ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ในสายตาของภาคธุรกิจ ใครเข้าข่ายต้องแจงบัญชีรายโครงการ

กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ในสายตาของภาคธุรกิจ ใครเข้าข่ายต้องแจงบัญชีรายโครงการ

5 ตุลาคม 2011


ภาพจาก http://www.flickr.com/photos/vscript/4290712334/
ภาพจาก http://www.flickr.com/photos/vscript/4290712334/

นักธุรกิจแจงกฏหมายป.ป.ช.ใหม่ทำป่วน แทรกแซงการบริหารจัดการภาคธุรกิจ ชี้ผู้ประกอบการทุกรายที่ประมูลงานรัฐตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ต้องทำบัญชีรายการรับรายจ่ายรายโครงการ ผู้รับเหมาใหญ่ระบุต้องรื้อระบบบัญชีใหม่ จ้างคนเพิ่ม บริหารเงิน-ต้นทุนลำบาก ความลับธุรกิจรั่ว แข่งขันยากขึ้น หวั่นรายเล็กไม่โต ขัดกับหลักการทำธุรกิจ และเปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งง่ายขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคล หรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2554 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

หลักเกณฑ์ดังกล่าว ประกาศเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ในมาตรา 103/7 ให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้

ทั้งนี้ให้คู่สัญญารัฐแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายโครงการต่อกรมสรรพากร โดย ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน หรือการชำระเงินภาษีของคู่สัญญารัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ขอบเขตในการบังคับใช้ คือบุคคลหรือนิติบุคคลรวมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐทุกประเภทด้วย

หลังประกาศฉบับนี้ แหล่งข่าวในภาคธุรกิจก่อสร้างได้แสดงความเห็นถึงผลกระทบจากประกาศ ป.ป.ช. เรื่องการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายโครงการว่า การที่ พ.ร.บ. กำหนดมูลค่าสัญญาตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป ใประกาศฉบับนี้ครอบคลุมทุกธุรกิจ ทุกคนที่เป็นคู่สัญญากับรัฐในทุกๆ สัญญา ไม่เฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ต้องแสดงบัญชีรายรายจ่ายโครงการที่ประมูลได้ ซึ่งวงเงิน 500,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก

แหล่งข่าวในธุรกิจก่อสร้างมองว่าเป็นปัญหากับผู้รับเหมารายเล็กมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้รับเหมารายเล็ก และผู้รับเหมาท้องถิ่นมีข้อจำกัด ขาดความชำนาญในเการทำบัญชี โดย พ.ร.บ. บังคับใช้รวมถึงบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งบุคคลธรรมดาที่ประกอบอาชีพอิสระหาคนที่มาทำบัญชีให้แบบบริษัทใหญ่ๆ ในลักษณะนี้ยากมาก

“ถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อไปจะมีผู้รับงานจากรัฐน้อยลง เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก คนพวกนี้จะกลายเป็นผู้รับเหมาช่วงแทน บริษัทเล็กจะไม่ประมูล เพราะทำรายละเอียดบัญชีแบบนี้ไม่เป็น กฎหมายพวกนี้จึงไปฆ่าพวกผู้รับเหมารายเล็ก ทำให้คนตัวเล็กๆ ทำงานลำบากมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการมีหัวคิวเยอะขึ้น รัฐจะได้งานที่มีต้นทุนสูงขึ้น ถ้าหากยุ่งยากแบบนี้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่ากฎหมายนี้เป็นภาระผู้ประกอบการที่ต้องจัดหานักบัญชีเพิ่มขึ้นเพื่อดูทีละโครงการ เอกสารเพิ่มขึ้น ระบบบัญชีต้องทำใหม่ เนื่องจากต้องส่งรายละเอียดบัญชีทุกโครงการ ทุกปี ทำให้ต้องเก็บข้อมูลตลอดเวลา และบัญชีเมื่อต้องแยกบัญชีเป็นรายโครงการจะเกิดความวุ่นวาย

“แม้ว่าว่าประกาศนี้เป็นปัญหาให้ทำงานลำบากขึ้น แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องปฏิบัติตาม”

สำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่สามารถประเมินได้ ที่ผ่านมาไม่เคยทำบัญชีในลักษณะนี้ โดยเอกชนต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง รัฐไม่ได้บวกราคากลางเพิ่มให้จากต้นทุนส่วนนี้ และต้นทุนที่แท้จริงของโครงการก็ไม่ได้มีแค่ค่าวัสดุก่อสร้าง ยังมีค่าความคิดสร้างสรรค์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดก่อนการประมูลสัญญา รวมไปถึงเรื่องภาระผูกพันหลังจากก่อสร้างเสร็จอีก เช่น การค้ำประกันถ้าสัญญามีภาระผูกพัน 2 ปี ดังนั้นในแต่ละปีอาจต้องทำบัญชีตามกฏหมายนี้ต่อเนื่องอีก ไม่ใช่ว่าโครงการจบแล้วก็จบ

นอกจากนี้แบบฟอร์มบัญชีการรับจ่ายยังมีปัญหาเรื่องความยุ่งยากซับซ้อน ความไม่ชัดเจนอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแบบฟอร์มนี้ถูกแปลงมาจาก ภงด. 50 ที่บริษัทต้องยื่นประจำปีซึ่งเป็นการยื่นบัญชีรวมของบริษัท ไม่ใช่ในแต่ละโครงการ

“ความยุ่งยากจึงเกิดขึ้นที่ต้องมาปรับระบบทุกอย่างให้เป็นแต่ละโครงการ การเก็บเอกสารต้องแยกตามโครงการ เมื่อประมูลได้งานมาต้องยุ่งยากเหมือนทำบริษัทใหม่ ซึ่งบริษัทใหญ่ประมูลครั้งละหลายโครงการ หรือโครงการที่มีมูลค่าสัญญาหลายพันล้านบาทจะเป็นปัญหามาก”

ภาพจาก http://www.autoform.com/en/products/solution-planning-bidding
ภาพจาก http://www.autoform.com/en/products/solution-planning-bidding

แหล่งข่าวอธิบายขั้นตอนว่าการส่งบัญชีให้สรรพากรตรวจ ต้องรวมบัญชีทุกโครงการแล้วให้ได้ตัวเลขตรงกับบัญชีใหญ่ของบริษัท และหลายบริษัทไม่ได้ทำงานกับภาครัฐอย่างเดียว ยังมีบริษัทที่ทำงานกับเอกชนไปพร้อมๆ กับภาครัฐด้วยด้วย จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวกล่าวว่ายังมีความไม่ชัดเจนหลายๆ อย่าง เช่น แบบฟอร์มที่กำหนดให้มีค่าตอบแทนกรรมการ ซึ่งอาจไม่ได้มีทุกงาน หรือการใส่ค่าแรง เงินเดือนพนักงาน แม้บริษัทไม่มีงานก็ต้องจ่าย กล่าวคือหากช่วงไหนที่ไม่มีงานแต่ต้องนำเงินเดือนพนักงานทั้งหมดใส่ในโครงการที่ประมูลได้ อาจทำให้โครงการมีตัวเลขที่ขาดทุน ถ้าตัวเลขผิดปกติมากๆ ก็อาจดูไม่โปร่งใส ทำให้ต้องมาอธิบาย ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการเลย

รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องเงินสด บริษัทอาจไม่เก็บไว้ในบัญชีกระแสรายวันตามที่กฎหมายกำหนด เพราะต้องบริหารให้มีผลตอแบทน เช่น เอาไปลงทุนหาผลตอบแทน จำเป็นต้องรวมเงินให้เป็นก้อนใหญ่ ให้ได้ผลตอบแทนมาก กฎหมายก็บอกว่าทำได้ แต่ต้องทำเอกสารยืม ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าธุรกรรม (transaction costs) อีก

หรือค่าซ่อม ค่าภาษี เวลาที่ทำธุรกิจก็ไม่ได้แยกละเอียดขนาดนี้ เช่น ดอกเบี้ย เวลากู้เงินก็ไม่มีดอกเบี้ยรายโครงการ เพราะบางครั้งต้องกู้เงินมาครั้งเดียวเป็นกองกลาง การแบ่งดอกเบี้ยตามโครงการจึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ หรือการใช้พนักงาน หรือสินทรัพย์ร่วมกันของบริษัทในแต่ละโครงการจะต้องทำอย่างไร ซึ่งยากที่จะบอกได้ว่าถูกหรือผิด หากมีการกรอกผิดใครจะเป็นผู้พิสูจน์

และบางกรณีการซื้อของเพื่อใช้ในธุรกิจ เช่น หากเหล็กราคาถูก บริษัทซื้อมาเก็บไว้ก่อนแต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้โครงการไหน บางครั้งเป็นการบริหารต้นทุนให้แข่งขันได้ การแบ่งย่อยบัญชีแบบละเอียดเกินไปจึงขัดกับหลักบริหารที่ต้องประมูลได้โครงการก่อนแล้วจึงซื้อ ในธุรกิจต้องซื้อครั้งละจำนวนมากสร้าง economy of scale เพื่อให้สามารถเจรจาต่อรองได้

ดังนั้นการยื่นบัญชีที่ละเอียดแบบนี้ อาจส่งผลให้ความลับธุรกิจรั่วไหล กรมสรรพากรจะรักษาความลับธุรกิจของบริษัทได้หรือไม่ เพราะการทำแบบนี้เป็นการแทรกแซงธุรกิจ รู้ต้นทุนคนขายว่าแต่ละโครงการ กำไร ขาดทุนเท่าไร ซึ่งบางครั้งภาคธุรกิจก็ไม่อยากให้มีใครรู้ เช่น ถ้าจะขายรถคันนึงให้กับภาครัฐแล้วต้องยื่นแบบฟอร์ม ว่าต้นทุนเท่าไหร่ ส่วนประกอบแบบไหน ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการบางรายอาจจะไม่ประมูล เพราะความลับเรื่องต้นทุนรั่วไหล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ

“ถ้าจะป้องกันการคอรัปชั่นต้องดูตั้งแต่การเสนอราคากลางให้ถูกต้อง ไม่ใช่มาดูที่ปลายทาง มาจับปลาซิวปลาสร้อย ถ้ารัฐทำราคากลางมา ภาคธรุกิจก็จะคำนวน ถ้าได้แค่ไหนก็จะเสนอไป ถ้าราคาต่ำไปก็ไม่เสนอ ทุกคนคิดเป็นอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามในแง่ของการตรวจสอบเอกสาร ป.ป.ช. ไม่ได้มีคนตรวจสอบบัญชีที่ชัดเจน ให้สรรพากรเป็นผู้ดูแล โดยกรมสรรพากรต้องตรวจสอบว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลได้ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ไหรือไม่ ถ้าไม่ยื่นก็ถือว่าไม่มีสิทธิ ขาดคุณสมบัติในการยื่นประมูล เพราะ กฎหมาย ป.ป.ช. ห้ามหน่วยงานรัฐทำสัญญากับบริษัทที่ไม่ได้ยื่นบัญชี ถ้าทำหน่วยงานรัฐก็มีความผิด เมื่อเป็นแบบนี้จะไม่มีใครกล้าทำอะไร และเป็นการเพิ่มภาระให้สรรพากรที่จะต้องไปตรวจสอบว่ามีสัญญาใดที่ไม่เรียบร้อย ถ้าสรรพากรไม่ทำหรือทำผิด สรรพากรก็จะมีความผิดอีก ป.ป.ช. จึงมีอำนาจมากไปที่จะสั่งการใครก็ได้

โดยปกติการเสียภาษีไม่ได้เสียเป็นโครงการ แต่เสียเป็นภาพรวมอยู่แล้ว การแยกขนาดนี้ทำให้ง่ายต่อการผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องที่หาความเที่ยงตรงยาก มีการทับซ้อนของบัญชี และจะมีความผิดอะไรบ้าง เพราะการยื่นบัญชีโครงการเป็นเอกสารทางราชการ ถ้าลงผิดจะเป็นการยื่นเท็จหรือไม่ หรืออาจส่งผลให้บริษัทถูกตัดสิทธิการประมูลในอนาคต

“การใช้กฎหมายที่มีลักษณะเหวี่ยงแหเช่นนี้ ปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งกันอีกด้วย ถ้าวันหนึ่งมีคู่แข่งทางธุรกิจไปร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ เป็นการกลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ ดังนั้นการประมูลแต่ละครั้ง คนที่ขาดคุณสมบัติอาจมีมากจนไม่มีใครสามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะการตรวจสอบที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน”แหล่งข่าวกล่าว

สาระสำคัญกฎหมายป.ป.ช. ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจ-เครื่องมือแก้ไขทุจริต

ในปี 2010 องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI) ได้จัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index – CPI) ให้ประเทศไทยได้คะแนน 3.5 จาก 10 คะแนน ซึ่งดัชนีภาพลักษณ์แสดงถึงการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการคอร์รัปชันในภาครัฐ จากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีฐานข้อมูลจากโพล หน่วยงานวิจัย สถาบันและองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยตัวเลขที่มากขึ้นหมายถึงการมีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นที่ต่ำ ส่วนตัวเลขที่ต่ำหมายถึงการมีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นที่สูง

ผลการสำรวจนี้รวบรวมข้อมูลจาก 178 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับ 78 ของโลกและอันดับ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2549 – 2553 ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นตั้งแต่ 3.6, 3.3, 3.5, 3.4 และ 3.5 ในปี 2553 ตามลำดับ แสดงว่าภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประเทศไทยในอดีต มีระดับการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และไม่มีแนวโน้มจะลดลง

แผนที่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index – CPI) ภาพจาก TI
แผนที่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index – CPI) ภาพจาก TI

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยเครื่องมือต่างๆมากมาย เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่เพิ่มบทบัญญัติตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยให้มีองค์กรอิสระในชื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง ควบคุมดูแลและป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตต่อหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ขึ้นมาเพื่อให้ ป.ป.ช. ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต

โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในรูปแบบพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้มีขึ้นในระบบกฎหมายไทย เพื่อเพิ่มและกำหนดรายละเอียดจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ให้รัฐธรรมนูญมีความยาวมากเกินไป และสะดวกแก่การแก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการไต่สวน ตรวจสอบการทุจริต และตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีการกำหนดโทษ ทั้งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญา และการร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

แม้ว่าภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แทน แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ยังคงกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป และให้ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คือประธานกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2550 เนื่องจากที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีข้อจำกัดในเรื่องการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ พ.ร.บ. ฉบับเก่ากำหนดให้ต้องมีผู้เสียหายมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ทำให้บางกรณีที่พบว่ามีเหตุอันควรให้สงสัยว่ามีการทุจริต แต่ไม่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้อง ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถดำเนินการไต่สวนบุคคลนั้นได้ การแก้ไขครั้งนี้จึงเปิดโอกาสให้ ป.ป.ช. ไต่สวนได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้เสียหายมายื่นคำร้อง

การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 ทำให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 และมีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นต้นไป

ข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อแก้ไขในข้อกฎหมายให้ทันกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ ป.ป.ช. สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ไต่สวน ป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขณะเดียวกันยังได้เพิ่มบทบาทในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและข้าราชการอีกด้วย

1.การแก้ไขข้อกฎหมายให้ทันบริบทของสังคม

เริ่มตั้งแต่การปรับนิยามและความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้สามารถใช้อำนาจของรัฐได้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 4) ทำให้รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนเมื่อต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และได้รับมอบหมายงานให้สามารถใช้อำนาจของรัฐในการจัดการงานดังกล่าวแล้ว รัฐวิสาหกิจและเอกชนเหล่านี้ก็อยู่ในข่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

และได้มีการขยายขอบเขตของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ให้หมายรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร และสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการปรับขยายความดังกล่าว ทำให้การบังคับใช้กฎหมาย มีผลครอบคลุมไปถึงกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการใช้อำนาจโดยภาครัฐมากขึ้น

2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ ป.ป.ช. ได้มีการให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการขอข้อมูลจากสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องเรียน หากมีสถาบันทางการเงินไม่ให้ความร่วมมือ ป.ป.ช. สามารถขออำนาจศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการเงินเหล่านั้นได้ (มาตรา 25/1)

ในเรื่องการยื่นบัญชีตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องมีการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ ตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมไปถึงยังต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ต่างประเทศ และทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งหมายรวมถึงนอมอนีต่างๆ ในวันที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 32) และยังต้องมีการยื่นแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งหลังจากพ้นตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปีด้วย (มาตรา 33)

การเปิดเผยข้อมูลบัญชีดังกล่าวเดิมกฎหมายกำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีต่อสาธารณะเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ทุกคนต้องเปิดเผยด้วย (มาตรา 35)

และในขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สินยังสามารถให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน โดยสามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้ด้วย (มาตรา 37/2)

3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการไต่สวน

มีการพัฒนาระบบงานด้านการไต่สวนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัดแบ่งการทำงานของกระบวนการแสวงหาหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกระบวนการไต่สวนออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการคดีทุจริตเป็นไปตามความเป็นจริง คือ คดีที่มีพยานหลักฐานอย่างเพียงพอจากการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วเท่านั้นจึงจะถูกนำเข้าสู่สารบบของกระบวนการไต่สวน ซึ่งจะให้การบริหารงานคดีทุจริตมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ให้มีขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการไต่สวน และยังเปิดโอกาสให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถมอบหมายให้พนักงานไต่สวนรวบรวมหลักฐาน ดำเนินการไต่สวน ยื่นคำร้องหรือฟ้องคดีต่อศาลเองได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดว่ากรรมการ ป.ป.ช. ต้องเป็นอนุกรรมการเองทุกเรื่อง ทำให้สามารถทำคดีได้พร้อมกันมากขึ้น (มาตรา 28/2)

ในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี จะไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ (มาตรา 74/1) การที่ผู้ต้องหาหลบหนีแล้วทำให้คดีหมดอายุความจึงเกิดขึ้นได้ยาก

4.การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริต

ในมาตรการป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้มีการออกกฎเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 500,000 บาท เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ โดยให้คู่สัญญาของรัฐแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการต่อกรมสรรพากรและ ป.ป.ช. มีอำนาจในการเรียกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการชำระเงินภาษีของคู่สัญญา รัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยมีขอบเขตในการบังคับใช้คือ บุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งรวมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐทุกประเภทด้วย (มาตรา 103/7)

5.การเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริต

เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพ ได้มีการให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการเอาผิดข้าราชการระดับต่ำกว่า ที่ร่วมกระทำผิดกับข้าราชการระดับสูงด้วย (มาตรา 19) โดยมีบทลงโทษที่มีการกำหนดความผิดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ผู้อื่นสามารถแสวงหาประโยชน์ได้จากการกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นถือว่ามีความผิด ต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 123) และกำหนดให้ความผิดที่เกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นความผิดทางอาญา (มาตรา 103/1)

ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังได้มีการเพิ่มเครื่องมือใหม่ เพื่อสนับสนุนให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการเพิ่มมาตรการคุ้มครองให้แก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหายหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อหน้าที่ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นพยาน มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตากฎหมาย เมื่อเกิดความเสียหายในด้านต่างๆแก่พยานหรือบุคคลใกล้ชิดเนื่องจากไปให้ข้อมูลดังกล่าว พยานสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ (มาตรา 103/2)

ในกรณีที่พยานเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อมีการร้องขอต่อ ป.ป.ช. ว่าหากยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไป อาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ก็สามารถเรียกร้องให้มีการคุ้มครองได้ (มาตรา 103/5)

เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายอื่น หากผู้ถูกกล่าวหารายนั้นได้ให้ข้อมูลที่สามารถใช้เป็นพยานหรือหลักฐานในคดีดังกล่าวได้ ป.ป.ช. สามารถกันผู้นั้นเป็นพยานโดยไม่ต้องดำเนินคดีได้ (มาตรา 103/6)

และในกรณีที่มีผู้แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จะมีเงินสินบนหรือรางวัลตอบแทนให้ (มาตรา 30,103/3) และหากผู้ให้ข้อมูลเป็นข้าราชการ ก็จะมีการให้รางวัล มีการยกย่องเป็นแบบอย่าง ขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้แก่บุคคลนั้นเป็นกรณีพิเศษ (มาตรา 103/4)

มาตรการต่างๆเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้คนดีที่ไม่กล้าเข้ามาช่วยเพราะกลัวได้รับอันตราย หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย มีความมั่นใจขึ้นในการเข้ามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามการทุจริต

6.เพิ่มการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน โดยจัดให้มีสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดและเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกบุคคลทั่วไปมาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด จังหวัดละ 3-5 คน เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ช่วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผูตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา 103/10-21) อีกด้วย