ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้าง “คอขวด” อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลค่าตลาดกว่า 2 หมื่นล้าน เมื่อปลายน้ำมีผู้เล่นหลัก 2 ค่ายครองจอ

โครงสร้าง “คอขวด” อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลค่าตลาดกว่า 2 หมื่นล้าน เมื่อปลายน้ำมีผู้เล่นหลัก 2 ค่ายครองจอ

5 สิงหาคม 2016


โรงภาพยนตร์ ที่มาภาพ : www.majorcineplex.com
โรงภาพยนตร์ ที่มาภาพ: www.majorcineplex.com

อุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย หากดูโครงสร้างธุรกิจจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจาก 1. ธุรกิจผู้ผลิตภาพยนตร์ 2. ธุรกิจผู้นำเข้าและกระจายภาพยนตร์ 3. ธุรกิจผู้เผยแพร่ภาพยนตร์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทาง DVD โทรทัศน์ ไปจนถึงออนไลน์ และ 4. ธุรกิจโรงภาพยนตร์

โดยภาพรวมดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะมี “ผู้เล่น” มากราย แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียด จะพบว่ามีเฉพาะธุรกิจต้นและกลางน้ำเท่านั้น ที่มีผู้เล่นหลากหลาย แต่เมื่อไปถึงธุรกิจปลายน้ำกลับมีผู้เล่นหลักอยู่เพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะ “คอขวด” ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่า

ธุรกิจปลายน้ำที่ว่าก็คือ “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” ซึ่งมีผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ได้แก่ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเครือ MAJOR Cineplex และบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเครือ SF Cinema City

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ เคยเปิดเผยตัวเลขไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ว่า จากการเก็บข้อมูล เมื่อปี 2554 มูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง น่าจะมีอยู่ที่ราว 24,200 ล้านบาท โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 50,000 คน

แต่ถ้านับมูลค่าเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเดียว ข้อมูลในเอกสารแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบ 56-1) ประจำปี 2558 ของเครือเมเจอร์ฯ ประเมินว่า ตลาดภาพยนตร์ไทย น่าจะอยู่ที่ราว 6,000 ล้านบาท โดย 70% จะเป็นรายได้จากค่าขายตั๋วหนัง และอีก 30% จะเป็นรายได้จากการจัดจำหน่ายผ่านระบบสายหนังในต่างจังหวัด

สำหรับจำนวนโรงภาพยนตร์ เครือเมเจอร์ฯ (ทั้งโรงภาพยนตร์ Major และ EGV) มีทั้งสิ้น 91 สาขา มีจอฉายภาพยนตร์ 601 จอ ส่วนเครือเอสเอฟฯ มีทั้งสิ้น 46 สาขา มีจำนวนจอฉายภาพยนตร์ 314 จอ

เฉพาะ 2 เครือนี้ ก็มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 80% ของมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทยทั้งหมด

เครือเมเจอร์ฯ ได้อธิบายถึงสาเหตุที่มีผู้เล่นเจ้าใหญ่เพียง 2 ราย ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ว่า “เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะของการประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในธุรกิจเป็นสำคัญ อีกทั้งขนาดของเงินลงทุนจำนวนมากและทำเลที่ตั้งสาขาที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจล้วนเป็นรายเดิมที่อยู่ในวงการเท่านั้น และเป็นการยากสำหรับรายใหม่จะเข้ามาเริ่มธุรกิจ”

และแม้ว่าทางเครือเมเจอร์ฯ จะประเมินว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยยังมีโอกาส “เติบโต” ได้อีกมาก ด้วยปัจจัยหลักๆ 3 ข้อ

  • ประเทศไทยขายตั๋วหนังได้น้อยกว่าประเทศเกาหลีใต้ ที่ 40 ล้านใบ ต่อ 200 ล้านใบ หรือน้อยกว่าเกือบห้าเท่า ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรต่อโรง (Population Per Screen) ของประเทศไทยอยู่ที่ 73,000 คนต่อโรง มากกว่าประเทศเกาหลีใต้ที่มีเพียง 21,500 คนต่อโรง หรือมากกว่าเกือบสี่เท่า แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีภาวะจำนวนโรงภาพยนตร์น้อยกว่าจำนวนประชากร (Under Screen) ถือเป็นโอกาสในการขยายจำนวนโรงภาพยนตร์ให้เพิ่มมากขึ้นได้อีก
  • จำนวนบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ของไทยที่มีมากขึ้น ทั้งไฟว์สตาร์, GDH559, สหมงคลฟิล์ม, M39, Talent One, Tranformation, TMoment ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ภาพยนตร์ไทยมีมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ขณะที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้ภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
  • ในต่างจังหวัดยังมีจำนวนโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์รุ่นเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม ไม่ทันสมัย ทำให้โรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย

โดยเครือเมเจอร์ฯ มองว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ในทางตรง และในระยะยาวต่อๆ ไป

“จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เครือเมเจอร์ฯ ประเมินว่า โอกาสการเติบโตในธุรกิจโรงภาพยนตร์ภายในประเทศยังมีอีกมาก จากการที่หลายๆ ฝ่ายเข้ามาลงทุน และสนับสุนนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โรงภาพยนตร์’ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม และเป็น ‘ตัวหลัก’ สำหรับวงการภาพยนตร์ทั้งภายในและทั่วโลก ที่ต้องอาศัยช่องทางนี้ในการเผยแพร่ผลงานภายพนตร์เป็นลำดับแรกก่อนจึงจะเผยแพร่ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ในลำดับถัดไป” เครือเมเจอร์ฯ ได้ระบุไว้ในเอกสาร 56-1 ที่เผยแพร่ต่อผู้ถือหุ้นและบุคคลทั่วไป

แต่ใช่ว่าทุกคนจะยินดีปรีดากับการเติบโตของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยไทย ที่มองมุมกลับถึงด้านเสียในการเติบโตของธุรกิจที่มีเครือเมเจอร์ฯ และเครือเอสเอฟฯ เป็นเจ้าตลาดอยู่

เมื่อ “ปลาใหญ่” มีเพียง 2 ตัว กระแสน้ำก็ปั่นป่วน

ภาพยนตร์เรื่อง "วานรคู่ฟัด" ของค่ายหนังขนาดเล็ก ที่เข้าฉายในเครือโรงหนังขนาดใหญ่เพียง 1 สัปดาห์ก่อนจะถูกออกจากโรงทั้งหมด ทั้งๆ ที่ใช้ทุนสร้างไปกว่า 30 ล้านบาท และกระแสตอบรับจากคนดูหนังค่อนข้างดี กระทั่งมีคนไปตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์พันทิป
ภาพยนตร์เรื่อง “วานรคู่ฟัด” ของค่ายหนังขนาดเล็ก เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน เพราะถูกดึงออกจากโปรแกรมฉายของเครือโรงหนังใหญ่ หลังเข้าฉายได้เพียง 1 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ใช้ทุนสร้างไปกว่า 30
ล้านบาท และได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมค่อนข้างดี

แม้ปัจจุบัน ช่องทางรายได้ของ “ผู้ผลิตภาพยนตร์” หรือ “ผู้นำเข้าและกระจายภาพยนตร์” จะมีอยู่หลายทาง ทั้งขายลิขสิทธิ์เพื่อนำไปฉายผ่านทางโทรทัศน์ หรือไปนำเสนอผ่านสื่อประเภทอื่นๆ เช่น DVD Blue-ray หรือออนไลน์

แต่ช่องทางหารายได้หลักของบุคคลเหล่านี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับการนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ดี

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้เครือโรงภาพยนตร์ใหญ่ทั้ง 2 เจ้า มีบทบาทสูง จนแทบจะสามารถ “ชี้เป็น-ชี้ตาย” ภาพยนตร์บางเรื่องได้เลย ผ่านข้อกำหนดที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนเห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมและอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งการกำหนดจำนวนโรงและรอบที่จะฉาย การกำหนดส่วนแบ่งที่โรงหนังได้มากกว่าเจ้าของหนัง และการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ถือเป็นต้นทุนเพิ่มเติมต่อเจ้าของหนัง ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการฉายหนังในระบบดิจิทัล หรือ “ค่า VPF” (Virtual Print Fee) ที่เก็บเรื่องละ 24,000 บาทต่อโรง และล่าสุด คือ “ค่าซื้อโฆษณา” ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เครือเมเจอร์ฯ เข้าไปซื้อสิทธิมาบริหารจัดการเอง ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559

“ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้สัมภาษณ์กับแฟนเพจบีบีซีไทยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคนทำหนังรายย่อยที่ไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่อยู่ในภาวะที่ไม่น่าจะอยู่รอดได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูงมาก อีกทั้งการที่กำหนดให้ต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ที่บริหารโดยค่ายโรงหนังใหญ่ยิ่งทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น จนผู้ผลิตหนังรายย่อยอาจคิดว่าจะทำหนังต่อไปก็อาจจะไม่คุ้มทุน

“การทำหนังเล็กๆ ขนาดว่าไม่ต้องซื้อโฆษณาวันละหมื่นนะ หนังเกย์ที่ทำออกมาฉายปีที่แล้ว ได้รายได้สองล้าน พอแบ่งกับโรงหนัง โรงได้ 55% เราได้ 45% โรงหักค่า VPF แทบไม่เหลืออะไร บอกตรงๆ ว่ารอดยาก แล้วเราเป็นเจ้าเล็กๆ ไม่รู้จะไปทางไหน เพราะว่าโรงหนังไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย” ธัญญ์วารินกล่าว

“สุภาพ หริมเทพาธิป” ผู้ก่อตั้งนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope กล่าวว่า ธุรกิจหนังค่ายเล็กในเมืองไทย ไม่ได้หมายถึงคนทำหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคนที่ซื้อหนังจากเมืองนอกเข้ามาฉาย ซึ่งค่ายเหล่านี้จะมี “อำนาจต่อรอง” กับโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ไม่มากนัก ทั้งในเรื่องจำนวนโรงและรอบที่จะฉาย นอกจากนี้ ยังจะได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่า โดยค่ายหนังใหญ่อาจจะได้ส่วนแบ่ง 50:50 คือค่ายหนังได้ไป 50% ส่วนโรงหนังได้ 50% ขณะที่ค่ายหนังเล็ก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 45:55

ก่อนหน้านี้ สุภาพยังเคยกล่าวในงานเสวนา “เดินหน้าหนังไทยในภาวะผูกขาด” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ถึงสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนสงสัยว่าเหตุใดค่าใช้จ่ายในการดูหนัง ทั้งค่าตั๋วหนัง ค่าปอปคอร์น ค่าเครื่องดื่ม ฯลฯ ถึงได้มีราคาสูง ว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากจำนวนโรงหนังมีมากกว่าจำนวนคนที่อยากดูหนัง เลยเกิดเป็นปัญหา Over Supply เจ้าของโรงหนังเลยต้องเพิ่มรายได้ด้วยการคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่ม กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนผู้บริโภคก็ต้องรับภาระไป แต่อีกบางส่วนผู้ที่นำหนังเข้าฉายจะต้องรับภาระไป

ข้อมูลตรงนี้ของสุภาพ ดูจะสวนทางกับที่เครือเมเจอร์ฯ ระบุว่า ปัจจุบัน ธุรกิจภาพยนตร์เมืองไทยอยู่ในสภาวะ Under Screen คือมีจำนวนโรงหนังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูหนังค่อนข้างแพง เคยถูกร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เข้ามาช่วยเหลืออยู่หลายครั้ง รวมถึงเคยมีผู้ไม่พอใจจัดตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจเพื่อต่อต้านเครือโรงหนังใหญ่ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่สุดท้ายภาครัฐก็ไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ เพราะโรงภาพยนตร์ไมได้อยู่ในรายชื่อของสินค้าและบริการควบคุม แต่เป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่าย

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในรายการคิดยกกำลังสอง ตอนเศรษฐศาสตร์โรงหนัง ว่า ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยไม่ใช่ธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ “กึ่งผูกขาด” และถ้าตลาดใดๆ ไม่มีการแข่งขันอย่างเพียงพอ โอกาสที่ผู้บริโภคจะได้ของที่ดีที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด ก็ยากที่จะเกิดขึ้น

ภาวะกึ่งผูกขาดดังกล่าว ทำให้ราคาเฉลี่ยตั๋วหนังไทยระหว่างปี 2550-2555 เพิ่มขึ้นที่นั่งละ 127 บาท เป็นที่นั่งละ 187 บาท ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับประเทศต่างๆ ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ ถูกกว่าญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา แต่แพงกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่เมื่อนำมาปรับด้วยรายได้ต่อหัวของคนไทย ก็จะพบว่าราคาเฉลี่ยตั๋วหนังของไทยแทบจะสูงที่สุด แพงกว่าญี่ปุ่น และถูกกว่าอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ยังพบว่า การแข่งขันในธุรกิจภาพยนตร์แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา แต่หันไปแข่งขันด้านอื่นๆ แทน เช่น ที่นั่งนุ่มกว่า จอกว้างกว่า แสงสีเสียงดีกว่า ฯลฯ เป็นต้น จะมีลดราคาบ้างก็กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียนหรือผู้สูงอายุ หรือเฉพาะวันพุธ เท่านั้น

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงกรณีที่ภาพยนตร์ซึ่งโรงหนังไปร่วมทุนสร้างบางเรื่อง จะ “ยืนโรง” ได้นานกว่าภาพยนตร์ที่โรงหนังไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นี่คือผลกระทบทั้งต่อ “คนทำหนัง-คนดูหนัง” ที่เกิดจากการมีผู้ประกอบการโรงหนังเพียง 2 ราย ครอบครองส่วนแบ่งเกือบทั้งหมดของธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทย

ทางเลือก-ทางรอดของ “ปลาเล็ก”

โรงหนังสกาลา1

ในอดีต โรงภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่มักเป็นโรงภาพยนตร์เดี่ยว หรือ Stand Alone ที่สร้างขึ้นมาในชุมชน

กระทั่งในปี 2537 เมื่อมีการสร้างโรงภาพยนตร์แบบ “มัลติเพล็กซ์” (multiplex) คือการรวมโรงภาพยนตร์หลายๆ โรงไว้ในที่เดียวกัน ที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค โดยบริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ EGV และเริ่มมีการสร้างโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่มักเช่าพื้นที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ทำให้พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนไทยเปลี่ยนไป

ในปี 2538 เครือเมเจอร์ฯ ก็ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มทำโรงภาพยนตร์ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ซีนีเพล็กซ์” (cineplex ซึ่งเป็นการรวมกันของ 3 คำ คือ cinema, entertainment, complex ไว้ด้วยกัน) นั่นคือการสร้างโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ที่มีศูนย์การค้าและสถานบันเทิงไว้ในที่เดียวกัน โดยใช้โมเดลธุรกิจหารายได้ทั้งจากการฉายภาพยนตร์และการให้เช่าพื้นที่การค้า โดยสาขาแรกก็คือ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ปิ่นเกล้า

ก่อนที่ในปี 2547 บริษัทอีวีจีฯ และเครือเมเจอร์ฯ จะควบรวมกิจการกันภายใต้ชื่อ Major Cineplex ทำให้กลายเป็นเครือโรงภาพยนตร์ที่มีจำนวนสาขาและจอภาพยนตร์มากที่สุด

ขณะที่เครือเอสเอฟฯ หรือ SF Cinema City เติบโตจากการเป็นสายหนังตะวันออก ที่ชื่อว่า “สมานฟิล์ม” (SF ย่อมาจาก สมานฟิล์ม) ก่อนจะเข้ามาทำโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ใน กทม. ที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เมื่อปี 2542 โดยอาศัยโอกาสจากที่ในขณะนั้น โรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์มีแค่ในแถบชานเมืองเป็นหลัก

ปัจจุบัน เครือเมเจอร์ฯ และเครือเอสเอฟฯ มีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์รวมกันถึง 80%

"หนังกลางแปลง" กลายเป็นทางเลือกของคนทำหนังค่ายเล็กๆ ที่ไม่มีทุนเพียงพอจะนำหนังไปฉายในเครือโรงหนังขนาดใหญ่ได้ ที่มาภาพ : wachalife.com/blog/12180.html
“หนังกลางแปลง” กลายเป็นทางเลือกของคนทำหนังค่ายเล็กๆ ที่ไม่มีทุนเพียงพอจะนำหนังไปฉายในเครือโรงหนังขนาดใหญ่ได้ ที่มาภาพ: wachalife.com/blog/12180.html

“ธิดา ผลิตผลการพิมพ์” บรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope และผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ Documentary Club ระบุว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการให้เช่าพื้นที่การค้า จึงถือเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง เป้าหมายของเขาจึงกลายเป็นทำอะไรก็ได้ให้คนเข้ามาในพื้นที่นั้นให้ได้มากที่สุด ด้วยการนำภาพยนตร์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยม หรือที่เรียกกันว่า “หนัง mass” เข้ามาฉายให้มากๆ พอลักษณะของการทำธุรกิจเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาหนึ่งตามมา คือ ธุรกิจโรงภาพยนตร์จึงกลายเป็นตลาดขายสินค้าที่มุ่งสร้างรายได้ให้มากที่สุด

“มันเลยกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเจ้าของโรงหนังเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ให้ตลาดสดที่ชาวบ้านเอาของมาแบกับดินขายแข่งกัน” ธิดากล่าว

ด้าน “สุภาพ หริมเทพาธิป” ผู้ก่อตั้งนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope ซึ่งคลุกคลีกับวงการภาพยนตร์ไทยหลายสิบปี ก็มองว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจแบบนั้นของเครือโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ก็คือการสร้าง “คนดูภาพยนตร์พันธุ์เดียว” ชอบดูหนังแนว blockbuster เท่านั้น ไม่ชินกับดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งหากคนเหล่านี้เบื่อภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่เมื่อไร คนที่จะได้รับผลกระทบเป็นรายแรกๆ ก็คือเจ้าของโรงภาพยนตร์

กล่าวโดยสรุป ความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายในแวดวงภาพยนตร์ไทย ได้มองปัญหาของการที่โรงภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยผู้ประกอบการเพียง 2 เจ้า ดังนี้

  • ค่ายหนังอิสระหรือค่ายหนังรายเล็กไม่มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงาน เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดจากเงื่อนไขที่เครือโรงหนังใหญ่ตั้งเอาไว้ได้ จนบางคนอาจตัดสินใจที่จะเลิกทำหนัง
  • ไม่มีการแข่งขันในตลาด ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้าในคุณภาพที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูหนังต่างๆ เช่น ค่าตั๋วหนัง ค่าป็อปคอร์น ค่าน้ำอัดลม ฯลฯ สูงกว่าที่ควรจะเป็น
  • แนวหนังขาดความหลากหลาย เนื่องจากเครือโรงใหญ่คิดถึงแต่การทำกำไรให้ได้มากที่สุด หนังที่ถูกเลือกมาฉายจึงมักเป็นหนังฮอลลีวูดที่คาดว่าจะทำเงิน

ฝั่งเครือโรงหนังใหญ่เคยออกมาชี้แจงถึงข้อกล่าวหาต่างๆ

โดย “สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์” CEO ของเครือเอสเอฟฯ เคยกล่าวชี้แจงในนิตยสารฟอร์บส์ ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2557 ว่า การทำโรงหนัง 1 โรงต้องใช้ต้นทุนเฉลี่ย 20-25 ล้านบาทต่อจอ ถ้ามี 10 จอก็ 250 ล้านบาทต่อโรง มันเป็นการลงทุนที่สูง และจุดคุ้มทุนค่อนข้างไกล ประมาณ 5-7 ปี

“ไม่มีใครรู้ว่าโรงหนังขายตั๋วหนังขาดทุน ไม่ต้องบอกว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา จ้างให้เข้า เขาก็ไม่เข้า แถมยังงงว่า 2 รายนี้อยู่ได้อย่างไร สิ่งที่ชดเชยคือป็อปคอร์นที่อุดขาดทุนตรงนี้ได้ 100% สุวัฒน์ระบุ โดยรายได้อีกส่วนที่เครือเอสเอฟฯ พยายามหามาอุดรายจ่ายก็คือ “ค่าโฆษณาสินค้าในภาพยนตร์” ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ตาม เครือเอสเอฟฯ ได้กำหนดว่า จะให้โฆษณาไม่เกิน 6 นาทีก่อนที่ภาพยนตร์จะเริ่ม

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่มาภาพ : www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1358309881
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มาภาพ: www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1358309881

ด้าน “วิชา พูลวรลักษณ์” CEO ของเครือเมเจอร์ฯ กล่าวอธิบายสาเหตุที่ราคาป็อปคอร์นและเครื่องดื่มแพง เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด โดยเฉพาะป็อปคอร์นที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนกรณีที่ราคาตั๋วหนังพุ่งเป็น 100-200 บาทต่อใบ หากนำไปเทียบกับราคาตั๋วหนังของต่างประเทศ ก็ถือว่าราคาค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับคุณภาพด้านการบริการที่ให้ ทั้งความสะอาดของโรงหนัง เก้าอี้ดูหนัง และห้องน้ำ

วิชายังกล่าวถึงเหตุผลในการเก็บค่า VPF หรือค่าการเปลี่ยนเครื่องฉายจากระบบฟิล์มเป็นดิจิทัล จากผู้สร้างหนังที่นำเข้าฉายในโรงหนังของเครือเมเจอร์ฯ ว่า เป็นระบบที่ใช้กันทั้งโลก ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้สร้างหนังมากกว่า เพราะไม่ต้องถ่ายทำหนังด้วยฟิล์มที่มีราคาสูงอีกต่อไป

ทั้งนี้ CEO ของเครือโรงหนังอันดับหนึ่งของประเทศไทยยังกล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้มีสัดส่วนการเข้าฉายภายในโรงเพิ่มจาก 30% เป็น 50% รวมถึงจับมือกับค่ายหนังในเครือผลิตภาพยนตร์คุณภาพเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายขยายโรงหนังในเครือให้ได้ถึง 1,000 สาขา ภายในปี 2563

ส่วนการต้องเสีย “ค่าโฆษณา” ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้น “ธนกร ปุลิเวคินทร์” ผู้บริหารรายหนึ่งของเครือเมเจอร์ฯ ระบุว่า บริษัทไม่ได้บังคับว่าต้องลงโฆษณาก่อน ถึงจะนำหนังมาฉายในโรงหนังของเครือเมเจอร์ฯ ได้

สัดส่วนการนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในเครือเมเจอร์ฯ จะอยู่ที่ราว 16-30% เท่านั้น [ที่มา: แบบ 56-1 ของ MAJOR]

  • ปี 2554 จำนวน 50 เรื่อง จากทั้งหมด 165 เรื่อง คิดเป็น 30% (ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยทั้งหมด มี 216 เรื่อง)
  • ปี 2555 จำนวน 59 เรื่อง จากทั้งหมด 212 เรื่อง คิดเป็น 27% (ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยทั้งหมด มี 254 เรื่อง)
  • ปี 2556 จำนวน 38 เรื่อง จากทั้งหมด 224 เรื่อง คิดเป็น 16% (ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยทั้งหมด มี 262 เรื่อง)
  • ปี 2557 จำนวน 54 เรื่อง จากทั้งหมด 218 เรื่อง คิดเป็น 24% (ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยทั้งหมด มี 233 เรื่อง)
  • ปี 2558 จำนวน 57 เรื่อง จากทั้งหมด 351 เรื่อง คิดเป็น 16% (ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยทั้งหมด มี 376 เรื่อง)

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ในธุรกิจภาพยนตร์ยังคงเดิม คือมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย และสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่น่าจะเปลี่ยนไปในระยะเวลาอันใกล้ ผู้เกี่ยวข้องจะปรับตัวอย่างไรให้ยังอยู่ได้

ผู้ทำหนังอิสระหรือในค่ายเล็กหลายๆ คน เลือกไปใช้วิธีฉายอื่นๆ ซึ่งไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างโรงหนัง เช่น ฉายเป็นหนังกลางแปลง หรือทำในรูปแบบโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ออนไลน์ หรือสตรีมมิง เพื่อที่จะควบคุมปัจจัยทุกอย่างได้

“วิชา สุระยา” หนึ่งในทีมผลิตภาพยนตร์ของค่ายหนังขนาดเล็ก กล่าวว่า กำลังคิดอยู่ว่าในยุคนี้ทุกอย่างไปออนไลน์หมดแล้ว จะใช้โมเดลธุรกิจคือทำให้ดูฟรีๆ ผ่านยูทูบ แล้วเก็บเงินค่าโฆษณาดีไหม

น่าสนใจว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะเดินต่อไปในทิศทางใด เมื่อใครต่อใครก็มองว่า ธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะ “กึ่งผูกขาด” เช่นปัจจุบัน