ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เส้นทาง “วิบาก” รัฐบาล หาเงินจ่ายจำนำข้าว

เส้นทาง “วิบาก” รัฐบาล หาเงินจ่ายจำนำข้าว

19 มีนาคม 2014


เส้นทางวิบากหาเงินจ่ายชาวนา

กว่า 5 เดือนที่รัฐบาลรักษาการของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พยายามดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57 แม้ผลลัพธ์ส่วนใหญ่จะล้มเหลว เพราะติดขัดเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) และ (4) และยังถูกประท้วงคัดค้านจากสหภาพแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้แผนการหาเงินของรัฐบาลรักษาการมาจ่ายจำนำข้าวให้ชาวนามีความล่าช้า จนชาวนาต้องเดือดร้อนทุกข์ใจฆ่าตัวตายไปเกือบ 10 ราย

แหล่งเงินที่รัฐบาลรักษาการหามาจ่ายจำนำข้าวให้ชาวนาโดยไม่ติดขัดปัญหาจะมาจากแหล่งสำคัญคือ เงินงบประมาณ เงินระบายขายข้าว และเงินที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้

แต่แหล่งเงินที่มีปัญหามากที่สุดคือ แหล่งที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ โดยเฉพาะปรับแผนบริหารหนี้กู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ที่แม้แต่คณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับพิจารณา โยนให้รัฐบาลรักษาการพิจารณาเอง ทำให้รัฐบาลรักษาการพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง

ส่วนการใช้ “เงินงบประมาณ” ที่นำมาใช้เพื่อจ่ายจำนำข้าวให้ชาวนา 62,000 ล้านบาท ก็เป็นการ “โยกงบ” ภายในรายการเดียวกันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยในงบประมาณปี 2557 รัฐบาลจัดสรรงบฯ วงเงิน 73,426 ล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เพื่อให้ ธ.ก.ส. นำไปชดเชยความเสียหายโครงการจำนำข้าว หรือลดภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในบัญชีสินเชื่อนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) ของ ธ.ก.ส. แต่ ธ.ก.ส. ได้กันเงินจำนวน 62,200 ล้านบาทไปจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ก่อน แทนที่จะนำไปใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557

โยกงบฯ จำนำข้าว

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า การโยกงบดังกล่าวถือว่าทำได้ เพราะเป็นการปรับแผนการใช้จ่ายเงินภายในองค์กร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบบริหารงบประมาณทั่วไป โดยสำนักงบประมาณมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้บริหารส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้พิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วน

“ดังนั้น ผู้จัดการ ธ.ก.ส. จึงมีอำนาจยืมงบฯ จากรายการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใช้ก่อนได้ แต่ต้องอยู่ในรายการเดียวกันเท่านั้น หากโยกงบฯ ข้ามรายการต้องส่งให้สำนักงบประมาณอนุมัติ แต่กรณีจำนำข้าวถือว่าอยู่ในรายการเดียวกัน เป็นอำนาจของผู้จัดการ ธ.ก.ส. แต่เมื่อรายการที่ถูกโยกงบฯ มาครบกำหนด ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ต้องหาเงินมาชำระคืนให้ทันกำหนด” นายสมศักดิ์กล่าว

ส่วนการ “ระบายขายข้าว” รัฐบาลรักษาการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” การันตีว่าจะระบายขายข้าวให้ได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท

แต่ลำพังเงินสภาพคล่องจากงบประมาณและการระบายขายข้าว คงจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้รัฐบาลรักษาการฯ พยายามทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา แม้จะเสี่ยงผิดกฎหมายแต่ก็ไม่หวั่น เดินหน้าลุยทำหนังสือเชิญธนาคารพาณิชย์มาประมูลปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ผลลัพธ์ออกมา “ล้มเหลว” เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่เข้าร่วมประมูล

นอกจากนั้นยังพยายามอีกหลายๆ วิธีแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อาทิ การให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ ธ.ก.ส. ก็ถูกรัฐวิสาหกิจของธนาคารออมสินประท้วงคัดค้าน และการออกตั๋วพีเอ็นโดยกระทรวงการคลังค้ำประกันขายเฉพาะเจาะจงให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีสภาพคล่อง ก็ถูกคัดค้านจากพนักงานของรัฐวิสาห กิจนั้นๆ เป็นต้น

จนกระทั่งมาสบช่องใช้ “งบกลาง” โดยคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการมีมติให้นำงบกลาง 20,000 ล้านบาทไปจ่ายจำนำข้าว เมื่อส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณาก็อนุมัติให้ดำเนินการได้ แต่มีเงื่อนไขว่า นำไปจ่ายจำนำข้าวได้เฉพาะชาวนาที่ได้รับใบประทวนก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา หรือก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เท่านั้น และเป็นเงินยืมทดรองจ่ายไปก่อนโดยมีเงื่อนไขโดยทำสัญญาระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับกระทรวงการคลังว่า ต้องนำเงินจากการขายข้าวมาคืนงบกลางให้ครบภายใน 31 พฤษภาคม 2557

เพราะฉะนั้น งบกลางน่าจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้รัฐบาลรักษาการได้บ้าง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เนื่องจากช่วงก่อนยุบสภารัฐบาลมียอดค้างจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาประมาณ 40,000 ล้านบาท

“ยอดค้างจ่ายจำนำข้าวก่อนจะยุบสภามีประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่สำนักงบจัดให้เพียง 20,000 ล้านบาท” นายสมศักดิ์กล่าว

ดังนั้น ยังมีชาวนาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ใบประทวนก่อนยุบสภาจะไม่ได้เงินจำนำข้าว หรือรัฐบาลยังคงค้างเงินจำนำข้าวชาวนาก่อนยุบสภาอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท

การนำงบกลางมาใช้ 20,000 ล้านบาทภายใต้เงื่อนไขต้องชำระคืนภายในพฤษภาคมนี้ จะทำให้เงินจากการระบายขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าขายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท แทนที่จะได้นำมาจ่ายจำนำข้าวให้ชาวนาเป็นกอบเป็นกำ ก็ต้องถูกกันไว้จ่ายคืนงบกลางอีก 20,000 ล้านบาท

เมื่อดูเวลาแล้วจะเหลืออีกเพียง 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค.) ที่ต้องหาเงินไปจ่ายคืนเงินงบกลาง เท่ากับว่าจะมีเงินจากการระบายขายข้าวเพียง 10,000 ล้านบาทของเดือนมีนาคมเท่านั้น ที่สามารถนำไปจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้ ส่วนเงินขายข้าวในเดือนเมษายนกับพฤษภาคม ที่คาดว่าจะได้รวมกันอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท คงต้องเตรียมไว้สำหรับจ่ายคืนงบกลาง

เพราะถ้ารัฐบาลรักษาการ “เบี้ยว” ไม่ทำตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้หรือทำไม่ได้ อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 ในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลรักษาการจะเลี่ยงบาลี เว้นแต่มีรัฐบาลใหม่ แล้วสำนักงบทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่ว่าจะยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมหรือไม่ ถ้ารัฐบาลใหม่มีมติไม่ยืนยัน เรื่องนี้ก็ตกไปคือไม่ต้องหาเงินมาใช้งบกลาง

นอกจาก เงินระบายขายข้าว และงบกลางที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินมากให้ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินจำนำข้าวแล้ว ทาง ธ.ก.ส. ก็พยายามดำเนินการช่วยเหลือชาวนาด้วยตนเอง โดยการตั้ง “กองทุนช่วยเหลือชาวนา” เพื่อระดมเงินทุนไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาที่ยังไม่ได้เงินจำนำข้าว

กองทุนช่วยเหลือชาวนา

ข้อมูล ณ 18 มีนาคม 2557 จำนวนเงินที่กองทุนช่วยเหลือชาวนาระดมได้กว่า 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เริ่มนำเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาแล้ว

ทั้งนี้ กองทุนช่วยเหลือชาวนา ประเภทกองทุนที่ 2 และ 3 จะได้รับใบสมทบกองทุนเพื่อเป็นหลักฐานของรับเงินคืนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ 31 ธันวาคม 2557 ประเด็นตรงนี้มีข้อสังเกตคือ ธ.ก.ส. ระบุว่า เงินที่จะนำไปคืนผู้ถือใบสมทบกองทุนจะมาจากเงินระบายขายข้าวหรือที่รัฐบาลจัดหาให้ แต่ประเด็นคือ “ไม่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ” เพราะเป็นการดำเนินการของ ธ.ก.ส. เอง ดังนั้น กรณีนี้อาจเป็นความเสี่ยงของ ธ.ก.ส. ที่ต้องแบกรับภาระส่วนนี้ไว้เองหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้ทันกำหนดเวลา

อย่างไรก็ตาม ทุกวิธีที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือ “ซื้อเวลา” เพื่อให้รัฐบาลรักษาการเท่านั้น เพราะยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เงินจำนำข้าว

โดยข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ณ 14 มีนาคม 2557 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำประมาณ 11.6 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 1.8-1.9 แสนล้านบาท แต่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้วประมาณ 71,192 ล้านบาท ยังเหลือเงินที่รัฐบาลรักษาการต้องหามาจ่ายชาวนาอีกประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินหรือสภาพคล่องที่ได้มาจากงบกลาง กองทุนช่วยเหลือชาวนา และการระบายขายข้าว คงไม่เพียงพอจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ครบทุกคน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทางออกเดียวของการหาเงินมาจ่ายจำนำข้าวได้ทั้งก้อนที่ค้างอยู่คือ ต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่ถ้าจะรอจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่ก็ไม่รู้จะจัดตั้งได้เมื่อไร และคนที่เดือดร้อนเป็นทุกข์มากที่สุดคือ “ชาวนา” เพราะนอกจากจะไม่ได้เงินแล้ว ในฤดูการผลิตข้าวนาปรังที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำเหลือเพียง 5,000-6,000 บาท เท่านั้น

ดังนั้น รัฐบาลรักษาการ โดยรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” จึงเตรียมเดินหน้ากู้เงินมาจ่ายเงินจำนำข้าว ด้วยการให้ ธ.ก.ส. ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการดำเนินการ การคิดอัตราดอกเบี้ย และกระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือไม่ค้ำประกันพันธบัตรออมทรัพย์ คาดว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้น่าจะรู้ผลการพิจารณา

การออกพันธบัตรกู้เงินของรัฐบาลรักษาการครั้งนี้ ถ้า “สำเร็จ” จะทำให้มีเงินมาเคลียร์หนี้จำนำข้าวให้ชาวนาได้ทั้งหมด 1.1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรกู้เงินครั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอาจต้องแลกด้วย “ความเสี่ยง” ด้านกฎหมาย คืออาจเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 181 (3) และ (4)

แต่รัฐบาลรักษาการมีทางเลือกไม่มาก นอกจาก “ดับเครื่องชน”

เพราะถ้าชาวนาเดือดร้อนอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน