ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สร้างสังคมให้ดี สร้างสื่อดีดีให้สังคม

สร้างสังคมให้ดี สร้างสื่อดีดีให้สังคม

31 กรกฎาคม 2011


นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ ประธานซีเอสอาร์คลับกล่าวเปิดงานเสวนาสร้างสังคมให้ดี สร้างสื่อดีดีให้สังคม
นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ ประธานซีเอสอาร์คลับกล่าวเปิดงานเสวนาสร้างสังคมให้ดี สร้างสื่อดีดีให้สังคม

เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2554 ซีเอสอาร์คลับ สมาคมบริษัทจดทะเบียน ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “สร้างสังคมให้ดี สร้างสื่อดีดีให้สังคม” โดยนายวัฒนา โอภานนท์อมตะ ประธานซีเอสอาร์คลับ ได้กล่าวว่าปัจจุบันสื่อที่ดีมีอุปสรรคในการนำเสนอสิ่งที่ดีๆ จึงมีการหารือว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการทำให้สื่อดี ที่มีเจตนาจะช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งวงเสวนาครั้งนี้ มีผู้รู้ในด้านสื่อมาช่วยกันให้ข้อคิดเห็นว่าจะร่วมทำงานกันอย่างไรเพื่อช่วยพัฒนาสังคมไทย พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ได้ช่วยกันคิดในครั้งนี้จะไม่จบในวันนี้ แต่จะผลักดันเรื่องนี้และหาวิธีการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป

ขณะที่นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองประธานซีเอสอาร์คลับ และนายธนา เธียรอัจฉริยะ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวคิดโครงการนี้ โดยนายวุฒิชัย กล่าวว่าสมัยเด็กผมเรียนรู้จากสื่อเยอะ ผมโตมากับหนังญี่ปุ่น ซึ่งสอนอะไรมากมาย ผมดูหนังเคนโด ดูหนังยูโดสายดำ อุลตร้าแมน สิ่งเหล่านี้สอนว่าต้องมีวินัย ต้องอดทน ต้องเสียสละต้องทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ วันนี้ประเทศชาติเขาเข้มแข็งเกิดจากอะไร ผมมองว่าสื่อมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ชาติเข้มแข็ง

นายวุฒิชัยกล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาพจวนเจริญไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แต่ไม่เจริญเสียที สื่อและพวกเราทุกคนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอเนื้อหาเพื่อสอนคนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวมให้ได้ โครงการนี้ต้องการจุดประกายที่จะทำสิ่งที่ดีเพื่ออนาคตประเทศ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

ส่วนนายธนา กล่าวว่าสื่อที่เป็นรายการดีๆ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของเงินต้องดูเรตติ้งเพราะต้องการขายสินค้าให้ได้ จะทำอย่างไรให้เกิดขบวนการพัฒนา รับรู้ร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่น่าจะทำและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการธุรกิจ โครงการนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดี ที่ทั้งภาคเอกชนซึ่งเป็นคนที่ดูเรื่องเงิน มีเดียเอเจนซี่ ผู้จัดรายการ สื่อมวลชน มาหารือกัน โดยซีเอสอาร์คลับจะนำข้อคิดเห็นไปดำเนินการต่อไป

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองประธานซีเอสอาร์คลับและนายธนา เธียรอัจฉริยะ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวคิดโครงการ
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองประธานซีเอสอาร์คลับและนายธนา เธียรอัจฉริยะ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวคิดโครงการ

สำหรับวงเสวนาเรื่องแรก “แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รายการคุณภาพ” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัททีวีบูรพา จำกัด นายชนินทร์ ชมะโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ จำกัด นายทรงพล จั่นลา โพรดิวเซอร์ รายการดิไอดอล ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

นายชนินทร์กล่าวว่า การทำสารคดีที่ดีมีคุณภาพต้องลงทุนสูง ปัญหาที่เจอคือหาสปอนเซอร์ยากมาก วันนี้เราอยู่ได้ด้วยใจ เราคิดว่าสิ่งที่เราเสนอไปมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ ทำให้คนเปลี่ยนความคิดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าเรื่องที่เราทำด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โลกใต้น้ำ ศิลปะ ธรรมชาติ ทำให้เรามีกำลังใจทำต่อ

“เวลาไปขอการสนับสนุนเงิน ที่เขาไม่ให้สปอนเซอร์คือเรตติ้ง เราเข้าใจว่ามันจำเป็นสำหรับสินค้าที่เขาจะลงโฆษณา เวลาไปหาสปอนเซอร์ เขาจะบอกว่าให้ไปหาเอเจนซี่ พอไปหาเอเจนซี่ก็บอกว่าเรตติ้งไม่ค่อยดีนะ เราก็รู้ว่าไม่ดี จะให้เหมือนละครคงยาก ผมก็อยากให้องค์กรที่เป็นเจ้าของเงินอันหนึ่งดูเรตติ้ง อีกอันดูประโยชน์สุขของแผ่นดินได้ไหม”

นายทรงพล กล่าวว่าเรามีคอนเทนต์โดยออกเป็นหนังสือ จึงอยากเอาคอนเทนต์ไปสู่คนหมู่มาก จากคนทำหนังสือมาทำทีวี ทำมาได้ 2 ปี รายการก็ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเวลาอยู่ดึกไป ขายโฆษณาไม่ค่อยได้ ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยบอกว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่อง บางช่วงของรายการจะเล่าเรื่องย้อนอดีตด้วยการ์ตูน แต่ก็มีสินค้าบางตัวอย่างเหล้า แต่ก็ลงไม่ได้เพราะขัดแย้งกับรายการ

ส่วนนายสุทธิพงษ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าเมื่อเราทำสิ่งที่มีเคยมีตัวอย่างคนที่เดินไปก่อนแล้ว ความพยายามของผม เราต้องเรียนรู้ หลายปีที่ผ่านมาพอจะพูดได้ว่าทำให้เกิดปรากฏการณ์อะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แต่ในความเป็นจริง พูดไม่ได้ว่ามันสบายแล้ว ไม่งั้นเราไม่มาคุยกันในวันนี้”

เมื่อถูกถามว่าเมื่อรายการดีขึ้น จะจัดการอย่างไรที่จะไม่ถูกปนเปื้อนจากธุรกิจที่หวังผลกำไรและจะประนีประนอมอย่างไร นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าหลายคนที่มีความตั้งใจจะทำสื่ออะไรดีๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายังเลือกทำสิ่งนี้อยู่ นั่นคือความเข้าใจ รู้จักตัวเองและเข้าใจโลกที่ควรจะเป็นหรือโลกที่ถูกต้อง”

“ทุกคนอยากสุข อยากสบายในบางครั้ง ถึงจุดหนึ่งเราต้องเข้าก้าวข้ามเหตุผลความปลอดภัยและประโยชน์ตน แล้วมองส่วนรวมแล้วเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ผมว่า ณ วันนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องคิดแบบนี้”

ส่วนการรักษาจุดยืนที่จะอนุญาตให้การค้าเข้ามาอยู่ในงานเรามากน้อยแค่ไหน นายสุทธิพงษ์กล่าวว่าหากชั่งตวงวัดในบริบทที่ควรรับผิดชอบและทำความเข้าใจว่าพอเหมาะพอควรอย่างมีเหตุผลที่อธิบายตัวเองและกติกาที่สังคมมีอยู่ ไม่ใช่ปฏิเสธว่าไม่ได้เลย ก็สามารถทำได้

ส่วนนายชนินทร์ กล่าวว่าบางครั้งลูกค้าต้องการสินค้ามาอยู่งานเรา จริงๆ พยายามแบ่งอย่างชัดเจนว่าผู้สนับสนุนหลักจะเข้ามาได้แค่ไหน แต่หากยัดเยียดคนดูมากไป บางครั้งขัดกับจิตสำนึกของผู้ผลิต ก็ต้องปฏิเสธ เพราะความรับผิดชอบสำคัญกว่า แต่ก็ไม่ได้ปิดทางซะทีเดียว โดยไม่เสียโครงสร้างของตัวเอง

คำถามที่ว่ารายการที่ดีแต่ทำไมสังคมไม่ให้ความนิยมและสนับสนุน นายสุทธิพงษ์กล่าวว่าต้องทำความเข้าใจว่างานทีวีมีหลายมิติ หลายแขนง ดีแบบไหน ดีแบบข่าว ละคร บันเทิง สารคดี ผมว่ารูปแบบรายการที่แตกต่างกัน ดีต่างกัน ไม่ควรทำหน้าที่เดียวกัน ควรหลากหลาย โดยควรกลับมาพิจารณาสัดส่วนมากกว่า

“ผมอยากให้มีละครดีๆ มีรายการบันเทิงดีๆ ดนตรีดีๆ เพียงแต่ว่าในจำนวนหนึ่งซึ่งต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยมีสื่อที่ให้ความสำคัญในการทำหน้าที่มากกว่าการให้ความรู้และความบันเทิง หมายความว่าสื่อต้องทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะแก้ปัญหาสังคมหรือแสดงความรับผิดชอบ ให้เกิดนวัตกรรมที่แก้ปัญหา ผมว่าจำเป็นต้องมีและควรจะมีในทุกช่องในสัดส่วนที่พอเหมาะ และจะใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันที่ประเมินสื่อประเภทตลก ละคร บันเทิงไม่ได้ เพราะมีไว้ทำหน้าที่คนละหน้าที่ แต่การที่มาอยู่บนมาตรฐานความคาดหวังเดียวกัน อันนี้ที่ทำให้มันเป็นปัญหา”

วงเสวนาเรื่องแรก “แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รายการคุณภาพ”
วงเสวนาเรื่องแรก“แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รายการคุณภาพ”

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า “เมื่อสื่อกลายเป็นพื้นที่หาประโยชน์ แน่นอนว่าเมื่อกิเลสโลกการค้าถูกชี้นำไปทางนั้นหมด คนที่อยากจะใช้มันเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันสิ่งมันเกิดขึ้นกับสังคม ความคิดของผู้คน ชีวิต ประเทศชาติ แต่เราเอาไว้ทีหลัง ปัญหาที่เกิดจากกิเลสแบบนี้ ไล่แก้ ไล่ตามไม่ทัน เราใช้สื่อในการทำประโยชน์และสร้างปัญหามากมาย แต่เวลาที่จะว่าไล่แก้ไม่ได้ใช้สื่อในการแก้และยังใช้เพื่อการพรอพากานด้าตัวเองมากกว่า ผมคิดว่าแบบนี้มันไม่มีทางแก้ คิดว่าต้องมีเส้นแบ่งระหว่างการค้ากับความรับผิดชอบ”

นายชนินทร์ กล่าวเสริมรายการที่มีสาระอาจจะไม่เป็นที่นิยมเท่ากับรายการบันเทิงและเจ้าของสถานีให้ความสำคัญน้อย เวลาไพร์มไทม์จะเป็นละคร ส่วนสารคดีเป็นเหมือนเอารายการสาระมาแปะไว้หน่อย ซึ่งไม่ใช่เป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาสังคม แม้ไม่ได้เจตนาที่ทำร้ายสังคมแต่เป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ เพราะรายการดีๆ ไปอยู่ในตามมุมมืด ตอนนี้ช่วงไพร์มไทม์มีเกาหลี ญี่ปุ่นเต็มไปหมด ซื้อมาถูกขายได้แพงทำได้ง่าย หากเป็นอย่างนี้ภาพรวมสังคมจะแก้อย่างไร

“ผมอยากให้สถานีโทรทัศน์พิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นการให้แรงบันดาลใจ หากเอาเรตติ้งมาวัด ก็หลุดไปจากสังคม ใครไม่มีเรตติ้งตกหมด แทนที่จะมีแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เปลี่ยนชีวิตคนได้”

ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอยากจะบอกเอเจนซี ผู้ชมอย่างไร นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่าคำพูดที่บอกว่าผู้ชม ประชาชนเป็นผู้กำหนด ถ้าหากคนดูเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นแค่ทฤษฏี ไม่มีวันที่จะเป็นจริง เชื่อว่าอีกนานเท่านาน ไม่มีทางที่คนที่เป็นผู้ชมจะสามารถลุกขึ้นมากำหนดความเป็นไปของสื่อโดยภาพรวมได้ เป็นอะไรที่หลอกประชาชนไปและมีคนยินดีเชื่อเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ สิ่งสำคัญคิดว่าคนที่มีเงินมาก มีอำนาจมาก คือคนที่อยู่ในศูนย์กลางกลไกที่กำหนดความเป็นไปหรือเป็นคนกำหนดชะตากรรม

“เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมีเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงของสื่อ โดยเฉพาะทีวี มีผลต่อการเปลี่ยนสังคมไทยในทิศทางที่ดีขึ้น หากจะเปลี่ยนจากฐานปิรามิดไม่มีทาง แต่ถ้าเปลี่ยนจากยอดปิรามิดมีทางเป็นไปได้ ผมว่าวันนี้อยู่ถูกที่ (การเสวนา) หากคนที่เป็นเจ้าของเงินกำหนดการใช้เงินตัวเองได้ ไม่ว่าจะผ่านกลไกอะไร เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ใช่เพื่อสร้างภาพ แต่โดยรับผิดชอบแผ่นดินอย่างแท้จริง หากทำได้สื่อที่ดีจะอยู่อย่างทรนงได้ คงจะเห็นแสงสว่างได้”

นายชนินทร์กล่าวว่าต้องยอมรับว่าสื่อชี้นำสังคมได้ ดังนั้นสื่อที่ดีต้องสร้างแรงบันดาลใจในสิ่งที่ดีได้ ชี้นำไปสู่สิ่งดีๆ ถ้าผู้ผลิตมุ่งมั่นที่จะชี้นำสังคมก็ทำได้ แต่พื้นที่ที่จะเปิดให้กับสื่อที่ดียังมีจำกัดและหากผู้สนับสนุนดู เรตติ้งอย่างเดียวก็เกิดยาก

ในอนาคตหากแนวโน้มต่อไปบริษัทเอกชนสนับสนุน สื่อที่ชี้นำสังคมที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้ ทุกคนมองเห็นตรงกันว่าปัญหาประเทศเยอะมาก เราต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ มีพื้นที่ให้สื่อที่ดีมากขึ้น จะค่อยๆแทรก สร้างคุณค่างานที่ดี เปลี่ยนประเทศได้

ขณะที่เวทีเสวนา “ช่วยคิดช่วยทำ เพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์สื่อรายการน้ำดี” โดยมีนางจำนรรค์ ศิริตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด, นางสาวดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด, นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์, ดร. สุภาพร โพธ์แก้ว ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนางสาวพิชญ์สินี หล่อวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ บริษัทออพติมัม มีเดีย ไดเร็คชั่น ประเทศไทย จำกัด (โอเอ็มดี)

เริ่มจากคำถามที่ว่าสื่อดีๆ มีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกว่าสื่อที่ดี ต้องมีคุณธรรมและอยากเห็นสื่อทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หากทำได้ สื่อเองควรเป็นกลไกชี้นำสังคมและทิศทางประเทศโดยเอาความสุขของสังคมเป็นตัวตั้ง ชี้นำสังคมไปทางบวกและอย่าใช้เรตติ้งเป็นตัวชี้วัด และเห็นพ้องกันว่าเจ้าของสื่อ เอกชน เจ้าของสถานี ต้องประสานและทำสิ่งดีๆ ต้องรับผิดชอบต่อสังคมของทุกคน

ส่วนโจทย์ที่มีการพูดถึงการพลิกโฉมของไพร์มไทม์ ควรเป็นพื้นที่สำหรับอะไร ดร.สุภาพรกล่าวว่าหากคิดว่าไพร์มไทม์เป็นเวลาของครอบครัว ก็จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักอุตสาหกรรมสื่อ และหากจะให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยอดปิรามิด คือเจ้าของสถานีและเจ้าของเงินต้องเปลี่ยนแนวคิดก่อน ทุกวันนี้ผู้ผลิตที่ดีติดโจทย์ที่ยอดปิรามิด ดังนั้นถ้าจะปรับภูมิทัศน์สื่อจะต้องเขย่าที่ยอดปิรามิดให้ได้

นางสาวพิชญ์สินีอธิบายเรื่องเรตติ้งว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วัดยังไม่ใหญ่เพียงพอ แต่อีกข้างหนึ่งคือการสร้างเสริมคุณธรรม ตรงนี้ไม่ใช้ตัวเลขมาวัดแต่จะดูคอนเทนต์ว่าตรงตามกลุ่มเป้าหมายหรือไม่และเห็นด้วยว่ายอดปิรามิดต้องเข้าใจหลักการนี้ด้วย หากไม่เข้าใจและยึดเอาเรตติ้ง การขับเคลื่อนก็หยุดอยู่ตรงนี้ ขยับไม่ได้

ขณะที่นางจำนรรค์ล่าวว่าการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำอะไรดีๆ ต่อไปและแรงบันดาลใจนี้จะกลับมาขับเคลื่อนสังคมในที่สุด วันนี้คนทำสื่อหลายคนทำงานเพื่อความอยู่รอด แต่หากเราใช้สื่อผิด ทำความเสื่อมโทรม ทำให้สังคมโง่เขลา จึงจำเป็นต้องหาความสมดุลระหว่างธุรกิจกับคุณธรรมให้ดี

พร้อมกับชี้ว่าเรตติ้งเป็นตัวเดียวที่ทำให้เกิดการซื้อ เรตติ้งไม่ดีไม่ซื้อ แต่การวัดเรตติ้งใช้ตัวอย่าง 8 พันครัวเรือน ขณะที่เอซีแนลสันซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยบอกว่าใช้ตัวอย่าง 1,200 ครัวเรือนเท่านั้น เมื่อถามว่าตัวอย่างแค่นี้พอหรือ เขาบอกว่าการจะให้เพียงพอก็ต้องเพิ่มตัวอย่างอีก 4 เท่า ก็บอกเขาตรงๆว่าเรตติ้งของคุณเป็นอาชญากร ฆ่าปัญญาของคนในประเทศนี้

ดร. สุภาพรเสนอว่าควรมีการประเมินรายการในเชิงคุณค่า ซึ่งจะพลิกการชี้วัดจนสามารถเอาไปวางกลยุทธ์ที่คนจ่ายเงินสบายใจ เรื่องนี้ควรทำเวิร์คช้อปให้เป็นอินเด็กซ์เรตติ้ง เพื่อหาตัววัดตัวใหม่ที่ไม่ใช่คนดูแต่วัดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วย

ขณะที่นางสาวดวงกมลกล่าวว่าสังคมคาดหวังสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมอยากเห็นสื่อที่ดีเกิดขึ้น ตอนนี้มีสื่อใหม่เกิดขึ้นเยอะ และเพื่อให้อยู่รอดก็ทำสินค้าที่ตอบสนองอะไรที่ง่ายๆ พร้อมทั้งระบุว่าสื่อที่ดีต้องเสนอความจริงอย่างเป็นอิสระโดยปราศการรอบงำจากทุนที่มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ปราศจากอำนาจการเมืองที่ต้องการบิดเบือน สื่อเป็นเส้นเลือดของสังคม หากไม่สามารถสื่ออย่างอิสระก็จะไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงกับสังคมได้

นอกจากนี้สื่อต้องเปิดเวทีให้สาธารณะเข้ามามีส่วนแลกเปลี่ยนให้กับพลเมือง สื่อต้องมองคนอ่านเป็นพลเมือง ไม่ใช่ลูกค้า มีส่วนในการผลักดันและนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันในสังคม นำเสนออย่างเท่าเทียม และผู้รับสื่อต้องเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น

“ที่สำคัญพลเมืองต้องกระตือรือร้นที่จะบอกสื่อ ว่าฉันไม่ชอบรายการนี้ ส่งข่าวไปที่เอเจนซีว่าฉันไม่อยากดู พลเมืองต้องมีส่วนร่วมในการให้ฟีดแบ็คต่อสื่อ สื่อไม่ดีต้องคอมเมนต์ สื่อที่ดีต้องเชียร์ อย่าอยู่เฉยๆ อยากเห็นสื่อดี สังคมต้องช่วยกัน”

โดยเสนอกันว่าเวทีแบบนี้ควรมีบ่อยๆ ดีใจที่ให้มาพูดเรื่องนี้ ไม่ใช่สู้โดยภาคประชาสังคมอย่างเดียว เมื่อภาคธุรกิจมาร่วมด้วย เพราะภาคธุรกิจก็อยู่ในภาคประชาสังคมด้วย ก็คิดว่าประเทศไทยมีความหวัง