห็นถึงความลึกซึ้งดังกล่าวอย่างชัดเจน
โดยบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับหน้าที่ในการประกอบและจำหน่ายรถยนต์ ชิ้นส่วน ทั้งในประเทศและส่งออก มีบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ ของญี่ปุ่นถือหุ้น 75.94 %
ขณะที่กรรมการบริษัททั้งหมด 8 คนเป็นชาวญี่ปุ่น 5 คน และเป็นคนไทย 3 คน ได้แก่ พงส์ สารสิน, พรวุฒิ สารสิน และพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 5,460 ล้านบาท
เมื่อตรวจสอบลึกลงไปจะพบว่า กรรมการของบริษัทบริษัทฮอนด้าออโตโมบิล(ประเทศไทย) จำนวน 3 คน ได้แก่นายฮิโรชิ โคบายาชิ , อิซาโอะ อิโตะ และ พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ไปเป็นกรรมการของบริษัทเครือข่ายอย่าง “เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์” ที่ตั้งอยู่เลขที่ 14 อาคารสารสิน ย่านสีลม กทม. ทำธุรกิจส่งออกทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์
บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับหน้าเสื่อ ทำหนังสือถึงรมว.คลัง มีลักษณะของการเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ตรงกันข้ามกับ บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญในการผลิต มีโครงสร้างที่แตกต่างออกไป เมื่อมีกลุ่มทุนไทยสอดแทรกเข้าไปถึงหุ้น 10.1 %
โดยทุนไทยที่เข้าไปถือหุ้นนั่นได้แก่ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ถือหุ้น 6.044 % และ พงส์ สารสิน ถือหุ้น 4.967 %
ทั้งนี้ ชื่อของ พงส์ สารสิน ได้หายไปจากข่าวคราวในแวดวงธุรกิจพักใหญ่ หลังจากถูกพิษสงจากหนาม “บริษัทกุหลาบแก้ว” ซึ่งเป็นบริษัทนอมินีของกลุ่มเทมาเส็ก ในการเข้าซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549
ขณะที่ พงส์ ยังคงรับหน้าที่กุมบังเหียนธุรกิจอันหลากหลายของตระกูลเฉียดๆ 100 บริษัท ปัจจุบันนั่งทำงานอยู่ในสำนักงาน บริษัทไทยน้ำทิพย์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ สนามกอล์ฟนอร์ธปาร์ค ย่านวิภาวดีรังสิต ขณะที่่ น้องชายของพงส์ คือ อาสา สารสิน ซึ่งมีอายุห่างกัน 9 ปี ปัจจุบันนั่งทำงานในฐานะราชเลขาธิการ
สำหรับบริษัททุนลดาวัลย์ ผู้ถือหุ้นในฮอนด้าอีกรายนั้น ถือเป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อฮอนด้าในหลายมิติ โดย บริษัท ทุนลดาวัลย์ มี “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ถือหุ้นเต็ม 100 % คิดเป็นมูลค่าหุ้นประมาณ 11,621 ล้านบาท ทำหน้าที่บริหารเงินลงทุนให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯเป็นหลัก
บริษัท ทุนลดาวัลย์ มีกรรมการ 9 คน อาทิ ยศ เอื้อชูเกียรติ , ชุมพล ณ ลำเลียง , จิรายุ อิศรางกูร ณ ยุธยา , เสนาะ อูนากูล , วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นต้น
ความหนาแน่นของทุนและเครือข่ายสายสัมพันธ์เช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใด ค่ายฮอนด้าจึงได้รับการทนุถนอมน้ำใจ พร้อมมาตรการฟื้นฟูจากอุทกภัยมาได้แบบปูพรม