ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% กังวล “เศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวได้ช้าและเสี่ยงมากขึ้น”

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% กังวล “เศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวได้ช้าและเสี่ยงมากขึ้น”

12 พฤษภาคม 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% โดยให้เหตุผลหลักว่า ภาวะการเงินในช่วงปัจจุบันเริ่มผ่อนคลายเพิ่มขึ้นตามผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ซึ่งเพียงพอแล้วและควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) รวมไปถึงเฝ้าระวังพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงขึ้น (Search for yield) หลังจากผ่อนคลายภาวะการเงินเป็นระยะเวลานาน

“ตอนนี้ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงทั้งเส้นทุกระยะเวลา ถ้าธุรกิจจะไปออกหุ้นกู้อะไรจะถูกลง ธนาคารพาณิชย์ก็ลดดอกเบี้ยลงแล้วด้วย ดังนั้น การใช้นโยบายดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้การบริโภคและการลงทุนมากขึ้น อีกด้านต้องระมัดระวังว่าถ้าดอกเบี้ยต่ำไปนานจะมีการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้การมองภาพความเสี่ยงไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของเสถียรภาพการเงิน ซึ่งตอนนี้มีเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว แต่เริ่มจากจุดที่น้อยมาก พอเทียบกับขนาดของระบบการเงินยังไม่มาก แต่กรรมการมองไปข้างหน้าไม่อยากให้เป็นแหล่งสะสมความเสี่ยงในเศรษฐกิจ” นายจาตุรงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะกระทบต่อความเสี่ยงของระบบการเงินไทยมากขึ้นหรือไม่ นายจาตุรงค์กล่าวว่า กนง. มองมุมมองของประชาชนและธุรกิจที่จะได้ประโยชน์มากกว่าจะมองในมุมมองของธนาคารพาณิชย์ว่าจะเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการดำเนินงานอยู่แล้ว เห็นได้ชัดจากยอดสินเชื่อที่ไม่ได้เติบโตขึ้นมาก ดังนั้น ภาวะที่ผ่อนคลายขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการระดมทุนของประชาชนและธุรกิจถูกลง

นายจาตุรงค์กล่าวต่อว่า กนง. ยังให้น้ำหนักความกังวลเศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวได้ช้าและเสี่ยงมากขึ้นจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจในประเทศที่ดูแผ่วลงในไตรมาสแรกของปี 2559 ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในภาคเกษตร ซึ่งนอกจากทำให้รายได้ลดลงยังกระทบไปถึงธุรกิจในพื้นที่ด้วย

“การอ่อนแรงของอุปสงค์โดยรวม มองออกเป็น 2 ด้าน ด้านแรก ภาวะภัยแล้งยังเป็นปัจจัยชั่วคราว เมื่อหมดไปรายได้ของเกษตรกรคงจะสูงขึ้น ช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง แต่ตรงนี้ยังมีภาระหนี้ของเกษตรกรที่สูงและสะสมมาก่อนหน้า เมื่อรายได้เพิ่มจึงต้องนำไปใช้หนี้ก่อน อาจจะไม่เห็นผลมากและลากยาวออกไปหลังจากภัยแล้งหมดไป ส่วนด้านที่สอง คือ การลงทุนของเอกชน อันนี้ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างด้วย คือเรื่องของการทำอย่างไรประเทศไทยจะมีการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องของนโยบายการเงินอย่างเดียว เรื่องดอกเบี้ยหรือภาวะการเงิน ถ้า Outlook ของเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นกว่านี้ เอกชนอาจจะชะลอการลงทุนอยู่ กนง. จึงมองว่าภาวะการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริโภคและลงทุน ต้องปรับปรุงเชิงโครงสร้างด้วย” นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนของภาครัฐและการท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เห็นการใช้ปูนซีเมนต์ผงมากขึ้นในโครงการภาครัฐต่างๆ ส่วนจะส่งผลไปยังการลงทุนของเอกชนหรือไม่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่ในภาพรวมยังมองว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ที่ 3.1% เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวยังสามารถชดเชยการชะลอตัวลงของการบริโภคและลงทุนได้

ด้านปัจจัยต่างประเทศ กนง. ไม่ได้กังวลเป็นประเด็นหลักเหมือนกับการประชุมหลายครั้งก่อนหน้า โดยรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ประกอบกับในบางช่วงที่ผ่านมาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งบางสกุลอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร แม้ว่าโดยรวมดัชนีค่าเงินบาท (NEER) จะยังมีทิศทางอ่อนค่าก็ตาม ในระยะต่อไปความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น

“ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ เราคิดว่าเรามองในแง่ที่เป็นความเสี่ยงด้านลบเพียงพอแล้ว โลกเริ่มคลายกังวลเรื่องจีนลงหลังจากปรับโครงสร้างอะไรต่างๆ ดังนั้น ครั้งนี้ กนง. ไม่ได้เน้นไปที่ต่างประเทศมาก แต่เน้นไปที่ภัยแล้ง การบริโภค การลงทุนมากขึ้น” นายจาตุรงค์กล่าว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกในเดือนเมษายนตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงในช่วงก่อนหน้าที่ลดลง และราคาอาหารสดที่เร่งขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มทรงตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ แต่ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแรงลง