เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการหารือปรากฏข่าวว่า นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวความคิดจัดตั้ง “กองทุนร่วมจ่าย” ต่อที่ประชุม โดยให้เก็บเงินจากประชาชน หรือร่วมจ่ายทุกครั้งที่ไปใช้บริการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาล
ด้วยเหตุนี้ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ชี้แจงถึงแนวความคิดในการจัดตั้งกองทุนร่วมจ่ายว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยืนยันไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายเมื่อมาใช้บริการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้คนยากจนและผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนยากจนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ผลการสำรวจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในอดีต ระบุว่ามีครัวเรือนของผู้ป่วยที่ยากจนต้องล้มละลายจากการรับภาระค่ารักษาพยาบาล 120,100 ครอบครัว แต่ในปี 2552 ลงลงเหลือ 39,750 ครอบครัว ชี้ให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยที่ยากจนถึง 1 แสนครอบครัว ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณดูแลค่าใช้จ่ายสุขภาพให้ประชาชน 4% ของ GDP ใกล้เคียงกับประเทศเวียดนามและมาเลเซีย โดยผ่านระบบสวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แต่เนื่องจากกองทุนหลักประกันสุขภาพมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ สปสช. ได้รับจัดสรรงบประมาณค่อนข้างจำกัด หลายฝ่ายจึงเกรงว่ากองทุนอาจจะมีปัญหาด้านการเงินในอนาคต ประเด็นที่มีการหารือในที่ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ สนช. หลักๆ จะมีอยู่ 4 หัวข้อ คือ
1. ปัญหาของโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย หรืออยู่ในเขตทุรกันดาร โรงพยาบาลกลุ่มนี้มีต้นทุนสูงมาก แนวทางแก้ปัญหาปัจจุบันต้องนำต้นทุนมาเฉลี่ยกับโรงพยาบาลส่วนใหญ่ แต่ก็ช่วยได้ไม่เต็มที่ เพราะปกติโรงพยาบาลทั่วไปได้รับการจัดสรรงบน้อยมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกใหม่ๆ มาดูแลโรงพยาบาลกลุ่มนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและไม่กระทบภาพรวม
2. ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐแทบจะไม่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนจากรัฐบาลเลย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องลงทุนเพิ่ม โดยเน้นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนก่อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาแผนการลงทุนของโรงพยาบาล ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล
3. ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะได้อัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น แต่งานก็เพิ่มขึ้นมากกว่า แนวทางในการบริหารต้องใช้บุคลากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ปัจจุบันค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาล ไม่ได้ถูกนำมารวมอยู่ในสูตรคำนวณต้นทุน ก็ควรจะนำมารวมในสูตรนี้ด้วย เพื่อขอรับการจัดสรรงบจากรัฐบาล
4. คณะกรรมาธิการ สนช. และ สปช. มีความเห็นว่าระบบการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพในอนาคตจะรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ได้ ต้องหาเงินมาเติมเข้าไปในกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่ไม่ใช่ไปเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยที่มาใช้บริการรักษาพยาบาลหรือร่วมจ่าย
“ในฐานะที่ผมเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพไทยมามาก ไม่พูดก็ไม่ได้ พูดมากไปก็จะกลายเป็นนโยบาย เพราะผมมีฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่าถ้าอยากให้กองทุนมีเงินเพิ่ม ยั่งยืน ต้องตั้งกองทุนร่วมจ่าย หลักการคือเก็บเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน นำเงินมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ยกตัวอย่างคนไทย 60 ล้านคน มีคนรวยที่สุดในประเทศ 1% หรือประมาณ 6 แสนคน เก็บเงินคนกลุ่มนี้วันละ 100 บาทต่อคน ปีละ 30,000 บาท กองทุนฯ ได้รับเงินจากคนกลุ่มนี้ 18,000 ล้านบาท ถัดมาเป็นคนรวยกลุ่มที่ 2 มี 10% ประมาณ 6 ล้านคน กลุ่มนี้ขอเก็บเงินเข้ากองทุนฯ วันละ 10 บาท ปีละ 3,000 บาท ได้เงินอีก 18,000 ล้านบาท รวม 2 กลุ่ม คือคนรวย 11% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ 36,000 ล้านบาท ดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ส่วนวิธีจัดเก็บเงินเข้ากองทุนร่วมจ่ายเป็นอย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า อาจจะฝากให้กรมสรรพากรจัดเก็บเพิ่มก็ได้ เพราะฐานข้อมูลคนรวย คนจน อยู่ที่กรมสรรพากร สำหรับคนรวยกลุ่มแรก 6 แสนคน คงจะพอเก็บได้ แต่กลุ่มที่ 2 ประมาณ 6 ล้านคน คงจะเก็บยาก เพราะมีบางส่วนไม่ได้อยู่ในฐานภาษี สนช. บางท่านเสนอให้เก็บภาษีจากกลุ่มคนเล่นหุ้น ซื้อ-ขายหุ้นเปลี่ยนมือมีกำไรจ่ายเงินเข้ากองทุนร่วมจ่าย หรือเสนอให้เก็บเงินจากกลุ่มคนที่ไปขึ้นทะเบียนมือถือ ส่วน สนช. ที่เสนอให้เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นำเงินมาเข้ากองทุนร่วมจ่าย ตนได้ชี้แจงไปว่าการปรับขึ้น VAT ถือเป็นการลงโทษคนจน เพราะภาษี VAT มีลักษณะถดถอย คนจนคนรวยบริโภคเท่ากัน แต่ถ้าปรับขึ้นอัตราภาษี คนจนได้รับความเดือดร้อนมากกว่า อย่างที่ประเทศฝรั่งเศส มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรม ตั้งขึ้นมาช่วยคนจนสู้คดี ฝรั่งเศสออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนที่ซื้อประกันภัยทุกประเภทต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 1% ของค่าเบี้ยประกัน เพื่อนำเงินส่งเข้ากองทุนยุติธรรม กรณีของกองทุนร่วมจ่าย ก็ต้องยกร่างกฎหมายบังคับใช้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบัน สปสช. จัดงบเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บาท มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และผู้ป่วยได้รับจริงเท่าไหร่ และถ้าหากกองทุนร่วมจ่ายระดมเงินได้ 36,000 ล้านบาท จะเพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ตอบว่า “ไม่สามารถแจกแจงตัวเลขได้ แต่เท่าที่ทราบคือ 1. กระทรวงสาธารณสุขยังไม่เคยนำรายจ่ายที่จะไปช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารเข้ามาร่วมในสูตรคำนวณต้นทุนเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ 2. โรงพยาบาลไม่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนมากว่า 10 ปี และไม่ได้อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บาท และไม่ควรไปแบ่งเงินส่วนนี้มาใช้เป็นงบลงทุน อย่างเช่น ค่าเสื่อมที่อยู่ในงบ สปสช. ทำให้สับสนกันหมด ค่าเสื่อมไม่ใช่งบลงทุน หากต้องการงบลงทุนก็ต้องตั้งขึ้นมาต่างหาก” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เงินเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บาท ถามว่า “เงินขาด” หรือไม่และต้องหาเงินมาเพิ่มเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ หากให้วิเคราะห์น่าจะประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าสำนักงบประมาณต้องตั้งงบมาให้ทันที 20% แต่อาจจะใช้วิธีการแบ่งจ่าย 5 ปี ขอเพิ่มอีกปีละ 4% รวมอัตราเงินเฟ้อด้วย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรายจ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 14% เท่านั้น