ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง: Adaptive Sampling

The Science of ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง: Adaptive Sampling

16 กันยายน 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณคิดว่าถ้าเราสุ่มคนแปลกหน้ามาหนึ่งคน แล้วให้คุณเอาเงินให้คนแปลกหน้านั้นยืมเงินห้าพันบาท คุณว่าโอกาสที่คุณน่าจะได้เงินที่ให้คนแปลกหน้ายืมไปคืนมามีอยู่สักกี่เปอร์เซ็นต์กันครับ

ถ้าถามคนส่วนใหญ่แล้ว โอกาสที่คนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะได้เงินที่ให้คนแปลกหน้ายืมไปคืนมามักจะอยู่สักประมาณ 50% ของกลุ่มตัวอย่างในประเทศอเมริกา (เมืองไทยอาจจะต่ำกว่านี้หน่อย)

พูดง่ายๆ คือ ถ้ามีคนถูกสุ่มมาอยู่ 100 คน เรามักจะคิดว่าแค่ 50 คนเท่านั้นที่จะคืนเงินเรา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาเราสุ่มให้คนมาเล่นเกมการทดลองไว้ใจ (หรือ trust game) ที่ให้เราต้องเอาเงินให้กับคนแปลกหน้าแล้วต้อง “ไว้ใจ” ให้เขาคืนเงินมาเพื่อที่เราจะได้เงินเพิ่มขึ้นกว่าตอนที่ให้ไป เปอร์เซ็นต์ที่เราจะได้เงินที่เราให้ยืมไปคืนมานั้นอยู่ที่ประมาณ 80% (ซึ่งมากกว่า 50% ที่เราคิดอยู่เยอะมาก)

คําถามคือ ทำไมเราถึงมักคิดว่าคนที่จะโกงเรานั้นมีมากกว่าคนที่จะโกงและไม่คืนเงินเรามาจริงๆ

คำตอบข้อหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่เราเรียกกันว่า adaptive sampling หรือการปรับตัวของการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่เป็นตัวอย่างในความคิดของเรา

ยกตัวอย่างนะครับ สมมติว่าคุณให้เงินใครยืมไปซักคนหนึ่ง แล้วคนคนนั้นยอมคืนเงินให้กับเรา พฤติกรรมของคนคนนี้ก็จะส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า “คนส่วนใหญ่ไว้ใจได้” และถ้าคุณมีโอกาสที่จะให้คนแปลกหน้าคนอื่นยืมเงินคุณ เปอร์เซ็นต์ที่คุณจะให้คนคนนั้นยืมเงินก็จะค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน

แต่สมมติว่าคุณให้เงินใครยืมไปสักคนแล้วคนนั้นเบี้ยวไม่คืนเงินคุณ พฤติกรรมของคนคนนี้ก็จะส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า “คนส่วนใหญ่ไว้ใจไม่ได้” และถ้าคุณมีโอกาสที่จะให้คนแปลกหน้าคนอื่นยืมเงินคุณ เปอร์เซ็นต์ที่คุณจะให้คนคนนั้นยืมเงินก็คงจะมีค่าเท่ากับศูนย์

พูดง่ายๆ ก็คือ คุณปรับตัวโดยใช้การถูกคนเบี้ยวเงินคุณเป็นบทเรียน

สำหรับคนที่เคยประสบความสำเร็จในการให้คนยืมเงินแล้วได้เงินคืน คนคนนั้นก็จะให้คนอื่นยืมเงินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะเจอคนที่เบี้ยวไม่ยอมคืนเงิน และเมื่อถึงเวลานั้นเขาก็จะเลิกให้คนอื่นยืมเงินอีกเพราะบทเรียนแสนแพงที่ได้มา

และถึงแม้ว่าในความเป็นจริง ในสังคมเราจะมีคนที่ขี้โกงน้อยกว่าคนที่ไม่โกง แต่แค่มีคนที่ไม่โกงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นก็สามารถทำให้คนอื่นๆ หมดความไว้เนื้อเชื่อใจพฤติกรรมของคนอื่นๆ ที่เขาไม่รู้จักได้ (เพราะคนส่วนใหญ่แค่โดนคนอื่นโกงครั้งเดียวเขาก็เข็ดแล้ว)

และคุณลองคิดดูนะครับ สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายของเรา เคยเจอคนโกง หรือเจอหักหลัง เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ประสบการณ์ในครั้งนั้นก็อาจจะถูกสอนและถ่ายทอดมาถึงเราและลูกหลานของเราได้ (“ลูกจำไว้นะ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง”) ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่เคยถูกใครหักหลังมาก่อน และทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมีคนที่ดี ที่ไว้ใจได้ มากกว่าคนที่ไม่ดีในสังคมของเราเยอะมากกว่าที่เราคิดเป็นสิบๆ เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น เราก็พยายามอย่าปล่อยให้ปลาเน่าเพียงแค่ไม่กี่ตัวทำให้เราต้องคิดว่าปลาทุกตัวในข้องนั้นเน่ากันดีกว่านะครับ

อ่านเพิ่มเติม

Denrell, J. (2005). Why Most People Disapprove of Me: Experience Sampling in Impression Formation. Psychological Review, 112(4), 951–978.