ThaiPublica > เกาะกระแส > 3 ปีรัฐบาล”ประยุทธ์” โละสต็อกข้าว 18.7 เหลือ 2.94 ล้านตัน คาดระบายหมด ก.ย. นี้ แถมราคาข้าวพุ่ง

3 ปีรัฐบาล”ประยุทธ์” โละสต็อกข้าว 18.7 เหลือ 2.94 ล้านตัน คาดระบายหมด ก.ย. นี้ แถมราคาข้าวพุ่ง

13 มิถุนายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (กนข.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (กนข.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และภายหลังการประชุม นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม

ระบายข้าวหมดแน่นอน ก.ย. 60 นี้

นางดวงพรเปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวในสต็อกเหลือเพียง 2.94 ล้านตัน จากสต็อกตั้งต้นในปี 2557 อยู่ที่ 18.7 ล้านตัน โดยข้าวคงเหลือปัจจุบันแบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 สามารถบริโภคได้ เหลือประมาณ 1.6 แสนตัน กลุ่มที่ 2 ไม่เหมาะแก่การบริโภคของมนุษย์แต่สามารถขายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ เหลือ 2.2 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ไม่เหมาะต่อการบริโภคทั้งคนและสัตว์ เหลือประมาณ 5 แสนตัน ขณะที่ข้าวในบัญชีที่หายไปจำนวน 9.4 แสนตัน เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี

“จากการระบายสต็อกข้าวอยู่เรื่อยๆ โดยสรุปสต็อกข้าวปี 2559 คงเหลืออยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตัน ข้าวกลุ่มที่ 1 เหลือ 3.17 ล้านตัน กลุ่มที่ 2 เหลือประมาณ 3.82 ล้านตัน และ กลุ่มที่ 3 เหลือประมาณ 1.08 ล้านตัน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาสามารถระบายไปได้แล้ว 5.13 ล้านตัน ปัจจุบันเหลือเพียง 2.94 ล้านตัน ซึ่งทำการเปิดประมูลข้าวกลุ่มที่ 2 กำหนดยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 และเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 หากมีผู้มาเสนอซื้อมากข้าวจะแทบไม่เหลือแล้ว ส่วนข้าวที่เหลือจะขอออกประมูลอีกในเดือนกรกฎาคม และจะสรุปยอดรายงาน นบข. อีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถระบายออกได้หมดในช่วงเดือนสิงหาคม หรือกันยายน 2560 นี้แน่นอน อย่างไรก็ตามสรุปบัญชีการระบายข้าวในสต็อกทั้งหมดเป็นหน้าที่ของคณะปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง” นางดวงพรกล่าว

ชี้สถานการณ์ข้าวไทยดี ราคาพุ่ง

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. ได้รับทราบสถานการณ์ข้าวไทย และข้าวโลก ซึ่งข้าวไทยอยู่ในภาวะที่ดีมาก โดยราคาข้าวไทยในเดือนมิถุนาน 2560 ได้ปรับสูงขึ้น ข้าวหอมมะลิไทย ปรับเพิ่มจากเดือนมีนาคม 2560 ที่ราคาตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นตันละ 715 ดอลลาร์สหรัฐ ด้านข้าวขาว 5% จากราคาตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็นตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวเหนียวและข้าวปทุมธานีก็ขยับสูงขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นผลให้ราคาข้าวไทยขยับสูงขึ้นเนื่องมาจากการเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) การนำเอกชนไปยังประเทศคู่ค้า และการที่เอกชนเข้าไปบุกตลาดเอง ซึ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญในปัจจุบันคือ อิหร่านและฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะเริ่มมีการเปิดประมูลกันในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ ประกอบกับการทำโครงการสนับสนุนการบริโภคข้าวไทยและการสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยจากการจัดงาน Thai Rice Convention 2017 ตามด้วยงาน THAIFEX-World of Food Asia 2017 (งานแสดงสินค้าอาหาร ปี 2560) รวมทั้งสภาวะด้านธรรมชาติที่ทำให้หลายประเทศผลิตข้าวได้น้อยลง และรัฐบาลสามารถระบายสต็อกข้าวที่ค้างอยู่ได้อย่างรวดเร็วจนทำให้แรงกดทับราคาหายไป

“ตอนนี้ราคาข้าวไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะไม่มีข้าวสต็อกอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งผู้ค้าและผู้ส่งออกให้การประเมินค่อนข้างดี ได้รับความมั่นใจมากขึ้นว่าตลาดข้าวไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นปีนี้จะดีแน่ โดยภาพรวมการส่งออกข้าวโลกตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 อินเดียมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.12 ล้านตัน รองมาคือไทย 4.05 ล้านตัน และเวียดนามอยู่ที่ 2.17 ล้านตัน” นางสาววิบูลย์ลักษณ์กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ข้าวโลกมีปริมาณการผลิตลดลงประมาณ 2-3 แสนตัน โดยประเทศที่ลดลงคือ อินเดียและสหรัฐอเมริกา ส่วนการบริโภคเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโกตดิวัวร์และอินเดีย ด้านการค้าข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากมีประเทศที่ไทยต้องจับตา เช่น ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ ที่ต้องการการนำเข้าเพิ่ม ส่วนสต็อกโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณ 1.21 ล้านตัน

ชาวนาเข้าใจกลไกตลาดมากขึ้น

ด้านนายอนันต์กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบโครงการภายใต้แผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจรปี 2560/2561  ใน 2 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 1.23 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณรวม 4,902 ล้านบาท ใน 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว 630,000 ไร่ งบประมาณ 3,807 ล้านบาท, โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรังปี 2561 จำนวน 400,000 ไร่ วงเงิน 864 ล้านบาท และโครงการปลูกพืชปุ๋ยสดฤดูนาปรัง ปี 2561 จำนวน 200,000 ไร่ วงเงิน 229 ล้านบาท รวมแล้วจะลดพื้นที่ปลูกข้าวลงได้จำนวน  1.23 ล้านไร่
  2. โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และมาตรฐานการผลิตที่ดีและเหมาะสมหรือจีเอพีครบวงจร มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ในปี 2564 ให้ได้จำนวน 1 ล้านไร่  จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 100,000 ไร่ และสิ้นปี 2560 จะเพิ่มเป็น 300,000 ไร่

“สำหรับผลผลิตข้าวในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 29.5 ล้านตัน ประเมินพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ที่ 58 ล้านไร่ ขณะที่ปี 2559 อยู่ประเมินว่าจะมีผลผลิตข้าว 27 ล้านตัน พื้นที่ปลูกข้าวอยู่ที่ 54 ล้านไร่ ซึ่งการดำเนินโครงการปรับพื้นที่นาและลดพื้นที่ปลูกข้าวในปี 2559 ที่ผ่านมาทำให้ชาวนาสามารถปรับตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าว และเข้าใจกลไกตลาดมากขึ้น คาดว่าหลังจากสิ้นสุดปัญหาภัยแล้งและราคาข้าวเริ่มปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลให้แรงงานภาคเกษตรกลับมาทำเกษตรมากขึ้น” นายอนันต์กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบโครงการประกันภัยนาข้าว ปีการผลิต 2560 ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือกับบริษัทรับประกันภัยทำให้สามารถลดเบี้ยประกันภัยนาข้าวลงเหลือ 90 บาทต่อไร่ จากเดิมที่ 100 บาทต่อไร่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากที่ได้ 1,111 บาทต่อไร่ เป็น 1,260 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะใช้วงเงินดำเนินโครงการ 1,841 ล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป