ThaiPublica > เกาะกระแส > ต่างชาติไม่เชื่อมั่นแผนแก้น้ำท่วม ญี่ปุ่นเมินไม่รับประกันภัยต่อ

ต่างชาติไม่เชื่อมั่นแผนแก้น้ำท่วม ญี่ปุ่นเมินไม่รับประกันภัยต่อ

6 พฤศจิกายน 2011


(จากซ้ายไปขวา) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กับ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงคลัง แถลงข่าวร่วมกัน เรื่องบริษัทประกันภัยต่างชาติกังวลปัญหาน้ำท่วม เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 54
(จากซ้ายไปขวา) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กับ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงคลัง แถลงข่าวร่วมกันเรื่องบริษัทประกันภัยต่างชาติกังวลปัญหาน้ำท่วม เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 54

จากการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ส่งผลทำให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีจมน้ำ ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศจนอาจทำให้นักลงทุนต่างประเทศย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งเริ่มมีสัญญาณให้เห็นจากบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่อาจจะไม่รับประกันภัยต่อ (reinsurance) จากบริษัทประกันภัยของไทย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วม 7 นิคมอุตสาหกรรม กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ โดยบริษัทประกันภัยต่างประเทศมีท่าทีจะไม่รับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันภัยของไทย ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น บริษัทประกันภัยไทยจะประกันภัยต่อลำบาก และเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศ

ถ้าบริษัทประกันภัยไม่รับประกันภัยต่อ บริษัทที่ลงทุนในประเทศจะมีจุดโหว่ หรือมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ เพราะเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็อาจถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้อง จึงเกรงว่าถ้าไม่รีบดำเนินการในเรื่องนี้ให้ชัดเจนบริษัทต่างๆ จะอยู่ยาก หรืออาจหนีไปที่อื่น

“ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็วภายใน 1 ปี หรือก่อนจะถึงฤดูน้ำท่วมอีกครั้งในปีหน้า” นายธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังเจรจากับบริษัทประกันภัยต่างประเทศอยู่ว่าต้องการเงื่อนไขอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยญี่ปุ่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้สั่งให้เป็นภารกิจของปลัดกระทรวงการคลัง (นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม) ต้องรีบไปเจรจาสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บริษัทประกันภัยรับประกันประเภทอื่นเหมือนเดิม ยกเว้นน้ำท่วม และที่รับประกันเรื่องน้ำท่วมก็มีท่าทีไม่อยากรับ เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าให้เจ้าของทรัพย์สินรับความเสี่ยงเอง 90%

“ขณะนี้กำลังเจรจากันใหญู่โตกับบริษัทประกันภัยต่างประเทศ โดยมอบให้เป็นภารกิจของปลัดกระทรวงคลังต้องรีบไปเจรจากับญี่ปุ่น ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะท่านปลัดเกิดที่ญี่ปุ่น น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี“ นายธีระชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายธีระชัยได้แสดงความกังวลเรื่องนี้ค่อนข้างมากถึงกับบอกว่า “ผมจะเป็นลม” หลังจากผู้สื่อข่าวได้ถามว่าหากเจรจาไม่สำเร็จ บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยต่อ และหากมีความจำเป็นรัฐบาลอาจต้องรับประกันเองหรือไม่

ขณะที่ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า บริษัทประกันภัยของไทยมีการกระจายความเสี่ยงหรือส่งประกันภัยต่อไปบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นมากที่สุดทั้งระบบมีสัดส่วนประมาณ 60 % เนื่องจากบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นบริษัทญี่ปุ่น

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปหารือกับบริษัทประกันภัยในสิงคโปร์ที่รับประกันภัยต่อว่ามีท่าทีอย่างไรในการจะประกันภัยต่อ ปรากฏว่า มีประเด็นความเสี่ยงเรื่องบริหารจัดการน้ำท่วม โดยบริษัทประกันในสิงคโปร์ต้องการให้รัฐบาลออกมาประกันให้ชัดเจนว่า ความเสี่ยงของเขาจะอยู่ในระดับไหน และรัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการบริหารความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมในระยะต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคลัง รายงานวงเงินค้ำประกันที่ 7 นิคมอุตสาหกรรมประกันความเสียหายจากน้ำท่วมและการหยุดชะงักดำเนินธุรกิจ มีจำนวนประกันทั้งหมดประมาณ 600,000 ล้านบาท มีการขอชดเชยความเสียหายไปแล้ว 30 % หรือประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท ส่วนกรณีประกันบุคคลธรรมดามีวงเงินประกันประมาณ 100,000 กว่าล้านบาท

“บริษัทประกันภัยในไทยที่รับประกันไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะส่วนใหญ่ส่งประกันภัยต่อ ไปต่างประเทศ โดยญี่ปุ่นมากที่สุดประมาณ 60 % ซึ่งบริษัทประกันเตรียมเอาเงินเข้ามาทันทีเมื่อมีการเรียกชดเชยความเสียหาย ดังนั้นเรื่องนี้ไม่มีปัญหา” ปลัดกระทรวงคลังกล่าว

สำหรับมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงจากท่วมในระยะต่อไปนั้น นายธีระชัย บอกว่า แนวทางคราวๆ ที่เตรียมดำเนินการคือ จะกำหนดให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางที่ทำนาปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเว้นช่วง 4 เดือนในช่วงน้ำหลากจะได้มีพื้นที่พร่องน้ำให้ไหลไปได้ จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมาว่าปล่อยน้ำมาไม่ได้เพราะจะทำนาข้าวเสียหาย

“แนวทางดังกล่าวจะทำกระบวนการผ่าน ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) โดยจะไม่รับจำนำข้าวหากมีการผลิตรอบที่ 3 แต่จะจ่ายชดเชยให้ ซึ่งธ.ก.ส.ประเมินว่าจะใช้เงินแต่ละปีไม่เกิน 10,000 ล้านบาท” นายธีระชัยกล่าว

อีกแนวทางที่รัฐมนตรีคลังระบุว่า ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ การสร้างเขื่อนป้องกันในจุดเสี่ยงของ 7 นิคมอุตสาหกรรม โดยต้องสร้างให้มีมาตรฐาน มีสันเขื่อนกว้างและแข็งแรง

ในการสร้างเขื่อนดังกล่าวนั้น ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมเงินกู้ผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (solf loan) วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยต้องเร่งดำเนินการก่อนต้นเม.ย. ปีหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงน้ำจะท่วมอีกครั้ง และเชื่อว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนมาตรฐานป้องกันจะทำให้ 7 นิคมอุตสาหกรรมไม่มีปัญหาน้ำท่วมอีก

อย่างไรก็ตาม นายธีระชัยระบุว่า แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมข้างต้น เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น ส่วนมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาเป็นกระบวนการทำงานครบวงจรนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประกาศนโยบายในเร็วๆ นี้ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและประชาชนทุกคน เพราะคงไม่มีใครอยากอพยพอีกในปีหน้า ดังนั้นนโยบายหรือโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำ หากมีความต้องการใช้เงิน กระทรวงคลังพร้อมจะจัดหาแหล่งเงินให้ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ในมุมของ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามพูดหลายครั้งถึงวิธีอธิบายให้ต่างชาติเชื่อมั่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่านิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วมนั้น มีกำลังการผลิตคิดเป็นสัดส่วนเพียง 17 % ของกำลังการผลิตอุตสาหกรรมทั้งระบบ ดังนั้นอีก 80 % ของกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่อื่นไม่ถูกน้ำท่วม หรือหากโดนผลกระทบบ้างก็ไม่มากเท่าอยุธยาและปทุมธานี

“ ถ้าต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็มีพื้นที่อื่นที่น้ำไม่ท่วมสามารถเข้ามาลงทุนได้ การบอกตัวเลขดังกล่าวน่าจะเป็นวิธีหนึ่งอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจได้ถ้าจะมาลงทุนในไทย” ดร.ประสารกล่าว

ทั้งนี้ 7 นิคมอุสาหกรรมที่จมน้ำ ได้แก่ สหรัตนนคร, โรจนะ, ไฮเทค, บางปะอิน, แฟคเตอรี่ แลนด์, บางกะดี และนวนคร มีโรงงานทั้งหมด 731 บริษัท