ThaiPublica > คอลัมน์ > พวกเขาไม่ได้ติดยา แต่คือโหยหาความสัมพันธ์

พวกเขาไม่ได้ติดยา แต่คือโหยหาความสัมพันธ์

27 มกราคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) ผู้เดินทางกว่าสามหมื่นไมล์เพื่อเขียนหนังสือ Chasing The Scream: The First And Last Days of the War on Drugs บอกกับเราผ่านบทความที่ชื่อ The Likely Cause of Addiction Has Been Discovered, and It Is Not What You Think ซึ่งแผยแพร่ในเว็บไซต์ The Huffington Post ว่า ที่เราเข้าใจกันมาตลอดว่าการเสพยาเสพติดต่างๆ นั้นเป็นเพราะสารเสพติดยา จริงๆ แล้วอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

ที่มาภาพ: http://chasingthescream.com/
ที่มาภาพ: http://chasingthescream.com/

โยฮันน์เล่าว่า เคยมีการทดลองที่นำเอาหนูใส้่ไว้ในกรงที่มีน้ำสองขวด โดยขวดหนึ่งเป็นน้ำธรรมดา แต่อีกขวดจะผสมยาเสพติดอย่างโคเคนหรือเฮโรอีน ผลปรากฏว่า หนูเก้าจากสิบตัวในการทดลองจะดื่มน้ำจากขวดที่ผสมยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ จนตายไปในที่สุด ซึ่งผลทดลองดังกล่าวได้กลายมาเป็นโฆษณาต่อต้านยาเสพติดในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 โฆษณาที่บอกกับคนดูว่า ถ้าคุณเสพยาเสพติด ก็จะตายอย่างหนูในกรงนั่นแหละ

มันน่าจะจบแค่นั้น แต่โลกนี้มีคนช่างสังเกตและตั้งคำถามเสมอ (แม้ว่ามันอาจจะน้อยมากจนราวกับไม่มีเมื่อเทียบกับคนที่พร้อมจะเชื่อทุกสิ่งทันที) บรูซ อเล็กซานเดอร์ (Bruce Alexander) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยามองการทดลองนี้ด้วยการสงสัย จากนั้นก็ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยใช้กรงสองกรง กรงหนึ่งเป็นแบบเดิม คือมีน้ำสองขวด ขวดที่เป็นน้ำธรรมดากับขวดที่เป็นน้ำผสมยาเสพติด แต่อีกกรงหนึ่งนั้น นอกจากน้ำสองขวดแบบเดียวกัน บรูซยังใส่สารพัดสิ่งที่ทำให้ที่นั่นเป็นสวรรค์สำหรับหนูๆ ที่จะถูกใส่ลงไปในกรง อาหารที่ดี ของเล่น อะไรก็ตามที่พวกมันต้องการ และผลการทดลองก็ออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นั่นคือ หนูในกรงที่มีแต่น้ำสองขวดก็จะดื่มแต่น้ำที่ผสมยาเสพติดจนตายเหมือนเดิม ในขณะที่หนูที่อยู่ในกรงอันเพียบพร้อมนั้นจะไม่ชอบน้ำที่มียาเสพติด มันดื่มไปไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเจ้าหนูผู้โดดเดี่ยวในอีกกรงหนึ่ง

ทีแรกโยฮันน์คิดว่านั่นมันก็แค่พฤติกรรมประหลาดๆ ของหนู ทว่า ต่อมาเขาก็ได้พบกับรายงานในนิตยสารไทม์ (Time Magazine) ที่บอกว่าในสมัยสงครามเวียดนามนั้น ทหารอเมริกันกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ไปรบใช้เฮโรอีนกันเป็นเรื่องธรรมดาราวกับมันเป็นหมากฝรั่ง นั่นสร้างความกังวลแก่คนในประเทศว่าเมื่อสงครามจบจะทำให้มีผู้ติดยาเสพติดจำนวนมากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น 95 เปอร์เซ็นต์ของทหารที่ติดยาสามารถเลิกยาได้เมื่อกลับบ้าน และมีเพียงส่วนน้อยมากๆ เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติด

ขณะเดียวกัน บรูซ อเล็กซานเดอร์ ยังไม่หยุดแค่นั้น เขาทำการทดลองเพิ่มเติมอีก เขาเอาหนูตัวที่ถูกบังคับให้ติดยาเป็นเวลา 57 วันไปใส่ในกรงอลังการที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมต่อสุขภาพกายและใจของมัน ผลคือ แม้เจ้าหนูตัวนี้จะมีอาการถอนยาบ้าง แต่มันก็เลิกยาได้ในที่สุด

ก่อนเราจะไปถึงข้อสรุปกัน โยฮันน์ยังได้ยกตัวอย่างถึงคนที่บาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก ซึ่งเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พวกเขาจะได้รับไดอะมอร์ฟีน (ชื่อทางการแพทย์ของเฮโรอีน) เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งไดอะมอร์ฟีนนี้มีความบริสุทธิ์และมีศักยภาพเหนือกว่าเฮโรอีนที่หาซื้อได้ตามท้องถนน นั่นหมายความว่า ถ้าคนเราติดยาเสพติดเพราะฤทธิ์ของสารเสพติดที่อยู่ในนั้นจริงๆ แล้วละก็ เมื่อคนไข้ออกจากโรงพยาบาล พวกเขาก็ย่อมจะต้องโหยหามันมาใช้อีก ทว่า ในความเป็นจริง ทั้งที่ใช้ยาในปริมาณเดียวกันและเป็นเวลานานเท่าๆ กันกับผู้ที่ลักลอบซื้อยาตามท้องถนน เหล่าคนไข้ที่กลับไปใช้ชีวิตในบ้านที่แวดล้อมด้วยความรักกลับไม่ต้องใช้ยานี้อีก

นอกจากนี้ โยฮันน์ยังได้ยกตัวอย่างของผู้ใช้แผ่นปะที่มีสารนิโคติน (Nicotine Patch) ที่ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการจะเลิกสูบบุหรี่ โยฮันน์บอกว่า มีผู้ใช้นิโคตินแพทช์ 17.7 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งตัวเลขนี้บ่งบอกว่า ในแง่หนึ่งแล้ว ที่เชื่อกันว่าคนเราติดยาเสพติดเพราะสารเสพติดในยานั้นก็มีส่วนจริงอยู่ แต่มันก็เป็นส่วนน้อยของภาพใหญ่มากๆ ในโลก

การทดลองและประสบการณ์เหล่านี้บอกอะไร คำตอบก็คือ คนเราไม่ได้ติดยาเสพติดเพียงเพราะตัวสารเสพติดที่อยู่ในนั้นเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วการติดยาเสพติดเป็นรูปแบบหนึ่งในการปรับตัวทางสังคม การขาดการเชื่อมต่อกับสังคมก็เหมือนกับหนูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่น้ำธรรมดากับน้ำผสมยาเสพติด คนเรานั้นต้องการที่จะผูกตัวเองเข้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ การได้ผูกสัมพันธ์ตัวเองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นทำให้คนเราพึงพอใจ และบางที เราอาจไม่ควรเรียกอาการเสพติดต่างๆ ว่ามันคือการเสพติด (addiction) แต่มันคือการผูกพันธะ (bonding) สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการติดยาเสพติดไม่ใช่การเลิกใช้ยา แต่คือการมีสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ดีกับสังคม

แน่ล่ะว่า ในฐานะที่เป็นการทดลองและเป็นการสรุปสมมติฐานจากข้อมูลเชิงประจักษ์ต่างๆ แล้ว สิ่งที่ได้จากเรื่องราวเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ หรือกระทั่งถูกล้มล้างจนกลับไปสู่จุดที่การติดยาเสพติดเพราะสารเสพติดนั้นเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว ไม่ได้มีมิติทางจิตใจหรือความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างน้อย ตราบใดที่มันยังไม่ถูกล้มล้างไป นี่น่าจะทำให้เราเข้าใจคนใช้ยาเสพติดทุกรูปแบบมากขึ้น (แม้จะแค่ในแบบที่ถูกกฎหมายอย่างเหล้าหรือบุหรี่ หรือกัญชาในบางรัฐบางประเทศ) โดยเฉพาะการใช้ยาเสพติดในกลุ่มคนจนหรือคนด้อยโอกาสในรูปแบบต่างๆ ว่าการที่พวกเขาหันไปหาสิ่งที่ใครๆ ก็บอกว่าไม่ดีนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เพราะพวกเขา “ไม่รักดี” แต่คือเพราะเขาไม่สามารถจะเข้าถึง “สิ่งดีๆ” อย่างที่คนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงกัน

บอกเล่าด้วยความปรารถนาว่าจะอยู่อย่างพยายามเข้าใจกันและกันมากขึ้น…