ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดผลงาน 8 ปี ป.ป.ช. กับ 27 คดีสำคัญ เฉลี่ยใช้เวลาชี้มูลคดีละกว่า 2 ปี คดี “พ้นมือ” แต่ขาดอายุความในชั้นศาล 3 คดี

เปิดผลงาน 8 ปี ป.ป.ช. กับ 27 คดีสำคัญ เฉลี่ยใช้เวลาชี้มูลคดีละกว่า 2 ปี คดี “พ้นมือ” แต่ขาดอายุความในชั้นศาล 3 คดี

1 มกราคม 2015


ครบรอบ 8 ปี แล้วสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2549 – 6 ตุลาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดดังกล่าวนี้เป็นคณะกรรมการชุดที่ 3 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และจะปฏิบัติงานครบวาระ 9 ปีในปี 2558

สำหรับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มักมีข้อกังวลจากสังคมถึงเรื่องความล่าช้าในการปฏิบัติงาน ซึ่งนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนยอมรับว่าการดำเนินงานมีความล่าช้า และเรื่องที่ค้างอยู่ในปัจจุบันก็มีกว่า 9,000 เรื่อง ซึ่งการดำเนินการไต่สวนในแต่ละเรื่องนั้นก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ว่ามีความพร้อม และความซับซ้อนเพียงใด อาทิ กรณีเอกสารไม่สมบูรณ์ เอกสารหาย ก็ส่งผลให้การทำงานล่าช้า

“เราดำเนินการโดยยึดหลักกฎหมาย มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ ความล่าช้าในแต่ละครั้งต้องมีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไม เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับเรื่องอายุความ”

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2012/10/24/images/news_img_475210_1.jpg
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2012/10/24/images/news_img_475210_1.jpg

ทั้งนี้ ในรอบ 8 ปี (2549-2556) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 3 สามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การ “ปิดคดี” หรือ “ชี้มูล” ในเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น 27 เรื่องดังนี้

1. กรณีกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กรณีทุจริตที่ดินคลองด่าน

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า กรณีนายวัฒนา มีมูลความผิดทางอาญา กรณีเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง มีทั้งผู้ที่มีความผิดทางวินัยและอาญา 7 ราย ผู้ที่มีความผิดทางวินัยอย่างเดียว 3 ราย และผู้ที่มีความผิดทางอาญาอย่างเดียว 1 ราย ในปี 2550

ผลการดำเนินการทางวินัย ให้ออกจากราชการ ด้านการดำเนินการทางอาญา ในปี 2554 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนายวัฒนา 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา และได้มีการออกหมายจับเนื่องจากนายวัฒนาหลบหนี

นอกจากนี้ ยังมีคดีความที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ซึ่งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องนายวัฒนาและพวก ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งศาลให้ความเห็นว่า พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ รวมทั้งให้ยกเลิกการออกหมายจับนายวัฒนาในคดีนี้ ยังคงเหลือคำตัดสินโทษจำคุก 10 ปี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินไว้ ในข้อหาใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

2. กรณีกล่าวหา นายปลอดประสพ สุรัสวดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้กับพวก สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีส่งเสือโคร่งไปจีน

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่านายปลอดประสพ และนายมานพ เลาห์ประเสริฐ มีมูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญา ในปี 2550

ผลการดำเนินการทางวินัย ไล่ออก ด้านการดำเนินการทางอาญา อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์

3. กรณีกล่าวหานายกระมล ทองธรรมชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 14 คน กรณีจ่ายเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนโดยมิชอบ

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่านายกระมลและพวก มีมูลความผิดทางอาญา เมื่อปี 2550 และได้ดำเนินการส่งฟ้องไปปี 2552 ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557 เนื่องจากพฤติการณ์ไม่มีน้ำหนักฟังได้ว่ากระทำผิด

4. กรณีกล่าวหา พลเอก นิพนธ์ ธีระพงษ์ กับพวก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมทหาร สื่อสาร สังกัดกองทัพบก กรณีทุจริตการประกวดราคาโฆษณาคลื่นวิทยุทหาร F.M. 94.5

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า พลเอก นิพนธ์ และพันเอก ชิษณุ โสพจน์ มีมูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญา ในปี 2550 การดำเนินการทางวินัยคือ ลงโทษปรับออก ด้านการดำเนินการทางอาญา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ศาลตัดพิพากษายกฟ้อง พล.อ. นิพนธ์ และนางสายทิพย์ มนตรีมาลากุล ณ อยุธยา จำเลยร่วม ด้านพ.อ.ชิษณุ ศาลวินิจฉัยแล้วว่ามีความผิดทางอาญา แต่ได้ปรับโทษเหลือเพียงการรอลงอาญา 3 ปี

5. กรณีกล่าวหานายโภคิน พลกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ กับพวก กรณีทุจริตซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิง

ป.ป.ช. รับดำเนินการต่อจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี 2551 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า กรณีนายประชา มาลีนนท์ พลตำรวจตรี อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ นายสมัคร สุนทรเวช นายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีมูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนกรณีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีความผิดทางวินัยอย่างเดียว

สำหรับการดำเนินการทางวินัย ทาง ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษแล้ว ด้านการดำเนินการทางอาญา อัยการสูงสุดได้ส่งเรื่องให้แก่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและมีผลตัดสินออกมาออกมาแล้ว โดยศาลพิพากษาให้ นายประชา และทายาทสมัคร ชดใช้ค่าเสียหาย 587 ล้านพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 ส่วนจำเลยอื่นๆ ยกฟ้อง

6. นายปรีติ เหตระกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด กรณีแก้ราคากลางถมทราย “สุวรรณภูมิ”

คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยยกคำร้องไปแล้วในปี 2545 เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ แต่มีการฟื้นคดีเนื่องจากพบหลักฐานเพิ่มเติมในปี 2550 และในปี 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายปรีติมีมูลความผิดทางอาญา และในปี 2556 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี/ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง/ปัจจุบันอยู่ระกว่างการยื่นฎีกา

7. กรณีกล่าวหา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีสั่งสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 ในปี 2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า กรณีนายสมชาย และนายชวลิต ยงใจยุทธ มีมูลความผิดทางอาญา ด้านพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว มีมูลความผิดทั้งวินัยและอาญา

ปี 2557 ทางวินัย สั่งให้ออกจากราชการ ส่วนทางอาญา มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุดแต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องการถอดถอนนั้น วุฒิสภามติไม่ถอดถอนนายสมชายออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยคะแนนเสียง 76/49 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2553

8. กรณีกล่าวหา นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี กรณีสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า นายนพดลมีมูลความผิดทางอาญา ในปี 2552

ปี 2556 ทางอาญา มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับ อัยการสูงสุดแต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปัจจุบันศาลฎีกาฯ รับเรื่องแล้ว ส่วนการถอดถอน วุฒิสภามีมติถอดถอน นายนพดลออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยคะแนนเสียง 57/55 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553

9. กรณีกล่าวหา รองศาสตราจารย์ วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับพวก กรณีทุจริตในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 ต่อมาในปี 2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของ รศ.วิโรจ และ รศ.มนตรี ค้ำชู มีมูลความผิดในทางวินัย จึงส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษแล้ว และปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย แล้ว

10. กรณีกล่าวหา พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และพันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ และติดตามประเมินผล สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรณีใช้อำนาจไม่ชอบในการตรวจสอบบัญชีการเงินของสื่อและบุคคลต่างๆ

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของพลตำรวจตรี พีรพันธุ์ และพันตำรวจเอก สีหนาท มีมูลความผิดทั้งทางวินัย และอาญา ในปี 2553

ทางวินัย ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษแล้ว แต่ไม่อาจพิจารณาลงโทษทางวินัยได้ เนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 2550 แล้ว และได้รับการอภัยโทษในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนม์พรรษา 80 พรรษา ทางอาญา อยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนของอัยการสูงสุด และปัจจุบันได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์

11. กรณีกล่าวหานายเสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีทุจริตการโอนขายที่ธรณีสงฆ์ (สนามกอล์ฟอัลไพน์)

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 กระทั่งปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายเสนาะมีมูลความผิดทางอาญา และได้ดำเนินการทางอาญา โดยตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุดแต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินว่าการฟ้องคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. “ขาดอายุความ”

12. กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีตั้งผู้บริหารบริษัททีพีไอ โดยมิชอบ

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 ในปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของ พ.ต.ท. ทักษิณ กับพวก มีมูลความผิดทางอาญา

ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการทางอาญา โดยการตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุด แต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งสำนวน

13. กรณีกล่าวหา นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยกับพวก กรณีสร้างแอร์พอร์ตลิงค์โดยมิชอบ

ในปี 2551 ป.ป.ช. รับดำเนินการกรณีดังกล่าวต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ต่อมาในปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายจิตต์สันติ และนายไกรวิชญ์ ศรีมีทรัพย์ มีมูลความผิดทั้งทางวินัยร้ายแรงและอาญา ส่วนบุคคลอื่นๆ อีก 14 ราย นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีมูลความผิดทางวินัย แต่ไม่ร้ายแรง

กรณีดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับที่มีการกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ากรณีของนายสุริยะ พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าได้กระทำความผิดในโครงการนี้ตามที่ถูกกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ด้านการดำเนินการทางวินัย ได้มีคำสั่งปลดนายจิตต์สันติและนายไกรวิชญ์ออกจากตำแหน่ง ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 14 รายได้รับโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง สำหรับการดำเนินการทางอาญาความคืบหน้าล่าสุดทราบเพียงว่า ทาง ป.ป.ช. ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีอาญา แต่ไม่มีข้อมูลความคืบหน้าของคดีความแต่อย่างใด

14. กรณีกล่าวหา ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสั่งยุติออกกาศช่อง ASTV

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาร้อยตำรวจเอก เฉลิม ตกไป เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีมูล และกรณีนายสมัคร ที่ถึงแก่ความตายแล้วจึงยุติการไต่สวน ในปี 2554

15. กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการออกมติฟื้นฟู รฟท.

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามติคณะรัฐมตรีดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใด จึงสรุปได้ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ในปี 2554

16. กรณีกล่าวหา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการตั้งกรรมการสรรหาบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสุรพงษ์นั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีมูลความผิดทางอาญา

ในการดำเนินการทางอาญา ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุดแต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานคดี

17. กรณีกล่าวหา นายภูมิธรรม เวชยชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และสภากรรมการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาในปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้ว มีมติว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

18. กรณีกล่าวหา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก กรณีทุจริตแทรกแซงราคายาง

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปี 2554 เห็นว่ากรณีของนายจุรินทร์ จากการตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วพบว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป ส่วนกรณีของนายชัชวาลย์ สุกิจจวนิช คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นว่าผิดวินัยร้ายแรง แต่เนื่องจากนายชัชวาลย์ได้พ้นจากตำแหน่งการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปเกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงมีมติให้ยุติหยุดการไต่สวน

19. กรณีกล่าวหา ส.ส. พรรคเพื่อไทย และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณี ส.ส. เพื่อไทยรับของขวัญปีใหม่เกิน 3,000 บาท และ กรณีนายสุเทพ กับพวก และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 จากการไต่สวน กรณีข้อกล่าวหา ส.ส. พรรคเพื่อไทย คณะกรรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป ส่วนกรณีของนายสุเทพกับพวก และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป ในปี 2554

20. กรณีกล่าวหา นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม กรณีร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 และในปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่านายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ เป็นเงินจำนวน 17,555,000 บาท และทองคำรูปพรรณน้ำหนัก 10 บาท ที่คนร้ายนำเงินจากการปล้นทรัพย์ไปซื้อ และเงินส่วนหนึ่งไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.

ได้มีการดำเนินการทางแพ่ง โดยการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน มูลค่า 46 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการทางอาญาทางอาญา ยังคงอยู่ระหว่างการไต่สวน

21. กรณีกล่าวหา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีทุจริตที่ธรณีสงฆ์ (สนามกอล์ฟอัลไพน์)

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 ต่อมาในปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากาการไต่สวนแล้วมีมติว่า นายยงยุทธมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ในการดำเนินการทางแพ่ง ทาง ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแล้ว สำหรับการดำเนินการทางอาญา ตามข้อมูลระบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดแล้ว

22. กรณีกล่าวหา นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส. (2554-2549) กรณีร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

ทาง ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหา และไม่เป็นการจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป ในปี 2555

23. กรณีกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง กรณีขอถอดถอนเนื่องจากมีการแทรกแซงการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วการกระทำของนายอภิสิทธิ์เป็นไปตามหน้าที่ และไม่มีส่วนรู้เห็นกับนายสุเทพแต่อย่างใด ส่วนนายสุเทพ มีการเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมจริง จึงดำเนินการส่งเรื่องให้สมาชิกวุฒิสภาทำการถอดถอน ซึ่งวุฒิสภามีมติ 95/40 เสียง ไม่ถอดถอนนายสุเทพ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2555

24. กรณีกล่าวหา นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับพวก รวม 10 คน กรณีขายทรัพย์สินองค์กรเพื่อปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.)

กรณีดังกล่าว ป.ป.ช. รับดำเนินการต่อจากกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาในปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพบว่า กรณีของนายมนตรี เจนวิทย์การ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปรส. มีมูลความผิดทางวินัยและอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนนานธารินทร์ นางวชิรา ณ ระนอง ผู้ช่วยเลขาธิการ ปรส. และคนอื่นๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ในการดำเนินการทางวินัย ได้มีการส่งรายงาน เอกสาร และความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษแล้ว สำหรับการดำเนินการทางอาญา ทาง ป.ป.ช. ได้ทำการส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งฟ้องแล้ว แต่ไม่สามารถทำการฟ้องคดีต่อได้เนื่องจากคดีดังกล่าวได้ “หมดอายุความ” ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

25. กรณีกล่าวหา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กับพวก กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม

เมื่อปี 2551 ป.ป.ช. รับการดำเนินงานในคดีดังกล่าวมาจาก คตส. ซึ่งในปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนมีมติว่าการกระทำของนายสุรพงษ์ นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ว่ามีความผิดทางอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และกรณีของนายไกรสรและนายไชยยันต์ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง

การดำเนินการทางวินัย ป.ป.ช. ได้ทำการส่งรายงาน เอกสาร และความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษแล้ว ด้านการดำเนินการทางอาญา ป.ป.ช. ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับ อัยการสูงสุดแต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานคดี

26. กรณีกล่าวหา นายอมเรศ ศิลาอ่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานองค์กรเพื่อการการปฏิรูปสถาบันการเงิน กับพวก กรณีขายทรัพย์สินองค์กรเพื่อปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.)

ป.ป.ช. รับมอบคดีดังกล่าวต่อจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในปี 2556 มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปออกมาว่านายมนตรี เจนวิทย์การ มีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนข้อกล่าวหาของนายอมเรศตกไป เนื่องจากพบว่าเป็นการดำเนินการของนายมนตรีเพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการทางวินัย โดย ป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษแล้ว สำหรับการดำเนินการทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งฟ้อง เช่นกันกับกรณีกล่าวหานายธารินทร์ ที่ไม่สามารถทำการฟ้องคดีต่อได้เนื่องจากคดีดังกล่าวได้ “หมดอายุความ” ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

27. กรณีกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก กรณีเบิกงบหลวงไปงานกฐิน

ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนมีมติว่า กรณีของคุณหญิงจารุวรรณ มีมูลความผิดทางอาญา กรณีของนายคัมภีร์ สมใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีมูลความผิดทางวินัยและอาญา กรณีของนางสาววิไลลักษณ์ ลีลาวชิโรภาส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

การดำเนินการทางวินัย ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาของนายคัมภีร์เพื่อพิจารณาโทษแล้ว ด้านการดำเนินการทางอาญา ขณะนี้อัยการสูงสุดได้ดำเนินการสั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว

จากข้อมูลคดีข้างต้นจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้เวลาในการพิจาณาเรื่องกล่าวหาแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความซับซ้อนของแต่ละเรื่อง แต่โดยเฉลี่ยแล้วตลอดระยะเวลา 8 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้เวลาเฉลี่ยในการไต่สวน จนถึงชี้มูลตั้งข้อกล่าวหา หรือมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปราว 2 ปีกว่า มีเรื่องที่ชี้มูลแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อในชั้นศาลได้เนื่องจากคดี “ขาดอายุความ” จำนวน 3 เรื่อง