ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง “ปฏิรูปพลังงาน”

ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง “ปฏิรูปพลังงาน”

25 มีนาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

จากรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทาง ASTV เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประเด็นโต้แย้งของ “ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” มีเรื่องสำคัญแค่การออกแบบ Fiscal System โดยมีพื้นฐานความคิดหลักอยู่สองอย่าง คือ

– ม.ล.กรกสิวัฒน์ยังเชื่อว่า เรามีเยอะ ขุดหาไม่ยาก ผลิตไม่ยาก ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่า เท่าที่เจอแล้วมีไม่มากและทำการผลิตค่อนข้างยาก ต้องเร่งเชิญชวนให้คนมาหา มาผลิต

– ม.ล.กรกสิวัฒน์ยืนยันว่า เราต้องเปลี่ยนระบบ จากการให้สัมปทาน (Concession) มาเป็น การแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC) ไม่อย่างนั้น เท่ากับเสียอธิปไตยทางพลังงานเลยทีเดียว

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ทวงคืน ปตท. ลดราคาฮวบฮาบ ไม่ใช่ประเด็น (ผมไม่ได้ติดตาม ม.ล.กรกสิวัฒน์มาก่อน เลยไม่ทราบว่าเมื่อก่อนเป็นประเด็นไหม)

ผมคิดว่าเรื่องทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน

ถ้าเรามีน้ำมัน มีก๊าซเยอะ หาเจอง่าย แถมผลิตง่ายต้นทุนต่ำอย่างนั้นเราจะเอาแบบไหนก็ได้ จะสัมปทาน จะแบ่งผลผลิต หรือจะเอาแบบรับจ้างผลิตแบบซาอุดีอาระเบีย หรือเวเนซุเอลลา ก็ยังมีคนเข้าคิวมาแย่งทำ

แต่ถ้าเรามีน้อย หายาก เจาะก็แพง อย่างนั้น อำนาจต่อรองก็คงน้อย ทำเล่นตัวไป เดี๋ยวก็เลยไม่มีใครมาขุดมาหา ต่อให้มีจริงก็ไม่ได้เอามาใช้

จากข้อมูลทางการ ของกระทรวงพลังงาน มันน่าจะเป็นแบบหลัง แต่ทางกลุ่ม ม.ล.กรกสิวัฒน์ก็ไม่ยอมเชื่อ งัดเอาเอกสารโน่นนี่นั่นมาอ้างสารพัด (ทำให้ผมนึกถึงข้อโต้แย้งของศาสนจักรต่อกาลิเลโอ ว่ามีหลักฐานมากมายว่าโลกแบนตามที่เคยฟันธงไว้ก่อนแล้ว โต้จนกาลิเลโอต้องยอมทำเป็นเชื่อน่ะครับ เรื่องนี้เกิดเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนนี่เอง)

เรื่องนี้ดูเหมือนว่า ถ้าทำตามที่แนะนำ ก็จะรู้เอง คือเปลี่ยนเป็น PSC เรียกค่าตอบแทนให้สูงลิ่ว (ยังไงก็ต้องให้สูงกว่าเดิมอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะเปลี่ยนทำไม อ้อ…แต่ต้องห้ามขึ้นสูตรราคาก๊าซนะ) แล้วรอดูสิว่า จะมีคนมาแย่งกันขอหรือเปล่า แล้วแย่งกันไปแล้วเจาะเจอรึเปล่า ผลิตได้หรือเปล่า แบ่งผลผลิตกันแล้วรัฐได้มากขึ้นหรือเปล่า

แต่ที่กระทรวงพลังงานเขาไม่กล้ายอม เพราะเขาค่อนข้างมั่นใจในข้อมูลของเขา และเกรงว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วไม่มีการขุดเจาะสำรวจ อีกไม่นานเราก็จะเจอวิกฤติพลังงานเสียก่อน เป็นเรื่องเสี่ยงเกินไปที่จะยอมทำตามข้อเสนอที่มาจากข้อมูลแค่นี้ ความเชื่อแค่นี้

อีกอย่าง เท่าที่ผมทราบ (ถ้าทราบผิดก็ชี้แจงมานะครับ) ระบบ PSC นั้นจะต้องใช้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถสูง เพราะต้องต่อรอง คอยควบคุม อนุมัติเรื่องต่างๆ และติดตามดูแลเอกชนอย่างใกล้ชิด ทำให้ต้องมีความซื่อสัตย์ และต้องโปร่งใสสูง เพราะง่ายต่อการคอร์รัปชัน อย่างมาเลเซีย ให้ Petronas ทำหน้าที่นี้ (เขาถึงกำไรมากมายไงครับ) และเป็นที่รู้กันว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลน้อยมาก (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการเขายังไม่มีเลยครับ) ส่วนที่อินโดนีเซียที่ใช้ระบบ PSC เหมือนกัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่แล้ว Chief ของ SKKMigas ที่เป็น Regulator ดูแล PSC เพิ่งถูกจับดำเนินคดีโดย ป.ป.ช. ของอินโดนีเซียในข้อหาคอร์รัปชัน ยังปั่นป่วนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้

พอมาเหลียวดูเมืองไทย…เมืองที่ข้าราชการเงินเดือนแค่หนึ่งในสิบของเอกชนที่เขาต้องไปกำกับดูแล เมืองที่มีดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันแค่ 35 จาก 100 อยู่อันดับ 102 ของโลก ยังไงผมก็ว่าเราต้องเลือกระบบที่มาตรฐานชัดเจนคุมง่ายเอาไว้ก่อนนะครับ

ความจริง เราจะเลือกใช้ Fiscal System อย่างไหน จะเป็น Concession หรือ PSC ทั้งสองอันมันออกแบบได้อีกต่างๆ ได้ทั้งคู่ ประเด็นมันมีอยู่แค่ 3 อย่าง คือ

– มันเชิญชวนให้ลงทุนไหม (อย่างเขมร ใช้ PSC เหมือนกัน แต่ยังไม่มีการผลิตเลย ต่อให้ได้ 80% ก็เป็น 80% ของ 0)

– ผลิตมาแล้วใครได้อะไรเท่าไหร่ ระหว่างรัฐ กับผู้ลงทุน (มันมีสัมปทานแบบที่รัฐได้ 70% และก็มี PSC ที่รัฐได้แค่ 40%)

– มันสามารถจัดการได้ดี ควบคุม ดูแลได้ ไม่มีช่องให้โกง (หรือมีน้อยกว่า) หรือเปล่า

ส่วนประเด็นที่ว่า ปริมาณสำรองได้ชื่อว่าเป็นของใคร ผมไม่เห็นสำคัญตรงไหน เพราะมันเป็นแค่วาทกรรม ยังไงก็ต้องเอาขึ้นมาใช้ในไทย เป็น GDP ของไทย (นอกจากจะขโมยไปดื้อๆ อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวหา ซึ่งถ้าจะขโมย ระบบไหนก็ขโมยได้ทั้งคู่ มาออกแบบวิธีป้องกันขโมยกันดีกว่า)

สำหรับผม…คิดว่า ถ้าความแตกต่างมาจากข้อมูลไม่เหมือนกัน เข้าใจไม่ตรงกัน ยังรู้ไม่ครบ ก็น่าจะค่อยๆ ปรับความรู้ความเข้าใจเข้าหากัน อย่าใช้วิธีโจมตีด่าทอ ดิสเครดิตกันไปมา ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร

วิธีการที่เอาแต่จับผิด ระแวงแต่ว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันทำมิชอบ (มันมีหลายร้อยคนเลยนะครับ) ไม่ให้เกียรติคนที่เขารับผิดชอบ ไม่เคารพคนอื่น ผมไม่เห็นว่าจะทำให้การ “ปฏิรูป” สำเร็จลงได้อย่างไร

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง “ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” แฉความลับ สัมปทานน้ำมันไทย ทำไมได้ผลตอบแทนต่ำ