ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้อเสนอการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดยื่น 3 ประเด็น

ข้อเสนอการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดยื่น 3 ประเด็น

13 พฤษภาคม 2017


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 ผู้เขียนได้เข้าประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Intervention Association of Thailand – แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รักษาด้วยการทำหัตถการร่วมกับการใช้ยา) ได้ร้องเรียนมายังกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. เกี่ยวกับปัญหาการทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ใน 3 ประเด็น คือ

    1. การจัดซื้ออุปกรณ์ในการรักษา ไม่สอดคล้องกับการทำงานที่เป็นจริง

    2. การจัดหาอุปกรณ์เป็นไปในลักษณะผูกขาด มีความล้าสมัย และไม่มีความคล่องตัว

    3. มาตรฐานวิชาชีพ

โดยมีผู้ไปชี้แจงคือผู้ร้องเรียน, สปสช. และผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยทางผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้ยอมรับว่า การที่ สปสช. ซื้ออุปกรณ์เป็นจำนวนมากทำให้ราคาถูกลง แต่มีการเปิดศูนย์หัวใจมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน (เพราะมีผลตอบแทนพิเศษสำหรับบุคลากรด้วย) และเป็นที่น่าสงสัยว่าศูนย์หัวใจเหล่านั้นอาจมีการรักษาผู้ป่วยไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานและมีรายงานจากบางเขตสาธารณสุขว่า มีอัตราตายของผู้ป่วยโรคหัวใจสูงมากกว่าเขตอื่นๆ อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่ สปสช. นำมาชี้แจงก็ยืนยันว่า ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจที่ สปสช. ซื้อนั้นได้มาตรฐานอเมริกัน แต่จากการไปตรวจสอบศูนย์หัวใจบางแห่งนั้นไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคืออาจจะได้มาตรฐานไทย แต่ไม่ได้มาตรฐานอเมริกัน

มีข้อสังเกตจากที่ประชุมว่า

1. การมีศูนย์หัวใจที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้อัตราตายสูงในบางเขต

2. โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarct) จะต้องลงทะเบียนการรักษาโรคกับ สปสช. เพื่อที่จะเบิกค่ารักษาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่หลังจากรักษาอาการเฉียบพลันแล้ว อาจจะไม่รับผิดชอบดูแลต่อเนื่อง (ไม่รักษาอาการข้างเคียงและอาการต่อเนื่อง กล่าวคือ ไม่ follow up ผู้ป่วย) แต่ส่งผู้ป่วยกลับคืนต้นสังกัดเดิม (เหมือนกรณีผ่าตัดต้อกระจก)

3. สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจกล่าวว่า การซื้อเครื่องมือแพทย์ (stent) ของ สปสช. บางครั้งไม่ได้มาตรฐานและไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน (การรักษาผู้ป่วยไม่สามารถเหมาโหลได้) แต่ สปสช. ไม่รับฟังความคิดเห็นจากแพทย์ผู้รักษา หรือรับฟังแต่ไม่ทำตามข้อเรียกร้อง (ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ)

4. สปสช. กล่าวว่า ในระยะหลัง คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐได้สั่งให้สปสช.ยุติการซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบัญญัติไว้ (และนี่จึงแป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

5. หัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 37/2559 ให้ สปสช. สามารถดำเนินการต่างๆ ที่ คตร. เคยชี้ว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ถ้าเป็นการกระทำที่สุจริต

6. โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยไปแล้ว ได้รับเงินจาก สปสช. ไม่เท่ากับจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง และ สปสช. ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยในระบบบัตรทองร่วมจ่ายในส่วนเกิน ในขณะที่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการร่วมจ่ายส่วนเกินจากราคา stent ที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ผู้ป่วยและแพทย์ร่วมกันตัดสินใจใช้ได้ตามมาตรฐาน

7. มีผู้เสนอว่าทำไม สปสช. ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยที่มีความสามารถร่วมจ่ายได้ช่วยจ่ายเพิ่ม เพื่อสามารถได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีได้

8.จากรายงานข่าวว่าประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกข่าวว่าจะปรับระบบการจัดซื้อยาใหม่ ตั้ง คกก. ต่อรองราคายาระดับชาติทำหน้าที่แทน สปสช. ซึ่งน่าจะมีความหวังว่า คกก. ชุดนี้น่าจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพท์ทุกแขนง ผู้เชี่ยวชาญยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งคณะกรรมการองค์การอาหารและยา และ คกก. ชุดนี้ควรทำงานโดยยึดถือหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด เพื่อให้พลเมืองไทยได้รับยารักษาโรคที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการรักษาโรค มีความทันสมัยเหมาะสมกับความเป็นประเทศไทย 4.0

9. มีผู้เสนอความเห็นว่า ทั้งรัฐบาล ครม. สนช. แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่างก็รับรู้ความจริงว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับมาปีละเกือบสองแสนล้านบาทนั้นไม่พอเพียงในการจัดบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนกล้าออกมาพูดกับประชาชน

เนื่องจากระบบบัตรทองนี้เป็นระบบประชานิยม สปสช. ได้รับความนิยมมาก พรรคการเมืองและรัฐบาลไหนๆ มาก็ไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชนว่างบประมาณไม่พอที่จะให้การรักษาได้ตามมาตรฐาน (แม้ว่างบประมาณจะพอ แต่ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการจนอาจจะทำให้งบประมาณไปถึงมือผู้ป่วยน้อยกว่างบประมาณกองทุนทั้งหมด?) จึงทำให้ระบบบริการสาธารณสุขของบัตรทองมีปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานมาโดยตลอด (แต่ประชาชนไม่ทราบว่ามีผลร้ายหรืออาการแทรกซ้อนจากการรักษา ซึ่งถ้ามีผลร้าย ประชาชนก็ไม่ฟ้อง สปสช. แต่ไปฟ้องแพทย์ผู้ให้การรักษาแทน และประชาชนพอใจแค่การได้รับการรักษาฟรีโดยไม่เป็นภาระต่อเงินในกระเป๋าตัวเอง) แต่ถ้ารัฐบาลยอมปล่อยให้เป็นอย่างเดิมนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกจากจะเกิดการสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายทางการเงินแล้ว ยังสุ่มเสียงต่อการล้มละลายของมาตรฐานการแพทย์ด้วย

10. ข้อเสนอของผู้เขียนในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 5 วรรคสอง ว่า คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 47 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

และมาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

มาตรา 55 วรรคสาม รัฐต้องพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มาตรา 62 รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถึยรภาพและมั่นคงยั่งยืน

และมาตรา 63 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธฺภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

และมาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องสภาพการณ์

ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้วางหลักเกณฑ์ในการบริหารประเทศไว้แล้ว ยังได้วางกรอบในการปฏิรูปประเทศไว้อีก ผู้เขียนจึงขอเสนอว่ารัฐบาล ครม. และ รมต.สาธารณสุข เพียงแต่ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแล้ว ก็จะสามารถปฏิรูประบบสาธารณสุข ระบบหลักประกันสุขภาพ และการประกันสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มละลายทางการเงินการคลังและไม่ล้มละลายทางด้านคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองไทย เพื่อช่วยกันปฏิรูปประเทศไทยให้ไปถึงเป้าหมาย Thailand 4.0 ในอนาคตอันใกล้นี้