เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มีการประชุมเลือกกรรมการ สปสช.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน แต่ได้มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากสารพิษกลุ่มต่างๆ มายื่นจดหมายร้องเรียนขอให้มีการคัดเลือกกรรมการอย่างโปร่งใส และขอให้ปลดนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ออกจากตำแหน่งกรรมการ สปสช. ที่คัดเลือกจากกลุ่มตัวแทนผู้สูงอายุ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม รวมถึงให้ตรวจสอบกรรมการ สปสช.ที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มเอ็นจีโอทั้งหมด
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าสาเหตุที่เครือข่ายประชาชน 15 ผู้เสียหายฯร้องคัดค้านการแต่งตั้งนายแพทย์วิชัยเป็นกรรมการสปสช.เนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายจากสารพิษจังหวัดสระบุรีเคยมาร้องเรียนให้สปสช.ดูแลการรักษาพยาบาล เนื่องจากต้องใช้ยาถอนพิษโลหะหนัก ซึ่งราคาแพงและแต่ยาดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง จึงขอให้สปสช.อนุมัติยกเว้นให้
การร้องเรียนในครั้งนั้นได้ดำเนินการผ่านรัฐมนตรีสาธารณสุข(ในฐานะประธานสปสช.)ได้ทำจดหมายในนามรัฐมนตรีให้สปสช.ดำเนินการ โดยได้สำรวจว่ามีผู้เสียหาย 5,000 คน ต้องใช้เงินช่วยเหลือ 300 ล้านบาท เรื่องดังกล่าวอยู่ที่สปสช. 4 เดือน จากนั้นรองเลขาธิการสปสช.ได้ตอบจดหมายถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขว่าทางอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สปสช.พิจารณาและได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่ภารกิจสปสช.ที่ต้องดูแลผู้ป่วยสารพิษ จึงไม่สามารถจัดเงินให้ได้ และให้รมต.แจ้งชาวบ้านที่ร้องเรียน
“บรรดาผู้ที่เสียหายจึงตรวจสอบว่าประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ที่ไม่อนุมัติคือใคร ทราบว่าเป็นหมอวิชัย โชควิวัฒน นี่คือสาเหตุที่มายื่นร้องคัดค้านเพราะไม่พอใจที่ไม่ดูแลชาวบ้าน เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับสารพิษที่อื่นๆ อาทิ คลองเตยประสบปัญหาเช่นเดียวกัน และกลุ่มอื่นๆที่ได้รับความเสียหายมาจับมือกัน โดยมองว่าสปสช.ไม่ดูแลประชาชนตามนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า”แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ประวัตินายแพทย์วิชัยเป็นกรรมการสมัยที่แล้ว ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก ในสมัยนี้กลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการอีก ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ จึงมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติของนายแพทย์วิชัย รวมทั้งประเด็นการควบ 2 เก้าอี้ เนื่องจากนายแพทย์วิชัยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้ขายยาอยู่ การดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะผู้จัดซื้อยาอาจทำให้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้
อย่างไรก็ตามล่าสุดคณะกรรมการสปปสช.ยังมีชื่อนายแพทย์วิชัย ส่วนการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน คือ 1.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ด้านประกันสุขภาพ 2.นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 3.นพ.พินิจ หิรัญโชติ ด้านการแพทย์ทางเลือก 4.นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ด้านการแพทย์แผนไทย 5.นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ ด้านสังคม 6.นายเสงี่ยม บุญจันทร์ ด้านกฎหมาย และ 7.นางสาววรนุช หงสประภาส ด้านการเงินการคลัง จากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม.
สำหรับเครือข่ายประชาชน 15 องค์กรผู้เสียหาย/เสียโอกาสรักษา/รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพจากรัฐและสปสช. เป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการสาธารณสุข การเคลื่อนไหวร่วมกันในครั้งนี้ มาจากสมาชิกในกลุ่มมองว่า สปสช. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ มีส่วนในการบริหารเงินภาษีของประชาชนเพื่อสนับสนุนบริการด้านสาธารณสาธารณสุขตามนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า ด้วยงบประมาณปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แต่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ตามที่สมควรจะได้
โดยเครือข่ายมองว่าสาเหตุหลักมาจากคณะกรรมการบริหารเงินสปสช.อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงเดินทางเพื่อเรียกร้องให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการสปสช.อย่างโปร่งใส
นางนิด พันธุ์ดี อายุ 78 ปี ในฐานะสมาชิกกลุ่มผู้ป่วย และผู้รับสารพิษพื้นที่คลองเตยได้เดินทางมาที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกับเพื่อนในนามเครือข่ายประชาชน 15 องค์กรผู้เสียหาย/เสียโอกาสรักษา/รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพจากรัฐ และสปสช. เป็นหนึ่งผู้ยื่นหนังสือต่อนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการสปสช. โดยเฉพาะนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์
นางนิดได้เล่าว่าการมาร่วมร้องเรียนด้วย เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม จากมติ ครม. ในปี 2545 ให้ก่อสร้างศูนย์อาชีวะเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่คลองเตย เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสารพิษ แต่จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวไม่พร้อมให้บริการสาธารณสุขแก่ชาวบ้าน ข้อเรียกร้องครั้งนี้จึงขอให้นำเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างศูนย์อาชีวเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาชดเชยให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแทน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 โกดังเก็บสารเคมีของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือท่าเรือคลองเตยได้เกิดระเบิดขึ้น โกดังระเบิด 3 แห่ง จากทั้งหมด 5 แห่ง เกิดเพลิงใหม้ในบริเวณดังกล่าวกินเวลายาวนานถึง 4 วัน ส่งผลให้สารเคมีที่เก็บในโกดังกว่า 3,000 ชนิด ฟุ้งกระจายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน มีผู้บาดเจ็บและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
การรั่วไหลของสารเคมีได้ส่งผลกระทบด้านสุขภาพแก่ผู้ที่อาศัยในชุมชน เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง โรคปอด ทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคตา โรคระบบประสาท โรคหัวใจ อัมพาต และยังส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ
จากสถิติในช่วงเวลา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2534 – 2546 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของสำนักแพทย์และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 3,104 ราย เข้ารับการรักษาที่หน่วยแพทย์และคลินิกพิเศษในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2,682 ราย
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กว่า 19 ปี ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตยรวมกันแล้วหลายพันราย
เมื่อถามถึงเรื่องการเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบ นางทัศนีย์ พรมบุตร หัวหน้ากลุ่มผู้ป่วยและผูรับสารพิษพื้นที่คลองเตยกล่าวว่า “ในวันที่เกิดเหตุการณ์ระเบิด ชาวบ้านหลายครอบครัวบ้านถูกไฟไหม้ ไม่มีที่อยู่ ต้องมาอาศัยใต้ถุนแฟลตคลองเตยเป็นที่พักชั่วคราว การท่าเรือฯ เจ้าของโกดังที่ระเบิดให้เงินคนละพันกับข้าวคนละห่อ”
จากนั้นแม้ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการท่าเรือฯบ้าง แต่คนในชุมชนเห็นว่าไม่เพียงพอ และต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายมากกว่านี้ ในช่วงปี 2537 ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มผู้ป่วยและผูรับสารพิษพื้นที่คลองเตย มีสมาชิก 105 คน เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มสมัชชาคนจน
ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยมีนายประชา มาลีนนท์ เป็นประธานอนุกรรมการ อนุมัติงบประมาณ 40.75 ล้านบาท ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยใน 3 เรื่องคือ
เรื่องแรก ชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบรายละ 10,000 บาท/ปี เป็นเวลา 10 ปี จากวันที่เกิดเหตุ ผู้ได้รับผลกระทบได้เงินชดเชยรวมรายละ 100,000 บาท เป็นเงิน 10.5 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ชาวบ้านได้รับเงินวันที่ 19 กันยายน 2545
เรื่องที่สอง ค่าพัฒนาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และได้รับผลกระทบรายละ 50,000 บาท เป็นเงิน 5.25 ล้านบาท กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล ชาวบ้านได้รับเงินแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548
เรื่องที่สาม จัดสร้างศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคลองเตย เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยจากผลกระทบ ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขผู้ดูแล
หลังมีมติ ครม. การดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฯเป็นไปด้วยความล่าช้า ชาวบ้านต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลเอง เมือไปสอบถามผู้รับผิดชอบได้คำตอบว่างบประมาณดังกล่าว ถูกนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิ
นางทัศนีย์กล่าวว่าแม้ว่าศูนย์ฯเปิดตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 แต่ภายในศูนย์ยังเป็นห้องว่าง ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์และบุคลากร การมีศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีประโยชน์กับชาวคลองเตยเลย จึงต้องการขอให้เอางบประมาณที่ใช้สร้างศูนย์ฯทั้งหมดมาคืนให้ชาวบ้าน ที่ผ่านมาก่อนมีโครงการหลักประกันสุขภาพ ชาวบ้านต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง ทั้งค่ายา ค่าเดินทาง แม้ก่อนหน้าจะมีผู้รับผิดชอบบอกชาวบ้านว่าใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลที่เก็บไว้สามารถนำมาเบิกได้ แต่ภายหลังก็ไม่สามารถเบิกได้จริง ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มได้เสียชีวิตไปแล้ว 33 คน จากทั้งหมด 105 คน
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้เดินทางมาร่วมการเคลื่อนไหว นางนิดกล่าวว่า “การเดินทางมาเคลื่อนไหวทุกครั้ง ยายออกเงินค่ารถเอง 60 บ้าง 100 บ้าง ก็ช่วยๆกัน และ19 ปีที่ผ่านมาพยายามมาด้วยทุกครั้ง”
ทั้งนี้ก่อนจะมาที่ศูนย์ราชการนางนิดและกลุ่มเพื่อนเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงตัวแทนนายกรัฐมนตรี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอเงินค่าศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข 25 ล้านบาท คืนให้ชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ทางกลุ่มดูจะมีความหวังเป็นพิเศษ เพราะงบประมาณการช่วยเหลือชาวบ้านคลองเตยเป็นมติ ครม. ปี 2545 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพรรคเพื่อไทยที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีความหวังในทางที่ดี
ก่อนผู้เสียหายเดินทางกลับได้ถามนางนิดว่าต่อสู้มากว่า 19 ปีแล้ว เหนื่อยหรือท้อบ้างไหม นางนิดแม่เฒ่าวัย 78 ปี แห่งชุมชนคลองเตย หันมาตอบว่า “ไม่เหนื่อย ถึงเหนื่อยก็จะสู้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ”