ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (3): ย้อนรอยซีรีส์ฉาว “ฌากส์ ชีรัก”

20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (3): ย้อนรอยซีรีส์ฉาว “ฌากส์ ชีรัก”

28 สิงหาคม 2011


ผลงานของประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัก กลับถูกซีรีส์ฉาวสมัยคุมศาลาว่าการปารีสบดบัง
ผลงานของประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัก กลับถูกซีรีส์ฉาวสมัยคุมศาลาว่าการปารีสบดบัง
(ที่มาของภาพ: www.denstoredanske.dk)

ชีรักถือเป็นนักการเมืองแถวหน้าที่ได้รับความนิยมจากประชาชนแดนน้ำหอมมากที่สุดคนหนึ่ง โดยแม้จะพ้นจากตำแหน่งสูงสุดไปแล้วถึง 2 ปีและทั้งที่มีข่าวพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายกรณี แต่ชีรักยังคงเรียกเรตติ้งได้มากถึง 76 % จากผลสำรวจความนิยมของบริษัทสำรวจและวิจัยตลาด “อิปซอสส์” ที่จัดทำในปี 2552

นอกจากนี้ ชีรักยังเป็นที่รู้จักในประชาคมโลกจากการลุกขึ้นมาคัดค้านสงครามบุกอิรักที่นำโดยพี่เบิ้ม “สหรัฐ” เมื่อปี 2549

น่าเสียดายที่ผลงานของชีรักในฐานะประธานาธิบดีกลับถูกซีรีส์คอร์รัปชั่นต่างๆ ทอดเงาบดบัง ดังที่ ” ชาร์ลส โซเวอร์ไวน์ “ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นให้ความเห็นว่า ชีรักสร้างเซอร์ไพรส์สำหรับใครหลายคนเหมือนกัน เพราะเขาแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในฐานะประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเป็นการเอ่ยปากขอโทษกรณีที่ฝรั่งเศสเคยให้ความร่วมมือกับกองทัพนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชีรักนับเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกที่กล่าวเช่นนี้ รวมถึงจุดยืนที่คัดค้านสงครามอิรักอย่างชัดเจน

เดือนกันยายนนี้ ฌากส์ ชีรักมีกำหนดขึ้นให้การในคดี “ตำแหน่งงานผี” (ghost jobs) ซึ่งเป็นเพียงคดีเดียวในตอนนี้ที่ทำให้ชีรักขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยเรื่องนี้แดงขึ้นจนเป็นที่โจษจันในปลายปี 2545

นอกเหนือจากคดี ghost jobs ชีรักยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการทุจริตอีกหลายต่อหลายกรณี ในระหว่างรั้งเก้าอี้นายกฯ เล็กปารีส แต่คดีอื่นๆ ยังคงค้างอยู่บนหิ้งบ้าง คดีหมดอายุความบ้างหรือไม่ก็เป็นเพราะศาลต้องยอมรับเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะประธานาธิบดี

kickbacks ฉาว: ชีรักถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงิน kickbacks ในโครงการก่อสร้างและบูรณะโรงเรียนในเขตปารีส เรื่องนี้เริ่มเข้าสู่โฟกัสของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เมื่อปี 2540 หลังพนักงานสืบสวนพบว่าชีรักใช้จ่ายค่าทริปท่องเที่ยวเป็นเงินสดจำนวนมากในระหว่างนั่งคุมศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส

กรณีนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 47 รายที่ถูกตรวจสอบว่าอาจมีเอี่ยวกับการคอร์รัปชั่นดังกล่าว โดยใช้วิธีเรียกรับเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาราว 2 % ของมูลค่าโครงการ เพื่อให้บริษัทที่ยอมจ่ายเป็นผู้ได้งานก่อสร้างหรือซ่อมแซมโรงเรียนมัธยมในปารีส ว่ากันว่าเงิน kickbacks ที่ได้มานั้น ราว 1.2 % ถูกส่งไปให้พรรคแอร์เปแอร์ ของชีรัก ส่วนอีก 0.8 % อาจเข้ากระเป๋าพรรคสังคมนิยม

ต่อมาในปี 2548 จำเลย 43 จากทั้งหมด 47 ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีเรียกรับเงิน kickbacks กว่า 50 ล้านปอนด์จากสัญญาก่อสร้างโรงเรียนในปารีสที่มีมูลค่ารวม 2.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นช่องทางในการระบายเงินไปให้กับพรรคแอร์เปแอร์ ที่ฌากส์ ชีรัก ก่อตั้งขึ้น

ส่วยบ้านเอื้ออาทร: ชีรักยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการคอร์รัปชั่นที่สลับซับซ้อนของโครงการก่อสร้างบ้านราคาประหยัดในปารีส ซึ่งบริษัทผู้ประมูลยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับสัญญาจ้างงานภาครัฐที่มีงบประมาณมหาศาลในช่วงที่ชีรักนั่งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสระหว่างปี 2530-2536 และเงินใต้โต๊ะตรงนี้ได้ถูกนำไปใช้ในพรรคแอร์เปแอร์

คดีนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาในปี 2549 นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ 37 รายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ถูกศาลพิพากษาโทษโดยให้รอลงอาญาเอาไว้

เรื่องนี้ถูกจุดพลุความสนใจในวงกว้างจากวิดีโอเทปแฉของ ” ฌอง คล็อด เมอรี่ “ อดีตสมาชิกพรรคแอร์เปแอร์และคนเคยสนิทกับชีรัก ซึ่งเทปนี้ถูกตีแผ่ออกมาในปี 2543 ภายหลังการเสียชีวิตของ เมอรี่ 1 ปี โดยเนื้อหาในเทปตีแผ่กลโกงของเรื่องนี้ พร้อมกันนี้เมอรี่ยังกล่าวอ้างด้วยว่าเคยมอบกระเป๋าเดินทางที่บรรจุเงินสดจำนวน 500,000 ปอนด์ ให้กับ ” มิเชล รูส์แซง “ มือขวาของฌากส์ ชีรัก ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทริปเดินทางแพงระยับ: หลังจากค้นพบความไม่ชอบมาพากลในการใช้จ่ายเป็นเงินสดจำนวนมาก ทีมพนักงานสืบสวนที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 สาวลงลึกจนได้ข้อมูลว่าชีรักใช้จ่ายเงินสดประมาณ 2.4 ล้านฟรังก์ (ราว 470,000 ดอลลาร์) เป็นค่าทริปท่องเที่ยวส่วนตัวสุดหรูของครอบครัวในระหว่างปี 2535-2538 ซึ่งสงสัยว่าเงินเหล่านี้อาจมาจากเงิน kickbacks จากโครงการต่างๆ

แต่ชีรักอ้างปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และอ้างว่าที่ต้องใช้จ่ายเป็นเงินสดก็ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันเงินสดเหล่านี้ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ที่มา

ค่าอาหารสุดหรู: นอกเหนือจากการใช้เงินสดเป็นค่าเดินทางแล้ว ชีรักยังพัวพันกับปมฉาวเรื่องค่าอาหารสุดฟุ่มเฟือย เมื่อพนักงานสืบสวนค้นพบหลักฐานว่าชีรักใช้จ่ายเงินของศาลาว่าการปารีสมากถึง 14 ล้านฟรังก์ เป็นค่าอาหารและของใช้สำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเมนูราคาแพงอย่างตับห่าน และเห็ดทรัฟเฟิลส์ (ครอบครัวชีรักใช้จ่ายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 2538 ราคารวม 15,000 ฟรังก์ หรือประมาณ 1,500 ปอนด์) ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ชีรักชำระในรูปเงินสด ขณะที่ใบเสร็จบางส่วนถูกตรวจพบว่าเป็นของปลอม ทว่าคดีนี้มีการถอนฟ้องไปในภายหลัง

ข้อมูลดังกล่าวมีจุดเริ่มมาจากการตรวจสอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวชีรักในช่วงที่เป็นนายกเทศมนตรีปารีสระหว่างปี 2530-2538 ซึ่งรายงานระบุว่าค่าอาหารของครอบครัวชีรักและส่วนที่ใช้รับรองแขกคิดเป็นมูลค่าถึง 14 ล้านฟรังก์ ในช่วงดำรงตำแหน่ง 8 ปี ยังไม่นับรวมค่ารับรองแขกอย่างเป็นทางการ ซึ่งใช้เงินงบประมาณแยกต่างหาก ไม่เพียงแต่ค่าอาหารก้อนโตแล้ว บ้านนี้ยังใช้จ่ายซื้อสินค้าในรูปของเงินสดมากถึง 9.5 ล้านฟรังก์

กรณีนี้กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 2545 เพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งแม้ชีรักจะรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ไว้ได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นรอยด่างพร้อยที่ไม่ยอมจางหาย

กลโกงเลือกตั้ง: ปมฉาวอีกหนึ่งที่มีคนตั้งสังเกตว่าชีรักอาจมีเอี่ยวด้วย คือ การเล่นตุกติกในกระบวนการเลือกตั้งของศาลาว่าการปารีสยุคที่ชีรักนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรี และในสมัยของ ” ฌอง ติแบรี “ ทายาทอำนาจของชีรัก เพราะประชาชนจำนวนมากร้องเรียนว่าพบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่งอกขึ้นมาแบบไม่ชอบมาพากล บางครั้งที่อยู่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นเป็นที่เดียวกับโรงแรมหรือร้านค้า ซึ่งนับเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความต้องการ

ผลพวงจากเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวทำให้ภายหลังติแบรีถูกพิพากษาโทษรอลงอาญา 10 เดือนและให้เว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 3 ปี

บัญชีลับ-บัญชีเลือด: กลายเป็นที่กล่าวขานในหมู่สาธารณชน หลังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสว่า ชีรักถือครองบัญชีเงินฝากลับๆ ในญี่ปุ่นมากถึง 30 ล้านปอนด์

เรื่องนี้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาในปี 2547 หลังจากเกิดเหตุผู้สื่อข่าวในเขตเฟรนช์โปลีนีเซียเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเมื่อปี 2540 และไม่สามารถค้นหาร่างของผู้เสียชีวิตได้ ครอบครัวของนักข่าวรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่าเขาตายหลังจากกำลังตรวจสอบเงินที่โอนจากโปลีนีเซียไปยังบัญชีของผู้ที่ใช้ชื่อว่าชีรัก แม้ภายหลังศาลเขตโปลีนีเซียจะระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตายก็ตาม

กรณีนี้ถูกขยายผลหลังจาก ” พลเอกฟิลิปป์ รองโดต์ “ อดีตผู้บริหารหน่วยข่าวกรองของฝรั่งเศสตรวจพบข้อมูลบัญชีธนาคาร ” โตเกียว โซวา แบงก์ “ ในญี่ปุ่น ช่วงทศวรรษ 1990 โดยบังเอิญ ซึ่งบัญชีดังกล่าวใช้ชื่อเจ้าของว่า ” ชีรัก ” และมีเงินประมาณ 300 ล้านฟรังก์ (45 ล้านยูโร) โอนเข้าบัญชีดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตและยักยอกเงินหลวงในช่วงที่ชีรักนั่งบริหารงานที่ศาลาว่าการปารีส

ขณะที่ฌากส์ ชีรัก ปฏิเสธแข็งขันว่าเขาไม่มีบัญชีดังกล่าวและต่อมาธนาคารโตเกียว โซวา แบงก์ ได้ทำหนังสือแจ้งว่าฌากส์ ชีรัก ไม่ได้ถือครองบัญชีของธนาคาร ทิ้งให้เรื่องนี้กลายเป็นปริศนาที่รอคำตอบต่อไป