ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ครม. ตีกลับ กม.ตั้งกองทุนคลัสเตอร์ ให้คลังทบทวนแหล่งทุน ไฟเขียว MOC รถไฟไทย-ญี่ปุ่น “ประยุทธ์” วอนอย่าขยายปมทุจริต “ราชภักดิ์”

ครม. ตีกลับ กม.ตั้งกองทุนคลัสเตอร์ ให้คลังทบทวนแหล่งทุน ไฟเขียว MOC รถไฟไทย-ญี่ปุ่น “ประยุทธ์” วอนอย่าขยายปมทุจริต “ราชภักดิ์”

25 พฤศจิกายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

โยน คสช.พิจารณา “ยิ่งลักษณ์” แจงรัฐสภายุโรป

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ กรณีที่มีกระแสข่าวสมาชิกรัฐสภายุโรปส่งหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ คสช. อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาอย่างเป็นทางการจริงหรือไม่ และมีการเชิญผ่านช่องทางที่เป็นทางการอย่างกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เพราะรับรู้เพียงข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น ส่วนจะอนุญาตให้เดินทางไปชี้แจงหรือไม่ คสช. อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดเงื่อนไขที่ต้องขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งจาก คสช. และจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยในคดีรับจำนำข้าว

“เรื่องนี้ถ้าเป็นผม ผมคงไม่เชิญเฉพาะคนที่มีคดีอยู่ไปชี้แจง แต่จะเชิญคนของฝ่ายรัฐไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับฟังความข้างเดียวหรือไม่ เคารพกฎหมายไทยหรือเปล่า ซึ่งผมก็ไม่อยากจะพูดมาก เพราะเราก็ต้องค้าขายกับเขาอยู่” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

วอนอย่าขยายปม “ราชภักดิ์” จนเข้าทางฝ่ายจ้องเลิก ม.112

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกองทัพบก (ทบ.) ด้วยว่า ขออย่านำเรื่องนี้ไปขยายจนเป็นเครื่องมือของคนบางฝ่าย ยืนยันว่าตนจะไม่ปกป้องใคร หากใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ แต่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เริ่มจากบุคคลใกล้ชิดสถาบันเบื้องสูงไปหลอกลวงคนข้างนอก ซึ่งก็มีเฉพาะบางคนเท่านั้น จะสอบคนเหล่านี้ก็สอบไป แต่จะไปถึงขั้นรื้อ ทบ. เลยก็ไม่ใช่ ในวันนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการนี้อีกระดับหนึ่ง จึงถือว่ามีการตรวจสอบทั้งในระดับ ทบ. และกระทรวงกลาโหม (กห.) และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็คงต้องไปสอบต่ออยู่แล้ว

“แต่ไม่ใช่สอบจนเละเพื่อแก้แค้นใคร เพราะเรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับคดีความที่มีผู้ถูกกล่าวว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 ด้วย เดี๋ยวต่างชาติจะไม่เข้าใจไปกันใหญ่ ผมห่วงเรื่องกฎหมายของไทยด้วย เพราะรู้อยู่ว่าคนเลวๆ พยายามที่จะเลิกมาตราสำคัญนี้อยู่ ซึ่งหากไม่มี จะไม่มีอะไรมาปกป้องสถาบันเบื้องสูงได้เลย”

แจงสหรัฐฯ เข้าใจปมส่ง “2 ผู้ลี้ภัยจีน” กลับประเทศ แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ทางการสหรัฐอเมริกาแสดงความผิดหวังกรณีที่ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยชาวจีน จำนวน 2 คน กลับประเทศจีนว่า เรื่องนี้ตนได้อธิบายให้เขาเข้าใจแล้วว่าทั้ง 2 คน ทำผิดกฎหมายไทยด้วยการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งตามขั้นตอนปกติจะต้องมีการตรวจสอบว่ามีต้นทางมาจากประเทศใด และมีคดีความติดตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีหมายจับอยู่ในประเทศจีนจึงต้องส่งทั้ง 2 คนกลับไป แต่ข้อมูลเหล่านี้องค์การผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) อาจจะไม่ทราบ จึงนำชื่อของทั้ง 2 คน ไปขึ้นไว้ในบัญชีผู้ลี้ภัย และมีการหาประเทศให้ลี้ภัยภายในระยะเวลาแค่ 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งหลังจากตนได้อธิบายไป หลายคนก็เข้าใจ

“ใครจะไม่เข้าใจผมไม่รู้ ขอให้คนไทยเข้าใจเท่านั้นว่าผมทำเพื่อประเทศชาติ และทำเพื่อคนไทย” นายกฯ กล่าว

ย้ำฝ่าฝืนประกาศ คสช. ต้องถูกดำเนินคดี

ส่วนกรณีที่มีคณาจารย์และนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ รวม 323 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จำนวน 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. กรณีมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากกรณีร่วมแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็คนหน้าเดิมๆ ต้องไปดูว่าก่อนแถลงข่าว ทหารเข้าไปคุยกับทั้ง 5 คนว่าอย่างไร มีการขอให้บรรยายในกรอบของกฎหมาย ไม่พูดเรื่องนี้เรื่องนั้น แต่พอถึงเวลากลับมีการฝ่าฝืน สิ่งที่พวกเขาพูดตนไม่เดือดร้อน แต่เมื่อกฎหมายเป็นเช่นนี้ จึงต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ส่วนใครจะใช้กรณีนี้เคลื่อนไหวให้เข้มข้นมากขึ้นก็ทำไป แต่ใครทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี

วอนลอยกระทงใช้วัสดุธรรมชาติ – “ปล่อยโคม” ระวังผิด กม.

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ว่า ที่มีการเขียนข่าวว่าจะมีการห้ามลอยกระทงในบางจังหวัดทั้งจังหวัด ตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง เพียงแต่บางจังหวัดอาจจะมีน้ำน้อยทำให้ลอยกระทงไม่ได้ ทั้งนี้อยากให้คำนึงถึงคนทำความสะอาด ลดการใช้วัสดุที่ทำจากโฟมและพลาสติก หันไปใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติมากขึ้น ส่วนประเพณีบางอย่างเช่นการปล่อยโคมลอย ก็มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ไปรบกวนการบิน ไม่เช่นนั้นหากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีเครื่องบินตกหรือทำให้บ้านไฟไหม้ ผู้ที่ลอยโคมลอยดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมาตรการเนื่องในประเพณีลอยกระทงตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ มี 5 มาตรการ โดยมีมาตรการหนึ่งระบุว่า ให้ปล่อยโคมลอยเฉพาะช่วงเทศกาลลอยกระทงหลังเวลา 21.00 น. เท่านั้น และห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณใกล้สนามบิน

ตีกลับร่าง พ.ร.บ.ตั้งกองทุนคลัสเตอร์ – โยนคลังหาข้อสรุปที่มาเงิน

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่สำคัญ มีอาทิ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้กลับไปให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของแหล่งเงินของกองทุนนี้ ซึ่งตั้งวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท ว่าจะนำมาจากแหล่งใด

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้จัดตั้งกองทุนคลัสเตอร์ว่าจะเป็นแหล่งใดบ้าง เช่น จะนำมาจากเงินของกองทุนที่ได้รับงบประมาณจากภาษีบาป อย่างกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้หรือไม่ โดยอาจมีการตั้งเพดานวงเงินที่ควรได้รับสูงสุด และให้ส่งเงินส่วนเกินเข้าคลังเพื่อนำมาใช้ในกองทุนคลัสเตอร์

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นอกจาก ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการจัดตั้งกองทุนคลัสเตอร์ ยังให้กองทุนหมุนเวียนอื่นๆ ที่อาจถูกนำเงินมาใช้ อย่าง สสส. หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไปดูว่าเพดานที่เหมาะสมในการดำเนินงานของตัวเองอยู่ที่เท่าไร อย่างกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ต้องไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร

ไฟเขียว MOC ให้ “สมคิด” เซ็นสร้างรถไฟกับญี่ปุ่นระหว่างโรดโชว์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperating: MOC) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ หรือร่าง MOC รถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพิจารณาร่าง MOC นี้ครั้งที่ 2 ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น หลังจากการพิจารณาร่าง MOC ครั้งแรก เป็นการเห็นชอบในหลักการกว้างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ใช้ลงนามกับตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางร่วมคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ไปโรดโชว์ในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2558

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ ที่ทางการไทยจะไปลงนามกับทางการญี่ปุ่น ระหว่างนายสมคิดและคณะเดินทางไปโรดโชว์ ประกอบด้วย

  1. เอกสาร Statement of intent between the Government of Japan and the Government of the Kingdom of Thailand on HighLevel Joint Commission ซึ่งเป็นเอกสารเชิงนโยบายสำหรับการตั้งกลไกการหารือระดับสูงด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ
  2. เอกสาร Memorandum of Intent on Human Resource Development in the Mekong Sub-Region between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Japan ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ว่าไทย-ญี่ปุ่น จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะเน้นไปที่คุณภาพการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันพัฒนา SMEs เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกได้

ขยายเวลาเสนอโครงการ”ตำบลละ 5 ล้าน” เป็นภายใน 30 ธ.ค.

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาขยายระยะเวลาการเสนอโครงการและเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) จากเดิมที่ให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการให้สำนักงบประมาณแต่ละเขตพื้นที่ต่างๆ ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2558 แต่เนื่องจากในการปฏิบัติงานเกิดปัญหามากมาย ทั้งบางโครงการต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน บางโครงการต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือป่าสงวน ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันกำหนด จึงให้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 30 ธันวาคม 2558 และเลื่อนระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ จากเดิมภายในวันที่ 31 มกราคม 2559 เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายงบกลาง เพื่อใช้ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระหว่างปี 2558-2559 จำนวน 2 มาตรการ รวมเป็นเงิน 1,177 ล้านบาท

ปิดฉาก “ไทยเข้มแข็ง” ดันใช้เงินก้อนสุดท้าย 1.6 พันล้านบาท

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ตามที่ ครม. เคยมีมติให้นำงบประมาณที่เหลือจากโครงการตามโครงการตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 (ไทยเข้มแข็ง) วงเงิน 15,200 ล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรากฏว่า ยังมีโครงการอีกกว่า 1.3 พันล้านบาท ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เนื่องจากดำเนินการไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา แบ่งเป็น

  1. โครงการที่ลงนามในสัญญาไม่ทันตามกำหนด คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 กว่า 106 ล้านบาท
  2. โครงการที่แม้จะลงนามในสัญญาไปแล้ว แต่เบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 กว่า 1,266 ล้านบาท

ที่ประชุมจึงต้องหามาตรการแก้ไขปัญหา โดยกรณี 1. ให้นำเงินส่งคืนคลังทันที ส่วนกรณี 2. ให้ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณออกไปอีก 360 วัน หลังจากวันที่มีการลงนามในโครงการ หากยังดำเนินการไม่ทันอีกให้นำเงินส่งคืนคลัง โดยไม่สามารถตั้งโครงการมาของบได้อีก

“นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการที่จะใช้งบประมาณของโครงการไทยเข้มแข็งที่เหลืออยู่อีกกว่า 323 ล้านบาท จากเดิมต้องขอผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง มาเป็นขอตรงผ่านสำนักงบประมาณได้เลย ถือเป็นการปิดฉากโครงการไทยเข้มแข็งที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบ กม.คุมเข้ม “พืช-สัตว์” จีเอ็มโอ

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …. เพื่อควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพสมัยใหม่ โดยเฉพาะการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายที่รองรับเรื่องนี้อย่างเป็นสากล

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้มี 3 ประการ

  • ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะบังคับใช้กับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่จะไม่รวมการดัดแปลงเพื่อใช้เป็นยาที่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะอยู่แล้ว
  • ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะกำหนดว่าการปล่อยสัตว์หรือพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องมีการทดลองในภาคสนามก่อนเพื่อประเมินความเสี่ยง และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้ประกอบการจะต้องชดใช้
  • สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือพืชจีเอ็มโอที่มีอยู่แล้ว จะต้องไปจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลา 120 วันหลังจากร่าง พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้

“หลัง ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ ไปให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 1 ปี” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

สั่ง “วิษณุ” ใช้มาตรการ กม. ทวงเงิน กยศ. คืน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายเงินของกองทุนหมุนเวียนบางกองทุนที่อาจมีปัญหา เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องนักศึกษาบางคนที่กู้เงินไปแล้วยังไม่คืนเงิน จึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย รวมถึงกระทรวงการคลัง ไปหาวิธีแก้ปัญหานี้โดยข้อกฎหมาย ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกเงินกู้ กยศ. คืนจากนักศึกษาตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน เพราะยิ่งเรียกเงินกู้คืนได้น้อย ก็ยิ่งทำให้วงเงินของ กยศ. ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับนักศึกษาใหม่ๆ มีน้อยลง จนต้องไปหาแหล่งเงินอื่นมาเพิ่มเติม

“รัฐบาลมีความจำเป็นต้องทำให้ กยศ. เดินต่อไปได้ โดยที่วงเงินไม่ลดลง จึงต้องใช้วิธีทางกฎหมายนี้เพื่อเรียกเงินคืน แต่ก็มีคนบางกลุ่มไปบิดเบือนว่ารัฐบาลนี้ขัดขวางไม่ให้นักศึกษากู้เงินจาก กยศ. ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำควบคู่ไปกับการชี้แจงข้อเท็จจริง”

ตั้งคณะทำงานดึง ปชช. ร่วมลุยเมกะโปรเจกต์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุมว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่มักมีปัญหาในการดำเนินงาน จึงสั่งการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ไปพิจารณาว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงผู้ประกอบการ ด้วยหรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียของโครงการอย่างเท่าเทียมกัน

“หลายโครงการที่มีการพูดคุยเช่นนี้ตั้งแต่ต้นก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ถ้าต่างคนต่างทำ ปล่อยคาราคาซัง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหา เช่น รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่าน เพราะมีชาวบ้านออกมาคัดค้านเช่นที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้นายสมคิดไปศึกษาหาวิธีให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เกิดการพัฒนาได้ เพราะแม้จะมีสำนักงาน สสว. ระดับพื้นที่ แต่ยังมีบทบาทแค่เป็นการโฆษณาแคมเปญต่างๆ ของรัฐบาลเท่านั้น แต่การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ SMEs ยังพึ่งพาธนาคารพาณิชย์อยู่

“นายกฯ ยังขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปสำรวจด้วยว่าจำนวน SMEs ของไทยในปัจจุบันมีอยู่เท่าไร มีที่จดทะเบียนกับภาครัฐแล้วเท่าไร ยังไม่จดทะเบียนเท่าไร เกิดใหม่เป็น startup เท่าไร หรือล้มแล้วฟื้นกิจการได้เท่าไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องไว้สำหรับพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว