ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 เม.ย. 2562
ศาลปกครองสูงสุด สั่ง รฟท.จ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” 1.18 หมื่นล้าน พร้อมดบ. 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน
เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า วันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562ระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้อง กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
คดีดังกล่าวนั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่าการที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้าน(โฮปเวลล์)ยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรพิจารณาคดีในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป โดยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญา ห้ามผู้คัดค้านเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ริบเงินค่าตอบแทนสัญญาและริบหลักประกันสัญญาประกัน แสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น และก่อนเสนอข้อพิพาทผู้คัดค้านได้ขอให้ผู้ร้องทั้งสองระงับข้อพิพาทโดยเจรจาประนีประนอมยอมความ
แต่ผู้ร้องทั้งสองเพิกเฉย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี คำชี้ขาดในประเด็นที่ว่าผู้คัดค้านเสนอให้ระงับข้อพิพาทภายในอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
ส่วนคำชี้ขาดที่ว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อผู้คัดค้านทันทีโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาคือต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือยืนยันหลายครั้งและผู้คัดค้านขนย้ายออกและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ พฤติการณ์ของผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาจะเลิกสัญญากับผู้คัดค้านอันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่ผู้คัดค้านยืนยันปฏิบัติตามจนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของผู้ร้องทั้งสอง สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850,000,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิม ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำชี้ขาดที่ว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายสัญญานั้น เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองในประเด็นต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญารวมทั้งความรับผิดต่อกันซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา ไม่ได้มีลักษณะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่ปรากฏเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดได้
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ จากคำพิพากษาดังกล่าว มีผลบังคับให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 คืนแก่บริษัทโฮปเวลล์ จำนวน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
โครงการโฮปเวลล์
โครงการโฮปเวลล์ หรือ “โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร” เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท โดยบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ สัญชาติฮ่องกง เป็นผู้ชนะ
โครงการนี้ได้มีการลงนามในสัญญาโดยนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของนายกอร์ดอน วู เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 อายุสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System (RAMTUFS)
อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด และได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อ พ.ศ. 2535
ต่อมาในรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 ได้พยายามยามผลักดันโครงการโฮปเวลล์ต่อ แต่ยังประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและแบบก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ก็เนื่องมาจากไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์มีสิทธิอันชอบทำที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ
ต่อมาในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540
โครงการการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 13.77% กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541
ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยถือว่าโครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วมาพัฒนาต่อ จากผลการศึกษาสรุปว่าจะนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต
ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัทโฮปเวลล์
ต่อมากระทรวงคมนาคมและ รฟท.นำเรื่องร้องศาลปกครองกลาง โดยเห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ หลังจากนั้นวันที่ 30 กันยายน 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
แต่ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาในวันนี้
คำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ ศป.สูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223-2562 by thaipublica on Scribd
ผู้ตรวจการแผ่นดินตีตกส่งศาลวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ – เอกฉันท์ส่งศาล รธน.ตีความสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์
จากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ/ปาร์ตี้ลิสต์) พรรคไทยรักษาชาติ ได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ และการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และจะทำให้ผลการเลือกตั้งทั่วไปเป็นโมฆะหรือไม่
ต่อมา นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่าhttp://bit.ly/2GHl5f3 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 17 เม.ย. 2562 และได้ส่งหนังสือให้ทาง กกต.ชี้แจงในประเด็นที่ผู้ร้องตั้งข้อสังเกต โดยให้เวลาในการชี้แจง 7 วันเนื่องจากเป็นประเด็นเร่งด่วน และอยู่ในความสนใจของสาธารณชน จำเป็นต้องเร่งการพิจารณา ซึ่งกรอบเวลาการชี้แจงจะครบกำหนดในวันที่ 25 เม.ย. 2562
ล่าสุด เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่าhttp://bit.ly/2GHl5f3 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงยุติในเรื่องดังกล่าว
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ (อดีตผู้สมัคร ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์) ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่นั้น ผู้ตรวจการแผนดินมีมติเอกฉันท์ให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเห็นว่าหลักเกณฑ์การคำนวณ ส.ส.ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้
สรรพากร ถอย? ไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทแต่บังคับธนาคารส่งข้อมูล
จากกรณีที่มีข่าวว่ากรมสรรพากรจะเริ่มดำเนินการจะดำเนินการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในกรณีที่ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาทด้วย จากที่โดยปรกติแล้วจะเก็บภาษี 15 เปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ยที่รวมแล้วเกิน 20,000 บาท แต่ยกเว้นมาตลอดสำหรับดอกเบี้ยที่รวมแล้วไม่ถึง 20,000 บาท ซึ่งตรงนี้เองเป็นเหตุให้สถาบันการเงินบางแห่งคอยแนะนำลูกค้าที่ดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาทว่าให้ปิดบัญชีนั้นๆ แล้วเปิดบัญชีใหม่ จะได้ไม่ต้องเสียภาษี
ล่าสุด เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า กรมสรรพากรได้ “ถอย?” ด้วยการเตรียมจะออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทใหม่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่
ทว่า ในประกาศที่จะออกใหม่นี้นั้น กรมสรรพากรจะใช้อำนาจให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากร เพื่อประมวลผลว่าผู้ฝากเงินรายใดมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท จากนั้นจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์ทำการหักภาษี 15% จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่เกิน 20,000 บาทนั้นให้แก่กรมสรรพากร
แต่หากผู้ฝากเงินรายใดที่ไม่ประสงค์จะให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่กรมสรรพากร ก็สามารถแจ้งกับธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะทำการหักดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดให้แก่กรมสรรพากร แม้ว่าผู้ฝากเงินจะมีรายได้จากดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม และหากผู้ฝากเงินเห็นว่าไม่มีภาระดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี ก็ให้มาขอยื่นคืนภาษีตอนสิ้นปีภาษีได้
ป.ป.ช.แจง เหตุไม่พบรายงานทรัพย์สินรัฐมนตรีในเว็บไซต์เพราะมีระยะเวลาเผยแพร่แค่ 180 วัน
วันที่ 24 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า จากกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าเข้าตรวจสอบเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ) เพื่อดูรายละเอียดบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัญมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งของรัฐมนตรีคนอื่นในรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีข้อมูลดังกล่าวปรากฎเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.มาหลายเดือน และยังไม่มีการแก้ไขจากเจ้าหน้าที่
โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 ระบุถึงวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 วรรค1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้ในข้อ6 ว่าการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ให้ปิดประกาศเฉพาะสำเนา ณ สำนักงาน ป.ป.ช.หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด หรือสถานที่อื่นใดตามที่กรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควร โดยมีระยะเวลาปิดประกาศ 30 วัน และทางเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นของสำนักงาน ป.ป.ช.มีระยะเวลาเผยแพร่ 180 วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้โดยมิชอบ
ส่วนในข้อ 7 ระบุว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาการปิดประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแล้ว หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว ให้ผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดที่ครอบครองดูแลเอกสารประกอบการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวดำเนินการจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาได้ แต่ไม่ให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร
ระเบิดศรีลังกา ตาย 321 กังขา นายกฯ ไม่ได้รับคำเตือน?
เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า วันที่ 21 เม.ย. 2562 เกิดเหตุระเบิด 8 ครั้งใน 7 จุดของประเทศศรีลังกา ประกอบด้วย โบสถ์ 3 แห่งในย่านโกชชิกาเด ในกรุงโคลัมโบ, เมืองเนกอมโบ, เมืองบัตติคาโลอา ในระหว่างที่ประชาชนกำลังร่วมประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในเทศกาลอีสเตอร์ และเกิดขึ้นที่โรงแรมแชงกรีล่า, โรงแรมซินนามอน แกรนด์ และโรงแรมคิงส์บิวรี ในกรุงโคลัมโบ
ระเบิดดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 321 ราย และบาดเจ็บอีกราว 500 ราย
กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส ได้ออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดครั้งนี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้รัฐบาลศรีลังการะบุว่า เหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้เป็นฝีมือของ National Thowheed Jamath (NTJ) กลุ่มติดอาวุธอิสลามในพื้นที่ และมีรายงานข่าวว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงได้จับตาดู NTJ มานาน รวมทั้งมีการแจ้งเตือนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าอาจเกิดการโจมตี แต่นายกรัฐมนตรีศรีลังกาและคณะรัฐมนตรีกลับไม่ได้รับคำเตือนนั้น