ThaiPublica > คอลัมน์ > มันเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลก?

มันเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลก?

3 กันยายน 2011


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

หลังจากไม่ได้เขียนคอลัมน์มานาน วันนี้ได้โอกาสดีกลับมาเขียนอีกครั้ง

เรื่องที่อยากเขียนถึงในวันนี้ก็คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเราขณะนี้ หลายคนคงสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมตลาดหุ้น ตลาดทองวิ่งขึ้นลงกันวุ่น ทิศทางเศรษฐกิจดูมืดมนเอาดื้อๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เราเพิ่งจะบอกว่าเราหลุดออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ไม่นาน

ผมขอมองย้อนกลับไปในภาพใหญ่นะครับ ผมว่าส่วนหนึ่งของเรื่องที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นผลมาจากสิ่ง ที่ผมจะเรียกว่า deleveraging effect เรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ ภาวะรัดเข็มขัด หรือภาวะหนี้หดหาย ที่มักเกิดขึ้นหลังจากภาวะหนี้ระเบิด (หรือฟองสบู่แตก) บางคนเรียกสถานการณ์ตอนนี้ว่า the great contraction ซะด้วยซ้ำไป

จำเมืองไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้ไหมครับ หลังวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ๆ หนี้ต่อรายได้ลดลงฮวบฮาบ เพราะธนาคารหยุดปล่อยสินเชื่อจากปัญหาหนี้เน่าในภาคธนาคารเอง จนการบริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจตกต่ำอยู่หลายปี

ผมขอแยกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้ เป็นสามส่วนนะครับ

ส่วนแรก คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง คือ ปัญหาการเมืองเรื่องหนี้ในสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สาม คือ วิกฤตการณ์หนี้รัฐบาล และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุโรป

เรื่องแรกนะครับ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก

ถ้ามองย้อนกลับไปสี่ห้าปีก่อน ตอนที่เศรษฐกิจยังรุ่งเรือง เศรษฐกิจสหรัฐโตมาได้จากการบริโภคล้วนๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลจากราคาบ้านที่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ “ความมั่งคั่ง” ของคนสหรัฐเพิ่มขึ้น นำไปสู่การก่อหนี้แบบมหาศาล คนมีบ้านก็ใช้บ้านเป็นเครื่อง ATM คือเอาไปบ้านไปค้ำประกันเงินกู้เพื่อมาบริโภค คนไม่มีบ้านก็ไปกู้มาเพื่อซื้อบ้าน การก่อหนี้เหล่านี้เพิ่มสภาพคล่องในระบบและนำไปสู่การบริโภคเกินตัว สังเกตได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากชาติในเอเชีย ที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และสะสมเงินสำรองในรูปหนี้สกุลเงินดอลลาร์ เรียกง่ายๆ ว่า ให้อเมริกากู้ไปซื้อของของตัวเองว่างั้นเหอะ

ทีนี้ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อฟองสบู่แตก ธนาคารล้ม การก่อหนี้ต้องหดตัวอย่างรวดเร็ว การบริโภคที่เคยกินใช้อย่างไม่จำกัด ถูกบีบตัวอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้จะไปกู้จากใคร มูลค่าสุทธิของบ้านก็หายไปพร้อมๆ กับราคาบ้าน ในขณะที่หนี้เก่าที่กู้มายังมีค่าเท่าเดิม คนจำนวนมากมีมูลค่าบ้านสุทธิ (ราคาบ้านลบมูลค่าหนี้) ติดลบ แม้ว่าดอกเบี้ยจะต่ำลงมามาก คนเหล่านี้ไม่สามารถกู้ใหม่ได้ เพราะไม่มีเงินมาโปะเป็นเงินดาวน์กับธนาคารแล้ว

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดูจะเหมือนว่าไม่เป็นไปดังคาด ทั้งๆ ที่รัฐบาลและธนาคารกลางทุ่มไปเต็มที่ Federal Reserve กดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ พร้อมกับฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ ใช้มาตรการ QE พิมพ์เงิน มาถึงสองรอบ จนขนาดของงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐขยายจาก 8 แสนล้านเหรียญ กลายมาเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญภายในสองสามปี เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อให้คนไปถือสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อดันราคาหุ้นและโภคภัณฑ์อื่นๆ ขึ้น และให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพื่อกระตุ้นการส่งออก จนประเทศอื่นด่ากันระนาว เพราะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาแบบไม่เคยเจอมาก่อน

สิ่งที่เห็นคือราคาทอง ซึ่งเป็นเสมือนสินทรัพย์ในกระจกเงา ของดอลลาร์ คือยิ่งพิมพ์เงินออกมาเท่าไร มูลค่าของเงินก็ลดลงเท่านั้น ราคาทองเลยพุ่งไม่หยุด ทะลุสถิติใหม่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในเนื้อแท้แล้วทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้ประจำ การตีค่าของทองทำได้ยากมาก

ด้านรัฐบาลโอบามาก็อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปจนรัฐบาลขาดดุลกว่าร้อยละ 10 ของ GDP แต่เศรษฐกิจดูเหมือนจะไม่กระเตื้องเสียที จนตอนนี้คนต้องลุ้นกันว่าจะมีอะไรปล่อยมาได้อีกหรือไม่

เรียกว่ากระสุนมีกี่นัดขนกันมาหมด แต่ยิงก็ไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร

การลงทุนก็ไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก ภาคธุรกิจดูเหมือนว่าจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าคนอื่น มีเงินสดในมือจำนวนมาก กำไรก็ยังดี เพราะขายของได้มากขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนลง (จนบางคนบอกว่า บริษัท Apple ของ Steve Jobs มีเงินสดมากกว่ารัฐบาลสหรัฐเสียอีก) แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่อยากลงทุน เพราะการบริโภคยังไม่มีทีท่าว่าดีขึ้น เก็บเงินไว้ในมือหรือเอาไปลงทุนต่างประเทศจะดีกว่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านโครงสร้างด้วย เพราะถ้าจำกันได้ ช่วงปีที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง คนอเมริกาเริ่มบ่นๆ ว่ากำลังเสียงานให้กับชาติในเอเชีย เพราะธุรกิจทำ outsourcing กันเยอะมาก โรงงานประกอบรถยนต์ถึงกับต้องปิดตัวลง แต่คนบ่นไม่มาก เพราะเศรษฐกิจดีเหลือเกิน คิดอะไรไม่ออกก็ไปเป็นนายหน้าขายบ้านสบายใจ ทีนี้พอฟองสบู่บ้านแตก คนตกงานก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน แต่แรงงานที่ว่างงานไม่สามารถปรับตัวไปสู่ภาคส่งออก ที่ดูเหมือนจะเป็นทางรอดทางเดียวในขณะนี้ อย่างว่าครับจะให้นายหน้าขายบ้าน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร ไปทำงานโรงงานจะไหวเหรอครับ

ส่วนที่สอง คือ ปัญหาการเมืองในสหรัฐ ที่ทำให้เกิดวิกฤตหนี้สหรัฐ ทำเอาคนใจหายใจคว่ำมาแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เรื่องนี้วุ่นนิดนึงครับ เรื่องมีอยู่ว่า สหรัฐมีกฎหมายที่จำกัดเพดานหนี้รัฐบาล ที่ได้รับการขยายเพดานอยู่เนืองๆ (ก็ไม่รู้ว่าจะกันเพดานไว้ทำไม เพราะขยายกันตลอด) แต่เพดานนี้ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ เพราะการออกกฎหมายขยายเพดานหนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา ล่าสุด เพดานหนี้สหรัฐถูกตั้งไว้ที่ประมาณ 14 ล้านล้านเหรียญ และมีการคาดกันว่า ถ้าเพดานหนี้นี้ไม่ได้รับการขยาย รัฐบาลจะไม่มีเงินใช้ เพราะกู้เพิ่มไม่ได้ ก็ไม่มีเงินจ่ายคืน พันธบัตรรัฐบาล และไม่มีเงินจ่ายเงินงบประมาณด้วยซ้ำ ทำเอาคนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ

แม้ว่าในทางการเมืองจะหาข้อสรุปในระยะสั้น ที่ขยายเพดานหนี้ออกไปได้อย่างน้อยก็จนผ่านการเลือกตั้งปีหน้าไปได้ โดยแลกกับการสัญญาว่าจะตัดลดงบประมาณในอีกสิบปีข้างหน้า โดยมีการตั้งคณะกรรมการจากทั้งสองพรรคเพื่อทำการปรับลดงบประมาณ หากตกลงกันไม่ได้ ก็มีการสัญญากันไว้แล้วว่าจะมีการตัดงบประมาณแบบไม่เลือก

แต่ปัญหาหนี้สหรัฐก็ยังไม่จบ และจะกลับมาหลอกหลอนอีกในอนาคต

ทำไมเหรอครับ ก็เพราะว่าปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นก็คือค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า entitlement หรือเงินสวัสดิการทั้งหลาย ทั้งค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนแก่ และเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคม ที่คาดกันไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต และทำให้รัฐบาลเข้าสู่ภาวะถังแตกอีกรอบถ้าไม่ได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ จุดยืนของแต่ละพรรคการเมือง ก็ยังหาจุดร่วมไม่ได้ ฝั่งพรรค republican ที่สนับสนุนแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ชอบรัฐบาลขนาดเล็ก และต่อต้านการขึ้นภาษีแบบหัวชนฝา อยากให้ปรับลดงบประมาณ โดยไม่ยอมให้ขึ้นภาษี และยังมีกลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า Tea Party Movement ซึ่งได้รับความนิยมในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เข้ามาเรียกร้องให้ตัดงบรัฐบาลอย่างดุเดือดอีก

ส่วนฝั่ง democrat ซึ่งเป็นพวกเสรีนิยม อยากให้ขึ้นภาษีคนรวย และคงค่าใช้จ่ายที่ช่วยคนชั้นกลางไว้ และไม่อยากให้ตัดงบประมาณสักเท่าไร

จุดยืนแบบนี้เลยหาข้อตกลงกันไม่ได้สักที แต่ผลสรุปของปัญหาสหรัฐก็คือ ปัญหาระยะยาวยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนในระยะสั้น เราคงได้เห็นรัฐบาลถูกบังคับให้ลดการขาดดุล กลายเป็นว่าแทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการคลังอาจทำให้เศรษฐกิจหดลงไปอีก

น่าสนใจว่า แม้ว่า Moody’s จะปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลกลับปรับลดฮวบฮาบ เพราะนักลงทุนกลัวว่าเศรษฐกิจจะถดถอยมากกว่ารัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ เลยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้กันเหนียว

ส่วนที่สาม คือ ปัญหาในยุโรป ซึ่งผมมองว่ามีสองปัญหาอยู่ด้วยกัน คือหนึ่งการใช้จ่ายเกินตัว ของรัฐบาลบางประเทศในยุโรป พอเศรษฐกิจเริ่มแย่ รัฐบาลเก็บรายได้ไม่ได้เท่าเดิม การขาดดุลก็ปูด หนี้ก็สูงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นในพันธบัตรของรัฐบาลในหลายประเทศในยุโรป

อีกปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุโรป ซึ่งย้อนกลับไปก็คือปัญหาของการมีเงินสกุลเดียวกัน ปัญหานี้ผมจะพูดถึงในโอกาสต่อไป

ตลาดการเงินเรียกกลุ่มประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนี้เหล่านี้ว่า PIIGS ส่วนผมเรียกว่าประเทศ GIPSI ครับ คือ Greece, Ireland, Portugal, Spain และ Italy นั่นเอง ที่ดูเหมือนว่าจะลามออกไปเรื่อยๆ

ปัญหามันน่ากลัวตรงที่ธนาคารทั้งหลายของประเทศในยุโรปนั้น ถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก และธนาคารในยุโรป มีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ถ้าปล่อยให้รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งผิดชำระหนี้ อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารบางแห่ง ซึ่งรับรองได้ว่าธนาคารอีกหลายแห่งในยุโรปต้องได้รับผลกระทบต่อกันไปเป็นลูกโซ่

ทางออกที่เกิดขึ้น คือการให้รัฐบาลประเทศที่มีปัญหาตัดลดงบประมาณ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน หรือไม่ก็ให้รัฐบาลประเทศยุโรป ที่ยังพอกู้ได้ช่วยเหลือประเทศที่กำลังมีปัญหา คือรับสภาพหนี้ไปนั่นแหละครับ แต่ดูเหมือนว่า คนในประเทศใหญ่ๆ อย่างเยอรมัน ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปช่วยเหลือประเทศเล็กๆ ที่พวกเขามองว่ามีปัญหาเพราะการใช้จ่ายเกินตัว

—–

สังเกตไหมครับ ว่าปัญหาแต่ละอันในขณะนี้ มีแต่ ตัด ตัด ตัด กับ ตัด ซึ่งเป็นทางออกสำหรับภาวะที่หนี้มีเยอะเกินไป และต้องปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วแบบนี้จะช่วยเหลือปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องการการอัดฉีดเม็ดเงินได้อย่างไรละครับ

สรุปแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐ ยังไม่ค่อยกระเตื้อง ดูมีทีท่าว่าอาจจะหักหัวลง กลายเป็นภาวะถดถอยอีกรอบด้วยซ้ำ ในขณะที่นโยบายการเงิน แทบไม่มีเครื่องมือเหลือมาใช้กระตุ้นแล้ว ด้านการคลัง ก็ดันมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะอีก จนต้องถูกมัดมือว่าจะตัดลดงบประมาณ ผูกตัวเองไว้ว่าจะไม่ใช้จ่ายมากขึ้น เรียกว่ากระสุนยิงไม่ได้แล้ว ภาระในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเลยตกอยู่กับนโยบายการเงิน ก็เลยเข้าสู่ภาวะพิมพ์เงินกันใหญ่ไงครับ แต่ก็ดูเหมือนว่าวิธีนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เท่าที่ควร เพราะปัญหาทางโครงสร้างที่มีอยู่

จนนักลงทุนเริ่มรู้สึกสงสัยว่า แล้วใครจะเข้ามาช่วย ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ

ส่วนทางยุโรปก็ไม่ช่วยกันเลย มีปัญหารายวัน จนคนห่วงว่าถ้าลามไปถึงภาคธนาคารเมื่อไร เราคงได้เห็น ปัญหาสภาพคล่อง แบบ 2008-09 กลับมาแน่ๆ แต่ถ้าเกิดขึ้น คราวนี้แย่กว่าคราวที่แล้วเพราะไม่มีรัฐบาลจะเข้ามา bail out นะสิครับ

ฟังดูแล้วหวิวๆ ไหมครับ นี่ยังไม่นับปัญหาระยะยาว ที่มีระเบิดเวลาอีกหลายลูกรอระเบิดอยู่นะครับ ผมว่าปัญหาทางเศรษฐกิจโลกขณะนี้น่าสนใจมากๆ ไว้คราวหน้าจะเล่าให้ฟังอีกครับ