ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

ว่าด้วยสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

24 มกราคม 2015


เมื่อสองวันก่อน มีเหตุให้ผมต้องไปบรรยายให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เจอะเจอสมาชิกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า “เราสมควรเลื่อนการเปิดให้สัมปทานใหม่ไปก่อน เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันถูก เก็บไว้ใต้ดิน เก็บไว้ในอ่าวดีกว่า เอาไว้ให้ลูกหลาน เอามาประมูลตอนนี้ไม่น่าจะได้ราคา เก็บไว้ตอนน้ำมันดิบราคาบาร์เรลละร้อยห้าสิบถึงสองร้อยเหรียญค่อยเอามาประมูล ไม่เห็นว่าจะรีบร้อนไปทำไม และนี่คือเหตุผลที่ผมลงมติไม่เห็นด้วยที่จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21”

ผมได้ยินถึงกับสะอึก ผมไม่ทราบจริงๆ นะครับว่ามีสมาชิกกี่ท่านที่คิดแบบนี้ เลยไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องนี้ (ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษผู้อธิบายด้วยแหละครับ ที่ทำให้กระจ่างไม่ได้) เลยจะขอช่วยอธิบายตามความรู้ความเข้าใจของผมบ้างนะครับ

ก่อนอื่นขอตั้งคำถามก่อนว่า “ทำไมตอนนี้ราคานำ้มันถึงได้ตกต่ำมาก?” คำตอบที่ง่ายและตรงความจริงที่สุดก็คือ “เพราะซาอุฯ และประเทศผู้ผลิตสำคัญอื่นๆ ไม่ยอมลดกำลังการผลิตลง ไม่ยอมเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน” ทำไมพวกแมร่งถึงโง่อย่างนี้วะ ไม่ฉลาดเหมือนกลุ่มทวงคืนฯ ของสยามประเทศซะเลย ทั้งโง่ ทั้งเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่อนาคตลูกหลาน

เลยต้องนำไปสู่คำถามสำคัญที่สองว่า “น้ำมันในโลกนี้จะหมดก่อน หรือเราจะเลิกใช้น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ อย่างไหนจะเกิดก่อนกัน?” ถ้าอย่างแรกเกิดก่อน อย่างหลังต้องเกิดตามมาแน่นอน พร้อมๆ กับหายนะมหาศาลของโลก (คงจะวิกฤติโกลาหลพอๆ กับเกิดสงครามโลกอีกครั้ง หรือดาวเคราะห์ยักษ์ชนโลกเลยทีเดียว) ถ้าเราเชื่อในศักยภาพของมนุษยชาติ เราต้องเชื่อว่ามนุษย์จะพัฒนาพลังงานทดแทนที่ถาวรขึ้นมาแทนที่การใช้แหล่งพลังงานจากฟอสซิลได้ และทิศทางต่างๆ รวมทั้งความคืบหน้าก็ชี้ชัดไปในทางนั้น ภายในอนาคตไม่นาน ปิโตรเลียมจะลดความสำคัญลงอย่างมากแน่นอน

ที่มาภาพ : http://gcaptain.com/wp-content/uploads/2013/01/cormorant-alpha-uk-2.jpg
ที่มาภาพ: http://gcaptain.com/wp-content/uploads/2013/01/cormorant-alpha-uk-2.jpg

ถึงตอนนี้ ต้องขออนุญาตท้าวความประวัติของน้ำมันหน่อยนะครับ ถึงแม้จะมีการค้นพบและใช้น้ำมันมาตั้งแต่กว่า 4,000 ปี ก่อน เช่น ในการก่อสร้างบาบิโลน (Babylon) ก็มีส่วนผสมของแอสฟัลต์ (Asphalt) อยู่บ้าง แต่การใช้น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญเพิ่งจะเริ่มต้นเอาแค่ร้อยปีเศษนี่เอง โดยเฉพาะจากการคิดค้นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 และพัฒนาใช้กันแพร่หลายเรื่อยมา มีการคิดค้นเครื่องยนต์ดีเซลในปี 1900 เลยทำให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อร้อยปีก่อน ในปี 1915 ทั้งโลกใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแค่วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล และกว่าจะใช้เกินวันละ 10 ล้านบาร์เรล ก็ปี 1950 น้ำมันเพิ่งจะสำคัญกว่าถ่านหินก็ในช่วงยุคทศวรรษ 1960 และมาเพิ่มพรวดพราดถึงวันละ 50 ล้านบาร์เรล ก็เมื่อปี 1972 เนื่องมาจาก Post War Reconstruction และ Baby Boom จนเกิดการรวมตัวกันของประเทศผู้ผลิต (OPEC) สร้างการรวมตัวกันผูกขาด (Cartel) ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันสองครั้ง ในปี 1973 และ 1979 หลังจากนั้นก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง เกิดโลกาภิวัตน์ เพิ่มอุปสงค์จนปัจจุบันเราใช้ปิโตรเลียมวันละประมาณ 92-95 ล้านบาร์เรล

ในระหว่างที่น้ำมันทวีบทบาทนี้ ราคาก็พุ่งสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีการหาแหล่งเพิ่ม พบเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ที่จะเพิ่มอุปทาน เช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติ (เมื่อสี่สิบปีก่อน เจอก็เผาทิ้ง ไม่มีประโยชน์) การคั้นจาก Sand Oil (ทรายน้ำมัน) หรือ Shale Oil (หินน้ำมัน) จนโลกค่อนข้างแน่ใจว่าจะมีปิโตรเลียมใช้ไปได้กว่าร้อยปี และที่สำคัญกว่าก็คือ มีการค้นคว้าหาแหล่งพลังงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะพลังงาน หมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ไม่มีวันหมด

มีทฤษฎี Peak Oil ที่โด่งดังแพร่หลายของ M. King Hubbert ที่ระบุว่า การใช้น้ำมันในโลกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 2010-2020 นี้ เมื่อโลกใช้ประมาณวันละ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว การใช้จะลดลงอย่างรวดเร็ว จะลดเหลือแค่ 60 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2050 เหลือ 20 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2100 และกลับไปเหลือแค่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2200

จะเห็นได้ว่า เรื่องของน้ำมันที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกปัจจุบันนั้นมันเพิ่งจะเกิดจะเป็นในช่วงสี่สิบปีนี่เอง และอีกไม่กี่สิบปี มันก็จะลดความสำคัญจนเป็นแค่สินค้าเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป ดังนั้นใครมีจึงมักรีบขุดเอาออกมาใช้ประโยชน์กันจ้าละหวั่น ไม่มีใครคิดจะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานอีกต่อไป มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านถึงกับกล้าฟันธงว่า เราจะไม่มีทางได้เห็นน้ำมันราคา 100 เหรียญ (มูลค่าปัจจุบัน) อีกแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ประเทศที่ล้มเหลวอย่างไม่น่าเชื่อ คือ เวเนซุเอลา ที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก แต่นโยบายที่พลาดอย่างมหันต์คือ การ Nationalize ยึดกิจการของเอกชน ของต่างชาติ มาเป็นของรัฐ (เรียกว่า “ทวงคืน” นั่นแหละครับ) ตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา ผลผลิตก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากวันละกว่า 4 ล้านบาร์เรล มาปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2 ล้าน ต้องนำเข้าน้ำมันครั้งแรกในรอบร้อยปีเมื่อเดือนที่แล้ว เศรษฐกิจปัจจุบันถือได้ว่าเลวสุดๆ เงินเฟ้อกว่าร้อยละหกสิบ (ขณะที่ทั้งโลกเขาเจอสภาวะเงินฝืดกัน) ทุกๆ อุตสาหกรรมล้มเหลวต่อเนื่อง สินค้าขาดแคลน จนคนต้องเอาธนบัตรไปใช้แทนกระดาษชำระ (นี่เรื่องจริงนะครับ ไม่ได้แต่งเติม) ถือว่าเป็นประเทศที่หมดตัว ไม่มีอะไรเหลือนอกจากนำ้มันใต้ดินที่มีปริมาณสำรองเกือบสองร้อยปีเข้าไปแล้ว แต่ไม่มีปัญญาลงทุนเอาขึ้นมาใช้ (ถ้าสังเกตให้ดี ข้อเรียกร้องและข้อเสนอของกลุ่มทวงคืนฯ นั้นมีแนวทางของเวเนซุเอลาอยู่ไม่น้อยทีเดียว)

สรุปได้เลยว่า…ปิโตรเลียมจะเป็นทรัพยากรที่ล้าสมัยในอนาคตอย่างแน่นอน ใครมีก็ควรต้องรีบเอามาใช้

เลียบค่ายไปทั่วโลกแล้ว ผมขอกลับมาเมืองไทยนะครับ…

สัมปทานรอบที่ 21 นี้ มีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงที่สำคัญหมายถึงการที่เราจะมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนในราคาต้นทุนที่สมควร ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งเพิ่มเติม ถ้าไม่ต่ออายุสัมปทานเดิม ก็เป็นที่แน่นอนว่าก๊าซธรรมชาติจะมีปริมาณลดลงอย่างมากภายในห้าหกปีนี่เอง

ไอ้น้ำมันดิบหมดน่ะไม่เท่าไหร่หรอกครับ เพราะเราต้องใช้ราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ถ้าขุดเจอก็เพียงช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากค่าภาคหลวงค่าภาษี กับทำให้มีการลงทุนการจ้างงาน ลดการนำเข้า เพิ่มจีดีพีขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าก๊าซธรรมชาติหมด เราเดือดร้อนใหญ่หลวงแน่ เพราะถ้านำเข้า ราคาต้นทุนจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แถมเราดันลงทุนในด้านที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติไปเสียเยอะ การผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงตั้ง 70 เปอร์เซ็นต์ จะลงทุนอย่างอื่น เช่น ถ่านหินสะอาด หรือนิวเคลียร์ พวกก็ประท้วงกรีดเลือดไม่ยอมให้เกิด ถ้าไม่มีก๊าซก็ต้องขึ้นราคาหลายสิบเปอร์เซ็นต์ กับเสี่ยงไฟดับขาดแคลน

ที่จะเดือดร้อนหนักอีกอย่างก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหลาย ถ้าไม่มีวัตถุดิบราคาปัจจุบันให้ ก็คงกระอักไม่น้อย แปลกนะครับ ที่พวกท่านดูจะจงชังอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี้เหลือเกิน ว่าร่ำรวยบนหลังคนไทย เราลืมง่ายจังว่าเมื่อสามสิบปีที่แล้วเราส่งเสริมแค่ไหนที่จะให้อุตสาหกรรมนี้เป็นหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม ให้หลุดพ้นความยากจน โครงการพัฒนาชายฝั่งตะวันออกก็มีอุตสาหกรรมนี้เป็นหัวใจเลยก็ว่าได้ ผมกล้าฟันธงเลยว่า ถ้าปิโตรเคมีพัง เศรษฐกิจไทยย่ำแย่แน่

การเปิดสัมปทานเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน จริงอยู่ที่อาจไม่มีการค้นพบเลยก็ได้ แต่เรามีโอกาสไม่น้อย และถ้ามันไม่มีจริงๆ ก็จะได้รู้แน่นอน จะได้วางแผนปรับตัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทันเวลา

ไอ้ประเด็นที่อยากเปลี่ยน Fiscal Term จากสัมปทานไปเป็นแบ่งปันผลผลิตนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า เราไม่พร้อมสักอย่าง ไม่มีบุคคลากร ไม่มีองค์กร ไม่มีกฎหมาย (แถมไม่มีผู้รู้จริงเลย รวมทั้งพวกที่แหกปากเรียกร้องก็แค่รู้จักชื่อ แล้วเอามาใช้เป็นวาทกรรมโก้เก๋) ถ้าอยากศึกษาต้องใช้เวลา ต้องรอห้าหกปี เอาไว้คราวหน้าค่อยนำมาใช้ถ้ายืนยันได้ว่าดีจริง คุมรั่วไหลได้ (อินโดนีเซียมีปัญหากับระบบ PSC มาก กำลังปรับระบบให้กลับมาคล้ายระบบสัมปทานมากขึ้น)

ไอ้ที่น่าตกใจกว่า ก็คือมีคนแนะนำให้รัฐลงทุนเองไปก่อน ไอ้คำว่า “รัฐลงทุนเอง” นี่ต้องขอกราบเท้าเลยครับว่าอย่าได้คิดได้ทำเป็นอันขาด เพราะมันต้องทั้งห่วยทั้งแพงอย่างแน่นอน ไหนจะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนแท่นขุด ว่าจ้างบุคคลากร ตั้งหน่วยงานใหม่ แล้วถ้ารัฐทำ โอกาสพบคงใกล้เคียงศูนย์ เก็บเงินเอาไว้ให้รัฐบาลหน้ารับจำนำข้าวดีกว่า เพราะถึงจะเจ๊งยับรั่วไหลขนาดไหนก็ยังถึงมือชาวนาบ้าง

นี่แหละครับ ผมถึงหนุนสุดตัว ที่จะต้องให้มีการเดินหน้าเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมนี้ และรู้สึกผิดหวังไม่น้อย ที่สภาปฏิรูปที่ผมและประชาชนอีกไม่น้อยฝากความหวังไว้ มีมติออกมาเช่นนั้น ซึ่งผมแน่ใจเลยว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย ใครเกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไขเถิดครับ

อย่าให้ลูกหลานต้องมานั่งบ่นว่า “เก็บน้ำโคลน เก็บอากาศที่ใช้ไม่ได้ไว้ให้พวกกูทำไมวะ พวกกูเลยยังยากจนอยู่ ไม่เหมือนไอ้พวกลูกหลานชีคแถบโน้น ที่พ่อแม่มันรู้จักเปลี่ยนของใต้ดินให้เป็นเงินทอง เอามาพัฒนาประเทศ”

เผยแพร่ครั้งแรก: เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่23 มกราคม 2558