ThaiPublica > เกาะกระแส > ภัยคุกคามระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผลกระทบจากโครงการเขื่อนตอนบนในประเทศจีน

ภัยคุกคามระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผลกระทบจากโครงการเขื่อนตอนบนในประเทศจีน

5 เมษายน 2014


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557 ชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “น้ำโขงแล้ง: ผลกระทบจากโครงการเขื่อนตอนบนในเขตประเทศจีน, ปรากฏการณ์ El Nino, หรือ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการสายน้ำ?” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นางเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานรณรงค์เรื่องแม่น้ำโขงในประเทศไทย International Rivers, นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้แทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และนางผกาวรรณ จุฬามาณี ที่ปรึกษาคณะกรรมการแม่น้ำโขงไทย และอดีตผู้อำนวยการส่วนงานคณะกรรมการแม่น้ำโขง โดยการเสวนาดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงของจีน และภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ทั้งเหตุการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำผันผวนผิดธรรมชาติ และแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยและมีอาชีพอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

ภาพจากขวาไปซ้าย นางเพียรพร ดีเทศน์ นางผกาวรรณ จุฬามาณี และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว
ภาพจากขวาไปซ้าย นางเพียรพร ดีเทศน์ นางผกาวรรณ จุฬามาณี และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว

แผนสร้างเขื่อนกว่า 28 โครงการ

นางเพียรพร ดีเทศน์ เปิดเผยถึงแผนที่ในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่แบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกจะเป็นตอนบน คือ มณฑลยูนนาน ของประเทศจีนและทิเบต ส่วนทางตอนล่าง คือ ช่วงพรมแดนไทย-ลาว และกัมพูชา ซึ่งถ้าดูเพียงแค่ในเขตของมณฑลยูนนาน จะพบว่า มีโครงการสร้างเขื่อนถึง 14 เขื่อน โดยปัจจุบันจีนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเสร็จแล้ว 6 เขื่อน และเขื่อนที่ 7 กำลังเริ่มทำการก่อสร้าง ถ้ารวมการสร้างเขื่อนที่จะมีขึ้นทั้งหมดในแม่น้ำโขงรวมทั้งสิ้น 28 โครงการ

การสร้างเขื่อนในจีน มีอยู่ 2-3 เขื่อนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ เขื่อนเชี่ยวหวาน มีกำลังผลิตติดตั้งเยอะกว่าเขื่อนอื่นๆ ในภูมิภาค คือ 4,200 เมกะวัตต์ และมีความสูงกว่า 200 เมตร ส่วนเขื่อนที่เพิ่งสร้างเสร็จอย่างเขื่อนนั่วจาตู้ มีกำลังผลิตติดตั้งที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมถึง 5,850 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้เขื่อนทั้ง 2 เขื่อนดังกล่าวสามารถที่จะกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณที่เยอะมาก

แผนที่สร้างเขื่อนในน้ำโขง

กำลังติดตั้งของเขื่อนในแม่โขง

การกักเก็บน้ำในปริมาณมากของแม่น้ำโขงตอนบนของจีนนั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงทางตอนล่าง เนื่องจากน้ำสายหลักในฤดูแล้งของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มาจากจีนเกือบ 95-100% แต่ถ้าในฤดูฝนน้ำที่มาจากจีนจะประมาณ 75% เพราะเส้นทางน้ำจะลดน้อยลงโดยมีน้ำจากประเทศอื่นๆ ไหลมาด้วย ดังนั้น ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นบนสายน้ำทางตอนบน ก็จะส่งผลกระทบต่อแม่โขงทางตอนล่าง โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือของประเทศไทย

ส่งผลต่อแหล่งอาหาร

นางเพียรพรกล่าวว่า การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอพยพของปลา เนื่องจากปลาในลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่มักเป็นปลาอพยพที่อาศัยระดับน้ำในช่วงฝนตกเป็นตัวบ่งชี้ให้วางไข่ ซึ่งจะส่งผลต่อในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่จะลดน้อยลง และกระทบต่ออาชีพประมงและเกษตรกรรม รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชมริมน้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง

จำนวนปลาในน้ำโขง

ข้อมูลจาก World Fish Centre ทำให้เห็นว่า ปริมาณปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง มีปริมาณสูงถึง 700,000 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นจะเห็นได้ว่ามีการบริโภคที่น้อยกว่าปลามาก โดยกล่าวได้ว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถหาได้ง่ายและฟรี สำหรับผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ดังนั้น ความมั่นคงทางด้านอาหารถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประชาชนที่อยู่ในแถบภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

น้ำโขงผันผวนผิดฤดู

นางเพียรพรกล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์น้ำโขงผันผวนในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าไม่ปกติ ซึ่งตามหลักแล้วระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงเดือนธันวาคมจะต้องลดลงและใสสะอาดตามปกติเนื่องจากไม่มีน้ำฝนแล้ว แต่ปรากฏว่าที่อำเภอเชียงแสน ในวันที่ 16 ธันวาคม มีน้ำเอ่อท่วมเข้ามาลงไปจนถึงพื้นที่เขตไชยบุรี ประเทศลาว และอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากที่น้ำเอ่อท่วมก็กลับแห้งขอดลงไป และปริมาณน้ำก็เริ่มมีการขึ้นลงที่ผันผวน

ระดับบน้ำที่เชียงคาน

ระดับน้ำที่เชียงแสน

“จากค่าเฉลี่ยของกราฟรายงานระดับน้ำ พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำมีมากกว่าของปีที่ผ่านมา และเริ่มมีการผันผวนของน้ำบ่อยมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนธันวาคม มีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างน้อย 2 เมตร ทั้งในอำเภอเชียงแสนและเชียงคาน”

เสนอ “สภาประชาชน”

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนท้องถิ่นที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด นอกจากปัญหาในระบบนิเวศแล้ว ยังพบปัญหาของชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ไม่รู้จะไปพูดคุยร้องเรียนกับใคร และนอกจากนั้นยังมีปัญหาในเรื่องของหน่วยงานภาครัฐ ที่ทางประชาชนได้มีการเสนอให้หาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลหลายยุคสมัย แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไหนเลย

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายองค์กร หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC ) ซึ่งนายนิวัฒน์มองว่าบทบาทหน้าที่ของ MRC จะเน้นไปทางวิชาการเป็นหลักมากกว่าการออกมาปกป้องดูแลรักษา หรือสร้างความสัมพันธ์กับภาคประชาชน เพราะฉะนั้นจึงควรมีองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ในเรื่องนี้เกิดขึ้น นั่นคือภาคประชาชน

“ผมมองว่า สิ่งที่ควรจะทำต่อไปคือ การเชื่อมร้อยระหว่างประเทศของภาคประชาชนในความร่วมมือของภาคประชาสังคม ที่เชื่อมร้อยกับการใกล้เข้ามาของประชาคมอาเซียน โดยใช้ประชาคมอาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะเริ่มจากประเทศลาว” นายนิวัฒน์กล่าว

แนะ MRC ปรับปรุงบทบาท

ทางด้านนางผกาวรรณ จุฬามาณี กล่าวว่า MRC เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ล้วนเหมาะสมกับยุคสมัยนั้น ที่ประชากรในลุ่มแม่น้ำโขงยังมีไม่มาก แต่สำหรับในยุคสมัยนี้ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดชุมชมขนาดใหญ่ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือพูดได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเกือบทั้งหมด จึงคิดว่าประเทศสมาชิก MRC ควรมาปรึกษาหารือกันว่าควรจะต้องปรับปรุงพัฒนาแก้ไขในส่วนใด เพื่อให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ให้เหมาะสมกับยุคสมัยนี้

“MRC มีจุดแข็งคือ มีวิชาการที่เข้มแข็ง แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนั้น จึงควรมีการปรับบทบาทและความรับผิดชอบของ MRC ให้บุคลากรเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชนที่เดือดร้อนมากขึ้น โดยคำนึงถึงหลักส่วนรวมเป็นหลัก” นางผกาวรรณกล่าว