ThaiPublica > เกาะกระแส > “กุลิศ” ถกรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เตรียมพร้อม – ปฏิรูปใหญ่ – มั่นใจกฏหมายใหม่เข้าสนช.ไม่ถูกบิดเบือน

“กุลิศ” ถกรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เตรียมพร้อม – ปฏิรูปใหญ่ – มั่นใจกฏหมายใหม่เข้าสนช.ไม่ถูกบิดเบือน

22 สิงหาคม 2015


นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้กล่าวเปิดงานโครงการสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยเป็นการประชุมเพื่อชี้แจงมติและรับฟังข้อคิดเห็นจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดได้มีข้อสรุปเบื้องต้นก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558

“เมื่อ 10 เดือนที่แล้วตั้งแต่ประมาณตุลาคม 2557 ผมได้มาเรียนให้รัฐวิสาหกิจทราบว่าภารกิจของสคร.กับการปฏิรูปจะทำอะไรบ้าง ผ่านมา 10 เดือนให้หลัง ผลมีความก้าวหน้ามากขึ้นเยอะ วันนี้มีผลมาเรียนให้รัฐวิสาหกิจทราบว่าคนร.ได้ทำอะไรไปบ้าง พร้อมทั้งขอรับฟังความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จะออกด้วย” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจว่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติ โดยปัจจุบันใช้ชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอเข้าไปยังการประชุมซูเปอร์บอร์ดในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ก่อนจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบและเข้าสู้การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

ทั้งนี้ ในรายละเอียดของร่างกฎหมายมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นระบบและมีเอกภาพ สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เนื้อหาร่างกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) โครงสร้างการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จะยังมีซูเปอร์บอร์ดเหมือนเดิมแต่จะปรับโครงสร้างจากเดิม 20 คน เป็นรัฐมนตรี 10 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน เปลี่ยนเป็น 15 คน แบ่งเป็นภาคการเมือง, ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคราชการ ฝ่ายละ 5 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะฯและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานคณะฯ

นอกจากนี้ ภายใต้ของซูเปอร์บอร์ดจะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคอมปานี ในฐานะหน่วยงานเจ้าของ ทำหน้าที่แต่งตั้งคัดเลือกกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจต่างๆในสังกัด ซึ่งจะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งดูแลต่างหาก 10 ท่าน มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วยอดีตข้าราชการต่างๆ ก่อนจะมีการจัดตั้งสำนักงานบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้น ทำหน้าที่กำกับดูแลแยกไปต่างหากเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ เบื้องต้นจะโอนรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งเป็นบริษัท ทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน รวม 13 แห่งก่อน ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 43 แห่ง ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งของตนเอง สคร.จะเป็นผู้ดูแลต่อไป

2) ในส่วนของยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ กำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องจัดทำแผนงานกำหนดทิศทางและเป้าหมายระยะปานกลางของตนเองส่งเข้ามายังสคร. เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจระยะยาว ส่งเข้าครม.เห็นชอบพร้อมประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ก่อนจะจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) 5 ปี สำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต่อไป

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังแนวทางการตั้งกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ จากเดิมที่กระทรวงเจ้าสังกัดจะสามารถตั้งกรรมการได้โดยอิสระ เปลี่ยนเป็นให้ใช้คณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจแทนและต้องกำหนดสมรรถนะหลัก (Skill Matrix) ของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจว่าควรจะมีทักษะอะไรบ้างตามรูปแบบของธุรกิจต่างๆ โดยจะเปิดให้รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัด ประชาชน ส่งรายชื่อเข้าไปคัดเลือกผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเลือกมา 2 ท่าน ก่อนจะส่งต่อให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งเพียง 1 ท่านต่อไป

“กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคณะรัฐมนตรี จะเปลี่ยนบอร์ดบริหารไม่ได้ จะมีผลเริ่มตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 2559” นายกุลิศ กล่าว

นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐ จะมีข้อกำหนดที่จะลดโอกาสที่รัฐวิสาหกิจจะถูกใช้ทานโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ โดยก่อนที่จะดำเนินการจะต้องคำนวณงบประมาณที่จะใช้ พร้อมจัดสรรงบประมาณให้อย่างครบถ้วน รวมทั้งจัดทำบัญชีแยกออกจากบัญชีการดำเนินการต่างหากให้ชัดเจน

นายกุลิศ กล่าวต่อว่าอีกสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคือระบบประเมินผลที่จะต้องประเมินทั้งการทำงานของคณะกรรมการบริหารและการทำตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี โดยจะมีคณะกรรมการประเมิน 8 คน มีตัวชี้วัด (KPI) ให้มีความชัดเจนและง่ายมากขึ้น ต่างจากที่ผ่านมาที่ใช่ระบบประเมินเรียกว่า SEPA ที่มีความซับซ้อนจนต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาประเมินและแปลผลการประเมิน ทั้งนี้ สำหรับประเด็นระบบประเมินผล ในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าจะออกแบบระบบอย่างไรให้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงและไม่มีจำนวนการประเมินที่มากเกินไป เพราะถ้าเยอะเกินไปจะเป็นการสร้างภาวะให้แก่องค์กรโดยไม่จำเป็นอีก

“เราได้คุยกับเอกชนรายใหญ่ๆหลายแห่ง พบว่าเขาใช้ตัวชี้วัดไม่เกิน 10 ตัว แต่สามารถสะท้อนได้รอบด้าน 360 องศาของการทำงานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของผู้บริหาร การทำงานของบอร์ดบริหาร เราจึงถือโอกาสตรงนี้เปลี่ยนแปลง SEPA อาจจะยังใช้อยู่ แต่จะใช้เพื่อการพัฒนาองค์กรมากกว่าจะมาใช้ประเมินการทำงาน” นายกุลิศ กล่าว

สำหรับประเด็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่จะต้องผ่านการพิจารณาจากสนช. 3 วาระ จนอาจจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจากที่ออกแบบไว้ นายกุลิศ กล่าวว่าไม่มีความกังวล เพราะว่าระหว่างที่ร่างพ.ร.บ. ได้พูดคุยกับสนช.คุยกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการดำเนินการในส่วนนี้ ขณะที่การตรวจสอบบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจตามมติของซูเปอร์บอร์ดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ยังต้องรอให้ครม.อนุมัติอย่างเป็นทางการก่อนจึงจะเริ่มนับระยะเวลาตรวจสอบ 3 เดือนตามมติซูเปอร์บอร์ด โดยถ้าครม.เห็นชอบแล้วทางสคร.จะส่งหนังสือเวียนออกไปให้ตรวจสอบกลับมาตามมระยะเวลาดังกล่าว