ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เทคโนโลยีวิศวชลประทานกู้วิกฤต – Delta Works แห่งเนเธอร์แลนด์ (1)

เทคโนโลยีวิศวชลประทานกู้วิกฤต – Delta Works แห่งเนเธอร์แลนด์ (1)

29 ตุลาคม 2011


ทัศนียภาพเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มา : http://images.travelpod.com/users/deb90046/1.1267213006.rotterdam-netherlands-2006.jpg

ค่ำคืนของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2496 เมื่อกระแสน้ำแห่งฤดูใบไม้ผลิผสมผสานเข้ากับพายุตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งยกน้ำทะเลตัวขึ้นสูงผิดปกติ รวมถึงคลื่นชายฝั่งยกตัวสูงก่อนซัดเข้าสู่ฝั่ง โดยที่ไม่มีใครในเนเธอร์แลนด์สังหรณ์ใจสักนิดว่า หายนภัยกำลังมาเยือน

58 ปีก่อน ความเชื่อมั่นในมาตรการรับมือของทางการ ประกอบกับการขาดการรับรู้ข้อมูลสารในยามค่ำคืน เนื่องจากทั้งสถานีวิทยุท้องถิ่นและสถานีพยากรณ์อากาศปิดทำการ ปริมาณน้ำที่สูงกว่า 16 ฟุตเข้าทำลายพื้นที่ในหลายประเทศของยุโรปทั้ง เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, อังกฤษ และสก็อตแลนด์ ยอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 2,167 ราย ในจำนวนนั้น เป็นชาวเนเธอร์แลนด์เสียชีวิต 1,835 ราย โดยที่ประชาชนต้องอพยพออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยกว่า 70,000 คน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.deltaworks.org ระบุว่า พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมีบริเวณกว้าง 200,000 เฮคตาร์ หรือคิดเป็นพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำ 9 % ของทั้งประเทศ บ้านเรือนมากกว่า 3,000 หลังและฟาร์มอีกกว่า 3,000 แห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก

หายนะพัดผ่านไปแล้ว แต่หาได้ผ่านเปล่าๆ ชาวเนเธอร์แลนด์เริ่มตระหนักว่าหายนะในแบบเดียวกัน หรือเลวร้ายกว่าอาจกลับมาถล่มซ้ำได้อีกทุกเมื่อ เนื่องจากพื้นที่กว่าครึ่งของประเทศซึ่งก็รวมถึงอัมสเตอร์ดัมและรอตเตอร์ดัม อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ค้นหาสาเหตุและภัยคุกคาม

หากปล่อยให้หายนะที่เลวร้ายกว่าเกิดขึ้นย่อมหมายความว่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาลหล่อเลี้ยงประเทศราว 70 % ของประเทศ เสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในอนาคต

นั่นจึงเป็นที่มาของการคิดหามาตรการระยะยาวในการป้องกันและบริหารจัดการน้ำ

เนเธอร์แลนด์ค้นพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และรูปแบบของฝนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผลกระทบอย่างหลังส่งผลให้ต้องมีการระบายระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงสุด รวมถึงการเกิดภาวะแห้งแล้งและฝนชุกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ยิ่งกว่านั้น เนเธอร์แลนด์ยังมีปัญหาเฉพาะเฉกเช่นที่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วไปคือ มีความเสี่ยงต่อการกัดเซาะของพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาเดียวของประเทศ เนเธอร์แลนด์ยังต้องรับมือกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการพื้นที่และทรัพยากรในการดำรงชีวิต

แผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ทำอย่างไร เนเธอร์แลนด์จึงจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติท่ามกลางภัยคุกคามนานารูปแบบได้อย่างยั่งยืน

การสนองเป้าหมายดังกล่าว อย่างแรกสุดที่เนเธอร์แลนด์ต้องการคือ การจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันเฉพาะขึ้นมารับผิดชอบและการจัดทำแผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

หลังวิกฤตอุทกภัยทะเลเหนือปิดฉากลง ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Delta Commission เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 มีภารกิจหลักในการปรับปรุงความปลอดภัยให้กับประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่ด้านตะวันตกของประเทศเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

จากนั้น วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2498 คณะกรรมการชุดนี้ได้คลอดโครงการแห่งชาติเรียกว่า Delta Works เป็นโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำ ครอบคลุมการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งขวางกั้นน้ำทะเลกับน้ำบริเวณปากแม่น้ำ ประตูระบายน้ำ กำแพงกั้นน้ำ คันดินกั้นนำ รวมทั้งสิ้น 16 จุด เชื่อมพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำด้านตะวันตกทั้งหมด

เขื่อนและแนวกั้นน้ำทะเลและแม่น้ำตอนใน ภายใต้โครงการ Delta Works
ที่มา : www.deltaworks.org

ลำดับการก่อสร้างได้แก่ เขื่อน Hollandse IJssel ในปี พ.ศ. 2501 เขื่อน Zandkreek ในปี พ.ศ. 2503 เขื่อน Veerse-Gatdam เขื่อน Grevelingendam เขื่อน Vokerakdam และเขื่อน Hellagatspliein ในปี พ.ศ. 2512 จากในปี พ.ศ. 2513 ก็ก่อสร้างเขื่อน Haringsvlietdam ต่อมาจึงก่อสร้าง Brouwersdam ปี พ.ศ. 2515 อีก 4 เขื่อนหลังสุด ได้แก่ เขื่อน Markiezaatskada เขื่อน Oosterschelde เขื่อน Oesterdam และเขื่อน Philipsdam สร้างในปี พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2529 และพ.ศ. 2530 ตามลำดับ

พึ่งพาเทคโนโลยีวิศวชลประทานใหม่

โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีวิศกรรมชลประทานอันทันสมัยเป็นระยะเวลา 25 ปี ด้วยงบประมาณราว 1.5-2 พันล้านกิลเดอร์หรือประมาณ 680-900 ล้านยูโร และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า สาธารณูปโภคใหม่ที่กำลังก่อสร้างในช่วงเวลานั้นมีคุณภาพสูง จึงมีการออกกฎหมายขึ้นมารองรับเรียกว่า Delta Law ในปี พ.ศ. 2502

โครงการก่อสร้างเขื่อนภายใต้ Delta Works ประกอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Phoenix Unity Caissons (แท่งคอนกรีตกลวงสำเร็จรูป) เพื่อหล่อแท่งคอนกรีตขึ้นบริเวณปากแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลแรง ซึ่งการถมด้วยดินและทรายไม่สามารถทำได้ง่ายเพราะจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด

แต่เทคโนโลยี Phoenix Unity Caissons ไม่สามารถใช้ได้กับทุกที่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเทคนิคใหม่อื่นๆ เข้ามาใช้เพิ่มเติม นั่นคือการก่อสร้างโดยใช้คอนกรีตบล็อกขนาดใหญ่ซึ่งแต่ละอัน 2.5 ตันถมลงไปในทะเล โดยยึดคอนกรีตบล็อกเหล่านั้นไว้ใต้ล่างช่องระบายน้ำเข้าออกด้วย pincers ก่อนจะถมทรายลงไปในเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำเล็ดรอดเข้าไปได้ ซึ่งในการก่อสร้างได้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อขนถ่ายวัสดุก่อสร้างต่างๆ รองรับน้ำหนักได้มากสุด 15 ตันเพื่อความสะดวกในการทำงาน

เทคโนโลยีเหล่านี้นำไปใช้กับเขื่อน 3 แห่งได้แก่ เกรเวลลิงเกนแดม ฮาริงวลิตแดมและบรูเวิร์สแดม ซึ่งเขื่อนกั้นน้ำทะเลเหล่านี้มีประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งในการปกป้องน้ำท่วมถึง 10,000 ปี และรับประกันคุ้มครองพื้นที่ทั้งประเทศได้นาน 4,000 ปี จนได้ชื่อว่า เป็นระบบเขื่อนกั้นน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา และวิศวกรรมโยธาชั้นนำของโลกได้ยกย่องให้ Delta Works เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ระบบป้องกันอุทกภัยภายใต้โครงการ Delta Works ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงสภาพเขื่อนกันน้ำท่วมตามแนวลำน้ำ Nieuwe Waterweg ยังไม่เพียงพอจะปกป้องพื้นที่บริเวณลำน้ำ ซึ่งรวมถึงเมืองรอตเตอร์ดัม ด้วยเหตุนี้กระทรวงชลประทานและโครงการภาครัฐจึงเพิ่มเติมแนวคันกั้นน้ำทะเลยกสูง (storm surge barrier) เพื่อทำให้ระบบป้องกันของ Delta Works สมบูรณ์ เรียกว่า Maeslantkering

คันกั้นน้ำทะเล Maeslantkering ถือเป็นคันกันน้ำทะเลแห่งเดียวของโลกที่สามารถปิด-เปิดประตูเข้าออกได้ เพื่อเปิดทางให้เรือบรรทุกสินค้าสามารถเข้าไปที่ท่าเรือในรอตเตอร์ดัมได้

คันกันน้ำทะเล Maeslantkering
ที่มา : http://www.wijngaarden.com/uploads/picts/E_Neth._-_Maeslantkering_3_=_NN.JPG

นอกจากนี้ คันกันน้ำทะเล Europort Barrier ยังมีวิธีการก่อสร้างแตกต่างจากแนวคันกันน้ำทะเลอื่นๆ เพราะไม่ได้สร้างคันกันน้ำทะเลที่มีสูงมากนักเพื่อเปิดช่องให้น้ำบางส่วนไหลผ่านได้และอาศัยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันน้ำอีกทอดหนึ่ง

มองในภาพรวม โครงการ Europort Barrier ประกอบด้วยเขื่อนกั้นน้ำทะเลและป้องกันคลื่นสูง 1 เมตรบริเวณคาบสมุทรโรเซนเบอร์ก มีการยกระดับของเขื่อนกั้นน้ำทะเลเดิมให้สูงขึ้น ทำให้แนวกั้นน้ำยูโรปอตมีแนวตั้งแต่โรเซนเบอร์ก ข้าม Botlekweg และที่ Welplaatweg ก็มีแนวกั้นน้ำเชื่อมกับแผ่นดินอีกจุดหนึ่งและต่อด้วยแนวกั้นน้ำ Hartel Barrier ซึ่งสร้างบริเวณคลองฮาร์เทลและเชื่อมจุดต่อไปด้วย Brielse Maas Dyke ที่ยกให้สูงขึ้นจากของเดิม