ThaiPublica > โครงการร่วม > ประเทศไทยกับความโปร่งใสทางการคลัง(3) : งบลงทุน 56 รัฐวิสาหกิจ 5แสนล้าน พึ่งพิงคณะกก.ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐ 9 คนชี้ขาด

ประเทศไทยกับความโปร่งใสทางการคลัง(3) : งบลงทุน 56 รัฐวิสาหกิจ 5แสนล้าน พึ่งพิงคณะกก.ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐ 9 คนชี้ขาด

5 มิถุนายน 2017


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัยโครงการ “การปฏิรูปงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง” ประกอบด้วยโครงการศึกษา 5 โครงการ ได้แก่

  • ความโปร่งใสทางการคลัง : ในระบบงบประมาณและการกู้เงินนอกระบบงบประมาณโดย รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์(นิด้า) และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ความโปร่งใสทางการคลังของเงินทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ โดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล” คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ,ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ,และ ดร.กุสุมา คงฤทธิ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
  • ความโปร่งใสทางการคลังของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดย ผศ.ดร.ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ , ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)
  • ความโปร่งใสทางการคลังของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย อ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.กนต์ธีร์ นุชสุวรรณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
  • ความโปร่งใสทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย อ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ดร. ฐิติเทพ สิทธิยศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ผศ. ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำเสนอผลงานวิจัยความโปร่งใสทางการคลังของ “รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน” ว่า รัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กรที่เป็นแขนขาให้กับภาครัฐมีขนาดใหญ่ มีทรัพย์สินรวมกันประมาณ 12-13 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปดูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนแรกที่พิจารณาคือ การประเมินความโปร่งใสทางการคลังของรัฐวิสาหกิจตามหลักสากล มีการพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง

จากการศึกษาพบว่า ความโปร่งใสตามหลักสากล โดยอ้างอิงจาก OECD มีการพูดถึงการพิจารณาเรื่องความโปร่งใสทางการคลังไว้ 4 ด้าน คือ การรายงานด้านการคลัง, การประเมินการคลังและงบประมาณ, การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารแหล่งรายรับ

เมื่อพูดถึงกรอบของรัฐวิสาหกิจ จะเห็นได้ว่า การนำเสนอรายงานด้านการคลังของรัฐวิสาหกิจแตกต่างจากรายงานด้านงบประมาณ ซึ่งของรัฐวิสาหกิจจะมีประเด็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลัง มีประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่มีความหลากหลาย

จากกรอบดังกล่าว เมื่อไปดูรายละเอียดตามหลักสากลที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกพิจารณาและวิเคราะห์ความโปร่งใสทางการคลังของรัฐวิสาหกิจ พบว่า ถ้าพิจารณารัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะมีกิจกรรมหลักที่จะประเมินความโปร่งใสอยู่ 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 เรียกว่า “operational activities” รัฐวิสาหกิจนั้นๆ ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ในกิจกรรมเหล่านั้นมีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่ 2 คือการลงทุน “investment activities” โครงการลงทุนที่รัฐวิสาหกิจทำตามแต่วัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ และส่วนที่ 3 คือ “PSO” กิจกรรมที่ดำเนินการโดยได้รับการอุดหนุน

ฉะนั้น ในการประเมินความโปร่งใสใน 3 ส่วนนี้ จะมีกรอบพิจารณาที่สำคัญคือ มีการนำเสนอหรือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตรงเวลา มีความถูกต้องแม่นยำแค่ไหน, มีการนำเสนอรายงานทางการเงินที่ชัดเจนแค่ไหน, มีโครงสร้างความเป็นเจ้าของอย่างไร, ปัจจัยทางด้านความเสี่ยง, ประเด็นที่รัฐให้เงินอุดหนุนมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาอย่างไร, และสุดท้ายเป็นเรื่องว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

ในการวิเคราะห์งานชิ้นนี้ ได้ทดลองโดยอิงกับการใช้กรอบการพิจารณาที่ OECD พัฒนาต่อมาจากธนาคารโลกเป็นไกด์ไลน์ ซึ่งกรอบที่ใช้ในการประเมินจะมีทั้งหมด 5 องค์ประกอบ ได้แก่ วินัยทางการเงินการคลัง, โครงสร้างและหน้าที่, การกำกับดูแลไปจนถึงเรื่องความเป็นเจ้าของ, เรื่องการสนับสนุน และส่งเสริมให้มีลักษณะของบรรษัทภิบาลที่ดี

ในแต่ละองค์ประกอบก็จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับที่หนึ่ง คือ ระดับความโปร่งใสที่ยอมรับได้ ระดับที่สอง คือ มีความพยายามที่จะให้มีความโปร่งใสดีขึ้น ระดับที่สามจะเป็นเรื่องตอบโจทย์กับกรณีที่มีโครงสร้างความเป็นเจ้าของที่มีความแตกต่างกัน เช่น เปิดเผยข้อมูลเพียงพอหรือไม่ และสุดท้าย คือ ถ้าสามารถทำได้ รัฐวิสาหกิจมีการนำเสนอวิธีการหรือแนวความคิด หรือมาตรการอื่นๆ ที่สนับสนุนไปสู่การเป็นองค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี หรือไม่

ทั้งนี้ จะนำเสนอในองค์ประกอบแรก คือ “เรื่องวินัยการคลัง” โดยประเมินกับ 10 รัฐวิสาหกิจที่เราหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านองค์ประกอบแรกในระดับที่หนึ่ง คือ ในระดับที่ยอมรับได้ โดยมีเรื่องว่ารัฐวิสาหกิจในแต่ละแห่งชัดเจนไหมในเรื่องของต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะมีปัญหา

โดยพบว่า ต้นทุนทางการเงินของหน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลทางการเงินจะชัดเจนและหาได้พอสมควรว่าต้นทุนของเขาเป็นอย่างไร แต่สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่ค่อยชัดเจน มีรายงานทางการเงินจริง แต่ไปไม่ถึงต้นทุน และมีเรื่องกระบวนการทางการเงิน ถ้าสมมติว่าเขาต้องไปกู้เงินสถาบันการเงิน ได้ผ่านขั้นตอนที่ควรจะเป็นหรือไม่

ระดับที่สอง ก็จะเป็นลักษณะอย่างเดียวกันก็คือ รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีการเปิดเผยข้อมูลที่ดีกว่า

ในระดับที่สาม ในองค์ประกอบแรก พบว่า รัฐวิสาหกิจที่เราหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างไม่ค่อยชัดเจนว่ามีความโปร่งใสในระดับที่สาม ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ แสดงถึงต้นทุนที่ตอบสนองของวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่น ต้นทุนเป็นเท่าไหร่ในการดำเนินกิจกรรมนี้ ยกตัวอย่างเช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการขนส่งมวลชน ถามว่าต้นทุนจริงๆ ของการขนส่งมวลชนสอดคล้องกันไหม ซึ่งบางครั้งไม่ได้คำตอบว่าต้นทุนจริงๆ เป็นอย่างไร

ผศ. ดร.ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ผศ. ดร.ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำเสนอการประเมินความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณาโครงการลงทุน และงบลงทุนของรัฐวิสหกิจ โดยระบุว่า คำจำกัดความของรัฐวิสาหกิจมีอยู่ภายใต้กฎหมายจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในแง่งบประมาณ หากกล่าวตามกฎหมายการจัดตั้ง รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลจะต้องทำ 2 เรื่อง คือ ถ้าเป็นงบดำเนินการ จะผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด แล้วก็รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ ส่วนงบลงทุนต้องเพื่อพิจารณา

สำหรับบริษัทที่เป็นนิติบุคคลและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ งบดำเนินการไม่ต้องผ่าน ครม. ผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทได้เลย ส่วนงบลงทุนก็เช่นเดียวกัน ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคล เช่น โรงงานยาสูบ, องค์การสุรา ผ่านกระทรวงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดว่า กระบวนการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สำหรับในปี 2560 งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โครงการลงทุนที่ต้องผ่านการพิจารณาก่อน แล้วค่อยใส่ไปในงบลงทุน เพื่อการอนุมัติต่อไป ซึ่งโดยรวมจะพบว่า รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากเจ้ากระทรวง 16 กระทรวง ต้องส่งเรื่องผ่านกระทรวงของตัวเองและส่งมาที่ สศช. ผ่านคณะกรรมการ สศช. ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ซึ่งมีหลายท่านที่เป็นผู้รู้ฝั่งภาครัฐบาลจะพิจารณา และผ่านไปที่ ครม.

“ประเด็นก็คือ แต่ละปี สศช. พิจารณา ประเมินให้ความเห็นโครงการและงบลงทุน มีจำนวนเรื่องที่เยอะมาก ประเด็นนี้ถ้ามองจากคนนอกเข้าไปจะเห็นว่าเงินจำนวน 5 แสนล้าน เราต้องพึ่งพิงคณะกรรมการ 9 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ

“คำถามก็คือ แล้วผู้รู้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมไหม ภาคประชาชนได้เข้ามาช่วยดูหรือไม่ จะดีมากถ้าสามารถทำอย่างนั้นได้ ถ้าเราสามารถรับข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ จะดีมาก”

“นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า งบลงทุนที่ผ่านเข้าไปที่ สศช. มักจะพิจารณาผ่านโครงการหมด น้อยครั้งที่จะไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งรับทุกเรื่องหรือไม่รับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม ขั้นสุดท้ายเมื่อผ่าน ครม. ผ่านหรือไม่ผ่าน ประชาชนอยากทราบว่า เหตุที่ไม่ผ่านเพราะเหตุใด หรือเหตุที่ผ่านเพราะเหตุใด นี่คือเรื่องการมีส่วนร่วม”

ถัดมาเป็นเรื่อง “การพิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งในการพิจารณาโครงการการลงทุนต้องทำตามกฎระเบียบของการวิเคราะห์โครงการปี 2555 ซึ่งหลักการก็คือ รัฐวิสาหกิจจะส่งเรื่องผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด แล้วไปที่ สศช. ผ่านคณะกรรมการ แล้วก็ลงไปที่สำนักเลขาธิการ ครม. (สลค.)

แต่ถ้าเป็นโครงการเร่งด่วน จะตัดตอนจากกระทรวงเจ้าสังกัดตรงไปที่ สลค. โดยไม่ผ่าน สศช. อย่างไรก็ตาม สคล. อาจจะปรึกษา สศช. ว่า ให้ช่วยวิเคราะห์ได้ ประเด็นนี้ มองจากคนนอกว่าอะไรคือโครงการเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน ประชาชนไม่ได้รับทราบ ซึ่งอาจจะเพิ่มความโปร่งใสตรงนี้ได้ว่า ความเร่งด่วนของแต่ละรัฐบาลคืออะไร อาจจะชัดเจนมากขึ้น

“ประเด็นสำคัญเรื่องนี้คือ หลายครั้งจะเห็นว่าโครงการหลายโครงการประสบปัญหา เช่น กรณีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Ariport Rail link) ซึ่งเป็นกรณีศึกษาตลอดไป ประเด็นคือว่า ตามข้อกำหนด จะมีการวิเคราะห์งบลงทุน วิเคราะห์งบการเงิน วิเคราะห์สิ่งแล้วล้อม ทุกอย่างให้ผ่าน แต่เราก็ทราบว่าผลที่เกิดขึ้นต่างจากที่คาดการณ์มาก”

“ประเด็นนี้เกิดจากอะไร ซึ่งก็เป็นปัญหาที่คิดได้ว่า คือปัญหาความโปร่งใสของข้อเสนอโครงการลงทุนว่าโปร่งใสแค่ไหน”

ทุกคนก็จะบอกว่า จะเสนอโครงการที่มีค่าตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR: Economic Internal Rate of Return) ควรจะเกิน 12% บางโปรเจกต์ไม่จำเป็นต้องเกิน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรายงานที่ผ่านเข้าไปเกิน 12% ประเด็นคือว่า 12% มาจากสมมติฐานอะไรที่ได้ตัวเลขนั้น ซึ่งจากกรณีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เกิน 12% หรือเปล่าไม่ทราบ แต่สมมติฐานผิดมาก บ่งชี้ให้เห็นว่า เราต้องจับตามองข้อเสนอการลงทุนเป็นอย่างมาก

นอกจากการลงทุนเชิงโครงสร้างแล้ว ก็จะมีการลงทุนที่เป็นการเงิน เช่น การร่วมลงทุน การตั้งบริษัทใหม่ เรื่องนี้เป็นที่พูดกันมาก เนื่องจากมีเรื่องกล่าวขานกันว่า มีการไปลงทุนผิดประเภทหรือไม่ มีนักการเมืองเข้าไปแทรกแซงหรือไม่

ประเด็นคือว่า เรื่องนี้มีกระบวนการที่ชัดเจนว่า ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ ถ้าอยากตั้งบริษัทใหม่ หรือร่วมลงทุนกับใคร ต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือผ่านคณะกรรมการนโยบายและการกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้เรียบร้อย

ที่ผ่านมา ได้ทำตามกระบวนการนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2550 ก็มีการกำหนดชัดเจน 6 ข้อที่สำคัญ แล้วต้องผ่านกระบวนการนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นสถาบันการเงิน และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องทำตามกฏเกณฑ์นี้

เหตุการณ์ผ่านเรื่อยมาก็มีการพบว่า อาจจะมีการลงทุนผิดประเภทหรือไม่ จนในปี 2558 ก็เปลี่ยนกฎว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องทำตามกฎนี้โดยละเอียด แต่หลังจากผ่านมาสักพักพบว่า อาจจะดีขึ้น จึงยกเว้นกฎนี้ในปี 2559 สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ประเด็นก็คือว่า การให้สิทธิ์พิจารณาให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้กับผู้ถือหุ้น มันเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการให้สิทธิ์ตัวเองในการพิจารณาเป็นสิ่งที่ดี ส่วนเรื่องจะเป็นการผูกขาดหรือไม่ ธรรมาภิบาลเป็นอย่างไร ก็คงต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่การให้สิทธิ์ถือเป็นก้าวหนึ่งที่ดี และภาคประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ถ้ามีข้อมูลที่มากพอ

ในส่วนการประเมินความโปร่งใสการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO: Public Service Obligation) ดร.ประสพโชคนำเสนอว่า หลักของ PSO คือช่วยคนจน ให้บริการในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริง ซึ่งยอดวงเงินอุดหนุนที่เยอะมากคือ ขสมก. กับ รฟท. จำนวน 1,575 ล้านบาท และ 3,299 ล้านบาทตามลำดับ

ประเด็นคือ การทำ PSO มีขั้นตอนเยอะ ต้องมีบัญชีเชิงพาณิชย์และบัญชีและบัญชีการให้บริการสาธารณะให้ชัดเจน แล้วคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา ผ่านอนุกรรมการ PSO ซึ่งใช้ที่ปรึกษาข้างนอก ซึ่งดูแล้วจะเห็นว่าสลับสับเปลี่ยน เป็นคนมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

แต่มีประเด็นพบเกี่ยวกับ ขสมก. ว่า ในปี 2557 เสนอขอรับเงินอุดหนุน 2 พันล้านบาท แต่คณะกรรมการฯ ปรับเหลือประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินแบ่งเป็น 2 งวด งวดที่หนึ่งจ่ายหลังจากมีการทำข้อตกลงบันทึกเรียบร้อยแล้ว และงวดที่สองจ่ายหลังจากเคลียร์บัญชีเรียบร้อยแล้ว

นี่คือข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นซึ่งพบว่า ขสมก. ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะได้เงินจนครบ ประเด็นคือว่าใช้เวลานานมาก 2 ปีจึงครบ และเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากรับงวดที่หนึ่งถึงจะได้รับงวดที่สอง ปัญหาก็คือ กระบวนการตรวจสอบใช้เวลายาวนาน ระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับ ขสมก.

“ประเด็นนี้ก่อให้เกิดปัญหา เมื่อเขาไม่ได้เงินอุดหนุน เขาก็ต้องหาเงินวิธีอื่น แต่ประเด็นคือเขาไม่มีเงินหมุนเวียน ทำให้เกิดหนี้ เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ ซึ่งไม่ได้วิจารณ์ว่าใครถูกใครผิด แต่ควรจะเปิดเผยให้สาธารณะรู้ว่า การเดินรถนั้นมีต้นทุนที่แท้จริงเท่าไหร่”

“เพราะทางรัฐวิสาหกิจก็ใช้ที่ปรึกษาข้างนอก แต่ประชาชนไม่ทราบ ซึ่งควรจะเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบ จะได้ช่วยกันดู งบที่ถูกต้องคืออะไร ไม่ใช่เห็นกันอยู่แค่สองฝ่าย แล้วเกิดการตัดงบ นอกจากตัดงบแล้ว ยังมีความล่าช้าและจัดส่งงบไม่ได้ กลายเป็นการก่อหนี้ เป็นหนี้สะสม ซึ่งควรจะแก้ปัญหาตรงนี้”

ดังนั้น จากที่ได้ศึกษามา ประเด็นในส่วนความโปร่งใสของข้อเสนอโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ มีข้อเสนอว่า ควรจะเพิ่มความรับผิดชอบ (accountability) กับผู้เสนอโครงการลงทุนที่ผิดมากๆ

ความรับผิดชอบไม่ใช่แค่ KPI แต่ควรมีการจัดให้มีการประเมินหลังโครงการ (post-evaluation) ที่ชัดเจน ส่วนการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (feasibility study) อาจจะให้มีที่ปรึกษาจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณา

นอกจากนั้น ในเรื่องของความโปร่งใส ประชาชนอยากทราบว่า แต่ละงบฯ เหตุใดใช้ เหตุใดผ่าน เหตุใดไม่ผ่าน จะได้ช่วยกันวิเคราะห์ นอกเหนือจากภาครัฐภาคเดียว

สำหรับ PSO คิดว่า ควรจะตั้งงวดการจ่ายให้เยอะขึ้น ส่วนต้นเหตุต้องไปแก้ที่ความมีประสิทธิภาพ แต่ปลายเหตุอาจจะย่อยงวดจ่ายให้เร็วขึ้น เป็นการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจทำงบประมาณให้ถูกต้องและส่งได้ทันเวลา (อ่านเอกสารเพิ่มเติม)