ThaiPublica > คนในข่าว > “นพดล” นิยามการทูตแบบ “แม้วๆ” 4 จุดคลิ๊ก “สหายตลอดกาล”

“นพดล” นิยามการทูตแบบ “แม้วๆ” 4 จุดคลิ๊ก “สหายตลอดกาล”

26 กันยายน 2011


“นพดล ปัทมะ” อดีตรมว. ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ ที่เพิ่งได้เหรียญอิสริยายศแคปดิ การบริหารด้านมนุษยชน จากผู้นำกัมพูชา
“นพดล ปัทมะ” อดีตรมว. ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ ที่เพิ่งได้เหรียญอิสริยายศแคปดิ การบริหารด้านมนุษยนชน จากผู้นำกัมพูชา

“อาจจะเป็นสไตล์ส่วนตัว และอาจจะเป็นเคมิสทรี สารเคมีในร่างกายตรงกัน… ต่างคนต่างมาจากพื้นฐานรากหญ้า และกลางล่าง ไม่ใช่ตัวแทนของชนชั้นสูง เพราะพรรคซีซีพี (พรรคประชาชนกัมพูชา) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน กับพรรคพลังประชาชนก็คล้ายๆ กัน”

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา พลิกจาก “หลังมือ” เป็น “หน้ามือ” หลัง “รัฐบาลโคลนนิ่ง” เข้าบริหารราชการแผ่นดิน

จาก “บาดหมาง” เปลี่ยนเป็น “ชื่นมื่น”

จากเคย “เปิดวิวาทะ” ข้ามวันข้ามคืน กลายเป็น “หยอดคำหวาน” ข้ามพรหมแดน

15 กันยายน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศกัมพูชา เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่าบรรยากาศอบอวลไปด้วยความอบอุ่น

17 กันยายน สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิด “พระราชวังสันติภาพ” อันเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลางกรุงพนมเปญ ต้อนรับ “สหายตลอดกาล” นาม “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

24 กันยายน “ทีมเรดพีซ” ประกอบด้วยส.ส. พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำคนเสื้อแดง จัดแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับส.ส. กัมพูชา

ในวันที่เสียงปืนสงบ มีเสียงทักจากบางคน-บางฝ่าย-บางพวกว่า “ใคร” เป็นคนสั่ง “ลั่นไก” จนเกิดสงครามบนพื้นที่สีเทา-พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรในช่วงปลายปี 2553 – ต้นปี 2554 ภายใต้ความมุ่งหมายแปร “สนามรบ” เป็น “สนามการเมือง”?

จึงได้เวลาที่ “นพดล ปัทมะ” อดีตรมว. ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ ที่เพิ่งได้เหรียญอิสริยายศแคปดิ การบริหารด้านมนุษยชน จากมือ “ผู้นำกัมพูชา” มาหมาดๆ จะออกมาอรรถาธิบายการกู้วิกฤตชาติด้วยการทูตแบบ “ทักษิณ”

ไทยพับลิก้า : ช่วยนิยามคำว่า “การทูตแบบทักษิณ” ว่าหมายถึงอะไร

ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากการทูตทั่วไป คือความสัมพันธ์ทางบุคคลมันต้องมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทูตต่างประเทศ หรือการทูตแบบท่านทักษิณ เช่น ระหว่างมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่ 49 ) กับโรนัลด์ เรแกน (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 40 ) ระหว่าง เฮโรลด์ แมคมิลแลน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่ 44 ) กับจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 35 ) หรือระหว่างวินสตัน เชอร์ชิลล์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่ 41 ) กับ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (ประธานาธิบดี คนที่ 32 ) มันเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ในยุคต่างๆ ความสัมพันธ์ส่วนตัวถือว่ามีความสำคัญ เพราะช่วยให้การเจรจา การสร้างความสัมพันธ์ ทำได้ดีขึ้น อยู่ที่ว่าคุณจะเอาความสัมพันธ์ไปทำอะไร เอาไปสร้างความมั่งคั่งส่วนครอบครัว ส่วนตัวหรือเปล่า หรือคุณทำเพื่อประเทศ

อย่างที่มีคนพยายามบอกว่าท่านอดีตนายกฯ ทักษิณไปได้สัมปทานน้ำมันและแก๊ส เกี้ยเซี้ยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน (นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) อย่างนี้ ผมเคยเสนอให้รางวัล 20 ล้านบาทแก่คนที่มีหลักฐานว่าพ.ต.ท. ทักษิณได้สัญญาสัมปทานน้ำมันและแก๊ส พร้อมยกสัมปทานให้ด้วย ก็ไม่มี คือเขาพยายามดิสเครดิตว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่จริงๆ มันไม่มี

ไทยพับลิก้า : เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกลายเป็นข้อกล่าวหาติดตัวพ.ต.ท. ทักษิณ พอขยับทำอะไรที ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า

เขาพยายามพูดซ้ำๆ จนเรื่องเท็จกลายเป็นเรื่องน่าเชื่อ แล้วพอเสนอยกสัมปทานให้ ยกเงินให้ด้วย 20 ล้านบาท ทำไมไม่เห็นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เอาหลักฐานออกมาแสดงได้ ฝ่ายโจมตีก็โจมตีไป ผมมีหน้าที่ก็ชี้แจงไป ก่อนเลือกตั้งคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าปชป.) เขียนในเฟซบุ๊คว่าจะเลือกพรรคที่ปกป้องดินแดน หรือเลือกพรรคที่แน่นแฟ้นกับฮุน เซน และบอกให้เลือกเด็ดขาดไปเลย ประชาชนก็ตอบสนองคุณอภิสิทธิ์โดยเลือกพท. เด็ดขาด ผมว่าประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนตัดสิน

ไทยพับลิก้า : สามารถเคลมได้ว่า 15.7 ล้านเสียงที่โหวตให้พท. ตัดสินแล้วว่าต้องการพรรคที่แน่นแฟ้นกับสมเด็จฯ ฮุน เซน

คือ… อันนั้นเป็นสมมุติฐานของคุณอภิสิทธิ์ เรายอมรับว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ถามว่าความสัมพันธ์ที่ดี เราเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัวหรือไม่ มันไม่มี

ไทยพับลิก้า : คุณนพดลเขียนในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 13 กันยายนว่า “สงสัยทหารไทย-กัมพูชาต้องใช้น้ำมันมาชโลมปืน เพราะจะไม่มีกระสุนออกจากปากกระบอกปืน…” เป็นเพราะได้สัญญาณพิเศษจากกัมพูชาหรือไม่ เพราะเป็นวันเดียวกับที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ยกย่องพ.ต.ท. ทักษิณเป็นมิตรแท้

เปล่าฮะ ผมกำลังจะบอกว่าต่อไปจะไม่มีการยิงกันตามแนวชายแดน จะมีสันติภาพ สนามรบจะเปลี่ยนเป็นสนามการค้า พี่น้องจะไปมาหาสู่กัน เราอยากสร้างสันติภาพมากกว่าทำให้เกิดความตึงเครียด เราอยากทำให้แตกต่างจากคุณอภิสิทธิ์โดยสิ้นเชิง อย่าเข้าใจว่าต้องมีสงคราม ถึงจะแปลว่าปกป้องดินแดน อย่าเข้าใจว่าต้องทะเลาะกัน จึงจะถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ไทยพับลิก้า : ทุกครั้งที่ไทยต้องประกาศรบ หรือพักรบกับกัมพูชา พ.ต.ท. ทักษิณมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน

(ตอบสวนทันควัน) ไม่มีเลย ไม่เกี่ยวข้องเลย พ.ต.ท. ทักษิณไปสั่งสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้รบกับไทยไม่ได้ และไม่ทำ ไม่มีวันที่จะทำเด็ดขาด แต่คุณไปสร้างความหวาดระแวง ไปเลือกเอาคนไปด่าพ่อล่อแม่เขามาเป็น รมว.ต่างประเทศ ก็คาดหมายได้อยู่แล้วว่าความสัมพันธ์มันจะไม่ราบเรียบ ขณะเดียวกัน ปากคุณบอกจะยกเลิกเอ็มโอยู (บันทึกความร่วมมือไทย-กัมพูชา) ปี 2544 แต่ก็ส่งคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี) ไปเจรจากับเขาเรื่องน้ำมัน

ไทยพับลิก้า : การที่ภาพความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดีขึ้นอย่างฉับพลันหลังเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ปชป. ตั้งข้อสังเกตว่าสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต มีเงาพ.ต.ท. ทักษิณอยู่ข้างหลังหรือเปล่า

ไม่มี ถ้าใครก็ตามไปบอกให้เขมรรบกับไทยเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เลวที่สุด (พูดสีหน้าเรียบเฉย) พ.ต.ท. ทักษิณไม่ใช่คนเช่นนั้น ไม่เคยคิดจะทำ และไม่ได้ทำเด็ดขาด คุณบริหารประเทศในช่วงนั้น คุณสร้างความไม่ไว้วางใจเอง คุณส่งทหารเข้าไป และมีการยิงกัน มันเป็นความตึงเครียดที่เกิดจากการบริหารประเทศของคุณ อย่ามาโยนความผิดให้พ.ต.ท. ทักษิณ คนดีชอบแก้ไข…

ไทยพับลิก้า : ยืนยันว่าพ.ต.ท. ทักษิณไม่เคยแปรสนามการค้าเป็นสนามรบ หรือใช้สนามรบเป็นสนามการเมืองของตัวเอง

ไม่มี ไม่ได้ทำเด็ดขาด เพราะคนเป็นอดีตนายกฯ ที่รักประเทศไทย มีนโยบายช่วยคนยากจน ไม่มีวันจะคิดอะไรชั่วๆ อย่างนั้น และการต่อสู้ของพวกเรา ก็สู้โดยให้ประชาชนเลือก

ไทยพับลิก้า : ช่วยอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพ.ต.ท. ทักษิณกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ว่า อะไรทำให้ผู้นำกัมพูชากล้าประกาศให้โลกรู้ว่าพ.ต.ท. ทักษิณคือมิตรแท้ มิตรรัก

ความจริงพ.ต.ท. ทักษิณเป็นมิตรรักของผู้นำหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ส่วนกับสมเด็จฯ ฮุน เซน อาจเป็นเพราะ 1. ทำงานร่วมกันมา 5 ปี ในช่วงที่เป็นนายกฯ ความสัมพันธ์ก็ยาวนาน และ 2. เขาเห็นใจที่พ.ต.ท. ทักษิณถูกกระทำ เพราะสมเด็จฯ ฮุน เซน ก็มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ปฏิวัติมา เขาก็เห็นอกเห็นใจ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่พัฒนาความสัมพันธ์กันมา ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์อะไรเล้ย (เสียงสูง) คนชอบไปมอง

ไทยพับลิก้า : สมเด็จฯ ฮุน เซนเป็นนายกฯ กัมพูชามายาวนาน ผ่านการร่วมงานกับผู้นำหลายคน แต่ไม่เคยยกย่องผู้นำชาติไหนเป็นเพื่อนรัก เพื่อนแท้ เพื่อนตาย

แต่นายกฯ ไทยที่อยู่ยาวมีไม่กี่ท่าน มีพล.อ. เปรม (ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) อยู่ 8 ปี แต่ผมไม่แน่ใจว่าสมัยนั้นสมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นนายกฯ หรือยังนะ ส่วนระยะหลังๆ ก็มีนายกฯ ทักษิณที่อยู่ยาว 5 ปี ทำงานร่วมกัน ปีๆ หนึ่งต้องเจอกันไม่รู้กี่ครั้ง และบางทีมันชอบพอกัน

ไทยพับลิก้า : อะไรคือจุดคลิกระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณกับสมเด็จฯฮุน เซน

ผมคิดว่าอาจจะเป็นสไตล์ส่วนตัวด้วย และอาจจะเป็นเคมิสทรี สารเคมีในร่างกายตรงกัน มันต้องมีบางสิ่งตรงกัน คือ 1. ทั้ง 2 คนมาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน 2.ทุ่มเททำงานให้ประชาชนเหมือนกัน 3.มีภาวะผู้นำสูงเหมือนกัน และ 4. ต่างคนต่างมาจากพื้นฐานรากหญ้า และกลางล่าง ไม่ใช่ตัวแทนของชนชั้นสูง เพราะพรรคซีซีพี (พรรคประชาชนกัมพูชา) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน กับพรรคพลังประชาชนก็คล้ายๆ กัน

ไทยพับลิก้า : การที่ พ.ต.ท. ทักษิณมีเพื่อนเป็นผู้นำและนักธุรกิจหลายประเทศ จะถือว่าเป็นทูตของรัฐบาลไทยได้หรือไม่

คือ… ไปเรียกว่าทูตอาจจะไม่ตรงนัก เพราะท่านขอเป็นแค่คนไทยคนหนึ่ง ที่ช่วยอะไรประเทศไทยได้ก็ช่วย แต่ไม่ประสงค์จะเป็นทูต หรือเป็นอะไร แม้จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ก็ช่วยในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งเกี่ยวกับโอกาสด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ

ไทยพับลิก้า : เวลาผู้แทนรัฐบาล หรือนักธุรกิจต่างชาติมาเจรจากับ พ.ต.ท. ทักษิณ เขารู้สึกหรือไม่ว่ามีผลต่อรัฐบาล

เอ่อ… อยู่ที่ว่าเจรจาเรื่องอะไร หากมาเจรจางานที่ควรได้จากรัฐบาลผ่าน พ.ต.ท. ทักษิณ อาจจะไม่เหมาะ เช่น จะมาประมูลรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วให้ท่านช่วยคุย อย่างนี้อาจจะไม่เหมาะ แต่ถ้าจะไปทำธุรกิจกับ พ.ต.ท. ทักษิณที่แอฟริกา เกี่ยวกับเรื่องเหมือง มันก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับรัฐบาล ดังนั้นต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป

ไทยพับลิก้า : ไม่เหมาะ แต่ถือเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของรัฐบาลหรือไม่

ไม่เหมาะ และไม่ควรทำไง อะไรที่เป็นเรื่องของรัฐบาล ก็ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐจะไปคุยกับทางผู้รับเหมาโดยตรง ท่านไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง

“นพดล ปัทมะ” อดีตรมว. ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ
“นพดล ปัทมะ” อดีตรมว. ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ

ไทยพับลิก้า : ยืนยันว่า พ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้เล่นบททูตรัฐบาลน้องสาว ทั้งในทางลับและทางแจ้ง

เอ่อ… ไม่มี สาเหตุที่ไม่มี เพราะว่าท่านไม่จำเป็นต้องไปกินคอมมิชชั่นอะไรแล้ว เงินทองแม้ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาท ก็ยังพอมี เดี๋ยวอีกหน่อย การลงทุนในแอฟริกาจะมีมูลค่าเยอะ ดังนั้นความมั่งคั่งท่านจะไปทำที่อื่น สังเกตดูสิ ไม่ค่อยมีลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเราเลย

ไทยพับลิก้า : ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการนำนโยบายด้านการต่างประเทศไปผูกติดกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณมากเกินไปหรือเปล่า

รมว. ต่างประเทศไม่ใช่รัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล ไม่เหมือนสหรัฐฯ หรืออังกฤษที่รมว. ต่างประเทศเขาสำคัญแทบจะลำดับ 1 หรือ 2 แต่ประเทศเรา ถ้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน รวมถึงประชาคมอาเซียนให้ได้เร็วที่สุด มีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ เท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องไทย-กัมพูชาถูกนำมาทิ่มแทงกันอย่างมากในทางการเมือง เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก และประชาชนสนับสนุนฝ่ายไหน

ไทยพับลิก้า : จริงๆ แล้วเป็นเรื่องถูกหรือผิด ที่รัฐบาลปชป. มีนโยบายไล่ล่าพ.ต.ท. ทักษิณ พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพท. ก็ชัดเจนว่าต้องเยียวยา อำนวยความสะดวกให้ ถึงขั้นอาจคืนหนังสือเดินทางทางการทูต (พาสปอร์ตแดง) ให้

ฝ่ายปชป. ก็ชัดเจนว่าไล่ล่าจริง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขนาดไล่ล่าเต็มที่แล้ว ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถจับได้ พอเปลี่ยนรัฐบาล เราไม่เห็นต้องไปอำนวยความสะดวกอะไรเลย รัฐบาลนี้ทำตามกฎหมายคือ ถ้าตำรวจ หรืออัยการมีหน้าที่ตาม ก็ตามไปสิ ดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ารัฐบาลไปขัดขวางจะถูกมองว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าเราไม่ขัดขวาง ยกตัวอย่างง่ายๆ พ.ต.ท. ทักษิณไปกัมพูชาเนี่ย คุณต้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ใช้เวลาเป็นเดือนนะกว่าจะตัดสิน แม้ขอตัวไป แล้วกัมพูชาบอกว่าเรื่องนี้เป็นคดีการเมืองที่จะไม่ส่งตัว ดังนั้นแม้คุณขอไป ก็ขึ้นอยู่กับประเทศที่พ.ต.ท. ทักษิณอยู่ด้วยว่าเขาจะส่งตัวให้ไหม

ไทยพับลิก้า : แต่มุมมองของพท. กับปชป. เรื่องสถานะของ พ.ต.ท. ทักษิณแตกต่างกันมาก โดยคนพท. ที่รู้ถิ่นพำนักของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่มีใครทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน มีแต่แห่กันไปสวัสดีในฐานะเจ้านายและผู้ใหญ่ที่เคารพ

ที่อยู่พ.ต.ท. ทักษิณก็รู้ทั้งปชป. และพท.

ไทยพับลิก้า : แต่ถ้าพูดถึงความตั้งใจในการเอาตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย

ก็ยูเออี (ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เขาก็ไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี่ ขนาดคนเป็นคู่แข่ง หายใจเข้าหายใจออกอยากจะกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณยังทำไม่สำเร็จเลย แล้วรัฐบาลนี้จะทำสำเร็จไหมล่ะ

ไทยพับลิก้า : ซึ่งหายใจเข้าหายใจออกเป็นพ.ต.ท. ทักษิณเหมือนกัน แต่เป็นแบบเทิดทูน

ผมยกตัวอย่าง ขนาดคนที่เป็นฝ่ายไล่ล่ายังทำไม่สำเร็จเลย แล้วเรา… คือ… มันจะห้ามความรู้สึก ความรัก ความผูกพัน ก็ไม่ได้ มันเป็นสิทธิของเรา ส่วนหน่วยงานรัฐบาลทำไปเถอะ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : ทุกวันนี้ พ.ต.ท. ทักษิณใช้พาสปอร์ตมอนเตเนโกรในการเดินทางไปไหนมาไหนเป็นหลัก

ใช่ครับ ส่วนนิการากัวไม่ใช้ แต่มีอยู่

ไทยพับลิก้า : สามารถกล่าวได้หรือไม่ว่าประเทศที่อนุญาตให้ พ.ต.ท. ทักษิณเดินทางเข้า-ออกอย่างเปิดเผย มองว่าคดีของพ.ต.ท. ทักษิณเป็นคดีการเมือง

หลายประเทศเขาก็คิดอย่างนั้น เพราะมันเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจ โดยเฉพาะคดีที่ดินรัชดา เพราะมันขัดหลักนิติธรรม เขาเรียกว่านิติธรรมต้นน้ำ ที่เอาคนเป็นปฏิปักษ์มาสืบสวนสอบสวน

ไทยพับลิก้า : พอระบุได้หรือไม่ว่าใน 176 ประเทศทั่วโลก มีกี่ประเทศที่คิดว่าคดีพ.ต.ท. ทักษิณเป็นคดีการเมือง

โอ้ย! อันนี้ผมไม่สามารถตอบได้ เพราะบางประเทศก็ไม่ได้เดินทางไป

ไทยพับลิก้า : การที่ พ.ต.ท. ทักษิณยังมีเรตติ้งสูงในหมู่คนรากหญ้า และกลับมามีอำนาจรัฐอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ทำให้มือที่มองไม่เห็น ยังพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบอยู่หรือไม่

เป็นความหวังที่เขายังทำอยู่ ใช่ เขายังไม่ลด ละ เลิก แม้จะช่วงเข้าพรรษาก็ตาม คือพยายามขจัด พ.ต.ท. ทักษิณทุกวิถีทาง แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ผมคิดว่าฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณและคนเสื้อแดงก็รู้ มันรู้กำลังซึ่งกันและกัน คิดทันกัน ดังนั้นการเตรียมการรับมือ เรารู้อยู่ แต่เราจะไม่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่ 2 ฝ่ายจะเปิดเจรจากัน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลก จบได้ด้วยการเจรจา

ผมว่าก็เป็นไปได้ ความจริงควรจะคุยกันว่าเราแฮปปี้ (มีความสุข) อยู่ตรงไหน ความคาดหมายของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร เราชอบไม่ชอบอะไร การคุยกันเป็นสิ่งที่ดี ผมอยากเห็นนะ ผมไม่ชอบถือปืนอยู่ตลอดเวลา ผมก็อยากมอบช่อดอกไม้ซึ่งกันและกันบ้าง ถ้ามอบดอกไม้ให้กันไม่ได้ อย่างน้อยก็ทำตามกฎกติกาที่มีอยู่ ผมว่าอย่างนี้น่าจะเป็นไปได้มากกว่าไปเกี้ยเซี้ยกัน หรือมารักกัน มาจูบปากกัน ขอว่าแค่เดินผ่านกันแล้วไม่เหยียบเท้ากันก็พอ

ไทยพับลิก้า : พ.ต.ท. ทักษิณเคยยอมรับว่าความผิดพลาดของชีวิต เกิดจากไปเหยียบเท้าคนระหว่างทางเข้าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจุดพอใจของอำมาตย์ กับ พ.ต.ท. ทักษิณอยู่ตรงไหน ถึงจะทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้

เอาว่าเรามาดูว่าในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้น เราจะเยียวยา คืนความเป็นธรรมให้แต่ละฝ่ายอย่างไร ในอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร บทบาทของทหารจะเป็นอย่างไร รัฐบาลพลเรือนอยู่อย่างไร บทบาทของตุลาการในคดีความต่างๆ จะเป็นอย่างไร การตัดสินคดีที่ค้านสายตาประชาชน มันไม่ควรมีต่อไป เรื่องสถาบัน การจาบจ้วงก็ต้องยุติ ผมว่าต้องดูรวมทุกอย่าง

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าหากจะมีวงเจรจาเกิดขึ้น ควรมีตัวแทนจากฝ่ายทหาร รัฐบาล ตุลาการ และผู้แทนสถาบัน

เปล่าๆ ผมไม่สามารถให้ความเห็นว่าการเจรจาจะประกอบด้วยใครบ้าง เพราะสถาบันต้องยกไว้เหนือหัว เหนือการเมือง ส่วนคนอื่นๆ จะเป็นใครบ้าง ต้องเป็นแบบนอกรอบน่ะ ไม่ใช่คณะกรรมการปรองดอง แต่เป็นการคุยนอกรอบ สานเสวนา แลกเปลี่ยนความเห็นกัน มันก็จะพอรู้ว่ามือที่มองไม่เห็นเป็นใคร

ไทยพับลิก้า : ท้ายที่สุดหาก พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งเปรียบเสมือนทูตรัฐบาล ไปเจรจากับคนได้ทั่วโลก แต่ไม่สามารถเจรจากับคนในประเทศเพื่อยุติความขัดแย้งได้ภายในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” อันนี้สะท้อนอะไร

คงไม่สะท้อนอะไร เราคงไม่ไปทำอะไรที่ข่มขู่ใคร เราได้แต่ขอความเห็นใจว่าทำเพื่อประชาชน ปรองดองเร็วที่สุด บ้านเมืองนิ่งที่สุด มันก็ดีที่สุด แต่ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ คงไม่สามารถเอาต่างประเทศมากดดันได้หรอก ประเทศอื่นเขาไม่มาแทรกแซงกิจการประเทศอื่นหรอก วันนี้รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศ ก็บริหารให้ดีที่สุด ถ้าทำได้ตามที่พูดไว้ โอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าก็สูง เพราะเราอยู่ในที่นั่งคนขับ ปชป. อยู่ที่นั่งผู้โดยสาร ดังนั้นโอกาสที่เราจะเลี้ยวรถไปซ้ายไปขวาตามนโยบายที่เราทำเนี่ย มันได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำไม่ดี เราก็จะมีชะตากรรมเดียวกับปชป. ประชาชนก็จะไม่สนับสนุน

ไทยพับลิก้า : แล้วถ้าผู้โดยสารเอาปืนมาจี้หัวคนขับล่ะ

(อมยิ้ม) ก็หวังว่าจะไม่มีคนเอาปืนมาจี้ อยู่ที่เราน่ะ ถ้าเราเป็นคนขับที่จิบเบียร์ไปด้วย เมาจนจะพาผู้โดยสารตกถนน หรือโกงเงินผู้โดยสาร เราอาจสร้างเงื่อนไขเสียเอง แต่เราจะไม่ทำ ถ้าเราขับรถบนถนนอย่างปลอดภัย แล้วมีคนเอาปืนมาจี้หัวคนขับ ไอ้คนที่เอาปืนมาจี้หัวคนขับ ก็ระวังผู้โดยสารคนอื่นแล้วกัน

ไทยพับลิก้า : เท่าที่ดูโชว์เฟอร์หญิงจะขับได้ดีหรือไม่

ก็ต้องขับให้ดีนะ ผู้โดยสารจะได้แฮปปี้

ไทยพับลิก้า : แค่ 49 วันได้ใบขับขี่แล้ว จะขับรถแข็งหรือเปล่า

(ยิ้มกว้าง) เราพูดแทนตัวเองไม่ได้ ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ 49 วันแค่ช่วงเลือกตั้ง แต่การทำงานต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่ผมคิดว่านายกฯ ทำได้ เพราะมีประสบการณ์บริหารองค์กรขนาดใหญ่ และเป็นคนพูดจานุ่มนวล น่าจะไปได้ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

มุมเหมือน “แมนเดล่า” มุมต่าง “ลี กวน ยู”

หลังพลัดหล่นจากอำนาจกลางมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากถูก “ปฏิวัติข้ามประเทศ” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

“พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ก็ระหกระเหเร่ร่อนอยู่ต่างแดน ย้ายถิ่นพำนักหลายแห่ง นั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเดินทางไปพบปะผู้คนทั่วโลก

ส่วนหนึ่งเพื่อแสวงหาช่องทางธุรกิจ

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเพื่อดิ้นหาช่องทางต่อสู้ทางการเมือง

แม้มีโอกาสผ่าน-พบ “ผู้นำ” หลายประเทศ แต่ “นพดล ปัทมะ” ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณ ยืนยันว่า “ผู้นำพเนจร” ไม่เคยคิดอยากเป็น-อยากเหมือนผู้นำชาติไหน

“พ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้อยากเป็นอะไร ท่านก็เป็นนายกฯ ไม่ได้คิดอยากเป็นประธานาธิบดี อย่างที่ท่านไปเยี่ยมเนลสัน แมนเดลา (ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้คนแรก) เพราะอยากดูเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง แต่บางคนไปมองว่าท่านอยากเป็นประธานาธิบดี นั่นก็เกินเหตุ ท่านเพียงแต่ชื่นชมในแง่การต่อสู้เพื่อให้ได้รับเสรีภาพและความเป็นธรรม และชอบที่เอากีฬารักบี้มาเชื่อมระหว่างคนขาวและคนดำ ทำให้เกิดความปรองดอง นี่เป็นความชื่นชม แต่ไม่ใช่อยากเป็นประธานาธิบดี เพราะท่านจงรักภักดีต่อสถาบัน”

หากไม่นับความต่างในเรื่องรูปแบบการปกครองของ 2 ประเทศ หลายคนมองว่า “พ.ต.ท. ทักษิณ” มีส่วนคล้ายคลึง “แมนเดล่า” บุคคลที่ถือเป็น “สัญลักษณ์แห่งแอฟริกาใต้-ผู้นำที่ประชาชนรักมากที่สุด”

“นพดล” เป็นหนึ่งในบุคคลที่เห็นว่า “ผู้นำทั้ง 2 คน” มีส่วนคล้ายกันในแง่การเป็นขวัญใจชาวรากหญ้าเหมือนกัน และถูกกระทำทางการเมืองเหมือนกัน

ส่วน “นายใหญ่” จัดเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมืองของไทย” หรือไม่ เขางดออกความเห็น โดยปล่อยให้เป็นเรื่องที่ “คนนอก” จะมอง

ทว่าใน “ความเหมือน” มี “ความต่าง” เพราะปัจจุบัน “อดีตผู้นำแอฟริกาใต้” วัย 93 ปีใช้ชีวิตอย่างอิสระภายในบ้านเกิด แต่ “อดีตผู้นำไทย” วัย 62 ปี ยังรอนแรมอยู่ต่างแดน

“แมนเดล่า กับพ.ต.ท. ทักษิณอายุห่างกันเกือบ 30 ปี เราก็ไม่รู้ว่าอีก 30 ปี พ.ต.ท. ทักษิณจะอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ ณ อายุ 62 ปี แมนเดลายังอยู่ในคุก ยังไม่มีเครื่องบินส่วนตัวบินไปโน่นไปนี่” ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพ.ต.ท. ทักษิณกล่าว

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปเยี่ยมเนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้คนแรก ภาพจากพ..ต.ท ทักษิณ ชินวัตรที่ให้นายนพดลเผยแพร่ในเว็บไซต์ปี 2552
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปเยี่ยม"เนลสัน แมนเดลา" ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้คนแรก ภาพจากพ..ต.ท ทักษิณ ชินวัตรที่ให้นายนพดลเผยแพร่ในเว็บไซต์ปี 2552

แม้จะรู้ว่าลึกๆ ในใจ “นาย” ต้องการกลับบ้านเกิดมากแค่ไหน

ในวัน-เวลาที่ “โอกาส” ของ “พ.ต.ท. ทักษิณ” ยังมาไม่ถึง หลายเสียงแนะให้อดีตนายกฯ-อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยุติการเคลื่อนไหว “หน้าฉาก” แล้วปรับบทบาทไปสู่การเป็นที่ปรึกษา “หลังฉาก” เหมือนที่ “ลี กวน ยู” อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทำ

ทว่า “นพดล” กลับเห็นแย้ง

“ต้องยอมรับว่าพ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งอะไรนะ แต่อดีตผู้นำสิงคโปร์ยังไปมีตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสของครม. ของลูกชาย ยังทำการเมืองแบบเดย์ ทู เดย์ อยู่ และเทียบกันไม่ได้ในแง่ว่าลี กวน ยู อยู่มา 31 ปี ส่วนพ.ต.ท. ทักษิณอยู่มา 5 ปี ตอนนี้ถามว่าพ.ต.ท. ทักษิณหยุดไหม ท่านถือว่าท่านยังถูกกระทำอยู่ คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรม ซึ่งการที่ประชาชนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย (พท.) คงเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจพ.ต.ท. ทักษิณไม่น้อย”

“การเมืองเรื่องนี้ ต้องมองในบริบทที่ว่า ลี กวน ยูไม่เคยถูกยึดอำนาจ ไม่เคยถูกยึดทรัพย์ ไม่เคยถูกปฏิปักษ์สอบสวนคดี ไม่มีถึงขนาดไปยุบพรรคของนายกฯ ลี กวน ยู ไม่ถึงขนาดต้องหย่ากับมาดามกวา กว๊อก ชู ภริยา อะไรต่างๆ ดังนั้นผมว่าบริบทมันต่างกันเยอะ”

ส่วนบริบทหนึ่งที่อดีตนายกฯ ไทย-สิงคโปร์เหมือนกัน หนีไม่พ้น การครองเสียงข้างมากในสภา จนถูกครหาว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา”

แต่ “ลี กวน ยู” ผ่านช่วงนั้นมาได้ และก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม

ขณะที่ “พ.ต.ท. ทักษิณ” ไม่อาจสลัดข้อหาดังกล่าวให้หลุดจากตัว จนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

“ถ้าประเทศเราเป็นปกติ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้ประชาชนตัดสินความเป็นไปของประเทศ พ.ต.ท. ทักษิณคงไม่ต้องเจอวิบากกรรมเช่นนี้ แต่ในเมื่อมันมีกลุ่มมือที่มองไม่เห็นต้องการกำจัดพ.ต.ท. ทักษิณทุกวิถีทาง ตั้งแต่เอาชีวิต ยึดอำนาจ ยุบพรรคเขา ยึดทรัพย์เขา เรื่องนี้จึงไม่ปกติ”

ถ้าปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามครรลอง พ.ต.ท. ทักษิณอาจมีโอกาสเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” เหมือนลี กวน ยู ?

“ถ้ามองย้อนไป มันก็พูดลำบากนะ การยึดอำนาจมันผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ทางที่ดีคือทุกฝ่ายควรตระหนักว่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชน ประชาธิปไตยคือโดยประชาชน เพื่อประชาชน ของประชาชน อย่าคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่น พวกอำมาตย์ทั้งหลาย พวกผู้มีอำนาจบางคน ผมว่าให้ประชาชนเขาตัดสินเองบ้าง อย่าคิดว่าตัวเองต้องชี้นำความเป็นไปของบ้านเมือง”

“หมดเวลาแล้วกับแนวคิดที่ว่าพ.ต.ท. ทักษิณเป็นภัยที่ต้องขจัด”

คือขู่คำทิ้งท้ายจาก “ลูกน้องคนสนิท” ของ “ผู้นำพเนจร”!!!