ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 12 ปี “โครงการจำนำข้าว” ใช้เงินภาษีอุดหนุนไปแล้ว 1.39 ล้านล้านบาท

12 ปี “โครงการจำนำข้าว” ใช้เงินภาษีอุดหนุนไปแล้ว 1.39 ล้านล้านบาท

20 ธันวาคม 2013


เงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว

การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม ไม่ช่วยแก้ปัญหาชาวนาที่ต้นเหตุ ที่สำคัญ มีปัญหาคอร์รัปชันทุกขั้นตอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นกระบวนการรับจำนำจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการระบายขายข้าว

นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าว มีการใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ทั้งในส่วนของเงินอุดหนุน และการชดเชยผลขาดทุน ซึ่งเป็นภาระทางการคลัง เพราะรัฐบาลต้องใช้งบประมาณและก่อหนี้จำนวนมหาศาลเพื่อมาใช้ในโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” มีการใช้เงินในโครงการรับจำนำ 2 ฤดูการผลิต (2554/55 กับ 2555/56) ไปแล้วประมาณ 6.8 แสนล้านบาท

แต่หากย้อนกลับไปประมาณ 12 ปี พบว่า มีการใช้เงินงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้นประมาณ 1.39 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลเงินอุดหนุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมาจาก 2 แหล่งที่มา คือ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับ สถาบันคลังสมองของชาติ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประมาณการงบอุดหนุนสินค้าเกษตร โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ได้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากมติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในการคำนวณหาว่ามีการใช้งบประมาณอุดหนุนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นเท่าไร ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ใช้เงินงบประมาณสูงมากถึง 1.3 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้า คำนวณการใช้งบประมาณรับจำนำข้าวระยะเวลา 12 ปี เริ่มตั้งแต่โครงการรับจำนำในช่วงปีฤดูการผลิต 2544/45 ถึง 2552/53 และในปี 2554/55 ถึง 2555/56 รวมทั้งคำนวณเงินอุดหนุนในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่อยู่ในช่วงฤดูการผลิต 2552/2553/54

แต่ถ้าปรับข้อมูล 2 ปีสุดท้ายเป็นข้อมูลจริงของสถาบันคลังสมองของชาติ และตามที่ ธ.ก.ส. ประกาศ คือ ฤดูการผลิต 2554/55 กับ 2555/56 มีการใช้เงินในโครงการจำนำข้าวไปแล้ว 6.8 แสนล้านบาท ก็จะทำให้เงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 12 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 1.39 ล้านล้านบาท

มีข้อน่าสังเกตคือ เฉพาะรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีการใช้เงินในโครงการจำนำข้าวมากที่สุด คือ เพียงระยะเวลา 2 ปี ใช้ไปแล้วประมาณ 6.88 แสนล้านบาท ขณะที่ช่วง 10 ปีก่อนหน้านั้นมีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวรวมกับโครงการประกันรายได้ไปทั้งสิ้นประมาณ 6.98 แสนล้านบาท

สาเหตุของการใช้เงินจำนวนมากในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นเพราะมีนโยบายตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 50% และมีนโยบายรับจำนำทุกเมล็ด ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศ หรือผูกขาดตลาดข้าวเป็นของรัฐบาลเพียงเจ้าเดียว จึงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการรับจำนำข้าว

นอกจากนี้ ถ้านำผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวมาคำนวณรวมด้วย จะยิ่งทำให้เม็ดเงินที่่ใช้ในโครงการเพิ่มขึ้นไปอีก

ตัวเลขขาดทุนจำนำข้าว

โดยหากใช้ข้อมูลของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ในส่วนของการรับจำนำข้าวซึ่งคำนวณตั้งแต่ฤดูการผลิต 2547/48 ถึง 2555/2556 (ฤดูการผลิตปี 2555/56 ใช้ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2556) หรือประมาณ 9 ปี ปรากฏว่าโครงการรับจำนำข้าวมีผลขาดทุนประมาณ 3.9 แสนล้านบาท

ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว จะเป็นภาระของรัฐบาลเพราะรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณนำเงินไปล้างผลขาดทุนที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากนำตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในช่วงระยะเวลา 12 ปี จำนวน 1.39 ล้านล้านบาท บวกกับตัวเลขผลขาดทุนที่จะเป็นภาระงบประมาณในอนาคตอีกประมาณ 3.9 แสนล้านบาท จะทำให้ระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมามีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 1.78 ล้านล้านบาท สูงกว่าเงินงบประมาณที่ต้องชดใช้ความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 หรือที่เป็นหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้เงินสำหรับโครงการจำนำข้าว 1.78 ล้านล้านบาท เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น หรือข้อมูลขั้นต่ำ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะโครงการจำนำข้าวยังดำเนินการต่อในฤดูการผลิต 2556/57 ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ 2.7 แสนล้านบาท และข้อมูลผลขาดทุนที่เกิดขึ้น 3.9 แสนล้านบาท ก็เป็นข้อมูลที่ยังไม่ครบฤดูการผลิต และมีแนวโน้มว่า รัฐบาลจะขาดทุนจากการขายข้าวเพิ่มขึ้นอีก เพราะราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลง แต่ราคาที่รับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดมาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบปัญหาขาดทุน

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ตัวเลขเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวสามารถคำนวณโดยดูจากงบประมาณที่รัฐบาลใช้อุดหนุนหรือแทรกแซงราคาข้าวในโครงการจำนำข้าว และอีกส่วนคือผลของการดำเนินโครงการรับจำนำที่ปรากฏผลขาดทุน หากรวมสองส่วนนี้จะเห็นว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้ไปในโครงการจำนำข้าวสูงมากเป็นหลักล้านล้านบาท ซึ่งน่าเป็นห่วง และเป็นความกังวลของนักลงทุนต่างประเทศ

นายสมพรกล่าวว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีกลุ่มนักวิเคราะห์ 2 แห่ง คือ Schroders singapore และ UBS securities (Thailand) Ltd มาเก็บข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในหลายๆ ด้านเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองแห่งสนใจเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวจึงได้มาพบตนเพื่อสอบถามข้อมูล

โดยข้อมูลที่ชี้แจงให้นักวิเคราะห์ทั้งสองแห่งฟังคือ รายละเอียดโครงการจำนำข้าวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ฤดูการผลิต 2554/55 กับ 2555/56 ซึ่งมีปริมาณข้าวเข้าโครงการรับจำนำ 44.1 ล้านตัน ใช้เงินไปทั้งสิ้น 6.88 แสนล้านบาท และคาดว่ารัฐบาลมีข้าวในสต็อกประมาณ 18 ล้านตัน

นอกจากนี้ ได้ให้ข้อมูลล่าสุดของโครงการรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2556/57 ซึ่งรัฐบาลกำหนดวงเงินงบประมาณไว้ที่ 2.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ 16.5 ล้านตัน รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระบายขายข้าวของรัฐบาลผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า (AFET) และการเปิดประมูลทั่วไป แต่คาดว่ามีผู้ส่งออกสนใจเข้าร่วมประมูลไม่มาก

นายสมพร อิศวิลานนท์  ที่มา :  http://www.posttoday.com
นายสมพร อิศวิลานนท์ ที่มา: http://www.posttoday.com

“จากที่คุยกับกลุ่มนักวิเคราะห์ เขาบอกว่า จะเตือนนักลงทุนของเขาให้ระวังความเสี่ยงในปีหน้า เพราะเขาคิดว่ารัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินมาทำเรื่องข้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เบียดเบียนเงินลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะกระทบถึงเศรษฐกิจมหภาค เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงจะสูงขึ้น จึงต้องเตือนนักลงทุนล่วงหน้า” นายสมพรกล่าว

เพราะฉะนั้น หากโครงการรับจำนำข้าวยังเดินหน้าต่อไป นายสมพรคาดว่า มีความเสี่ยงสูงที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาทิ มูดีส์ และ เอสเแอนด์พี อาจพิจารณาปรับลดเครดิตประเทศ เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจากภาระหนี้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง ดังนั้น นโยบายนี้ควรทบทวนหรือยกเลิก

ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2556/2557 ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึง กุมภาพันธ์ 2557 เริ่มมีสัญญาณของปัญหาทางการเงิน ซึ่งมีความสับสนเกิดขึ้นหลังจากดำเนินการได้เพียง 2 เดือนกว่า โดยชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงิน และระบายขายข้าวไม่ได้เงินเพียงพอที่จะเอาไปหมุนเวียนจ่ายให้กับโครงการรับจำนำรอบใหม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์พยายามปฏิเสธเรื่องไม่มีสภาพคล่อง แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่ามีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่จะจ่ายให้ชาวนาได้แค่สิ้นปีนี้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 เป็นผลของนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดโลก และรับจำนำทุกเมล็ด ทำให้เพียง 2 ฤดูการผลิต รัฐบาลต้องใช้เงินไปในโครงการรับจำนำเป็นจำนวนถึง 6.88 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกคัดค้าน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้ขาดวินัยการคลัง และมีความเสี่ยงที่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลจึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 กำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว

โดยมติ ครม. ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ไม่เกินจำนวน 5 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ จำนวน 4.1 แสนล้านบาท

กรอบวงเงินดังกล่าว รัฐบาลต้องการแสดงเจตจำนงว่า จะควบคุมการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายรัฐบาลทำไม่ได้ ใช้วงเงินเกินกรอบที่กำหนดไว้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายขายข้าวได้ หรือขายได้ก็ขาดทุน ได้เงินมาไม่เพียงพอที่ใช้นำมาหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้วงเงินเกินกรอบที่กำหนดไว้

ดังนั้น เมื่อกระทรวงพาณิชย์ระบายขายข้าวได้เงินมาก็ต้องไปนำไปลดภาระส่วนที่เกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทก่อน เพื่อไม่ให้ผิดมติ ครม. จากนั้น เงินส่วนที่เหลือถึงจะนำไปใช้หมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2556/57 แต่เงินที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เงินมาไม่เพียงพอ จึงทำให้มีปัญหาสภาพคล่อง มีเงินไม่เพียงพอจ่ายให้กับชาวนา

เพราะฉะนั้น รัฐบาลกำลังติดกับดัก “ถูกขัง” อยู่ในปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพราะทำนโยบายผิดพลาด แต่คนที่เดือดร้อนคือ “ชาวนา” ที่ไม่ได้รับเงิน

ปัญหารัฐบาลไม่มีเงิน ชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าว น่าจะสะท้อนถึงความล้มเหลวของโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการได้เป็นอย่างดี

และหากยังเดินหน้าทำโครงการรับจำนำข้าวในแบบเดิม อาจนำไปสู่ “หายนะ” ของประเทศอย่างที่หลายๆ ภาคส่วนคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้