ThaiPublica > คอลัมน์ > ตำนาน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” … ปตท. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 2544 (ตอน 5)

ตำนาน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” … ปตท. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 2544 (ตอน 5)

14 มีนาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ไว้ 3 ตอน ยังไม่จบ มีผู้โต้แย้งเข้ามาพอสมควร พอดีมีเรื่องอื่นๆ ชวนให้ไปเขียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกที่เริ่มปะทุและยกระดับความร้าวลึกขึ้นมา เลยยังไม่ได้สานต่อเสียที

มาวันนี้ วันที่ความแตกแยกเริ่มบานปลาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกาศตนว่า “รักชาติสุดชีวิต” ในกลุ่ม กปปส. เริ่มมีความเห็นต่างกันเอง โดยเฉพาะเรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งเกินเลยไปจนมีการเรียกร้องใหญ่โตให้ทวงคืน หรือ ริบคืน “ปตท.” ให้กลับไปเป็นของรัฐ (อยู่ใต้อุ้งมือนักการเมือง 100%) เหมือนเดิม

ผมเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะต่อเรื่อง “การแปรรูปฯ ” ที่เขียนคั่งค้างไว้ให้จบ รวมไปถึงจะวิจารณ์ประเด็นร้อนเรื่องพลังงานด้วยเลย จึงขออนุญาตเอา 3 ตอนที่เขียนไว้มาโพสต์อีกที พร้อมทั้งเขียนตอนต่อเพิ่มเติม เพื่อปูพื้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านนะครับ

ตอนที่ 5: เขียนเมื่อ 13 มี.ค. 2557

ปตท. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 2544: การพลิกฟื้นตลาดทุนไทย-พลิกฟื้นอุตสาหกรรมพลังงาน-จัดระบบอุตสาหกรรมปิโตรเคมี-การขายหุ้นครั้งใหญ่ที่มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

ผมได้เขียนบรรยายไว้ในตอนที่แล้วว่า ถึงแม้การแปรรูปฯ จะถือเป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ตลอดมา แต่เรามีการแปรรูปน้อยมาก โดยก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งมีเพียงไม่กี่แห่งที่เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักรัพย์แห่งประเทศไทย (ซึ่งจริงๆ เป็นแค่การแปรรูปครึ่งทางเท่านั้น) โดยต่างก็มีเป้าหมายและแรงจูงใจต่างๆ กัน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย บริษัทการบินไทย บริษัท ปตท.สผ. บริษัทบางจาก และบริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) เท่านั้น ส่วนแห่งอื่นๆ ถึงแม้จะมีมติ ครม. ให้ดำเนินการศึกษาวางแผน แต่ก็ทำกันอย่างขอไปที ไม่มีใครอยากแปรรูปจริงจัง

จนกระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เราต้องพึ่งพาเงินกู้ในโครงการช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเข้าทำข้อตกลง Letter of Intent ที่จะดำเนินการตามเงื่อนไข ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก็คือ จะต้องมีการดำเนินการ “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ”

คนจำนวนมากเข้าใจว่า เงื่อนไขการแปรรูปฯ นี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อบังคับให้เรา “ขายสมบัติชาติ” เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ และมีไม่น้อยเลยที่คิดเลยไปว่าเป็นแผนการชั่วร้ายให้ขายให้ต่างชาติ (เพราะคนไทยบ้อจี๊เนื่องจากวิกฤติ) ซึ่งผมจะขออธิบายในแง่มุมของ IMF (ซึ่งผมขอยืนยันว่ามีประโยชน์ มีบุญคุณกับเรามาก ถึงแม้จะไม่ใช่พ่อก็ตาม) นะครับ

อย่างที่ได้บรรยายไว้ใน 3 ตอนแรกแล้วว่า เป็นที่ประจักษ์ทั่วโลก (กว่า 120 ประเทศ) ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญที่มีประโยชน์มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ IMF และ World Bank สนับสนุนส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินการตลอดมา แต่ที่ไม่ค่อยเป็นผลก็เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นนักการเมือง-ชอบ ผู้บริหาร-ง่าย พนักงาน-สบาย คู่ค้า-สะดวก (บรรยายไว้ในตอนที่ 4) ทีนี้พอ IMF มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขได้ก็เลยระบุเรื่องนี้ไว้ด้วย (ทุกครั้งที่ IMF เข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศกำลังพัฒนาก็มักมีเงื่อนไขนี้อยู่ด้วยเสมอ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ก็โดนเงื่อนไขนี้ทุกประเทศเหมือนกัน)

จริงๆ ประโยชน์ที่จะได้มีมากมาย โดยเฉพาะในตอนเกิดวิกฤติ ซึ่งรัฐมีภาระการเงินการคลังมาก ไม่สามารถเจียดงบประมาณมาแก้ไขปัญหาการเงินที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งประสบ รวมทั้งจะลงทุน ปรับปรุง หรือขยายกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมักเป็นบริการจำเป็น กับเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยพลิกฟื้นวิกฤติกับรองรับการขยายตัวต่อไปได้ เพราะถ้าการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจมีปัญหา กลับจะช่วยซ้ำเติมวิกฤติให้เลวร้ายลงไปอีก กับทั้งการดำเนินการเยี่ยงเอกชนยังพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพประสิทธิผลดีขึ้นมากนัก ส่วนที่ถ้ามีการขายได้เงินมาลดหนี้สาธารณะ (ของเราระบุให้นำครึ่งหนึ่งลดหนี้ของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯ) ก็ถือเป็นผลพลอยได้ ยิ่งถ้าได้เป็นเงินตราต่างประเทศยิ่งดี เพราะเราขาดแคลนทุนสำรองอย่างหนักในเวลานั้น (ไม่เคยมีการระบุให้เอาเงินจากการขายรัฐวิสาหกิจไปคืนเงินกู้ IMF)

หลังจากศึกษากันอยู่สักพัก รัฐบาลชวน 2 ก็ได้มีมติออกแผนแม่บทการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเดือนกันยายน 2541 โดยมีรายละเอียด นโยบาย วิธีการผลักดันกำกับ และระบุถึงรายสาขารายรัฐสาหกิจเลยว่า มีหลักที่จะดำเนินการอย่างไร แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ขึ้นชื่อว่า “แผนแม่บท” แล้ว มักจะทำบ้างไม่ทำบ้าง ขาดการติดตามดูแลผลักดันให้เกิดจริง จนบัดนี้ถ้ากลับไปดูจะพบว่า แผนที่ว่ามีการดำเนินการไปน้อยกว่าครึ่ง ที่เหลือสูญหายไปกับสายลมหมด

พอเดือนธันวาคม 2542 ก็มีการตรา พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งใน “กฎหมายขายชาติ” ความจริง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้มีอะไรที่ผลักดันให้เกิดแผนแปรรูปฯ แต่อย่างใด เพียงแต่เป็น พ.ร.บ. กลางที่จะทำให้การเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจประเภทที่มี พ.ร.บ. เฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น การปิโตรเลียม การรถไฟ การท่าอากาศยาน การไฟฟ้าต่างๆ และการ…ทั้งหลาย มาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด ก่อนการแปรรูป สามารถทำได้โดยมีมาตรฐานเดียวกัน มีการระบุสิทธิ์ของรัฐ ของพนักงาน และของผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างครบถ้วน ทำให้เกิดแนวทางที่ดี กับไม่ต้องออก พ.ร.บ. สำหรับการแปรรูปแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากลักลั่นกันได้

ที่มาภาพ : http://www.naewna.com
ที่มาภาพ : http://www.naewna.com

อย่างไรก็ดี ในช่วงรัฐบาลชวน 2 ตั้งแต่ปลายปี 2540 ถึงต้นปี 2544 แม้จะมีการเตรียมการมากมาย แต่ก็ไม่มีการแปรรูปใดๆ เกิดขึ้นเลย ซึ่งจากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะ ปตท. ที่ผู้บริหารต้องการแปรรูป และการท่าอากาศยาน ที่มีความจำเป็นต้องหาเงินทุนมาแมทช์กับเงินกู้ JAICA ผมคิดว่าน่าจะมาจากสาเหตุสามประการ

ประการแรก ตัวรัฐมนตรีผู้ดูแลไม่ได้ต้องการแปรรูปจริง (อาจไม่ต้องการเลยด้วยซ้ำ) อย่าง ปตท. ก็อยู่ภายใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรี การท่าอากาศยานอยู่ใต้ กระทรวงคมนาคม ที่มีท่านกำนันสุเทพ เป็นรัฐมนตรี

ประการที่สอง สังคมยังค่อนข้างต่อต้าน สหภาพหลายแห่งเคลื่อนไหว ไม่ต้องการให้แปรรูปฯ ทำให้ทางการเมืองมักจะหยุดชะงักทุกที ขาดเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่จริงจังเพื่อการนี้

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการทำเรื่องใหม่ที่มีความซับซ้อนเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงานมักไม่ค่อยสำเร็จภายใต้นักการเมืองและระบบราชการปกติ

พอมาต้นปี 2544 “พรรคไทยรักไทย” ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ความที่เป็นนักบริหารจัดการ ประกอบกับมีเสียงข้างมาก ควบคุมสภาและพรรคร่วมได้ดี งานแปรรูปฯ เลยเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งถึงจะไม่ถึงกับเจ๊ง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติมาก โดยเฉพาะกิจการของบริษัทลูกในเครือ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งพวกปิโตรเคมี โดนพิษต้มยำกุ้งเข้าเต็มๆ เพราะกู้หนี้ต่างประเทศมาลงทุนส่วนใหญ่ กับหลังวิกฤติกิจการไม่มีกำไร ทั้งค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin) ทั้งราคา Naphtha ต่ำเตี้ยติดดิน ปตท. เลยต้องการเงินเพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกๆ กับจะถือโอกาสเข้าช็อปปิ้งของถูกในอุตสาหกรรม (ก็เจ๊งกันเรียบแหละครับ ทั้งฝรั่ง ยุ่น ไทย เช่น กลุ่ม TPI ของคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่มีหนี้เกือบ 200,000 ล้านบาท หรือแม้แต่โรงกลั่นน้ำมันของยักษ์ใหญ่ Shell Caltex ต่างก็เซแซ่ดๆ ขอพักหนี้ปรับโครงสร้างกันเป็นแถว)

ผมยังจำได้ว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2544 ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรียกผมกับทีมภัทรฯ เข้าไปสรุปเรื่องแปรรูป ปตท. ให้ฟัง (ถึงตรงนี้ขอแก้ข่าวหน่อย ตามที่มีผู้หวังดีประสงค์ร้ายพยายามป้ายสีว่า ภัทรฯ ได้งานรัฐเยอะสมัยคุณทักษิณเพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัว ขอเรียนว่า เราได้รับเลือกเข้าทำงานนี้ตั้งแต่รัฐบาลคุณบรรหาร แล้วทำเรื่อยมาตลอดยุครัฐบาลชวลิต รัฐบาลชวน 2 จนมาสำเร็จยุค “ทักษิณ 1” เหมือนกับงานแปรรูปการท่าอากาศยานก็ได้รับเลือกตั้งแต่ “ชวน 2” มายุครัฐบาลที่แล้วคู่แข่งก็หาว่าซี้กับ รมต.กรณ์ อีก…อยู่ประเทศนี้ทำตัวยากจังนะครับ ต้องใส่สนับแข้งตลอดเวลาเหมือนนักบอล เพื่อนฝูงคอยเตะตัดแข้งตัดขาอยู่เรื่อยเลย) พอนายกฯ ฟังเสร็จก็สรุปเลยว่า จะต้องรีบเร่งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ยกหูถึง รมต.อุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” สั่งว่าต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังติดตามดูแล งานถึงเดินหน้าได้เต็มที่เสียที

ทางฝ่าย ปตท. ที่มีผู้บริหารที่ต้องการแปรรูป ประกอบกับคุณวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการเวลานั้น กับคุณพิชัย ชุณหวชิระ CFO ท่านรู้จักตลาดทุนดี จากประสบการณ์ระดมทุนเมื่อคราว IPO ปตท.สผ. ในช่วงที่ทั้งสองท่านบริหารอยู่ แต่กระนั้น การเตรียมการก็ยังต้องทำงานกันอย่างหนัก เพราะต้องปรับองค์กร ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นครั้งแรก แถมเราตัดสินใจว่าจะต้องเป็นการขายหุ้นแบบ Global Offering ไปทั่วโลก (ขายภายใต้มาตรฐาน 144 A ของ US SEC ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่สูงมาก) ทุกอย่างต้องได้มาตรฐานสากล (ไม่ทำขายชุ่ยๆ อย่าง การบินไทย) ทำให้มีงานต้องทำเยอะมาก ทั้งด้านการเงิน การบัญชี (ต้องใช้สำนักบัญชีระดับโลกมาให้ความเห็นควบคู่ไปกับ สตง.) ด้านกฎหมายต่างๆ มีการ Due Diligence กันอย่างละเอียด ซึ่งถ้าไม่ใช่ว่าทีมงานของ ปตท. มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ไม่มีทางที่จะแล้วเสร็จในเวลาที่เป็นเลย

จากประสบการณ์ทำงานกับรัฐวิสาหกิจมามากมาย ผมยกให้ ปตท. เป็นองค์กรที่ผู้บริหารและพนักงานมีความสามารถและประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในความเห็นของผม มันมาจากสาเหตุ 4 ประการ

– ประการแรก เป็นเพราะ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอายุไม่มาก (เทียบกับพวกเก๋ากึ้กอื่นๆ) จัดตั้งเมื่อปี 2521 ถึงวันแปรรูป มีอายุไม่ถึง 24 ปี วัฒนธรรมองค์กรแบบรัฐวิสาหกิจทั่วไปยังไม่ฝังรากลึก สหภาพแรงงานมีความทันสมัย เมื่อชี้แจง พนักงานส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ ร่วมมือเป็นอย่างดี

– ในช่วง 10 ปีแรกเริ่ม (2521-2531) กิจการพลังงานของประเทศ จะอยู่ในความดูแลของเทคโนแครตเป็นส่วนใหญ่ นายกฯ ทั้ง 2 คน พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จะไม่ค่อยยอมให้นักการเมืองเต็มตัว เข้ามายุ่มย่ามกับเรื่องพลังงานมากนัก (รมต.สำนักนายกฯ ศุลี มหาสันทนะ เป็นผู้ดูแลเรื่องพลังงานตลอดยุค พล.อ. เปรม)

– กิจการ ปตท. โดยส่วนใหญ่ (ยกเว้นท่อส่งกับโรงแยกก๊าซ) เป็นกิจการที่ไม่ได้มี Monopoly ต้องแข่งขันกับเอกชนโดยทั่วไปตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ได้สิทธิพิเศษอะไรมากมายจากรัฐ ไม่เหมือน รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักเป็น Monopoly หรือได้รับสิทธิความช่วยเหลือจากรัฐมาก

– ผู้บริหารที่ผ่านมาทุกคนเป็นคนดี มีความสามารถสูง มีวิสัยทัศน์ และให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมทั้งมีการจัดหาบุคคลากรที่มีความสามารถ กับจัดฝึกอบรมในทุกด้านอย่างจริงจัง ทำให้เครือ ปตท. มีบุคลากรคุณภาพสูงมากมาย (ผู้บริหารหลายท่านมีประสบการณ์มาจากกิจการระดับโลกอื่นๆ ไม่เหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ผู้บริหารถ้าไม่ใช่ลูกหม้อดั้งเดิม ก็เป็นนักการเมืองประทานมา) ตัวผู้ว่าการเป็นนักบริหารชั้นยอดทุกคน ตั้งแต่ ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์, ดร.อาณัติ อาภาภิรม, คุณเลื่อน กฤษณกรี, คุณพละ สุขเวช, คุณวิเศษ จูภิบาล, คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ จน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รวมไปทั้งผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ต่างก็เป็นที่ยอมรับว่า “มีฝีมือ” ทั้งสิ้นตลอดมา เติบโตมาได้ด้วย merit ความรู้ความสามารถ มากกว่าเส้นสาย

นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าทำให้ ปตท. มีลักษณะพิเศษเหนือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ในประเทศไทย

ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งครับ…ผมเคยอยู่ในวงสนทนาของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่อง ปตท. …คนหนึ่งพูดว่า “ผู้บริหาร ปตท. มีฝีมือนะ โดยเฉพาะสามารถต่อรองกับนักการเมืองได้ตามสมควร ทำให้ไม่ต้องเสียหายมากจนเกินไป” อีกคนหนึ่งพูดต่อว่า “ปัญหามันอยู่ที่ว่า จะเก่งอย่างนี้ไปได้อีกนานสักเท่าใด?” (สาบานจริงๆ ครับ ว่าผมเป็นผู้ฟังเฉยๆ ไม่ยอมผสมโรงใดๆ กับพวกเขาเลย) …นี่แหละครับ ผมถึงยืนยันนั่งยันว่าควรแปรรูปต่อไปให้สุดซอย ให้พ้นอุ้งมืออุ้งตีนนักการเมืองให้ได้อย่างถาวร พวกที่ทวงคืนยิ่งทำผมงงใหญ่ อยากให้กลับมาเป็นแดนสนธยาเหมือน รฟท., ขสมก. ฯลฯ หรืออย่างไร

ที่มาภาพ : http://www.ipstar.com
ที่มาภาพ : http://www.ipstar.com

ขอกลับมาเรื่องแปรรูป ปตท. ต่อครับ ในที่สุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็แปรสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน พร้อมที่จะดำเนินการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาก่อน เนื่องด้วยในวันที่ 11 กันยายน 2001 ได้เกิดมีเครื่องบินที่ขับโดยสมาชิก Al-Qaeda หลายลำบินชนตึกหลายตึกในอเมริกา ทำให้ตลาดหุ้นตกทั่วโลก หุ้นไทยที่ตกต่ำสุดขีดหลังวิกฤติอยู่แล้วแล้วทำท่าว่าจะกระเตื้องเพราะมีข่าว IPO ปตท. ก็กลับตกลงไปอีก SET Index ตกจาก 330 ในเดือนสิงหาคมลงไปอยู่แค่ 280 ตอนต้นเดือนตุลาคม

แต่หลังจากปรึกษาหารือกันอย่างถ้วนถี่ ทางรัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่ทดสอบตลาด-วางแผนการจำหน่าย-เดินสายให้ข้อมูลเบื้องต้น-รวบรวมความต้องการเบื้องต้น-แบ่ง Tranches ต่างๆ Roadshow ทั้งทั่วโลกและในประเทศ-Bookbuilding สถาบัน-กำหนดราคาขั้นสุดท้าย-เปิดให้ประชาชนจองหุ้น-แบ่งหุ้น (Allotment) ทั้งหมดเสร็จสิ้นปลายเดือน พ.ย. 2544 และหุ้น ปตท. ก็เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2544

เรื่องการขายหุ้น ปตท. นี้ เป็นที่กังขาด่าทอของหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ขายหมดในเวลา 1 นาที 17 วินาที กับมีผู้จองซื้อที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองที่มีอำนาจ

ผมขอยืนยันว่า การขายหุ้น IPO ของ ปตท.ในปี 2544 กระทำอย่างโปร่งใส อย่างมืออาชีพ ไม่ได้มีเรื่องสกปรกตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งผมและทีมงานได้เคยไปอธิบายในที่ต่างๆ มามากมาย รวมทั้งกรรมาธิการของสภา เพียงแต่ยังไม่เคยเขียนอธิบายด้วยตัวเอง (จะเขียนอธิบายในบทความครั้งหน้าภายในสุดสัปดาห์นี้ครับ…เพราะเมื่อก่อนยังไม่รู้ว่าตัวเองเขียนหนังสือเป็นมาก่อน)

IPO ของ ปตท. โดยขายหุ้นทั้งหมด 920 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200 ล้านบาทในครั้งนั้น มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ในประเด็นดังต่อไปนี้

– ปตท. ได้รับเงินไปเสริมฐานะ สามารถปรับโครงสร้างหนี้บริษัทลูกต่างๆ ได้ แถมมีเงินพอที่จะเข้าซื้อกิจการเอกชนอื่นๆ ที่มีปัญหา เช่น โรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี ทำให้ขยายตัวเป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นกิจการระดับโลก มีขนาดใหญ่กว่าปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ที่เคยใหญ่ที่สุดในไทยถึง 3 เท่าตัว

– การเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้ ปตท. มีการปรับปรุงระบบบริหาร เข้าสู่มาตรฐานสากล มีนักลงทุนทั่วโลกคอยติดตามตรวจสอบ รวมทั้งเป็นแรงกดดันให้พัฒนาก้าวหน้าตลอดเวลา

– การขยายตัวของกลุ่ม ปตท. ทำให้ไทยมีความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงาน ต่อเลยไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายนำ้ (Downstream) ด้านปิโตรเคมี ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลัก

– ทำให้ตลาดทุนไทยพลิกฟื้นกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกใหม่ ในฐานะที่ทำงานอยู่ในตลาดทุนไทยมากว่า 36 ปี ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าไม่มีการเข้าตลาดฯ ของ ปตท. ตลาดหุ้นไทยจะไม่มีวันนี้ จะไม่ได้กลับมาเป็นกลไกหลัก เป็นแกนในการรวบรวมจัดสรรทรัพยากรให้ระบบเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ หลังวิกฤติตลาดหุ้นไทยซบเซาอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อธนาคาร 4 แห่งเพิ่มทุนได้แล้ว นักลงทุนผิดหวังขาดทุนทั่วหน้า ตลาดไทยแทบนับได้ว่าตายจากไปจากวงจรตลาดทุนโลก ในปี 2544 ก่อนขายหุ้น SET Index ตกต่ำที่ 280 Market Cap มีแค่ 1.5 ล้านล้าน ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยแค่วันละ 6,300 ล้านบาท เพราะ ปตท. เข้าตลาด จึงปลุกตลาดหุ้นขึ้นมาใหม่ จนปัจจุบัน SET Index 1,350 Merket Cap 12 ล้านล้าน ซื้อขายกันวันละกว่า 30,000 ล้านบาท

ถ้านับว่าในชีวิตการเป็นวานิชธนากรที่ทำงานมาเป็นร้อยๆ ดีลของผม การนำ ปตท. เข้าตลาดเป็นหนึ่งในรายการที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงาน ว่าได้สร้างประโยชน์ให้กับชาติอย่างมากมาย (ถึงแม้จะได้ค่าจ้างไม่น้อยด้วยครับ)

ส่วนเรื่องข้อตำหนิ ข้อครหาในกระบวนการจำหน่ายหุ้น คราวหน้าจะมาอธิบายให้อย่างละเอียดนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich