ThaiPublica > เกาะกระแส > สนทนาธรรมกับ “สมเด็จพระวันรัต – บัณฑูร ล่ำซำ”

สนทนาธรรมกับ “สมเด็จพระวันรัต – บัณฑูร ล่ำซำ”

2 ตุลาคม 2011


สนทนาธรรม"สมเด็จพระวันรัต - บัณฑูร ล่ำซำ" โครงการจัดหาเงินซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
สนทนาธรรม"สมเด็จพระวันรัต - บัณฑูร ล่ำซำ" โครงการจัดหาเงินซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

“มีคนมาขอข้าวที่วัด อาตมาสั่งไม่ให้ หากให้เขาก็เป็นการลงโทษเขา เขาต้องควรไปทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ถ้าคนทำงาน ทำแล้วไม่พอทาน ก็ควรเอาไปให้ เช่น กรรมกร”

ในโอกาสแถลงข่าวเปิดโครงการ จัดหาทุนทรัพย์ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ตึก 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในปี 2556

การระดมทุนครั้งนี้ต้องการเงิน 250 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากงบประมาณที่ได้มาเพียงพอเฉพาะการสร้างตึกเท่านั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนามีผู้ป่วยมาใช้บริการสูงถึง 1,500 รายต่อวัน และมีผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละเกือบ 500 ราย ประกอบกับกาญจนบุรีมีชายแดนติดประเทศพม่า มีคนที่ไม่ใช่คนไทยที่เข้ามารักษาตัว นอนกันตามทางเดินเป็นจำนวนเยอะมาก หากมีตึกอีกตึกก็สามารถช่วยคนในแนวตะเข็บชายแดนได้

การแถลงข่าวครั้งนี้ทั้งสมเด็จพระวันรัต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหาร และในฐานะผู้อำนวยการ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่างได้กล่าวถึงความประทับใจต่อสมเด็จพระสังฆราช โดยสมเด็จพระวันรัตกล่าวว่าประทับใจพระจริยวัตรที่สมเด็จพระสังฆราชได้ทำตั้งแต่มาอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารเมื่อปี 2494 ท่านมีพระองค์สำรวม สงบ เป็นที่เกรงขามของพระและเณร แต่ท่านไม่ดุนะ

ขณะที่นายบัณฑูรกล่าวว่า “ผมมาช้ากว่าท่านเจ้าคุณวันรัต ผมเรียนจบ และมาบวชที่นี่ 1 พรรษา เมื่อปี 2520 สิ่งที่ประทับใจคือ พระองค์ท่านสอนพระใหม่ทุกวัน ตอนเช้าจนถึงเพล ช่วงบ่ายมีบรรยายธรรมะ พระใหม่ต้องเข้าฟังและต้องนั่งสมาธิ ทำด้วยพระองค์เอง และทำหน้าที่พระองค์สม่ำเสมอ เช่น ออกบิณฑบาต เป็นวัตรปฏิบัติที่พระสงฆ์พึงทำ เป็นความประทับใจ และได้รับธรรมะที่พระองค์ท่านสอน”

“ดังนั้นในโอกาสที่สมเด็จพระสังฆราชจะเจริญพระชนมายุครบ 100 ปี ในปี 2556 จึงจัดให้มีโครงการระดมทุน เพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ได้สร้างตึกแล้ว แต่ขาดเครื่องมืออุปกรณ์อีก 250 ล้านบาท โดยอาคารจะเสร็จในปีหน้า สมเด็จพระเทพฯท่านเสด็จ พระองค์ท่านบอกว่างบหลวงให้แค่สร้างตึก แต่อุปกรณ์การแพทย์ต้องหาเอง ผมก็มากราบทูลท่านเจ้าคุณวันรัต ท่านเห็นด้วย ว่าจะใช้มูลนิธิมหามกุฏฯ ในการหาทุน และเปลี่ยนชื่อตึกเป็นตึกสมเด็จพระสังฆราช ค่าเครื่องมือทางโรงพยาบาลคิดมาประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานโครงการนี้”

สมเด็จพระคุณวันรัตกล่าวว่าตั้งแต่ 3 ตุลาคมปีนี้ ถึง 3 ตุลาคมปีหน้า จะมีการระดมทุนด้วยการทอดผ้าป่า ซึ่งแจ้งทุกวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมโครงการนี้ หรือประชาชนสนใจจะร่วมบริจาค 10 บาท 20 บาทก็ทำได้ โดยรวบรวมส่งมาที่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย รับอนุโมทนาผ่านมูลนิธิฯ เครือข่ายธนาคารพาณิชย์ทุกสาขาผ่านบัญชี “100 ปีสังฆราชเพื่อรพ.พหลฯ” หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.sangharajacentennial.org และได้ทำหนังสือ 100 คำสอนสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 500,000 เล่ม จำหน่ายด้วย

สมเด็จพระวันรัตได้กล่าวถึงการทำบุญว่าเป็นการบริจาคปัจจัยที่เกินจากความจำเป็นของชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่ขาดแคลน การทำบุญถือเป็นการทำความดี

“คำว่าบุญคือความสุขใจ ช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เมื่อได้ช่วยเขาให้พ้นจากทุกข์ เรารู้สึกมีความสุข บุญคือความสุขนั่นเอง บุญที่ทำไม่มีพลังงานอำนาจที่จะมาช่วยเรา หากคิดว่ามีพลังอำนาจมาช่วยเราอันนั้นมอง “บุญ”ผิด เพราะการทำบุญคือทำความดี ทำแล้วมีความสุขใจ อย่าไปปรารถนาว่าทำบุญเท่านี้แล้วจะได้นั่นได้นี่ ทำแล้วได้เท่าที่เราทำ อย่าไปหวังกำไร หากใจมีความสุขแล้ว ก็มีอานิสงส์ในเรื่องอื่นๆ คิดอะไร ทำอะไร ก็เจริญรุ่งเรือง เพราะสมองโปรดโปร่ง” สมเด็จพระวันรัตกล่าว

สมเด็จพระวันรัตกล่าวว่าการบิณฑบาตรเป็นกิจของพระ สมัยก่อนคนไม่ค่อยใส่บาตร ปัจจุบันไม่ต้องออกจากประตูวัด โยมใส่อาหารแล้ว และแต่ละชุดจำนวนเยอะมาก ไม่ต้องออกจากวัดก็เต็มบาตร เมื่อก่อนปี 2494 เดินบินฑบาตร 1 ชั่วโมง ได้ข้าวเปล่า ไม่มีกับข้าว มีเกลือ เอาเกลือคลุก หรือถ้ามีไข่เค็ม 1 ลูก ไม่ใช่ผ่า 4 แต่ต้องผ่า 8 เดี๋ยวนี้รวย คนใส่บาตรกันเยอะมาก

“มีคนมาขอข้าวที่วัด อาตมาสั่งไม่ให้ หากให้เขาก็เป็นการลงโทษเขา เขาต้องควรไปทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ถ้าคนทำงาน ทำแล้วไม่พอทาน ก็ควรเอาไปให้ เช่นกรรมกร”

สมเด็จพระวันรัตกล่าวต่อว่าพระบิณฑบาตนั้นมีเวลาบิณฑบาต เพราะหลังบิณฑบาตรแล้วต้องมาทำวัตร หากเลยเวลาแล้วยังบิณฑบาตร จะมีตำรวจพระคอยตรวจ ดังนั้นการใส่บาตร โยมต้องรู้ว่าใส่เวลาไหน คือไม่เกิน 7 โมงเช้า เพราะพระฉัน 8 โมง และต้องทำวัตร สวดมนต์ และเรียนหนังสือ ตอนเย็นก็ทำวัตรสวดมนต์

“มีพระหลายองค์ที่ไม่ปฏิบัติกิจของพระ ดังนั้นโยมอย่าไปใส่บาตรเลยเวลา อะไรที่ไม่ถูกกิจของพระอย่าไปทำ ฝากโยมทั้งหลายด้วย อย่าทำอะไรที่ผิดระเบียบของพระ หากโยมทำตรงนี้ก็เป็นการช่วยเหลือพุทธศาสนา เท่านี้ก็พอแล้ว เพราะพระที่มีวินัยต้องบิณฑบาต พระต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงชีพ”

เมื่อถามว่าหลักธรรมที่อยากจะบอกประชาชน สมเด็จพระวันรัตกล่าวว่าประชาชนโดยทั่วไปมีหลักธรรม คือศีล 5 ข้อ เวลารับศีลตอนทำบุญ อาตมาอยากถามว่ารับแล้วปฏิบัติหรือเปล่า ก่อนรับศีลเป็นอย่างไร หลังรับศีลเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่การสมาทานศีลไม่เกิด นั่นคือเป็นความจริง

ศีลไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ว่าต้องเข้าวัดแล้วจึงจะรักษาศีลได้ หรือต้องมาเป็นพระแล้วจึงรักษาศีล

ศีล แปลว่า “ปกติ” ทุกอย่างมีปกติ ถ้าทุกคนรักษา“ปกติ” ให้ได้ คือการรักษาศีล

เพราะ “ศีล” คือ “ปกติ” ทุกคนมีปกติอยู่แล้ว แต่ปกติขอคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ฐานะ เพราะฉะนั้นการรักษาศีลคือรักษาปกติของแต่ละคนให้ได้

โยมแต่ละคนมีปกติของคน ทหารมีปกติต้องไปรบ ชาวประมงปกติคือออกทะเล ดังนั้นถ้าทำหน้าที่ของตัวเองให้ปกติ นั่นคือการรักษาศีล

ศีลกับบาปต้องแยกกัน รักษาปกติของคนเป็นบาปหรือไม่ เพราะหน้าที่ปกติของคนนั้นมีบาปอยู่บ้าง บาปแปลว่าไม่ดี อาจจะมีบ้าง

สมเด็จพระวันรัตกล่าวว่า คนเรามีปกติของความเป็นคน ที่กำหนด มี 5 อย่าง ไม่เบียดเบียน ไม่ลักทรัพย์ ไม่สำส่อน ไม่โกหก ไม่เอาของเมาใส่ตัว ทั้ง 5 ข้อนี้ มีอย่างหยาบ และละเอียดในตัว เราอยู่ตรงไหน เราอยู่อย่างปกติของเราตรงนั้น หากเปลี่ยนจากฆราวาสมาเป็นเณร ก็มีปกติของเณร มาเป็นพระก็มีปกติของพระ แต่การเป็นพระ เณร หรือโยม เป็นคนเหมือนกัน แต่มีปกติต่างกัน คนมี 5 ข้อ เณร 10 ข้อ พระ 227 ข้อ เป็นต้น

ดังนั้นอาชีพของคนปกติ อย่างชาวประมง ต้องออกทะเลจับสัตว์ ทหารต้องออกรบ ต้องไปยิงข้าศึก เพชรฆาตต้องฆ่าคน แต่ต้องยึดความเป็นปกติของตน ทุกคนมีอยู่แล้ว ถามว่าบาปไหม บาป แต่ไม่ผิดศีล แต่ถ้าไม่อยากบาปก็เปลี่ยนฐานะ เปลี่ยนอาชีพเสีย

ถ้าเป็นคนถือศีล 5 หากยังไม่พ้นทุกข์ ก็เปลี่ยนสถานะ ไปตามปกติของบทบาทนั้นๆ อาจจะเป็นพระ และรักษาปกติให้ได้ ส่วนทำอะไรที่จะเป็นบาป อีกเรื่องหนึ่ง

“พระพุทธเจ้าสอนให้รักษาศีล รักษาไว้ให้ได้ ไม่ใช่ให้ไปหาศีล ศีลคือระเบียบวินัยของสังคมนั่นแหละ ศีลอยู่กับตัว คือรักษาให้เป็นปกติ”