ThaiPublica > คอลัมน์ > “ปฏิรูปพลังงาน” ทำอะไร เพื่ออะไร ข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร

“ปฏิรูปพลังงาน” ทำอะไร เพื่ออะไร ข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร

7 มีนาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

เวลานี้ มีกระแส มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ผลักดันให้มี “การปฏิรูปพลังงาน” เป็นการใหญ่และเร่งด่วน และพยายามผลักดันให้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ต้องการให้ กปปส. บรรจุเป็นเรื่องสำคัญต้นๆ ในการ “ปฏิรูปประเทศ” มีการขึ้นพูดปลุกเร้าตามเวทีประท้วง ผมไม่แน่ใจว่าท่านกำนันเลขาฯ กปปส. ท่านมีความเห็นอย่างไร แต่ได้ยินว่าหลวงปู่ผู้คุมเวทีแจ้งวัฒนะได้ระบุเป็นวาระไปแล้ว หลังจากฟังอธิบายความจากกลุ่มผู้ผลักดันแต่เพียงข้างเดียว (นี่แหละครับ การจะปฏิรูปอะไรกลางสี่แยก มันก็ยากที่จะลงรายละเอียดได้ครบถ้วน แล้วแต่ใครจะชิงพูด ชิงตะโกนก่อน)

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน แต่เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูป กินเลยไปถึงการทวงคืน ปตท. ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะทวงอย่างไร ใช้ยึดเอาดื้อๆ ใช้เวนคืนราคาถูก หรือซื้อคืนราคาตลาด ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็จะมีผลกระทบกับตลาดทุนและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทั้งนั้น ตั้งแต่ระดับมาก ไปจนถึงวินาศย่อยยับ จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องขอร่วมแสดงความเห็นตามภูมิเท่าที่รู้ ซึ่งก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะถูกต้องทุกประการ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้จนกว่าความจริงจะกระจ่างทั้งหมด

สิ่งที่หลายคน รวมทั้งผมยังสับสน คือข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหลายเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งยังมีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่มากในหลายๆ ประเด็น ซึ่งผมขอแยกแยะดังนี้นะครับ

ประเด็นแรก เริ่มจากต้นน้ำเลย แหล่งพลังงานที่เรามีอยู่ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซเป็นอย่างไร เราผลิตใช้เท่าใด จะมีเหลือใช้ได้อีกนานไหม ฝ่าย “ปฏิรูปฯ” บอกว่า เรามีมหาศาล เรียกได้ว่าเป็น “ซาอุฯ แห่งตะวันออกไกล” เลยทีเดียว แต่ข้อมูลที่เป็นทางการ ณ ปี 2554 กลับบอกว่า เรามี Proven Reserve (ปริมาณสำรองที่ยืนยันการค้นพบแล้ว) อยู่ไม่มาก มีก๊าซแค่ 10 ล้านล้าน ลบ.ฟุต ถ้าใช้ในอัตราปัจจุบัน แค่ 11 ปีก็หมด มีคอนเดนเสท 239 ล้านบาร์เรล ใช้ได้ 8 ปี มีน้ำมันดิบ 215 ล้านบาร์เรล ใช้ได้แค่ 4 ปี แต่ถ้ารวม Probable Reserve (ปริมาณที่อาจพบ) และ Possible Reserve (ปริมาณที่น่าจะพบ) เข้าไปด้วย แล้ว apply สถิติที่เคยพบ คือ 20% กับ 10% ก็จะทำให้ยืดอายุไปได้ ก๊าซเป็น 14 ปี คอนเดนเสทเป็น 11 ปี น้ำมันดิบเป็น 6 ปี นอกจากจะฟลุค เจอเต็ม 100% ทั้ง Probable ทั้ง Possible ก็ยืดอายุไปได้เป็น 30, 23 และ 16 ปีตามลำดับ ซึ่งนับแล้วก็จิ๊บจ้อย เรามีน้ำมันดิบรวมคอนเดนเสทสำรองแค่ 450 ล้านบาร์เรล อยู่อันดับ 48 ของโลก เทียบกับซาอุฯ ที่มี 266 พันล้านบาร์เรล ห่างกันไม่เห็นฝุ่น 500 เท่าตัว หรือแม้แต่ เทียบกับมาเลเซียที่มี 3,700 ล้านบาร์เรล ก็ยังน้อยกว่าร่วมแปดเท่า (แต่เราใช้นำ้มันมากกว่ามาเลเซียเกือบเท่าตัว) หรือ ก๊าซสำรอง เราก็มีแค่ 285 แสนล้าน ลบ.เมตร เป็นแค่ 3% ของซาอุ ที่มี 8.2 ล้านล้าน ลบ.เมตร หรือมาเลย์ก็มี 1.3 ล้านล้าน ห้าเท่าของเรา

สรุปได้ตรงนี้เลยว่า ที่คุยที่โม้ว่าเราเป็นประเทศโชคดีแบบฟ้าประทานเหมือนซาอุฯ มีนำ้มันมีก๊าซเหลือเฟือนั้นไม่น่าจะจริง แล้วไอ้ 11 ปี 8 ปี 4 ปี นี่มันแค่แป๊บเดียวนะครับ อย่าว่าจะพอถึงลูกถึงหลานเลย คนรุ่นผมยังอยู่กันครบเลยครับ แล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ ถ้าไม่หาเพิ่ม ถ้าไม่เปลี่ยน Probable กับ Possible ให้มันกลายเป็นของจริงเอามาใช้ได้ อีกไม่นานก็ต้องนำเข้า 100% ปัญหามันก็อยู่ที่การจัดหาคนมาขุดเจาะลงทุนเสี่ยงเพิ่มให้ทันการ

ปิยสวัสดิ์4

ในปัจจุบันเรามีระบบให้สัมปทาน Thailand 1 กับ Thailand 3 ซึ่งหลายฝ่ายโจมตีว่าให้ประโยชน์เอกชนมากไป ความจริงเราเคยเอา Thailand 2 มาใช้ในปี 1982 เพื่อเอาประโยชน์จากเอกชนให้มาก แต่ปรากฏว่าไม่มีใครคิดว่าคุ้ม ไม่มีคนลงทุนเลย เลยต้องปรับเป็น Thailand 3 ซึ่งเป็นระบบเจอน้อยแบ่งน้อย เจอมากแบ่งมาก เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการลงทุน ลักษณะบ่อก๊าซและนำ้มันในไทยได้ชื่อว่าขุดยากทำยาก ต้นทุนสูง ตัวอย่างเช่น แหล่งก๊าซบงกชซึ่งใหญ่สุดในไทย ผลิตก๊าซได้วันละ 900 ล้าน ลบ.ฟุต ต้องใช้หลุมเจาะตั้งกว่า 400 หลุม ขณะที่แหล่งยาดานาที่พม่า ซึ่ง ปตท.สผ. ก็เป็น Operator เหมือนกัน ผลิตวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟุต ใช้หลุมผลิตแค่ 12 หลุม เห็นไหมล่ะครับ ของเรานอกจากมีน้อยแล้วยังเหนียมอายซ่อนตัว หายากเจาะยาก จะให้เรียกค่าตัวโขกสับสินสอด เลยไม่ค่อยมีใครมาสู่ขอสักเท่าใด ใช้วิธีตะโกนขู่ ไม่มีใครอยากลงทุนพอดี แถมมีการตะคอกจะเอาอย่างคุณชาเวซ ยึดมาเป็นของรัฐ นักลงทุนเลยเผ่นหมด (เวเนซุเอลา มีนำ้มันสำรองมากที่สุดในโลก สามแสนล้านบาร์เรล แต่ผลิตได้แค่ 2.7 ล้าน อันดับ 11 และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจล้มเหลวถดถอย)

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของการผลิต ซึ่งก็คือการนำเอา Reserve ออกมาใช้ ซึ่งรวมไปถึงการนำเข้าวัตถุดิบที่ขาด นำมาแปรรูปเพื่อใช้งาน และอาจมีเหลือส่งออกได้ในบางส่วน บาง product ก่อนปี 2524 เรานำเข้าเกือบ 100% บางส่วนเป็นน้ำมันดิบ บางส่วนเป็นน้ำมันสำเร็จรูป พอเราค้นพบก๊าซ คอนเดนเสท และนำ้มันดิบในยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” แล้ว เราก็เริ่มนำวัตถุดิบปิโตรเลียมมาใช้ โดยมีโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ ทำหน้าที่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมกลางน้ำ (Mid-Stream)

ก่อนปี 2524 ที่เราจะพบวัตถุดิบ และเริ่มนำมาใช้ เรานำเข้าพลังงานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยมีโรงกลั่นน้ำมันแค่สามแห่ง คือ ไทยออยล์ กับ Esso ของเอกชน กับโรงกลั่นบางจากของกรมพลังงานทหาร มีกำลังการกลั่นรวมแค่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงกว่า 250,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งกิจการกลั่นน้ำมันเหล่านี้ต้องเสียภาษีให้กับรัฐสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ (ประมาณ 50% ของกำไร) จึงไม่ค่อยมีการขยายตัวลงทุนเพิ่ม

ประมาณต้นทศวรรษ 2530 รัฐต้องการส่งเสริมให้เพิ่มกำลังผลิตการกลั่น เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว และรองรับน้ำมันดิบและคอนเดนเสทที่เราขุดพบ มีการออกใบอนุญาตให้เจ้าเดิมทั้งสามขยาย กับใบอนุญาตเพิ่มให้เชลล์ (Rayong Refinery) กับคาลเท็กซ์ (Star Refinery) ตั้งโรงงานเพิ่ม ประกอบกับ TPI ของคุณประชัย (เลี่ยวไพรัตน์) แอบตั้งเพิ่มอีกโรง จนทำให้ปริมาณกำลังการกลั่นขยายตัวอย่างมาก จนปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 1,090,000 บาร์เรลต่อวันในหกโรง ซึ่งสามโรงกลั่นอยู่ภายใต้การบริหารของ ปตท. กำลังผลิตรวมประมาณ 65%

เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนโรงกลั่น รัฐได้ให้การส่งเสริมหลายอย่าง รวมทั้งตั้งเงื่อนไขด้วย รวมทั้งได้กำหนดราคาขาย ให้เป็นระบบ Import Parity กล่าวคือ ให้ขายในราคาของสิงคโปร์ (Singapore Price) บวกด้วยค่าขนส่ง ทั้งนี้เพราะราคาสิงคโปร์เป็นราคาตลาดในย่านนี้ ที่กำหนดโดยอุปสงค์อุปทานในตลาดน้ำมัน สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันมานาน และราคาที่ผ่านมาก็สะท้อนราคาตลาดโลกเป็นอย่างดี Oil Refinery Margin ของเราก็ไม่ได้สูงจนเกิดกำไรผิดปกติแต่อย่างใด (ปัจจุบันอยู่ระหว่าง 4-5 เหรียญต่อบาร์เรล) กำไรก็แค่พอคุ้มค่ากับการลงทุนเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ในปัจจุบัน กิจการกลั่นน้ำมันแต่อย่างเดียวไม่ใช่ธุรกิจที่ดี ไม่ใคร่มีใครอยากลงทุน นักลงทุนก็ไม่ให้ราคา (สังเกตได้จากราคาหุ้นโรงกลั่น) อย่างตอนวิกฤติ 2540 โรงกลั่นทุกแห่งในไทยประสบปัญหาหนัก เรียกได้ว่าเจ๊งยับ ปตท. ต้องเข้าช่วยเหลือหลายแห่ง เลยทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบหมด

เรื่องการกลั่นและราคาหน้าโรงกลั่นนี้ เป็นประเด็นที่ถูกโจมตีมาก ถ้าจะไม่อิงสิงคโปร์ ก็ต้องแน่ใจได้ว่าสะท้อนราคาตลาด ไม่มีใครครอบงำได้ เช่น ต้องให้ ปตท. ลดสัดส่วนในตลาด หรือให้ ปตท. ต้องเข้าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ยกเว้นให้ในฐานะรัฐวิสาหกิจ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ตัว พ.ร.บ. ก็ยังใช้การไม่ค่อยได้อยู่เลย) หรือถ้าจะยังอิงสิงคโปร์อยู่ ก็อาจจะแค่ปรับเรื่องค่าขนส่ง ค่าใช้จ่าย ที่ให้บวกให้ลดลง (ซึ่งผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะดีที่สุดในภาวะปัจจุบัน) แต่ที่แน่ๆ ผมไม่เห็นว่าการยึดคืน ปตท. จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร กลับจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อไปอีกมากมาย

อีกอย่างในเรื่องการกลั่นนั้น ปัจจุบันเรามี capacity มากกว่าอุปสงค์อยู่พอสมควร (ประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน) กับทั้งหน่วยกลั่นแต่ละแห่งมีเทคนิคแตกต่างกัน ใส่นำ้มันดิบแต่ละประเภทเข้าไป กลั่นออกมาได้ Product Mix ต่างๆ บางอย่างขาด บางอย่างเกิน โดยรวมเราเลยมีการนำเข้าน้ำมันดิบเกิน และมีส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณวันละ สองแสนบาร์เรล และแน่นอน ราคาส่งออกได้น้อยกว่าราคาขายในนี้บ้าง แต่ถ้าเอาราคาขายปลีกมาเทียบมันคนละเรื่องกัน เพราะเราไม่สามารถส่งออกภาษีไปให้ชาวโลกเขาบริโภคได้

การบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ซึ่งยังเป็นส่วนของ Mid-stream อยู่ ในปัจจุบัน ดูเหมือน ปตท. จะยังผูกขาดอยู่ เพราะท่อก๊าซมักจะเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) โดยธรรมชาติ (เพราะขืนทุกคนสร้างท่อก็เจ๊งเรียบ เนื่องจากไม่คุ้ม) แต่จริงๆ ก็มีระบบที่เรียกว่า Third Party Access ที่ใช้กันทั่วโลกที่จะทำให้ทำลายอำนาจการผูกขาดลงได้ ซึ่งความจริงในคราวเอา ปตท. เข้าตลาด ได้มีการสัญญาว่าจะจัดให้มีโดยเร็ว แต่ไปถูกยกเลิกในยุคทักษิณ 1 แต่ในที่สุด เมื่อคราวรัฐบาลขิงแก่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ได้ผลักดัน พ.ร.บ.กิจการพลังงาน ระบุเรื่องนี้ไว้แล้ว น่าจะบังคับใช้ได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ปัญหาการผูกขาดท่อก๊าซนี้ก็จะหมดไป ส่วนเรื่องโรงแยกก๊าซนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 5 โรง กำลังประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เป็นของ ปตท. ทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อมี Third Party Access ก็จะเปิดให้คนนอกสร้างได้ แต่ถ้าดูปริมาณ Proven Reserve ที่เรามี น่ากลัวไม่มีใครอยากลงทุน ยกเว้นก๊าซจากพม่า แต่เท่าที่ผมรู้ โรงแยกก๊าซนี่ไม่ได้มีกำไรมากมายอะไร

ประเด็นที่สี่ เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งถึงแม้ของ ปตท. จะมีสัดส่วนในอุตสาหกรรมสูง แต่ก็ไม่ถึงกับครอบงำอะไร มีผู้เล่นอื่นๆ อีกมากมาย เช่น SCG ก็มีขนาดใหญ่แข่งกันได้ แถมมีกลไกตลาดที่ค่อนข้างดีคอยกำกับ นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างค่อนข้างดี ทำให้ไทยขยายตัวในด้าน downstream ของปิโตรเคมีดีทีเดียว เป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของชาติ

ประเด็นที่ห้า เป็นเรื่องของการค้าปลีกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตั้งแต่น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินชนิดต่างๆ ดีเซล ไปจนถึง ก๊าซเอ็นจีวีหรือแอลพีจี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคนโวยวาย ว่าคนไทยใช้พลังงานในราคาแพงจนเกินเหตุ ไม่เหมือนหลายๆ ประเทศที่หยิบยก (แบบเลือกแต่ประเทศที่มีชดเชยมีการอุดหนุนเยอะๆ) และเป็นเรื่องที่มหาชนรู้สึกเดือดร้อนในวงกว้าง เลยถูกหยิบยกมาว่า ถ้าปฏิรูปตามแนวที่เสนอ จะลดราคาได้เยอะ ลิตรละห้าบาทสิบบาทเลยทีเดียว ทำเอาคนตื่นเต้น พระสงฆ์องคเจ้าฟังแล้วพลอยเชื่อ ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ

ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันทุกชนิด ประกอบด้วยสามส่วน คือ ค่าตัวน้ำมัน ค่าการตลาด และภาษีต่างๆ ตั้งแต่ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์ และ VAT รวมกันเป็นราคาที่เราต้องจ่ายที่หน้าปั๊ม ค่าน้ำมันเป็นไปตามราคาหน้าโรงกลั่นซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 24.8-26.7 บาท ค่าการตลาดที่บริษัทน้ำมันรวมทั้งเจ้าของปั๊มได้ (รวมค่าขนส่ง) อยู่ที่ลิตรละ 1.5-2.5 บาทเท่านั้น แต่เป็นค่าภาษีรวมกองทุนต่างๆ อยู่ แตกต่างกันตั้งแต่ดีเซล แค่ลิตรละ 1.7 บาท ถึงเบนซินธรรมดาสูงสุดลิตรละตั้ง 21.1 บาท ส่วนพวกแก๊สโซฮอล รัฐเก็บอยู่ระหว่างลิตรละ 7.4-13.1 บาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่ารัฐจะอุดหนุนผลิตภัณฑ์อะไรอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น รัฐอุดหนุนดีเซลเพราะเชื่อว่าคนจนใช้เยอะ เลยทำให้ดีเซลซึ่งราคาตลาดโลกแพงสุด คือ 26.7 บาท แต่ราคาขายปลีกถูกสุดที่ 30 บาทต่อลิตร แต่เบนซินธรรมดาที่ราคาตลาดอยู่ที่ 24.8 บาท แต่ผู้บริโภคต้องจ่าย 48 บาทต่อลิตร (นี่ผมก็ว่าจะไปถอย Mercedes S Class Diesel มารับการอุดหนุนสักคัน)

ความจริงกิจการค้าปลีกน้ำมันนี่ไม่ได้มีกำไรดีอะไรเลย บริษัทต่างชาติบ้างก็เลิก เช่น Jet Q8 บ้างก็หดตัว ที่ ปตท. ยังขยายรองรับความต้องการอยู่ได้ ก็เป็นเพราะเอากำไรส่วนอื่นๆ มาช่วยกับพยายามเพิ่มรายได้อื่นๆ เช่น ขายกาแฟ เปิดเซเว่น เสียมากกว่า

เรื่องโครงสร้างภาษี รวมไปถึงการอุดหนุนนี่แหละครับ ที่ถ้าจะปฏิรูปก็น่าจะทำ ขั้นแรก ก็ต้องดูก่อนว่า ระดับภาษีนี้ควรเป็นเท่าไร เราควรมีกองทุนไว้รักษาเสถียรภาพราคาไหม ซึ่งผมคิดว่าระดับโดยรวมที่เรามีอยู่น่าจะเหมาะสมดีแล้ว เพราะประเทศไทยก็ยังถือว่าเป็นประเทศที่ใช้พลังงานค่อนข้างฟุ่มเฟือย ไม่มีประสิทธิภาพ power consumption : GDP ยังสูงมาก ขืนไปกดราคาลง น่ากลัวจะยังฟุ่มเฟือยไหม ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องการอุดหนุน ว่าควรเปลี่ยนจากการอุดหนุนผลิตภัณฑ์มาเป็นอุดหนุนกลุ่มคนที่ควรได้รับดีไหม จะได้ไม่เกิดการบิดเบี้ยวของอุปสงค์ เช่น เดี๋ยวนี้รถหรูใช้ดีเซลเยอะไป ส่วน มอเตอร์ไซค์กลับต้องใช้เบนซินที่ภาษีแพงสุด สู้เราปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามราคาตลาด แล้วใช้แจกคูปองให้กับผู้ควรได้รับไม่ดีกว่าหรือ การบิดเบือนต่างๆ จะได้ลดได้หมด (เรื่องนี้ว่ารวมไปถึงเรื่อง ก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีด้วยเลย)

ผมคิดว่าประเทศไทยทำถูกที่ไม่ได้ Net Subsidy เรื่องพลังงาน เพราะเราไม่ได้มีเหลือเฟือ (แต่ที่มีเหลือเฟืออย่างข้าวก็ดันอุดหนุนด้วยแฮะ) โดยรวม เราได้ภาษีจากพลังงานปีละประมาณ 290,000 ล้านบาท โดยได้จาก Upstream 160,000 ล้านบาท และจากผลิตภัณฑ์อีก 130,000 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนว่าถ้าอยากลดราคาต้องลดจากส่วนของภาษีเป็นส่วนใหญ่

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องกำไรของ ปตท. ซึ่งถึงแม้จะยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เป็นบริษัทมหาชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ (Market Cap 850,000 ล้านบาท) อันดับ 2 คือ PTTEP ในเครือ ขนาด 610,000 ล้านบาท และ ปตท. มีกำไรปีละ 95,000 ล้านบาท เลยเกิดกระแส นัยว่าได้กำไรเกินควร ควรยึดกลับมาเป็นของรัฐ เสร็จแล้วก็จะได้ลดราคาน้ำมันลงทันทีลิตรละ 5 บาท เพราะ ปตท. ขายน้ำมันปีละประมาณ 20,000 ล้านลิตร เป็นรัฐวิสาหกิจไม่เห็นต้องมีกำไร คืนให้ประชาชนหมดดีกว่า

ข้อเสนออย่างนี้ อยากเรียนว่า ไม่ทราบว่าใช้หัวแม่เท้าข้างไหนคิด เพราะถ้าทำอย่างนั้น บริษัทน้ำมันอื่นๆ ก็เจ๊งเรียบทันที จาก Market Share 40% ปตท. ก็เลยมีส่วนแบ่ง 100% ต้องขาย 50,000 ล้านลิตร 5 บาทก็เลยกลายเป็น 2 บาททันที แล้วอุตสาหกรรมพลังงานที่อุตส่าห์สร้าง วางโครงไว้อย่างดีมาตลอดหลายสิบปีก็คงพังครืน ในอนาคตเราจะมีปัญหามากมาย เรียกได้ว่าต้องขาดแคลนพลังงาน ผมเชื่อมั่นเลยว่า ถ้าเกิด “ทวงคืน ปตท.” จริงๆ เศรษฐกิจไทยต้องถดถอยอย่างน้อย 5% อย่างแน่นอน อย่าว่าแต่วิธีจะทำอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปทวงคืน ถ้าซื้อราคาตลาด ก็เพิ่มหนี้สาธารณะทันที 5% ของ GDP (รวม PTTEP) เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่าเยอะครับ (ยกเว้นจำนำข้าว) หรือถ้ายึดคืนเฉยๆ หรือบังคับซื้อถูกๆ อย่างนั้นยิ่งวินาศใหญ่ ตลาดทุนพังครืนตามเศรษฐกิจแน่ครับ จริงๆ แล้วกลับควรทำตรงกันข้าม คือแปรรูปไปเสียให้สุดซอย เหมือนที่ป้า Thatcher เธอเคยทำกับ British Petrolium จนกลายเป็นบริษัทระดับโลกไป (ไว้วันหน้าจะเสนอรายละเอียดนะครับ รวมทั้งเล่าเรื่องการขายหุ้น IPO ปตท. เมื่อปี 2544 ที่มีหลายคนเข้าใจผิด ก่นด่าแบบไม่ฟังเหตุผลจนทุกวันนี้)

ภาพปั้มปตท.

อีกอย่าง ถ้าไปดูรายละเอียดกำไรของ ปตท. จะพบว่า 72% เป็นกำไรที่มาจากธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P ซึ่งก็คือ ปตท.สผ.) มาจากก๊าซ 20% จากค้าปลีกน้ำมันแค่ 7% ลองคิดดูว่าถ้าเอากำไรจากส่วนอื่นมาชดเชยราคาน้ำมันอย่างเดียว ก็เป็นอันว่าโครงสร้างทุกอย่างจะต้องบิดเบี้ยวไปหมด

สรุปเสียที ผมคิดว่า ข้อเสนอ “ปฏิรูปพลังงาน” ที่มีคนนำเสนอ กดดันทุกฝ่าย ตะโกนปาวๆ อยู่ตามเวทีต่างๆ เวลานี้ เป็นเรื่องอันตรายมากต่อประเทศ (ผมถึงต้องลงทุนลางานครึ่งวัน นั่งเขียนบทความยาวขนาดนี้ไงครับ) ถ้าเราจะปฏิรูปจริง ข้อมูลต่างๆ ต้องถูกต้องเสียก่อน เริ่มต้นก็คือเรื่องปริมาณสำรอง ที่ไปหลงว่าเรามีเหลือเฟือ ทั้งๆ ที่ความจริงแสนเหือดแห้ง แถมการขุดการหาเพิ่มก็แทบไม่มี ส่วนเรื่องโครงสร้างต่างๆ ที่ทุกฝ่ายเพียรสร้างเพียรวางไว้หลายสิบปี แน่นอนครับ ถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ ยังปรับยังพัฒนาต่อได้ แต่ไม่ใช่เป็นแบบที่เสนออยู่หรอกครับ อย่างนั้นน่ะมันหายนะชัดๆ

สำหรับผม การพัฒนา การวางโครงสร้าง ด้านพลังงาน เราทำได้ดีทีเดียว ตั้งแต่เรามีวิกฤติขาดแคลนพลังงานครั้งสุดท้ายในสมัยนายกฯ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เราก็ไม่เคยขาดแคลนพลังงานอีกเลย ราคาก็ไม่ได้แพงเกินสมควร (สังเกตได้จากการฟุ่มเฟือยในการใช้) ทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างหนัก ค่อยๆ ปลุกปั้นกันมาจนทุกวันนี้ ตั้งแต่ท่านศุลี มหาสันทนะ ท่านศิววงศ์ จังคศิริ ท่านเกษม จาติกวณิช ทางด้านสภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน อย่าง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่ทุ่มเททำเรื่องนี้มากว่าครึ่งชีวิต พอท่านออกมาค้าน ก็ถูกรุมป้ายสี เอาเรื่องเท็จต่างๆ มาใส่ร้าย

สังคมวันนี้ เราจะแค่เชื่อคนที่ไม่เห็นจะรู้จริง ไม่เคยทำอะไรสำเร็จ แค่เอาข้อมูลเผินๆ มามั่วแปะไปแปะมา แล้วฉวยโอกาสชักชวนคนที่ไม่รู้ ตะโกนกรอกหูให้หลงตามแล้วจะเอามาทำลายระบบที่สำคัญลงได้หรือครับ

อย่างที่ออกตัวไว้ครับ ถึงผมจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลต่างๆ อาจไม่ถูกเป๊ะ แต่ผมแน่ใจว่าหลักการต่างๆ ที่ผมอธิบายเป็นเรื่องจริง ครบถ้วนตามควร ใครอยากถกมาอย่างสร้างสรร หรือแก้ไขตรงไหนที่ไม่ถูกต้อง ก็เชิญเลยนะครับ

อ้อ…คงต้องประกาศไว้เลยว่า ผมเป็นประธานกรรมการของ บล.ภัทร ที่เป็นที่ปรึกษาแปรรูป ปตท. (และรัฐวิสาหกิจอื่นอีกสิบแห่ง) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมภาคภูมิใจ ว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ของชาติ ซึ่งถึงแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ 100% มีเรื่องปรับปรุงต่อไปได้ แต่ยืนยันว่า ดีกว่าการที่ทิ้งไว้เป็นรัฐวิสาหกิจเฉยๆ ไม่เข้าตลาดหลายเท่านักครับ

ถ้าจะกลัวว่าผมเขียนเรื่องนี้อย่างมีอคติ ก็ลองใช้วิจารณญานอ่านสิ่งที่ผมเขียนว่ามีเหตุมีผล ตรงข้อเท็จจริงไหม อย่าได้สนใจว่าผมเป็นใครเลยครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich