ThaiPublica > คอลัมน์ > The Internet’s Own Boy: The Story of Aaron Swartz เมื่อคนหนุ่มดื้อแพ่งต่ออำนาจรัฐ

The Internet’s Own Boy: The Story of Aaron Swartz เมื่อคนหนุ่มดื้อแพ่งต่ออำนาจรัฐ

29 กรกฎาคม 2014


เหว่ยเฉียง

2 TOBSAS_poster

เมื่อกฎหมายอยุติธรรม; เราจะเชื่อฟังอย่างพออกพอใจต่อกฎหมายนั้น หรือเราจะมุ่งมั่นแก้ไขมันให้ถูกต้อง…หรือเราจะลองละเมิดมันดูสักครั้ง? -จากหนังสือ Civil Disobedience ของ เฮนรี เดวิด ทอโร (นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ชาวสหรัฐฯ ผู้เป็นต้นกำเนิดแนวคิดต้านอำนาจรัฐ หรือการดื้อแพ่ง ซึ่งต่อมาส่งอิทธิพลต่อมหาตมะคานธี และมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์)

นี่คือประโยคเปิดเรื่องของสารคดี The Internet’s Own Boy: The Story of Aaron Swartz ที่เมื่อไม่นานนี้เพิ่งจะปล่อยออกมาให้ดาวน์โหลดและดูฟรีทางเว็บ หรือทางยูทูบ อันเป็นสารคดีที่เล่าทุกแง่มุมของ แอรอน สวาร์ตซ์ โปรแกรมเมอร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ชาวอเมริกัน ผู้ตัดสินใจแขวนคอตายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ปีที่แล้ว ด้วยวัยเพียง 26 ปี หลังจากเขาต้องทนทุกข์กับการต่อสู้ทางคดีความที่ทำให้เขาถูกจำคุกนานถึง 35 ปี และปรับอีกกว่าหนึ่งล้านเหรียญ ด้วยโทษฐานจารกรรมข้อมูลงานวิจัยของ JSTOR อันมีข้อมูลความรู้สำคัญๆ ทางเทคโนโลยีที่หลายวงการใช้พัฒนาต่อยอดไปได้มากมาย ซึ่งมีราคาแพงมาก แต่สวาร์ตซ์กลับปล่อยข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์เหล่านี้ไปให้ผู้คนได้ใช้กันฟรีๆ

ลิขสิทธิ์ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอย่างดุเดือดในหลายวงการ โดยเฉพาะกับกรณีนี้ที่กลายเป็นประเด็นสั่นสะเทือน เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจรัฐ ด้วยแนวคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ผิด และเป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้คนมากมาย แต่เหตุใดเขาจึงต้องรับบทลงโทษสาหัส จนต้องเลือกที่จะจบชีวิตตนเองลง

แอรอน สวาร์ตซ์ ในวัยเด็ก
แอรอน สวาร์ตซ์ ในวัยเด็ก

สารคดีเรื่องนี้จะเล่าทุกแง่มุม ทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิด อาทิ พ่อแม่ พี่น้อง แฟนสาว ทนายความ เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ไปจนถึงภาพส่วนตัวตั้งแต่วัยเด็กที่จะทำให้คนดูได้พบว่า สวาร์ตช์คืออัจฉริยะผู้หิวกระหายต่อองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางไอทีที่เขาสนใจมาตั้งแต่ 2-3 ขวบเมื่อแรกที่หยิบจับคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุว่าพ่อของเขาเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ และเติบโตมาด้วยอุดมการณ์ที่เชื่อว่าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ใช้ได้ฟรีๆ

ตัวหนังจะพาไปเห็นว่าเขาได้รับการยอมรับตั้งแต่ยังเด็กมาก เพียงอายุ 13 ปีก็คว้ารางวัลระดับประเทศ และสร้างเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จนอายุแค่ 14 ปีก็ได้ร่วมงานกับผู้ก่อตั้ง world wide web (www) และผลงานเชิดหน้าชูตาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและยังคงใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน ก็คือระบบ RSS Feed ที่ใช้สำหรับตามฟีดข่าวต่างๆ บนหน้าเว็บ ที่ต่อมาถูกพัฒนาไปเป็นหน้าฟีดบนเฟซบุ๊กและในสมาร์ทโฟน รวมถึงเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Reddit ที่ผู้คนสามารถแชร์ข้อมูลสารพันไม่ว่าจะภาพถ่ายขำๆ ไปจนถึงเนื้อหาทางวิชาการแบบเจาะลึก ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของสวาร์ตซ์

เขาเคยถูกรับเชิญไปร่วมเสวนาทางไอทีร่วมกับผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้ฟังแน่นห้องประชุม
เขาเคยถูกรับเชิญไปร่วมเสวนาทางไอทีร่วมกับผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้ฟังแน่นห้องประชุม

แต่สวาร์ตซ์ก็ก่อวีรกรรมหลายเรื่อง อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าเมื่อตัวเขามุ่งมั่นในอุดมการณ์ว่าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ฟรีโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายสตางค์ สวาร์ตซ์จึงร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองอันสืบเนื่องมาจากแนวคิดที่ว่านี้หลายต่อหลายครั้ง เช่น กรณีกฎหมาย SOPA (Stop Online Piracy Act) ที่สหรัฐฯ พยายามจะผลักดันการจำกัดสิทธิ์เพื่อเข้าถึงเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต สวาร์ตซ์ก็ถ่อไปขอความร่วมมือจากบรรดาบริษัทไอทีชั้นนำอย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิล จนเป็นผลให้กฎหมาย SOPA นี้ถูกถอดถอนออกในที่สุด

5 Internets-Own-Boy-Aaron-Swartz-4

รวมถึงวีรกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้เขาโดนเล่นงานหนักทางกฎหมายจนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย ก็คือเมื่อในปี 2010 เขาลักลอบดาวน์โหลดบทความทางวิชาการนับล้านไฟล์ อันเป็นบทความจากสถาบันเทคโนโลยี MIT (Massachusetts Institute of Technology) แล้วปล่อยให้ใช้กันได้ฟรีๆ ด้วยความเชื่อว่างานวิจัยซึ่งลงทุนในราคาสูงเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ได้มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นข้อมูลทางวิชาการพวกนี้ก็สมควรจะถูกส่งกลับไปให้ประชาชนได้ใช้กันได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

We Are Legion: The Story of the Hacktivists หนังเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับคนเดียวกัน
We Are Legion: The Story of the Hacktivists หนังเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับคนเดียวกัน

The Internet’s Own Boy ฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ แล้วตามด้วยเทศกาลหนัง SXSW จากนั้นก็คว้ารางวัล Sheffield Youth Jury Award จากเทศกาลหนังสารคดีนานาชาติเมืองเชฟฟิลด์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แล้วหลังจากเข้าฉายทั้งในโรงหนังและทางทีวี เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่อเมริกา สารคดีเรื่องนี้ก็ปล่อยให้ดาวน์โหลดและดูฟรีทางออนไลน์โดยทันที เพื่อเป็นการรำลึกถึงสวาร์ตซ์ด้วย หนังเรื่องนี้กำกับโดย ไบรอัน แนปเพนเบอร์เกอร์ ผู้ที่เมื่อปี 2012 เคยกำกับสารคดีที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันคือ We Are Legion: The Story of the Hacktivists ที่ว่าด้วยวีรกรรมของบรรดาแฮ็กเกอร์นิรนามที่ร่วมขบวนเคลื่อนไหวต่อสู้กับอำนาจรัฐ และส่งอิทธิพลต่อการต่อสู้ทางการเมืองของผู้คนในชุมชนทั่วโลก ที่ไล่ไปตั้งแต่การแฮ็กอีเมลของซาราห์ เพลิน ไปจนถึงกรณีความขัดแย้งรุนแรงอย่างอาหรับสปริง

แม้สิ่งที่สวาร์ตซ์ทำจะขัดต่อข้อกฎหมาย แต่ก็ได้ส่งไม้ต่อและเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเคลื่อนไหวอีกหลายต่อหลายคนทั่วโลก การตายของเขามีผู้ไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก นักศึกษาหลายแห่งพร้อมใจกันแชร์ลิงก์งานวิจัยของตนเองออกมาเผยแพร่ฟรีๆ พร้อมกับติดแฮชแท็ก #pdftribute เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เว็บไซต์ Demand Progress ได้เปิดพื้นที่เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีกฎหมายแอรอน (Aaron’s Law) เพื่อแก้ไขกฎหมายซึ่งทำให้สวาร์ตซ์มีความผิด และเรียกร้องให้รัฐสภาสืบสวนต่อการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ใหม่ด้วย

7 The Internets Own Boy Aaron Swartz

“ผมไม่สามารถจะสะกดกลั้นความขุ่นเคืองใจต่อสิ่งใดก็ตามที่ไร้ประโยชน์ แต่ผมก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผม ผมต้องการจะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าที่มันเป็นอยู่”- แอรอน สวาร์ตซ์