Corruption never die !!!
ทำไมคอร์รัปชั่นไม่มีวันตายและยากจะจางหายไปได้ง่ายๆ แม้ว่า นานาประเทศจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อต่อต้าน
สหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) มานานกว่า 33 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศโออีซีดี ต่างตรากฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่นออกมาอย่างพร้อมพรั่ง แต่โลกยังคงหยุดความเสียหายจากการคอร์รัปชั่นไม่ได้
หลักฐานเชิงประจักษ์คือ มูลค่าของการติดสินบนหรือการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เป็นผู้จ่าย ยังบานสะพรั่งอยู่ทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากสถิติ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ที่ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ในงานวิจัยเรื่อง “The Costs of Corruption” เมื่อปี 2547 เป็นปีละประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งโลกในปี 2552 ซึ่งตัวเลขล่าสุดอ้างอิงอยู่ในรายงานขององค์กรระหว่างประเทศชั้นนำหลายแห่ง ตั้งแต่หอการค้าระหว่างประเทศ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เวทียูเอ็น โกลบอล คอมแพคต์ เวิร์ลด์ อิโคโนมิก ฟอรัมและกลุ่มธุรกิจสะอาดคือ ธุรกิจที่ดี
โลกไม่ใช่แค่สูญเงินให้กับการคอร์รัปชั่นเท่านั้น แต่ผลของมันกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลการศึกษาของธนาคารโลกระบุว่า การคอร์รัปชั่นอย่างแพร่หลายสามารถทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศลดลง 0.5-1.0 % เมื่อเทียบกับประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นน้อย
“คอร์รัปชั่นที่เพิ่มขึ้น 1 % จะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มโออีซีดีและประเทศในเอเชียให้ลดลง 1.7 % ลดการเติบโตของประเทศในแถบละตินอเมริกาและแอฟริกา ลงมากถึง 2.6 % และ 2.8 % ตามลำดับ” นี่เป็นข้อมูลหนึ่งที่พึงพิจารณาจากบทวิเคราะห์ผลกระทบคอร์รัปชั่นของ analyses.co.uk
จำกัดภาพให้แคบลง ในแอฟริกามีการคอร์รัปชั่นอย่างดาษดื่น จนสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ หยิบมาตีแผ่ไว้ในข่าวเรื่อง “Corruption ‘costs Africa billions” เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 ว่า ประเทศในทวีปแอฟริกาต้องสูญเสียเงินไปกับการคอร์รัปชั่นรวมกัน มากกว่า 1.48 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีหรือ 25 % ของจีดีพีประเทศในทวีปนี้รวมกันและทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นอีกมากถึง 20 % ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมโคลอมเบีย คอร์รัปชั่นสร้างความสูญเสียให้กับประเทศ ราว 4.2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย เยอรมัน มาร์ติน ลูเธอร์ แห่งฮาล-วิตเตนเบิร์ก ไพรซ์เวอร์เตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส และทีเอ็นเอส-เอ็มนิด ปี 2550 พบว่า บริษัทจำนวนมากในเยอรมนีต้องสูญเงินรวมกันมากกว่า 6 พันล้านยูโร ต่อปี จากปัญหาการคอร์รัปชั่น การยักยอกทรัพย์และการฉ้อโกง
เมื่อพิจารณาในแง่ที่ธุรกิจจำยอมต้องจ่ายสินบนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ รายงานการพัฒนาทั่วโลกประจำปี 2540 ระบุว่า 15 % ของบริษัทในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำต้องจ่ายสินบน โดยเฉพาะในเอเชีย ตัวเลขบริษัทที่ต้องจ่ายสินบนอยู่ที่ 40 % ขณะที่ 60 % ของบริษัทจากประเทศในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต บอกว่า พวกเขาต้องจ่ายสินบนเพื่อทำธุรกิจ
ภาพเมื่อ 10 กว่าปีในอดีต เทียบได้หรือไม่กับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทกฎหมาย เฟรชฟิลด์ส บรูกคอส เดรินเกอร์ ได้รวบรวบคดีสินบนและคอร์รัปชั่นที่มีการดำเนินการทางกฎหมายและสั่งปรับเงิน ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน (กรกฎาคม 2554) ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
พบว่า ในอังกฤษมีการดำเนินการทางกฎหมายในคดีสินบนและคอร์รัปชั่นไปแล้วประมาณ 10 คดี ทั้งในรูปของการตกลงยอมความและการเสียค่าปรับ โดยบริษัทที่มีชื่อพัวพันการติดสินบน มาจากหลายอุตสาหกรรม
อาทิ แมคมิลเลียน พับลิชเชอร์สที่ถูกสำนักงาน SFO (Serious Fraud Office) ของอังกฤษ ปรับเป็นเงิน 11.3 ล้านปอนด์ หลังการสอบสวนของ SFO ที่ขยายผลจากรายงานของธนาคารโลก ที่พบว่า หน่วยงานหนึ่งของแมคมิลเลียน เอดูเคชั่นได้ติดสินบนเพื่อให้ได้สัญญาผลิตตำราให้กับพื้นที่ทางตอนใต้ของซูดานและยังพบพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน ในรวันดา อูกันดาและแซมเบียด้วย จนธนาคารโลกตัดสินใจตัดสิทธิ์สั่งแมคมิลเลียนไม่ให้เข้าร่วมประมูลสัญญาใดๆ เป็นเวลา 6 ปี ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553
หรือกรณีบริษัทเอ็ม ดับเบิลยู เคลล็อก กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมที่ถูกสำนักงาน SFO สั่งปรับ 7 ล้านดอลลาร์ หลังสอบสวนพบว่า บริษัทแม่ของเอ็ม ดับเบิลยู เคลล็อก คือ บริษัทเคบีอาร์ติดสินบนรัฐบาลไนจีเรียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 188 ล้านปอนด์เพื่อให้ได้สัญญาโครงการโรงแยกก๊าซ มูลค่า 3.6 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์
ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีการดำเนินการทางกฎหมายในรูปของการจ่ายค่าปรับและเงินชดเชยอื่นๆ ทั้งสิ้น โดย 10 คดีที่เกี่ยวข้องกับให้สินบนและเสียค่าปรับเป็นมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ คดีสินบนที่ซีเมนส์ต้องจ่ายค่าปรับมากถึง 800 ล้านดอลลาร์ คดีสินบนเคบีอาร์/ฮาลลิเบอร์ตัน ยอมความและจ่ายค่าปรับ 579 ล้านดอลลาร์
อีก 8 คดีที่เหลือ ได้แก่ บีเออี ซิสเต็มส์ จ่ายค่าปรับ 400 ล้านดอลลาร์ อีเอ็นไอ/สแนมโพรเกตติ 365 ล้านดอลลาร์ เทคนิค 338 ล้านดอลลาร์ เดมเลอร์ 185 ล้านดอลลาร์ และอัลคาเทล ลูเซนต์ 137 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย ปานาลพินา 82 ล้านดอลลาร์ เอบีบี 58 ล้านดอลลาร์ และไพรด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 56 ล้านดอลลาร์
ไม่เพียงก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นแล้ว คอร์รัปชั่นยังก่อความเสียหายทางสังคม ดังกรณีศึกษาในประเทศกานาที่พบการคอร์รัปชั่นในด้านสาธารณสุขจากการรั่วไหลของเงินทุนที่ควรจะไปถึงโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ รวมกันไม่น้อยกว่า 50 % ของงบประมาณ
หรือในอูกันดา การสำรวจเพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินภาครัฐในโรงเรียนต่างๆ ของอูกันดา พบว่า มีเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดหาให้กับนักเรียนเพียง 13 % ของงบประมาณทั้งหมดตกถึงมือโรงเรียนในช่วงปี 2534-2538 และ 70 % ของโรงเรียนเป้าหมายไม่ได้รับอะไรเลย แต่จากการติดตามต่อเนื่องภายใต้โครงการนี้ พบว่า เงินงบประมาณจากรัฐบาลกลางได้ไปถึงโรงเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 80-90 % โดยเฉลี่ย
แม้แต่โรงเรียนประถมในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ก็ได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชั่น โดยจากการสำรวจผู้ปกครองในนิคารากัว 86 % บอกว่า ต้องจ่ายเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ให้กับครู หรือกรณีของนักเรียนหญิงในปากีสถาน หากต้องการเข้าโรงงานในจังหวัดสินธ์พบว่า 47 % ต้องจ่ายเงินในลักษณะเดียวกัน
พิษของคอร์รัปชั่นยังลามกระทบถึงทรัพยากรธรรมชาติ ในกัมพูชามีการเรียกรับสินบน 50 ดอลลาร์ต่อการโค่นไม้ทุกๆ ลูกบาศก์เมตร เฉพาะในปี 2540 มีเงินสินบนจากการตัดไม้ทำลายป่าประมาณ 125-225 ล้านดอลลาร์
สิ่งเหล่านี้ คือ บางตัวอย่างของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่เกือบทุกย่อมหญ้า …อะไรหล่อเลี้ยงให้คอร์รัปชั่นคงอยู่ เป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป