ThaiPublica > เกาะกระแส > มุมมองทูตพาณิชย์ นักธุรกิจ 4 ประเทศอาเซียน “กัมพูชา-ลาว-อินโดนีเซีย-พม่า” คิดอย่างไรกับ”เออีซี”

มุมมองทูตพาณิชย์ นักธุรกิจ 4 ประเทศอาเซียน “กัมพูชา-ลาว-อินโดนีเซีย-พม่า” คิดอย่างไรกับ”เออีซี”

20 กรกฎาคม 2012


ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับนสพ.กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา “ AEC Plus: Business to New Frontier” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม
ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับนสพ.กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา “ AEC Plus: Business to New Frontier” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ( ASEAN Economic Community : AEC ) ความจริงแล้ว กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2510 ตอนนั้นเรียกชื่อว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ต่อมาในปี 2527 บรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย หลังจากนั้นในปี 2535 เกิดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ( ASEAN Free Trad Area : AFTA ) ต่อมาในปี 2546 มีการกำหนดความร่วมมือเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีว่าในปี 2558 จะอาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดเดียว

แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตื่นตัวพูดถึงและจัดสัมมนาเรื่องเออีซีกันมาก โดยหัวข้อหรือโจทย์ในการสัมมนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม ผลกระทบ และบทบาทของประเทศต่อเออีซี ประเด็นวิกฤติหรือโอกาสของไทยในเออีซีก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่จัดสัมมนากันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไม่ค่อยมีเวทีสัมมนาในลักษณะรับฟังมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านว่าเขาคิดอย่างไร และเตรียมพร้อมรับมือเออีซีอย่างไร

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยร่วมกับนสพ.กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา “AEC Plus: Business to New Frontier” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาถือเป็นเวทีระดับนานาชาติเพราะมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ประกอบด้วยทูตพาณิชย์ นักธุรกิจ จากประเทศกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว และพม่า เข้าร่วมเสวนานำเสนอข้อมูลของแต่ละประเทศ ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ว่าเขาคิดอะไร และมีการปรับตัวเตรียมพร้อมรองรับเออีซีอย่างไร

ผู้แทนของ 5 ประเทศที่เข้าร่วมสัมมนา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมองเกี่ยวกับเออีซีผ่านการเสวนาภายใต้หัวข้อ “AEC Diversity: The Perspective from Our Neighbors” โดยผู้แทนทั้ง 5 ประเทศได้แก่ นายรอส เสา ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา นายสวี ชิน อุปทูตด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวอาเด เวโรนิก้า คริสตี้ เลขานุการตรีระดับ 3 สถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

นางขันลาสี แก้วบุญพัน ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์และเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว นายโม มินต์ จ่อ ประธานสมาคมผู้ส่งออกและประกอบการผลิตภัณฑ์ประมง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และดำเนินรายการโดย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มเปิดเวทีเสวนา นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานสัมมนาว่า “เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามผมว่า ทำไมเมืองไทยจัดสัมมนาเออีซีบ่อยมาก ผมก็บอกเขาว่า คงเป็นเพราะจัดทีไรไม่รู้จักฉลาดขึ้นมาสักที จัดกันแล้วก็ยังงงๆ ไม่รู้จัดทำอะไรสักที”

อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า “การจัดงานครั้งนี้ หวังว่าอย่างน้อยจะทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้รู้ว่าควรทำอะไรบ้างเพื่อรองรับเออีซี”

ส่วนสาระสำคัญในเวทีเสวนาของผู้แทนจาก 5 ประเทศมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

กัมพูชาชูปลอดภาษีสูงสุด 6 ปี

นายรอสมองว่า กัมพูชาเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) น้อยมากเพียง 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1994-1997 และเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2010-2011 แต่ประเทศกัมพูชาต้องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเพิ่มรายได้ในประเทศ

นายรอส เสา ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา
นายรอส เสา ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา

โดยเฉพาะในแง่การลงทุน เออีซีเป็นแรงจูงใจที่กัมพูชาต้องเร่งแก้กฎหมายการลงทุน และปรับกลยุทธศาสตร์สร้างแรงจูงใจมากขึ้นเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชากำลังจะออกกฎหมายตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในปี 2015 เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนไม่เฉพาะในอาเซียนเท่านั้น แต่จะดึงนักลงทุนตะวันตกเข้ามาด้วย

และยังแก้กฎหมายการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลลดลงอยู่ที่ 20% รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ “ปลอดภาษี” หรือยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 3 ปี หากเข้าไปลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรม แต่ถ้านำเงินเข้ามาลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 4 ปี ถ้าลงทุน 10-30 ล้านเหรียญสหรัฐ จะได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี และถ้าลงทุนเกิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ จะยกเว้นภาษีให้ 6 ปี

ฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ระบุว่า ในปี 2015 กัมพูชาจะเน้น 10 สาขาที่จะให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ได้แก่ เกษตร น้ำ ขนส่ง ไฟฟ้า พัฒนาบุคลากร การส่งออกที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ท่องเที่ยว แก๊สธรรมชาติกับพลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ และการค้าขาย

ทั้งนี้ แม้กัมพูชาจะเป็นตลาดเล็กมีประชากรกว่า 14 ล้านคน แต่การลงทุนในกัมพูชา นายรอสให้มองว่า ถ้าลงทุนในกัมพูชาจะมีลูกค้า 300 ล้านคนในลุ่มแม่น้ำโขง และมีลูกค้าในอาเซียน 560 ล้านคน

“หวังว่าถ้าเรามีการปรับเรื่องธรรมาภิบาล ทำให้คอรัปชั่นลดลง และการให้ใบอนุญาตต่างๆ ง่ายขึ้น พร้อมกับมีแรงจูงใจสำหรับนักลงทุน ที่สำคัญต้นทุนแรงงานของเราถูกกว่าไทย ก็มั่นใจว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในกัมพูชา” นายรอส กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้กัมพูชาจะส่งเสริมการลงทุน แต่มีบางอุตสาหกรรมไม่สนับสนุน คืออุตสาหกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมที่ไม่ควรจะเข้าไปลงทุนตอนนี้ คืออุตสาหกรรมหลัก เพราะขาดแคลนแรงงานฝีมือ แต่ในปี 2020 กัมพูชาน่าจะมีความพร้อมด้านแรงงานมีฝีมือมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการส่งคนงานไปเรียนเสริมสร้างทักษะข้างนอกมากขึ้น

“ในอนาคตผมคิดว่ารัฐบาลพร้อมรับเออีซี โดยจะให้ความสำคัญและส่งเสริมการลงทุน จะฝึกอบรมคน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งเรียนรู้ประเทศอื่นๆ” นายรอสกล่าว

ลาวมั่นใจไปไกลกว่าเออีซี

สำหรับประเทศลาว ตลาดค่อนขนาดเล็ก มีประชากรเกือบ 7 ล้านคน เป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และมีภูมิประเทศเป็น “land lock” นั้นก็มีการเตรียมความพร้อมรองรับเออีซี

นางขันลาสีกล่วว่า ลาวเตรียมการที่จะรองรับเออีซี โดยรัฐบาลได้สร้างเศรษฐกิจพิเศษ และเศรษฐกิจเฉพาะในปี 2010 และคิดว่ารัฐบาลได้เตรียมปรับกฎเกณฑ์ เน้นการลงทุนในเขตการค้า ดังนั้นเราคิดว่ารัฐบาลเราไปไกลกว่าเออีซีในปี 2015

นางขันลาสี แก้วบุญพัน ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์และเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว
นางขันลาสี แก้วบุญพัน ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์และเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว

โดยรัฐบาลลาวพยายามปรับปรุงกฎหมายให้มีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมก็จะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ มีการปรับกฎระเบียบและภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุน ปรับปรุงเรื่องกฎหมายการแข่งขัน กฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากภายใต้เออีซีจะมีการแข่งขันสูง ถ้าไม่มีกฎกติกาเป็นสิ่งค้ำประกันให้นักธุรกิจมั่นใจ เราก็ไม่สามารถได้ประโยชน์จากเออีซี เพราะนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น และไม่กล้าเข้ามาลงทุน

“ประเทศลาวเป็นแลนด์ล็อค แต่เรามีความร่วมมือกับอาเซียนเราจะเปลี่ยนจากแลนด์ล็อคให้เป็นแลนด์ลิ้งค์ เราจะร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องการขนส่ง บริการ และการลงทุน”นางขันลาสีกล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ลาวสนับสนุนนั้น นางขันลาสีระบุว่า รัฐบาลลาวจะเน้น 12 สาขาอุตสาหกรรมตามกรอบการสนับสนุนของเออีซี ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตไฟฟ้า การขนส่งทางอากาศ โรงพยาบาล การศึกษา และท่องเที่ยว เป็นต้น

“อุตสาหกรรมที่เราไม่ส่งเสริมคือ ยานยนต์ ถ้าจะประกอบยานยนต์ในลาวคงไม่คุ้ม เพราะการจะขายรถยนต์ภายในตลาดลาวยอดขายปีหนึ่งเท่ากับยอดขายเพียง 1 วันในกรุงเทพ”นางขันลาสีกล่าว

อินโดฯ ตั้ง 6 ระเบียงศก.เชื่อมเออีซี

ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะจำนวนมากกว่า 17,000 เกาะ มีประชากร 240 ล้านคน และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย หรือมีจีดีพีขยายตัว 6.7-6.8% ดูเหมือนจะมีความพร้อมรองรับเออีซีมากที่สุด เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่

นางสาวอาเด เวโรนิก้า คริสตี้ กล่าวว่า จุดแข็งของเราที่จะดึงดูนักลงทุนให้เข้ามาภายใต้เออีซี คือจำนวนประชากรกว่า 240 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 30 กว่าปี เป็นคนหนุ่มสาว และกว่า 50% อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีชีวิตที่ทันสมัย จึงเป็นโอกาสประเทศอื่นในเออีซีจะเข้าไปลงทุน และค้าขาย เพราะตลาดมีขนาดใหญ่ เป็นผู้บริโภคกว่า 50% จึงได้เปรียบประเทศอื่นๆ

นางสาวอาเด เวโรนิก้า คริสตี้ เลขานุการตรีระดับ 3 สถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
นางสาวอาเด เวโรนิก้า คริสตี้ เลขานุการตรีระดับ 3 สถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ทางด้านค่าแรงของอินโดนีเซียเมื่อเทียบกับจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ค่าแรงของอินโดนีเซียจะถูกกว่า และมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และมีความหลากหลายทางชีวิภาพ นี่คือพื้นฐานที่ดีทำให้เป็นจุดแข็งดึงดูดนักลงทุนเข้ามา

นางสาวอาเดกล่าวว่า นอกจากจุดแข็งที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลเราได้เตรียมความพร้อมรับเออีซีโดยจัดทำแผนแม่บทเชื่อมโยงภายในประเทศที่มีหมู่เกาะจำนวน และเชื่อมโยงกับอาเซียน

แผนแม่บทจะช่วยเราปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลตั้งเป้าไปสู่ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในปี 2025 ทั้งนี้แผนแม่บทจะมีกิจกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม 22 อุตสาหกรรม เช่นเกษตร เหมือนแร่ โทรคมนาม และด้านอื่นๆ โดยยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทคือ เรากำลังจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจ หรือ เขตเศรษฐกิจ โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจจะเชื่อมกับภูมภาคภายในประเทศและประเทศข้างนอก ซึ่งมีทั้งหมด 6 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่

1. สุมาตรา เน้นการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 2. ชวา เน้นอุตสาหกรรม บริการ 3. กาลิมันตัน เน้นเหมืองแร่ พลังงาน 4. ซุราเวซี เน้นเกษตร พืชไร่ ประมง แก๊ส 5. บาหลี เน้นท่องเที่ยว อาหาร และ6. ปาปัว เน้นอาหาร ประมง พลังงาน เหมืองแร่

“รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการลงทุนภายใต้ 6 ระเบียงเศรษฐกิจ หรือ 6 เขตเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทที่จะเชื่อมต่อกับประเทศข้างนอก”นางสาวอาเดกล่าว

นอกจากนี้ในการส่งเสริมการลงทุนนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การลดภาษี และให้ระยะเวลาปลอดภาษีในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 5-10 ปี ซึ่งเริ่มในปี 2011 และมีนโยบายสร้างระบบที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาแล้วทุกอย่างเสร็จ หรือ “จบที่จุดเดียว” คือเป็นช่องทางเดียวที่นักลงทุนเข้ามาแล้วสามารถขอข้อมูลบริการลงทุน การขอใบอนุญาต เป็นต้น เพื่อทำให้การทำเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในอินโดนีเซียง่ายขึ้น และจะลดเสียค่าโสหุ้ย (ค่าเสียโอกาส) ให้ลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะสนับสนุนการลงทุน แต่ประเด็นคือ ต้องให้แน่ใจว่าเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ดีต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทรัพยากรที่มีมากมาย ไม่ได้อยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้นถ้าเข้ามาลงทุนต้นน้ำ กับปลายน้ำ อาจจะยาก เพราะเราจะดูแลตามแผนของเรา คือต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก

“เราพูดไม่ได้ว่าเราพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเข้าสู่เออีซี แต่เราพยายามให้พร้อมที่สุด และใส่ใจในการเข้าสู่เออีซี”นางสาวอาเดกล่าว

พม่าอยู่ช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ”

ขณะที่ประเทศพม่า ซึ่งกำลังเนื้อหอม มีนักลงทุนจำนวนมากไหลเข้าไปลงทุน ก็มีการเตรียมความพร้อมรองรับเออีซี แม้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบการปกครองที่มีทหารคุมอำนาจไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

นายโม มินต์ จ่อ ประธานสมาคมผู้ส่งออกและประกอบการผลิตภัณฑ์ประมง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มองว่า รัฐบาลได้เตรียมการรับเออีซีโดยตั้งคณะอนุกรรมการ 15 สาขา เพื่อจัดการและเตรียมการเรื่องเออีซี มีการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เปิดเสรีมากขึ้น มีการปรับตัวด้านการเงิน เช่น ให้ธนาคารอิระวดีเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศได้

นายโม มินต์ จ่อ ประธานสมาคมผู้ส่งออกและประกอบการผลิตภัณฑ์ประมง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
นายโม มินต์ จ่อ ประธานสมาคมผู้ส่งออกและประกอบการผลิตภัณฑ์ประมง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงกฎมายเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมให้มีการลงทุนเข้ามามากขึ้น เช่น อนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้าและสามารถขายให้เครือข่ายจำหน่ายไฟฟ้าของรัฐบาล และมีใบอนุญาตตั้งบริษัทนำเข้ารถยนต์ และประกอบรถยนต์ได้

นอกจากนี้ พม่าอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้น 100% ในสินทรัพย์ทุกอย่างได้ ยกเว้นการถือครองที่ดินจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินร่วม และสัมปทานที่ดินให้ได้ 70-90 ปี

สมาคมผู้ส่งออกและประกอบการผลิตภัณฑ์ประมง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่พม่าต้องการให้เข้ามาลงทุนที่เน้นสร้างงานให้กับคนพม่า เนื่องจากเรามีรายได้น้อย ต้องเพิ่มรายได้ด้วยการทำให้คนมีงานทำจะได้มีอำนาจซื้อ เช่น อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมประมง และภาคบริการ

แต่อุตสาหกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน จะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และประเมินผลกระทบต่อสังคมด้วย รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น

“เคล็ดลับการลงทุนในพม่า คือกฎหมายการลงทุนของเราจะพยายามคุ้มครองอธิปไตยของชาติ และต้องมีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ คือ เราจะเน้นดูแลทรัพยากร และคำนึงถึงนักลงทุนในประเทศด้วย”นายโมกล่าว

อย่างไรก็ตามเขามองว่า พม่ากำลังอยู่ในจุด “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญ คือทางการเมืองกำลังวิวัฒนาการจากระบบการเมืองที่มีฝ่ายทหารไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องระบบความยุติธรรม เราพยายามทำให้มีความโปร่งใส ในประเด็นเหล่านี้กำลังมีความพยายามปรับปรุงและหวังว่าจะดำเนินการได้ตามที่หวัง จึงขอเตือนนักลงทุนว่ายังมีประเด็นเหล่านี้อยู่ต้องดูด้วย

จีนแนะอาเซียนชูเออีซีให้โลกรู้จัก

ขณะที่นายสวี ชิน อุปทูตด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน มองว่า ประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกันมาก บางประเทศกำลังพัฒนา บางประเทศพัฒนาแล้ว การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเป็นประเด็นที่สำคัญ และเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเออีซีจะมีภาพสวยต้องเชื่อมโยงกันได้ ถ้าทำได้การเคลื่อนย้ายแรงงาน ทรัพยากร เงินทุนจะเสรีมากขึ้น

 นายสวี ชิน อุปทูตด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายสวี ชิน อุปทูตด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน

“ผมยังมองภาพเออีซีไม่ค่อยออก ผมอาจไม่รู้ หรือรู้เรื่องน้อยเกินไป แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมากคือ กลุ่มประเทศอาเซียนต้องทำให้โลกภายนอกเห็นภาพเออีซีที่ชัดเจน ว่ามียุทธศาสตร์อย่างไร นอกจากนี้ต้องทำให้นักลงทุนรู้ว่าเขาจะมีส่วนแบ่งอย่างไร และเมื่อมองไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร วิธีคิดของผมคือจีนกับอาเซียนต้องมีโอกาสทีจะมีความยั่งยืนและเจริญรุ่งเรื่องมากขึ้น”นายสวีกล่าว

โดยสรุป จะเห็นว่า ทุกประเทศพยายามหาโอกาสจากเออีซี ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ไขข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในเออีซี โดยเฉพาะเรื่อง “การลงทุน” ซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญและแข่งขันกันส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกอาเซียนให้เข้าไปลงทุน โดยแต่ละประเทศมีจุดแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกันไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

แต่อีกประเด็นที่สังเกตได้คือ อาเซียนยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน ทำให้ภาพของเออีซีไม่ชัดเจน และการเตรียมความพร้อมรับเออีซีมีลักษณะต่างคนต่างทำ หรือแต่ละประเทศก็ปรับตัวตามที่ตัวเองมองเห็นโอกาส ที่สำคัญทุกประเทศหวาดระแวงและกลัวว่า นักลงทุน จะเข้าไปมุ่งแสวงหาและตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวแต่อย่างเดียว จึงค่อนข้างระมัดระวังเข้มงวดการลงทุนที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

อย่าไรก็ตาม จากมุมมองของผู้แทน 5 ประเทศ น่าจะทำให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีการความพร้อมเตรียมตัวอย่างไร และเป็นข้อมูลสะท้อนกับมาที่ประเทศไทยว่าแล้วเราควรจะเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในเออีซีอย่างชาญฉลาด สามารถรักษาผลประโยชน์ร่วมกันได้โดยไม่มีใครแพ้ใครชนะ