ThaiPublica > เกาะกระแส > รถไฟไทย-จีน ทำสัญลักษณ์เริ่มก่อสร้าง “สมคิด” สั่ง รมว.คลัง เจรจาสัดส่วนลงทุน สรุปวงเงิน ก.พ. 2559

รถไฟไทย-จีน ทำสัญลักษณ์เริ่มก่อสร้าง “สมคิด” สั่ง รมว.คลัง เจรจาสัดส่วนลงทุน สรุปวงเงิน ก.พ. 2559

20 ธันวาคม 2015


581219ประจิน
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีไทย และนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน ร่วมทำสัญลักษณ์เริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตัวแทนรัฐบาลไทย ได้แก่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และตัวแทนรัฐบาลจีน ได้แก่ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ทำสัญลักษณ์การเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โดยมีการปักธงชาติของทั้ง 2 ประเทศ บนแท่นคล้ายรางรถไฟ

พล.อ.อ. ประจิน กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีของการเริ่มต้นโครงการนี้ เนื่องจากไทย-จีน ได้สถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาจนครบ 40 ปีในปีนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้านทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน จะเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของทั้ง 2 ชาติ และจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในอนาคต

นายหวัง หย่ง กล่าวว่า นายหลี่ เคอะ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดี โดยหลังจากทั้ง 2 ชาติได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือรถไฟจีน-ไทย ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ก็มีความคืบหน้าเป็นสำคัญ จึงหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความพยายามต่อไปเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และเพื่อสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่งให้กับเส้นทางรถไฟหลักที่เชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทย สำเร็จในเร็ววัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีนี้ รัฐบาลจีนได้จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ เช่น เทคโนโลยีการก่อสร้างทางรถไฟ การผลิตรถไฟและอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถ รวมทั้งเทคโนโลยีการออกแบบทางรถไฟและรถไฟความเร็วสูงของจีน และได้นำโมเดลเทคโนโลยีการออกแบบทางรถไฟของจีน และโมเดลรถไฟที่จีนเสนอให้ใช้ในโครงการรถไฟไทย-จีน มาจัดแสดงด้วย

โดยรถไฟที่จะใช้สำหรับผู้โดยสารเป็นรถไฟรุ่น CRH2G ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง มี 8 ตู้โดยสาร รถรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 613 คน ส่วนรถจักรสำหรับลากจูงขบวนสินค้า เป็นรถจักรไทยไฟฟ้า รุ่น HXD3B และ HXD3C มีกำลังขับเคลื่อนสูงสุด 9,600 กิโลวัตต์ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ที่ 120 กิโลเมตร

แนวเส้นทางโครงการรถไฟไทย-จีน จะใช้รางขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) แบ่งเป็น 4 ช่วง รวมระยะทาง 845.27 กิโลเมตร แบ่งเป็น

  1. ช่วงกรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร
  2. ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134.21 กิโลเมตร
  3. ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 238.82 กิโลเมตร
  4. ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354.09 กิโลเมตร

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน จะใช้เทคโนโลยีจีน โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน

  1. งานด้านโยธา ฝ่ายไทยรับผิดชอบงานด้านโยธาและงานด้านแหล่งจ่ายไฟฟ้ากำลัง ฝ่ายจีนรับผิดชอบงานเจาะอุโมงค์ งานวางระบบสะพานพิเศษ และทางบนเนินเขา
  2. งานด้านระบบการจัดการเดินรถ ฝ่ายจีนรับผิดชอบงานวิศวกรรมทางรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขับเคลื่อนรถไฟ และระบบควบคุม ฝ่ายไทยรับผิดชอบการจัดหาวัสดุและการขนย้ายอุปกรณ์การก่อสร้างรถไฟ

สั่ง รมว.คลังเจรจาสัดส่วนลงทุน – วงเงินพุ่งเพราะเพิ่มเส้นทาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงความคืบหน้าในการเจรจาหาข้อสรุปเรื่องการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน หลังเจรจาร่วมไปแล้วถึง 9 ครั้ง ว่า ประเด็นที่คุยกันมี 4 เรื่อง

– สรุปผลการศึกษาไทย-จีนที่เสร็จแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

– รูปแบบการลงทุน ว่าแต่ละฝ่ายจะลงทุนสัดส่วนเท่าไร นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้คณะทำงานที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะไปเจรจาต่อไป

– เมื่อได้รายละเอียดเรื่องรูปแบบการลงทุนแล้ว ก็จะนำไปสู่การทำสัญญา โดยอาจจะลงนามในรูปแบบของ MOU

– ผู้นำของทั้ง 2 ชาติอยากให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง – 4 ปี

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับเรื่องวงเงินก่อสร้างทั้งหมด จะให้บริษัทที่ปรึกษาของฝ่ายไทยเข้าไปดูรายละเอียดที่ฝ่ายจีนเสนอมาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้คณะทำงานที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้หาข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปี 2559 เบื้องต้นจะใช้วิธีร่วมลงทุน โดยให้ฝ่ายจีนร่วมลงทุนทั้งการเดินรถ อาณัติสัญญาณ และก่อสร้าง ซึ่งอาจจะตั้งเป็นบริษัทลูก บริษัทเดียวหรือหลายบริษัท ต้องไปคุยในรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย ซึ่งทางฝ่ายจีนระบุว่าจะเสนอให้ดอกเบี้ยที่ดีที่สุดกับฝ่ายไทย

“ส่วนที่มีข่าวว่าวงเงินก่อสร้างจะสูงถึง 5.3 แสนล้านบาท ขอชี้แจงว่าตัวเลขยังไม่นิ่ง เพราะต้องให้บริษัทที่ปรึกษาของเราไปดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่ที่เพิ่มจากวงเงินเดิม 2-3 แสนล้านบาท เพราะโครงการเดิมมีแค่เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย ไม่รวมถึงเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด” นายอาคมกล่าว