ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 7: “บัณฑูร” เข็ด ไม่อยากร่วมทุน

ตอนที่ 7: “บัณฑูร” เข็ด ไม่อยากร่วมทุน

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

“ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกสิกรไทย” เผย ถ้าเลือกรูปแบบการทำธุรกิจได้ “ไม่อยากร่วมทุน” ขอถือหุ้น 100% ดีกว่า พร้อมแจง “มืออาชีพที่ไม่มีนามสกุล” กับ “มืออาชีพที่มีนามสกุล” มีความเก่งเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ปกป้อง: ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ปี 40 สถาบันการเงินหลายแห่งก็จะมีบริษัทลูกมีธุรกิจย่อยเต็มไปหมด พอเกิดวิกฤติก็มีการเฉือนอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตไว้ เหลือแต่อันที่เป็นตัวหลัก ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มดี เราก็เริ่มเห็นว่ามีธุรกิจย่อยๆ กลับมา แล้วก็มีการดึงมารวมอยู่ที่บริษัทแม่มากขึ้น มันจะเป็นวัฏจักรไหม

คำว่า “ธุรกิจย่อย” ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เข้าใจว่าหมายถึงธนาคารพาณิชย์มีเงินอยู่กับมือ ก็ไปซื้อหุ้นในบริษัทประเภทนั้นประเภทนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรโดยตรงกับธุรกิจการเงิน ตอนนั้นก็ถือว่าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เจ๊ง หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจมันก็ตัดทิ้งตัดแทงศูนย์ไปโดยปริยาย

แต่ตอนนี้คำว่า “บริษัทย่อย” อย่างบริษัทที่ทำธุรกรรมทางการเงินแต่มีคนละใบอนุญาต เช่น ค้าหลักทรัพย์ บริหารสินทรัพย์ อะไรแบบนี้ ถ้าอย่างนี้มีความหมาย ซึ่งแต่ก่อนเราทำไม่ได้เพราะว่ากฎหมายไม่เปิดให้ คือได้แค่ 10% เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว คิดอีกแบบหนึ่ง การเป็น “เครือ” ทำให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินกับตลาดทั้งนั้น และในขณะนี้ บริษัทแม่ซึ่งเป็นธนาคารก็สามารถถือหุ้น 100% ในบริษัทลูกที่ทำธุรกรรมต่างๆ ด้านธุรกิจการเงินได้ ซึ่งคิดว่าก็เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบครั้งสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย

ปกป้อง: เป็นวิถีที่ดีใช่ไหม

ใช่ แต่ว่าให้ไปลงทุนในบริษัทเล็กบริษัทน้อยนั้น “ที่นี่ไม่ทำอีกแล้ว” ไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว ทำก็ทำเฉพาะธุรกิจการเงินเท่านั้น

ปกป้อง: นอกจากเรื่องนั้นแล้วมีเรื่องอะไรที่เข็ดอีกบ้าง ที่ที่นี่ไม่ทำอีกแล้ว

เอ่อ… ไม่อยากจะร่วมทุน ถ้าถือต้องถือ 100% ถ้าร่วมทุนแล้วตอนจบพูดไม่รู้เรื่อง ร่วมมือไม่เป็นไร เพราะร่วมมือพอถึงเวลาเห็นไม่ตรงกันก็เลิก ร่วมทุนเข้าไปเชื่อมกันเป็นตัวเงินในระดับทุน ตอนถอยมันถอยลำบาก

เห็นไม่ตรงกันมันก็เสียเวลาในการเจรจา ถ้าสมมติว่าเป็นความร่วมมือที่ไม่ถึงขั้นทุน ถึงเวลาก็โอเค ก็แยกกันไปคนละทาง ก็เป็นลักษณะนั้น แต่กิจการบางอย่างก็หนีไม่พ้น ก็ต้องเป็นร่วมทุนกันนะ ถึงจุดหนึ่งก็ต้องร่วมทุนกัน ก็มีข้อตกลงกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ในกรณีที่เห็นไม่ตรงกันจะแยกออกจากกันยังไง จะลงคะแนนเสียงกันยังไง ก็เบาลงไปขั้นหนึ่ง เพียงแต่ว่าถ้าเลือกไม่ได้อยากทำอย่างนั้น

ปกป้อง: ในแง่ของการบริหารสถาบันการเงินให้เข้ากับภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกใหม่ ความเป็นมืออาชีพกับความเป็นผู้บริหารที่มาจากตระกูลนั้นตระกูลนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปไหมครับ สถาบันการเงินควรจะใช้มืออาชีพหรือว่าส่งทอดต่อให้คนในเครือญาติต่อไปได้อีก

โจทย์นี้เจอมาตั้งแต่เข้าแบงก์ ถึงไม่อยากให้ “ลูก” ทำแบงก์อีกต่อไป คือมาถึงพอนามสกุลเหมือนผู้ถือหุ้นเดิมก็จะบอกว่าไม่ใช่มืออาชีพ ก็ไม่ทราบว่าคำว่า “มืออาชีพ” กับ “ไม่มืออาชีพ” นั้นมันต่างกันตรงไหน เพราะว่าตอนที่ล้มมันล้มทุกคน ก็พิสูจน์ได้ว่าไม่มีใครเก่งจริง เพราะฉะนั้นถึงไม่อยากมาตีแยกว่าอันนี้เป็นมืออาชีพ ไม่มืออาชีพ ถ้าไม่ทำอย่างถูกต้องในสิ่งที่ควรทำ “นามสกุล” อะไรมันก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่ควรมาตัดสินกันในประเด็นนามสกุล แต่ว่าพอผ่านวิกฤติเศรษฐกิจไปเมื่อปี 2540 ประเด็นนี้บางลงไปเยอะ ในการแบ่งแยกตรงนี้เบาบางลงไปเยอะ

ปกป้อง: เพราะอะไร

ก็ไอ้ที่เจ๊งไปมันก็เจ๊งได้ทั้งสองแบบ มืออาชีพก็เจ๊ง มือนามสกุลก็เจ๊ง (หัวเราะ) มันไม่ได้แยกกันตรงนั้น มันแยกกันตรงทำอะไรไม่ทำอะไรให้มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ปกป้อง: ในสิ่งแวดล้อมแบบไทย การเป็นมืออาชีพที่ไม่มีนามสกุลกับการเป็นมืออาชีพที่มีนามสกุลด้วย มันมีผลแตกต่างกันเยอะไหมครับ ในการบริหารธุรกิจแบบไทยๆ

แล้วแต่ว่าเรามีภาพอย่างไรในสายตาของคน ซึ่งไม่ได้มาจากตัวนามสกุลแต่อย่างเดียว นามสกุลก็อาจมีส่วนขั้นหนึ่ง แต่มันบางลงไปเยอะ ส่วนที่เหลือคือวิธีการที่เราทำตัวเองมาโดยตลอดว่า เราทำตัวเองให้น่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ ถ้าทำตัวเองไม่น่าเชื่อถือ นามสกุลอะไรก็ใช้ไม่ได้

ปกป้อง: สำหรับกสิกรไทย อะไรเป็นภาพที่กสิกรอยากให้คนข้างนอกมองเข้ามา

ว่าเราเป็นทีมงานที่มีแนวทางการทำงานที่ทำให้ตลาดได้สิ่งที่ต้องการ ลูกค้าได้สิ่งที่ต้องการในธุรกรรมทางการเงินทุกประเภท

อ่านต่อ ตอนที่ 8: วิพากษ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย