ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อเยอรมันตกลงกติกาลุ่มน้ำ (1)

เมื่อเยอรมันตกลงกติกาลุ่มน้ำ (1)

5 ตุลาคม 2011


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

คงไม่มีมนุษย์หัวใจปกติคนไหนจะไม่รู้สึกปวดร้าวทุกครั้งที่ดูข่าวน้ำท่วม มันรุนแรงกว้างขวางกว่าทุกปีที่ผ่านมา บอกตรงๆ ว่าเกิดมาครึ่งศตวรรษแล้วไม่เคยเห็นอะไรขนาดนี้เลย ทั้งๆ ที่ผู้เขียนอยู่กรุงเทพมาตั้งแต่ก่อนจะมีการวางท่อยักษ์ หรือสร้างกำแพงกั้นน้ำล้อมเมือง อยู่กับน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ตอนเด็กๆ ชอบฤดูน้ำท่วมด้วยซ้ำไป เพราะได้หยุดโรงเรียน เอากะละมังไปพายเล่นในซอยแทนเรือ

เหตุการณ์น้ำท่วมผิดปกติในช่วง 4-5 ปีมานี้ ทำให้สังคมวงกว้างพูดถึงการแก้ปัญหาด้วยการปรับตัวกับภาวะน้ำท่วมกันมากขึ้น ตั้งแต่ในระดับการจัดการพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำในลักษณะบูรณาการ จนไปถึงการปรับตัวในระดับปัจเจก รื้อฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ อาทิ สร้างบ้านมีใต้ถุนสูงจนไปถึงปลูกข้าวยืด พันธุ์ข้าวน้ำท่วมโบราณแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยืดต้นขึ้นตามระดับน้ำ ออกรวงทอดไปบนผิวน้ำ เวลาเก็บเกี่ยวก็พายเรือเกี่ยวกัน ให้ผลผลิตไม่สูงมากนัก แต่ดีกว่าข้าวจมน้ำเน่าตายทั้งนา

แต่น้ำท่วมครั้งนี้ร้ายกาจเกินความสามารถที่ปัจเจกชนจะปรับตัวรับมือได้ด้วยวิถีไทยเดิม หลายแห่งน้ำท่วมสูง 3 เมตรกว่า ขึ้นมาถึงหลังคาบ้าง ถึงชั้นสองบ้าง เกินกว่าใต้ถุนปกติที่ไหนจะหนีพ้นได้ หรือพันธุ์ข้าวที่ไหนจะยืดต้นไหว

เรากำลังเผชิญกับปรากฎการณ์ใหม่ ที่เรียกร้องให้สังคมหันหน้าเข้าหากัน เพื่อทบทวนตนเอง ทบทวนสถานการณ์ และร่วมกันคิดค้นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ตกอยู่ในภาวะนี้ เยอรมันก็เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน ฝนฟ้าแปรปรวนผิดปกติต่างจากที่เคยประสบพบมา ยามแล้งแล้งจัด ยามฝนก็ท่วมหนัก วิปริตแบบนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี ค.ศ.1997 เกิดโศกนาฎกรรมน้ำท่วมใหญ่แถบซีกตะวันออกและโปแลนด์ คนตายไปจำนวนไม่น้อย เป็นข่าวใหญ่ระดับโลก

เหตุการณ์ครั้งนั้นเขย่าสังคมเยอรมันจนเกิดเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องขวนขวายหาหนทางแก้ปัญหาให้ได้ สื่อเล่นหนักทั้งในระดับท้องถิ่นถึงอินเตอร์ สังคมต้องหันมาคิดจริงๆ จังๆ ว่าจะปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกันอย่างไร

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เยอรมันและประเทศที่ราบลุ่มในยุโรปหลายๆ แห่งมุ่ง “แก้ปัญหาน้ำท่วม” ด้วยโจทย์และแนวคิดในยุคต้นศตวรรษ 20 ซึ่งต่างไปจากสถานการณ์ปัจจุบัน ในตอนนั้นชาวยุโรปพากันกอบกู้พื้นที่น้ำท่วมตามฤดูกาลจากธรรมชาติมาแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ใช้วิศวกรรมควบคุมธรรมชาตินำการพัฒนา โดยขุดตัดลำน้ำที่ไหลคดเคี้ยวให้ตรงขึ้น เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด วิธีนี้มักก่อปัญหาน้ำท่วมหนักฉับพลันแก่พื้นที่ท้ายน้ำ จึงป้องกันแก้ไขด้วยการสร้างคันกำแพงกันน้ำไม่ให้เอ่อล้นออกด้านข้างเป็นแนวยาวขนาบสองฝั่งฟากแม่น้ำ คนก็เข้ามาเพาะปลูก ปักเสาลงเรือนหลังคันกั้นน้ำได้ ซึ่งปกติจะเป็นพื้นที่น้ำท่วม

วิธีการนี้สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศมากมาย ซึ่งจะขอเก็บไว้ขยายความเพิ่มเติมในตอนที่ 2 สำหรับตอนนี้ขอดูเฉพาะปัญหาการถ่ายเทของมวลน้ำ

การขุดลำน้ำให้ตรงและสร้างกำแพงสูงขนาบฝั่งน้ำ บีบบังคับให้น้ำไหลจำกัดอยู่ในร่องแคบๆ เมื่อดินฟ้าเกิดวิปริตสาดเทน้ำลงมามากกว่าปกติ น้ำก็ทะลักล้นออกนอกกำแพงเข้ามาท่วมพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ กลายเป็นอุทกภัย

ถึงตอนนั้นก็ชัดเจนว่าลุ่มน้ำเยอรมันต้องการพื้นที่แก้มลิงริมแม่น้ำเพิ่มเติม เป็นพื้นที่น้ำท่วมตามฤดูกาล เพราะถึงจุดหนึ่งก็ไม่สามารถสร้างคันกำแพงให้สูงมากขึ้นไปอีกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่จะเนรมิตสภาพลุ่มน้ำกลับไปเหมือนเดิมเมื่อ 100-200 ปีก่อนก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะชุมชนรุกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สิ่งที่ต้องรีบทำในช่วงเวลาไม่กี่ปี จึงเป็นการสรรหาพื้นที่ที่สามารถเลื่อนคันกำแพงออกไปเพื่อขยายเขตรับน้ำท่วม โดยส่งผลกระทบต่อผู้คนน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายเลย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกติดแม่น้ำ แต่บางครั้งก็เป็นพื้นที่บ้านคน หรือแม้แต่หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งถ้าไม่รับค่าชดเชยแล้วย้ายออก ก็ต้องรับสภาพน้ำท่วมตามฤดูกาลไป

พื้นที่ริมน้ำในโซนนี้ปล่อยให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ในหน้าน้ำลดแทนการเพาะปลูก และพื้นที่แห่งหนึ่งถึงกับเปลี่ยนไปเป็นอุทยานแห่งชาติ มีการทำลายทำนบกั้นน้ำและปล่อยให้น้ำหลากในฤดูฝนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ มีนกเข้ามาอาศัยจำนวนมาก และใช้เป็นพื้นที่ฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เช่น ควายไบซัน เปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจในพื้นที่ไปเป็นการท่องเที่ยวและนันทนาการ

ความยากของการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขบคิดทางออก มันชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ แต่ความยากอยู่ที่การเจรจาแลกเปลี่ยนหาบทสรุปทั้งในภาพใหญ่ และในรายละเอียดระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ฟรอยเด รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐแบรนเดนเบิร์ก เมื่อ ดร.ฟรอยเด แวะมาเที่ยวเมืองไทยตอนต้นเดือนกันยา และได้ซักท่านถึงกระบวนการเจรจา ซึ่งจะนำมาขยายความในโอกาสต่อไป สำหรับตอนนี้ขอสรุปเพียงสั้นๆ ด้วยคำพูดของ ดร.ฟรอยเดว่า “หายนะขนาดเล็กส่งผลดี มันปลุกให้สังคมตื่นและพลิกแนวคิดอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีความคิดขัดแย้งกันมากในตอนแรก แต่ก็ตกลงกันได้ภายในเวลาไม่นาน” เมื่อทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริงอยากแก้ปัญหา มันก็พอทำได้ รัฐแบรนเดนเบิร์กจึงสามารถริเริ่มแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมภายในเวลาไม่กี่ปี และทุกวันนี้ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่

สถานการณ์ของเราในประเทศไทยมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากเยอรมันมากมาย แต่เราเหมือนกันตรงที่ทั้งสองประเทศล้วนแล้วแต่ทำลายระบบการไหลตามธรรมชาติของน้ำด้วยสิ่งก่อสร้างผิดที่ผิดทางสารพัดอย่าง ทำลายพื้นที่กันชนและพื้นที่แก้มลิงริมฝั่งน้ำเหมือนกัน ที่น่าสนใจ (และน่าหนักใจ) คือเมื่อกรมอุตุฯ เปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนย้อนหลังหลายๆ ปี กลับพบว่า แม้ปีนี้น้ำจะมากกว่าปกติ แต่ใช่ว่าจะมากที่สุด แล้วเหตุใดมันจึงท่วมรุนแรงที่สุดเล่า?

เมื่อเราประมวลข้อมูลได้ทั้งหมด คงไม่แปลกถ้าพบว่ามันมีปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาหนุนกันให้เกิดผลกระทบทวีคูณ แต่เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดระบบ อบต. เมื่อแต่ละตำบลต่างลุกขึ้นฉาบปูนลำน้ำและสร้างทำนบกั้นน้ำปกป้องบ้านตัวเอง ต่างฝ่ายต่างทำโดยไม่ได้วางแผนร่วมกัน แต่ธรรมชาติไม่รู้จักพรมแดนตามเขตปกครองของมนุษย์ การจัดการรับมือกับธรรมชาติจึงต้องเป็นการจัดการแบบมีภาพรวมให้แต่ละท้องถิ่นสามารถปฏิบัติการได้สอดคล้องกัน

เมื่อพูดถึงน้ำ เราจึงต้องถอยออกมาดูในระดับภูมิภาค

มันเป็นเรื่องไม่กี่เรื่องที่สหภาพยุโรปลุกขึ้นออกกำหนดกฎกติการ่วมกันทุกประเทศ

ทำทำไมและทำเช่นไร ติดตามตอนหน้า