ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปีประกันสุขภาพถ้วนหน้า – โรงพยาบาลรัฐขาดทุนถ้วนหน้ากว่า 7,000 ล้านบาท

10 ปีประกันสุขภาพถ้วนหน้า – โรงพยาบาลรัฐขาดทุนถ้วนหน้ากว่า 7,000 ล้านบาท

16 กันยายน 2011


10 ปี ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลรัฐขาดทุนกันถ้วนหน้าเช่นกัน กางตัวเลขปี ’53 ขาดทุนทั้งระบบ 7,388 ล้านบาท ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน แถมเงินกองทุนแต่ละโรงพยาบาลถูกดูดจนร่อยหรอ วอนสปสช.จ่ายเงินชดเชยให้ครบ อย่าเบี้ยวหนี้

จากคำถามเรื่องโรงพยาบาลรัฐขาดทุน เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปได้ยินมาหลายปีแล้ว นับจากประเทศไทยเริ่มมีบริการสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 จนถึงขณะนี้ปรากฏว่าสถานการณ์ของโรงพยาบาลภาครัฐมีผลประกอบการขาดทุนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงอย่างฮวบฮาบ

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมความเห็นการจัดการงบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาลง ปีงบประมาณ 2555 เมื่อวันที่ 7 –8 กรกฏาคม 2554 ที่จังหวัดชลบุรี ได้รายงานสถานการณ์การเงินการคลังโรงพยาบาลรัฐจำนวน 832 แห่ง ปี 2553 – 2554 กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เสนอปัญหาทางการเงิน สาเหตุของปัญหา และแนวทางที่ควรพิจารณาเพื่อการแก้ปัญหา

ในรายงานได้สรุปปัญหาการเงินโรงพยาบาลรัฐ 1.โรงพยาบาลที่มีผลประกอบการขาดทุนมีมากขึ้นทุกระดับ 2.โรงพยาบาลประสบวิกฤตทางการเงินระดับรุนแรงขึ้น 3.เงินบำรุงในกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไปลดลงระดับน่าวิตกที่สุด 4.ปัญหาทางการเงินมีผลกระทบต่อการบริการและบุคลากร 5.ทิศทางการเงินยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่าจากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์ปฏิบัติการการเงินการคลัง กลุ่มประกันสุขภาพ ซึ่งรวบรวมสถานการณ์การเงินการคลังโรงพยาบาลภาครัฐปี 2553-2554 ได้สรุปว่าปริมาณโรงพยาบาลที่ขาดทุนมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 505 โรงหรือ 63% ในไตรมาสสี่ของปี 2552 เพิ่มเป็น 540 โรงหรือ 67% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 และเพิ่มเป็น 579 โรงหรือ 70% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ทำให้ปี 2553 ทุกโรงพยาบาลขาดทุนรวม 7,388 ล้านบาท

ทั้งนี้โรงพยาบาลยิ่งใหญ่ยิ่งขาดทุนมาก โดยโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ขาดทุนสูงถึงเฉลี่ยโรงละ 46.2 ล้านบาท โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขาดทุนเฉลี่ยโรงละ 22.4 ล้านบาท และโรงพยาบาลชุมชนขาดทุนเฉลี่ยโรงละ 2.7 ล้านบาท

เงินบำรุงโรงพยาบาลเหือดแห้ง

จากตัวเลขข้างต้นสะท้อนว่าโรงพยาบาลขาดทุน แต่นักวิชาการมีความเห็นแย้งว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังมีเงินบำรุงซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณอยู่ โรงพยาบาลจึงน่าที่จะอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดตัวลง แต่จากข้อมูลปี 2550 เป็นต้นมา ปรากฏว่าปริมาณเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลได้ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะขาดทุนต่อเนื่อง

ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐมีเงินบำรุงของตัวเอง จากการที่ 1.สามารถเก็บค่าบริการเป็นของโรงพยาบาลเอง แต่หลังจากที่มีกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไข้ที่เรียกเก็บเงินได้ลดลงอย่างมาก ยิ่งระดับโรงพยาบาลชุมชน แทบจะไม่มีเลย ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีการเก็บเงินจากผู้ป่วยจ่ายเงินบ้างประมาณร้อยละ 10%

2. เงินบำรุงที่มาจากกองทุนและสิทธิรักษาพยาบาลซึ่งมีหน่วยผู้จ่ายเข้ามาควบคุม โดยไม่มีระบบการต่อรองใดๆ จากโรงพยาบาลรัฐเลย ปัจจุบันมีการจัดสรรรายปี เมื่อจัดสรรไม่เพียงพอ ย่อมไม่สามารถนำเงินบำรุงใดมาชดเชยได้อีกต่อไปแล้ว

จากข้อมูลในปี 2550 มีเงินบำรุงของโรงพยาบาลทั้งประเทศรวมกัน 15,058 ล้านบาท ได้ลดลงเหลือเพียง 7,146 ล้านบาทในปี 2553 ทั้งนี้แยกเป็น 1.เงินบำรุงคงเหลือของโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) จาก 5,968 ล้านบาทในปี 2550 เหลือเพียง 1,493 ล้านบาทในปี 2553 2. เงินบำรุงคงเหลือของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จาก 6,474 ล้านบาท ในปี 2550 เหลือ 2,738 ล้านบาท และ3. เงินบำรุงคงเหลือของโรงพยาบาลศูนย์จาก 2,614 ล้านบาท เหลือ 2,914 ล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน

เฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ป่วนหนี้บาน

รายงานระบุว่าสาเหตุที่โรงพยาบาลมีเงินบำรุงลดลงเรื่อยๆ เพราะมีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสปสช ไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลตามที่เรียกเก็บ โดยค้างชำระจำนวนมาก จึงต้องดึงเงินบำรุงมาชดเชย พบว่า 1.รายได้ที่มาจากการรักษาพยาบาลในปี 2553 มีจำนวน 22,145 ล้านบาท แต่มีหนี้ค้างชำระจำนวน 27,009 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น 31,444 ล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้นทุกประเภท (เงินเดือน,ค่าตอบแทน,ค่าจ้าง) ปี 2551-2553 จำนวน 59,390 ล้านบาท เป็น 65,795 ล้านบาท และเป็น 68,593 ล้านบาท ตามลำดับ 3.หนี้ค้างชำระเฉพาะในส่วนค่ารักษาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเกิดจากการให้บริการที่มาก ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มมากขึ้น จำนวน 27,009 ล้านบาท หากได้รับการชำระในส่วนต่างนี้ ก็จะแก้ไขปัญหาทั้งค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอได้ทั้งระบบ ซึ่งมียอดขาดทุนจำนวน 4,689 ล้านบาท ซึ่งกำลังขอจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ในรายงานนี้ระบุสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายบุคลากรสูงขึ้น เนื่องจากการให้บริการผู้ป่วยด้วยนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อปริมาณผู้ป่วยมากขึ้น โรงพยาบาลต้องจ้างลูกจ้างชั่วคราว โดยเฉพาะลูกจ้างวิชาชีพและมีค่าตอบแทนนอกเวลาราชการมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายด้านบุคลากรจากเงินบำรุงค่อนข้างสูง เมื่อกองทุนจัดสรรไม่เพียงพอ หลายโรงพยาบาลมีปัญหาจ่ายเงินค่าตอบแทน ซึ่งมีโรงพยาบาลประสบปัญหาการเงินรุนแรงจำนวน 304 โรงพยาบาล จากทั้งหมด 832 โรงพยาบาล