ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > มติ ศบค.ลดเคอร์ฟิว เปิดโรงหนัง-นวด-เล่นดนตรีในร้านอาหาร พร้อมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถึง 30 พ.ย.นี้

มติ ศบค.ลดเคอร์ฟิว เปิดโรงหนัง-นวด-เล่นดนตรีในร้านอาหาร พร้อมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถึง 30 พ.ย.นี้

27 กันยายน 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มติ ศบค.ชุดใหญ่ ลดเคอร์ฟิวจาก 4 ทุ่มถึงตี 4 ไฟเขียวเปิดโรงหนัง-ร้านนวด-เล่นดนตรีในร้านอาหาร-ลดเวลากักตัวผู้ที่เดินทางจากตปท. พร้อมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯถึงสิ้น พ.ย.นี้ ยืนยันสิ้นปีนี้ไทยฉีดวัคซีน 90% ของประชากร

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) วันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 พฤศจิกายน นี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องไม่ประมาท ยังต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึง ติดตามการกระจายเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็จะขยายรูปแบบ Sandbox ในส่วนกิจการ/กิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้น อาทิ ปรับกิจกรรมภายในโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศต่อไป นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคแรงงานและภาคประชาชนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด–19 มากขึ้น ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้กระทรวงสาธารณสุข ช่วยพิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิง/ศิลปินพื้นบ้าน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังดีใจที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันได้เกิน 1 ล้านโดส มั่นใจไทยมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยฝากให้ สธ. ช่วยดูแลการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับเด็กเล็กด้วย นายกรัฐมนตรียังรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวโดยจะเริ่ม 1 ตุลาคม นี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนการช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ Pandemic สู่โรคประจำถิ่น Endemic ซึ่งต้องขอให้แต่ละฝ่ายถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงของการแพร่ระบาด เพื่อเป็นแนวทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7113

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงผลการประชุมศบค.ว่า ที่ประชุม ศบค.วันนี้ได้มีการพิจารณาสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อภายในประเทศผ่อนคลายลงเป็นไปตามแบบจำลองที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงได้มีการปรับมาตรการป้องปันและควบคุมโรค ดังนี้

ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯถึง 30 พย.นี้

ที่ประชุมพิจารณาความเหมาะสมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาประกาศดังกล่าวถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

นพ.ทวีศิลป์ให้เหตุผลว่า การใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องมีการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่รับช่วงต่อจากศบค. และศูนย์บูรณาการกทม.และปริมณฑล และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงเสนอใช้ให้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป

ปรับเคอร์ฟิวเป็น 4 ทุ่ม เปิดโรงหนัง-เล่นดนตรีในร้านได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณากิจการ-กิจกรรมที่ถูกสั่งปิดในข้อกำหนดที่ 28 และวันนี้ได้เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ใหม่ โดยให้เปิดกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 รายละเอียดกิจกรรมดังนี้

  1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน
  2. ห้องสมุดสาธารณะ
  3. พิพิธภัณฑ์
  4. ศูนย์การเรียนรู้ อุทยานหรือหอศิลป์ 
  5. ร้านทำเล็บ
  6. ร้านสัก
  7. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านนวดและสปา
  8. โรงภาพยนตร​์
  9. การเล่นดนตรีในร้านอาหาร
  10. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ

นอกจากนี้ยังมีการปรับเงื่อนไขมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนี้

  • การห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ปรับเป็นเวลา 22.00 น.-04.00 น. เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน
  • ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดถึง 21.00 น. และให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ โรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำตามแนวทางที่กำหนดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ทั้งนี้กิจการที่ยังไม่เปิดคือตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำและห้องประชุม/จัดเลี้ยง
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดหรือตลาดนัด จำกัดเวลาเปิดถึง 21.00 น.
  • กิจกรรมประเภทกีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่มีที่ปรับอากาศ จำกัดเวลาเปิดถึง 21.00 น. และจัดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม ส่วนการจัดกีฬากลางแจ้งสามารถมีผู้ชมได้ไม่เกิน 25% ของความจุสนาม และผู้ชมได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง

ลดเวลากักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ

ที่ประชุมเห็นชอบการปรับลดระยะเวลาในการกักกัน แต่ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมดจะต้องตรวจตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้งคือวันแรกที่มาถึงและสองวันสุดท้ายก่อนครบระยะเวลากักตัว ทั้งนี้ผู้เดินทางแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่หนึ่ง มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบ 14 วัน สามารถลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
  • กลุ่มที่สอง ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน แบ่งเป็นทางอากาศให้กักตัว 10 วัน และทางบกกักตัวอย่างน้อย 14 วัน

นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลว่า ที่ประชขุมผ่อนปรนมาตรการโดยผู้กักตัวสามารถออกกำลังกายได้ ว่ายน้ำได้ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์หรือสั่งอาหารจากภายนอกได้

เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากโครงการ Phuket Sandbox นำมาสู่การต่อยอดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว โดยที่ประชุมศบค.กำหนดไว้ 4 ระยะ โดยระยะแรกคือระยะนำร่อง 4 จังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินการในพื้นที่เดิมตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คล่องม่วง ทับแขก)

ถัดมาเป็นระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ 3 (อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แดง อำเภอดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อำเภอเมือง) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหินและหนองแก) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) กระบี่ และพังงา

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1-31 ธ.ค.2564 จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

“ถ้าเราทำได้ ไม่มีอัตราการตายติดเพิ่มขึ้น แผนนี้จะถูกนำไปปฏิบัติและขยายผลต่อการกลับมาสู่การเป็น new normal โรคระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะวัคซีนที่เข้ามาปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะสร้างความเข้มแข็งต่อคนและระบบเศรษฐกิจด้วย”

ยันสิ้นปีนี้ฉีดวัคซีนได้ 90% ของจำนวนประชากร

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ เผยว่าจากที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2564 แนะนำว่าการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแบบฉีดไขว้อาจใช้หลักการเดียวกับซิโนแวคได้ เช่นเมื่อฉีดซิโนฟาร์มครบสองเข็มแล้วสามารถกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ได้

ในที่ประชุมยังกล่าวถึงแผนจัดหาวัคซีนว่าวัคซีนโควิด-19 จะเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด 178.2 ล้านโดส โดยเดือนกันยายนเข้ามาแล้ว 16.3 ล้าน ส่วนเดือนตุลาคม 24 ล้านโดส พฤศจิกายน 23 ล้านโดส และธันวาคมอีก 24 ล้านโดส ประกอบกับวัคซีนซิโนฟาร์มที่ได้รับการบริจาคและซื้อในทุกเดือน ทำให้ไทยมีวัคซีนตามที่ระบุไว้

กระทรวงการต่างประเทศกล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศในสหภาพยุโรปมีวัคซีนพร้อมขายต่อ โดยประเทศสเปนเสนอขายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในราคาถูกกว่าท้องตลาด หรือขายที่โดสละ 2.9 ยูโร จำนวน 165,000 โดส และไฟเซอร์ที่ 15.5 ยูโร จำนวน 2,788,110 โดย ส่วนประเทศฮังการีเสนอขายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดสละ 1.78 ยูโร จำนวน 400,000 โดส

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้ย้ำว่าประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผน 126.2 ล้านโดสภายในสิ้นปี และฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 90% ของประชากรทั้งหมด