ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (4) : ไต่สวน

20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (4) : ไต่สวน

29 สิงหาคม 2011


ฌากส์ ชีรัก มีกำหนดขึ้ันให้การคดี ghost jobs ในเดือนกันยายนนี้
ฌากส์ ชีรัก มีกำหนดขึ้ันให้การคดี ghost jobs ในเดือนกันยายนนี้
(ที่มาของภาพ : http://multimedia.pol.dk)

เดือนกันยายนนี้ “ฌากส์ ชีรัก” มีกำหนดขึ้นให้การคดีที่เกี่ยวกับตำแหน่งงานผี ซึ่งจะเริ่มไต่สวนในระหว่างวันที่ 5-23

โดยศาลมีคำสั่งให้ตรวจสอบกรณีที่ชีรักใช้วิธีจ้างงานปลอมๆ เพื่อยักยอกเงินงบประมาณสาธารณะไปใช้จ่ายด้านการเมือง ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีส ระหว่างปี 2520-2538 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นยุคที่พบเห็นคอร์รัปชั่นอยู่ทั่วไป

กระบวนการตรวจสอบดังกล่าวทำให้ “ฌากส์ ชีรัก” กลายเป็นอดีตผู้นำสูงสุดรายแรกของฝรั่งเศสยุคใหม่ที่ถูกดำเนินคดีอาญา นับจากผู้บัญชาการ “ฟิลิปป์ เปอแตง” ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานกบฏกรณีสมคบกับพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหากชีรักถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในคดีนี้ เขาอาจต้องรับโทษจำคุก 10 ปีและถูกปรับอีกราว 150,000 ยูโร

คดี ghost jobs ดังกล่าวเป็นการผนวกรวม 2 คดีเข้าด้วยกัน คดีแรกเป็นของศาลกรุงปารีสที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้าง 21 ฉบับที่ลงนามระหว่างปี 2535-2538 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยชีรักเผชิญกับข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์และทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนคดีที่สองเป็นของศาลแขวงนองแตร์ที่เกี่ยวกับการจัดทำสัญญาจ้างงานปลอม 7 ฉบับ ซึ่งชีรักถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

เบื้องหลังของการผนวกรวม 2 คดีเข้าด้วยกัน “ฌอง-อีฟ เลอ บอร์เย่” ทนายความของเรมี ชาร์ดง อดีตเสนาธิการยุคชีรัก ให้ความเห็นไว้ว่า คดีของศาลปารีสใกล้จะหมดอายุความแล้ว จึงมีการนำคดีของศาลแขวงนองแตร์เข้ามาผนวก แต่คดีของศาลปารีสมีความร้ายแรงกว่า เนื่องจากมีคดีตำแหน่งงานปลอมที่เกี่ยวข้องมากกว่าคดีของศาลนองแตร์ (21:7)

ที่จริงแล้วชีรักมีกำหนดขึ้นให้การกรณียักยอกเงินงบประมาณสาธารณะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยร่วมในคดีนี้ขอเลื่อนการพิจารณาโดยอ้างว่าการกล่าวหาไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทว่าในภายหลังศาลชี้ขาดว่าคำคัดค้านของจำเลยเรื่องอายุความไม่มีผล

เพราะเมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2544 ที่เรื่องอื้อฉาวของชีรักอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์แห่งความสนใจของสาธารณะและมีการถกเถียงเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองอย่างกว้างขวาง ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ศาลสูงฝรั่งเศสชี้ขาดว่าชีรักมีเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะประธานาธิบดี ทำให้ความพยายามที่จะนำตัวชีรักขึ้นให้การต่อศาลก็มีอันต้องพับไปก่อนจนกว่าชีรักจะพ้นจากตำแหน่ง

ทว่าขณะเดียวกันศาลก็ระบุเงื่อนเวลาเรื่องอายุความของคดี โดยตัดสินให้หยุดพักการนับอายุความเอาไว้ก่อนในระหว่างที่ชีรักดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

ซึ่งนี่หมายความว่าเข็มเวลาของอายุความในคดีคอร์รัปชั่นไม่ได้เคลื่อนไปตามเวลาที่ชีรักได้เอกสิทธิ์ เมื่อคดีไม่หมดอายุความ ชีรักจึงถูกดำเนินคดีในภายหลัง ถึงแม้ชีรักจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาก็ยังต้องถูกดำเนินคดีอยู่ดีเมื่อพ้นจากตำแหน่ง

ที่มาของภาพ : www.people-times.com

ในแง่ความเป็นไปได้ของคดี ยังมีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่มองเห็นโอกาสที่ชีรักจะถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและฝ่ายที่ประเมินว่าเขาจะพ้นผิดในที่สุด

บทความของไทม์ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ชีรักอาจจะพ้นผิด เนื่องจากพนักงานอัยการของทั้งสองคดีระบุว่าหลักฐานบ่งชี้ความผิดของชีรักยังไม่แน่นหนาพอที่จะเอาผิด

ประกอบกับที่ก่อนหน้านี้ เทศบาลนครปารีส ซึ่งเป็นโจทก์รายสำคัญได้ถอนฟ้อง หลังจากบรรลุข้อตกลงให้ชีรักและพรรคอูเอ็มเป (UMP) พรรครัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งควบรวมมาจากพรรคแอร์เปแอร์ที่ก่อตั้งโดยชีรักและพรรคอื่น ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2.2 ล้านยูโร โดยชีรักควักเงินส่วนตัวจ่าย 550,000 ยูโร ส่วนที่เหลือมาจากพรรคอูเอ็มเป เพื่อแลกกับการที่เทศบาลปารีสถอนฟ้องจากคดีแพ่ง ซึ่งคำนวณความเสียหายที่ประชาชนผู้เสียภาษีได้รับจากกรณีนี้

แต่ชีรักยังต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่นต่อไป แม้คดีแพ่งจะถูกถอนไปแล้วก็ตาม

“ดิดิเยร์ เรบูต์” อาจารย์ด้านกฎหมายอาญาจากมหาวิทยาลัยปารีส 2 มองว่า คดีนี้แตกต่างจากคดีส่วนใหญ่ที่มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คดีนี้จะตัดสินจากสำนวนการสืบสวน 100 % ไม่ว่าจะมีหลักฐานว่าชีรักละเมิดกฎหมายชัดเจนหรือไม่ ขณะที่มุมมองที่ขัดแย้งของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการส่งฟ้องดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มแรกก็อาจหมายถึงโอกาสที่จะหลุดคดีมีมากกว่าที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิด

ทว่าในอีกมุมหนึ่งชีรักก็ยังไม่ถึงกับโล่งอกได้เต็มที่ เพราะเมื่อพิจารณาจากกรณีของ “อแลง ชูเป” อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสและผู้ช่วยของชีรักในช่วงที่นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีกรุงปารีสระหว่างปี 2520-2538 ซึ่งถูกตัดสินในปี 2547 ว่ามีความผิดกรณีจ้างงานเท็จในปี 2547 แม้ภายหลังชูเปจะกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี

ที่มาของภาพ : http://static.diario.latercera.com

กรณีของชูเปที่ต้องรับโทษจากคดีใช้เงินงบประมาณในทางที่ผิดสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้พิพากษาที่มีต่อหลักฐาน แม้ว่าทั้งชูเปและชีรักต่างก็ยืนยันความบริสุทธิ์ของตน ดังนั้น คำพิพากษาว่าชูเปมีความผิดจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ชีรักจะถูกตัดสินว่ามีความผิด แม้ความเป็นไปได้ดังกล่าวจะค่อนข้างน้อยก็ตาม

น่าสนใจว่า การดำเนินคดีกับอดีตผู้นำสูงสุดครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความพยายามที่จะพิสูจน์หาความจริง แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมานานร่วมยี่สิบปี ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดยุคแห่งความหละหลวมของฝรั่งเศสและการขยับดังกล่าวยังเป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสยุคใหม่อีกด้วย

ที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยสนใจเรื่องเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการหาผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในฝรั่งเศส ระหว่างยุค 1970-1990 เพราะการบังคับใช้กฎหมายกลับทำได้จำกัดในแง่ปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รัฐต่างคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตัวเอง ขณะที่นักการเมืองก็ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตน

ความรู้สึกไม่พอใจของผู้คนเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากกรณีคอร์รัปชั่นเก่าๆ ของนักการเมืองถูกขุดคุ้ยออกมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “ชาร์ลส ปาสกัว” อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยและคนสนิทของชีรัก และ “ฌอง-คริสตอฟ มิตแตร์รองต์” ลูกชายของ อดีตประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตแตร์รองต์ ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดกรณีจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มกบฏในแองโกลาช่วงยุค 1990

ที่จริงก่อนหน้านี้ คนฝรั่งเศสจำนวนมากก็เคลือบแคลงกับการใช้ชีวิตที่หรูหราของครอบครัวชีรัก รวมถึงทริปท่องเที่ยวช่วงวันหยุดแพงระยับที่ใช้จ่ายเงินเป็นเงินสดก้อนโต นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าชีรักใช้จ่ายเงินของเมืองปารีสไปกับค่าอาหารและของชำสำหรับครอบครัวรวมประมาณ 2.4 ล้านยูโร ไม่นับรวมข้อครหาเรื่องสินบนอีกหลายกรณี

แต่ไหนแต่ไรมา ชาวฝรั่งเศสต้องอดทนกับพฤติกรรมที่นักการเมืองใช้จ่ายเงินของหลวงอย่างฟุ่มเฟือยตลอดเวลา ทว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับความรู้สึกทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีส่วนเปลี่ยนแปลงความคิดของชาวเมืองน้ำหอมไปจากเดิม

ตามความเห็นของ “ชาร์ลส โซเวอร์ไวน์” อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ซึ่งเกษียณอายุแล้ว วิเคราะห์เรื่องนี้กับสำนักข่าวเอบีซี ว่า ชีรักและผู้เกี่ยวข้องหาเงินมาใช้จ่ายในพรรคด้วยวิธีการต่างๆ แม้การกระทำเช่นนี้จะไม่ได้ดูเลวร้ายมากกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเหล่านี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือการคอร์รัปชั่นและชีรักก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้

ความพยายามค้นหาความจริงในคดีนี้เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าฝรั่งเศสกำลังพยายามจะจัดการกับการคอร์รัปชั่นที่เบียดบังเงินหลวงไปใช้จ่ายในพรรคการเมือง ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้แก่ทุกฝ่ายในระบบการเมือง