ThaiPublica > คอลัมน์ > ถ้าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันประเทศไทย ในแนวนักเศรษฐศาสตร์การประพฤติ เราควรต้องทำอย่างไร

ถ้าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันประเทศไทย ในแนวนักเศรษฐศาสตร์การประพฤติ เราควรต้องทำอย่างไร

16 พฤศจิกายน 2014


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : http://cdn2.collective-evolution.com/assets/uploads/2012/12/Cognitive-dissonance.jpg
ที่มาภาพ : http://cdn2.collective-evolution.com/assets/uploads/2012/12/Cognitive-dissonance.jpg

ผมมีรุ่นพี่คนหนึ่ง เป็นคนที่ผมเคารพรักมาก เขาเป็นทั้งพี่ทั้งเพื่อนและเป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจ (และปัญหาเศรษฐศาสตร์) ให้ผมมาหลายต่อหลายครั้ง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากให้พี่เขาเปลี่ยน คือรุ่นพี่ผมคนนี้เป็นคนที่สูบบุหรี่ค่อนข้างจัด อยากให้เขาเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ ด้วยความที่ผมเป็นห่วงสุขภาพของเขา ผมจึงได้เคยคุยกับเขาเรื่องการสูบบุหรี่อยู่สองสามคร้ัง ทุกครั้งเขาก็จะบอกกับผมว่า “พี่ก็อยากจะเลิกนะ และเคยลองที่จะเลิกมาหลายครั้งแล้วด้วย แต่ทำไม่ได้ เพราะเลิกบุหรี่นั้นยากมาก”

เขาก็เลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมคนที่ชอบสูบบุหรี่ หรือชอบกินเหล้า หรือชอบการพนัน ถึงไม่สามารถเลิกการกระทำพวกนี้ได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่การกระทำพวกนี้มักให้โทษกับเราและคนรอบข้างมากกว่าให้คุณเป็นร้อยๆ พันๆ เท่า

ในการอธิบายการประพฤติเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การประพฤติคนหนึ่ง คนที่ลองสูบบุหรี่ครั้งแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะมีความคิดที่ขัดแยังกันในหัวอยู่สองอย่าง อย่างแรก คือ การสูบบุหรี่นั้นไม่ดีต่อสุขภาพ ความรู้สึกอย่างแรกนี้มาจากหลักฐานการพิสูจน์ที่มีอยู่เป็นร้อยๆ แล้วว่าการสูบบุหรี่นั้นจะทำให้ตายเร็วยิ่งขึ้นเกือบถึงสิบปี ส่วนความคิดอย่างที่สองก็คือ แหม รสชาติของบุหรี่นี่มันช่างหอมชื่นใจเสียนี่กระไร

ในโลกนี้คงจะมีมนุษย์อยู่ไม่กี่คนหรอกที่ชอบให้มีเรื่องขัดแย้งกันในหัวตัวเอง นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า cognitive dissonance และสาเหตุที่คนเราไม่ชอบให้เกิดมีการขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้น คนที่เพิ่งเริ่มสูบบุหรี่ตอนเเรกๆ นั้นก็จะมีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องเลือกว่าจะหยุดสูบดีไหม แต่เพราะว่าการเปลี่ยนการประพฤติ (behaviours) ของคนเรานั้นมันยากมากกว่าการเปลี่ยนทัศนคติ (attitudes) ที่เรามีต่อการประพฤตินั้นๆ เราจึงพบเห็นกันได้บ่อยว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เลิกสูบ และในทางกลับกัน เพื่อที่จะลดการขัดแย้งที่เขามีในหัวของเขา คนส่วนใหญ่เหล่าน้ันนั้นก็มักจะบอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่สูบ เดี๋ยวน้ำหนักก็จะขึ้น/เพื่อนไม่คบ/เครียดมากขึ้น/คนอื่นจะคิดว่าเราเปลี่ยนไป และอีกหลายเหตุผลต่างๆ นานา

พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษย์เราเกือบทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในการหาเหตุผลมารองรับการกระทำที่อยากจะทำอยู่เเล้วกันทั้งนั้น แต่คุณผู้อ่านอาจจะกำลังสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วพฤติกรรมการสูบบุหรี่กับคอร์รัปชันนั้นมันมาเชื่อมโยงกันได้ยังไง

จริงๆ แล้วนั้นกระบวนการของการตัดสินใจของคนเราส่วนใหญ่ว่าจะเลือกที่จะโกงดีหรือไม่โกงดีนั้นถูกกำหนดด้วยแรงจูงใจง่ายๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่สองอย่าง แรงจูงใจอย่างแรกก็คือคนเราทุกคนต้องการที่จะคิดกับตัวเองว่า เราเป็นคนดี เป็นคนที่ซื่อตรง (พูดง่ายๆ ก็คือเราสามารถที่จะมองกระจกได้โดยไม่อายตัวเอง) ส่วนเเรงจูงใจอย่างที่สองก็คือ คนเราทุกคนต่างก็อยากที่จะได้กำไรจากการโกงระบบ โกงตลาด โกงคนอื่นกันทั้งนั้น ซึ่งเเรงจูงใจอันนี้เป็นมาตรฐานแรงจูงใจของหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนะครับ (เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวอะไรมันมากถ้าลึกๆ แล้วตัวคุณเองก็มีแรงจูงใจอันนี้อยู่)

แรงจูงใจที่ขัดแย้งสองอันนี้สามารถนํามาใช้อธิบายหลักฐานที่มีอยู่มากมายว่า

1) ทำไมเวลาคนเราส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะโกงกันนั้น เราจึงไม่ค่อยโกงกันเยอะ (อย่างเช่นการไม่จ่ายภาษีตรงตามที่ควรจะจ่าย หรือการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนที่มีอำนาจ) และ
2) ถ้าเรามีโอกาสที่จะโกงกินกันแบบมหาศาล คนเราส่วนใหญ่จึงมักจะไม่ทำกัน

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า การโกงแบบเล็กๆ น้อยๆ นั้นทำให้เราสามารถได้ทั้งกำไรที่มาจากการโกง และแถมยังทำให้เราสามารถมองกระจกและบอกกับตัวเองได้ว่าเรายังเป็นคนดีอยู่

กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษก็คือ I shall have my cake and eat it too!

อ้าว แล้วคนที่โกงกันเป็นพันล้านล่ะ เขาอยู่กับตัวเขาเองได้ยังไง

ส่วนคนกลุ่มนี้ผมมองเขาว่าเขาเป็นคนที่เก่งนะครับ เพราะว่าเขาทุกคนต่างก็เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถที่จะหาเหตุผลเข้าข้างการประพฤติที่ไม่ซื่อตรงของเขาได้เก่งกันทั้งนั้น สำหรับคนกลุ่มนี้เหตุผลที่ผมเห็นเป็นประจำที่พวกเขานำมาใช้ในการรองรับการกระทำของเขาก็คือ ถ้าหากผม/ดิฉันไม่ทำในสิ่งที่ผม/ดิฉันทำ คนอื่นๆ ก็อาจเดือดร้อนได้ ผมเรียกวีธีการคิดเข้าข้างตนเองอันนี้ว่าการคิดแบบ Robin Hood ก็คือเราปล้นคนอื่นเพื่อให้คนของเรามีชีวิตที่ดีขึ้น

แล้วถ้าขั้นตอนของการคอร์รัปชันมันตามกฏง่ายๆ ของการประพฤติของคนอยู่แค่นี้ เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะหยุดมันได้

ในการพูดคุยกันว่ารัฐบาลควรจะนํากลไกอะไรมาเพื่อใช้ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันนั้น ผมมักจะได้ยินคำอยู่สองคำที่ใช้กันอยู่ประจำ นั่นก็คือ การโปรโมทความโปร่งใส (transparency) และการสร้างความรับผิดชอบ (accountability) ให้เกิดขึ้น แต่ว่าผลวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การประพฤติส่งผลให้เห็นว่ากลไกทั้งสองกลไกนี้ หรือที่นักวิชาการอังกฤษเรียกกันว่า Sunshine Policy นั้นไม่ค่อยที่มีจะมีผลในการทำให้คนหยุดโกงได้เท่าไหร่

คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้กลไกที่เราได้ยินกันเป็นประจำเหล่านี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เหตุผลหลักๆ ก็คือ ทั้ง transparency และ accountability นั้นเป็นแค่ระบบกลไกที่สร้างขอบเขตของการโกงให้มันเด่นชัดขึ้นมาเท่าน้ัน พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเเต่ก่อนมันไม่เคลียร์ว่านี่คือการโกง ตอนนี้คุณรู้แล้วนะว่านี่คือการโกง แล้วถัาผมจับได้ว่าคุณโกง คุณก็ต้องรับผิดชอบนะ

แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ระบบนี้ก็แค่ทำให้คนที่ปกติโกงกันแบบซึ่งๆ หน้า หาวิธีการโกงใหม่ๆ ที่อยู่นอกระบบ หรือการโกงที่ตรวจจับได้ยากมากยิ่งขึ้น พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าระบบกลไกที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาไม่สามารถที่จะทำให้คนหยุดบอกกับตัวเขาเองได้ว่า โธ่เอ้ย แค่โกงนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครใกล้ตัวเดือดร้อนหรอก แถมการโกงยังทำให้คนอื่นๆ อีกมากมายที่ใกล้ตัวเรามีชีวิตที่ดีขึ้น กลไกนั้นๆ ก็จะไร้ประสิทธิภาพหรือมีประสิทธิภาพน้อยตามๆ กันไป

ถ้าอย่างนั้นแล้ว กลไกอะไรล่ะ ที่สามารถนำมาใช้ลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฟังดูอาจจะง่ายเกินไป แต่กลไกที่ผลการวิจัยพิสูจน์ออกมาให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการลดระดับคอร์รัปชันได้มากที่สุดก็คือกลไกที่สามารถใช้ในการเพิ่มระดับแรงจูงใจที่มีต่อการเก็บรักษา self-image ของเราโดยตรง ตัวอย่างของกลไกสำคัญๆ เหล่านี้ก็คือการปลูกฝังและการกระจายความรู้เรื่องศีลธรรมที่ดีงามให้กับคนทั่วไป (อันนี้อาจจะฟังดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่ แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว) นี่รวมถึงการปลูกฝังศีลธรรมของเราตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก จากประมาณสามปีขึ้นไป และการเตือนความจำของผู้ใหญ่เรื่องศีลธรรมและจรรยาบรรณทุกวันก่อนที่เขาจะมีโอกาสโกง ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ในชีวิตประจำวันของเขา กลไกการสร้างเข็มทิศศีลธรรม หรือ moral compass ตัวนี้จึงเป็นกลไกสำคัญที่สามารถนำมาใช้จำกัด หรือแม้กระทั่งกำจัด ความสามารถของคนในการหาเหตุผลมารับรองว่าทำไมการโกงนิดๆ หน่อยๆ มันโอเค

การแก้ระบบคอร์รัปชันที่มันมีอยู่นานนมแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ถ้าเรารู้ว่าต้นเหตุของการโกงจริงๆ นั้นมาจากไหน บวกกันกับการที่เราสามารถยอมรับกับตัวเราเองได้ว่าไม่ว่าใครก็สามารถโกงกันได้ทั้งนั้นถ้าเขามีแรงจูงใจที่เพียงพอในการที่จะโกง การแก้คอร์รัปชันที่รากของมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝันอีกต่อไป

ป.ล. พี่ครับ ถ้า 1) พี่อยากจะเลิกบุหรี่จริงๆ แต่ 2) รู้ว่ามันเลิกยาก ผมแนะนำให้พี่โอนเงินให้กับผมตอนเช้าทุกวัน วันละร้อยบาท และถ้าวันนั้นพี่ไม่ได้สูบบุหรี่เลยสักมวนผมจะทำการโอนเงินร้อยบาทคืนให้กับพี่ตอนเที่ยงคืน แต่ถัาวันนั้นพี่ห้ามใจที่จะไม่สูบไม่ได้ ผมก็จะเก็บเงินที่พี่โอนให้ผมเอาไว้ และทุกๆ เดือนผมก็จะนำเงินที่พี่โอนให้กับผมแล้วผมไม่ได้โอนคืนให้พี่เพราะพี่สูบบุหรี่มาจัดงานเลี้ยงฉลองให้กับเพื่อนๆ พี่ทุกคนในงานที่พี่ไม่ได้ถูกเชิญนะครับ