ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > มหากาพย์จำนำข้าว (2): “หม่อมอุ๋ย” กางวิธีคำนวณขาดทุนจำนำข้าว และควักเงินจ้างบริษัทสำรวจชาวนาพิสูจน์ใครได้ใครเสีย

มหากาพย์จำนำข้าว (2): “หม่อมอุ๋ย” กางวิธีคำนวณขาดทุนจำนำข้าว และควักเงินจ้างบริษัทสำรวจชาวนาพิสูจน์ใครได้ใครเสีย

18 ตุลาคม 2013


“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” กางหลักฐานข้อมูลจำนำข้าว แจงยิบวิธีคำนวณผลขาดทุน 2 ปี 4.25 แสนล้านบาท พร้อมเผยกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุทำรัฐสูญรายได้ 2,000 ล้านบาท และยอมควักเงินลงทุนจ้างบริษัทสำรวจชาวนา พิสูจน์ครัวเรือนฐานะดีได้ประโยชน์มากกว่าครัวเรือนจน

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในช่วง 2 ปีที่ดำเนินการ รัฐบาลประกาศว่า มีการใช้เงินไปแล้วประมาณ 684,750 ล้านบาท และสิ้นฤดูการผลิตนี้ยังมีข้าวเหลืออีก 890,000 ตัน แต่งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับรับจำนำไม่มี ก็ไม่ใช้วิธีรับจำนำแต่ให้วิธีให้เงินเพิ่มไปตันละ 2,500 บาท จึงใช้เงินนิดเดียวคือ 2,225 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดแล้ว

ส่วนผลขาดทุนของโครงการจำข้าวเป็นเท่าไร รัฐบาลยังไม่สรุปอ้างเพียงว่าต้องรอผลการประเมินของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งล่าสุดยังไม่ปิดบัญชี

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า ขาดทุนไม่มาก ไม่ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ในมุมของฝ่ายวิจารณ์โครงการจำนำข้าว ประเมินตัวเลขผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวขาดทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท

“ตัวเลขใครผิด ใครถูก” ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ระหว่างตัวเลขของรัฐบาลกับฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

โดยเฉพาะตัวเลขผลขาดทุนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคำนวณออกมาล่าสุด พบว่า ผลขาดทุนของโครงการจำนำข้าวในช่วง 2 ปีที่รัฐบาลดำเนินการจะขาดทุนอย่างต่ำ 425,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณผลขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังมีข้าวรับจำนำค้างอยู่ในสต็อก เนื่องจากยังระบายขายไม่หมด

แต่ตัวเลขผลขาดทุน 425,000 ล้านบาท ถูกปัด ถูกตอบโต้ ถูกฉะ และ ถูกรุม จากฟากรัฐบาล ทั้งตั้งแต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นตัวเลขขาดทุนที่สูงเกินจริง แหล่งข้อมูลในการคำนวณไม่ชัดเจน และยังยันยันว่าชาวนาได้รับเงินจากการจำนำข้าวเต็มจำนวนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายให้ผ่านทางบัญชี

สำหรับที่มาและรายละเอียดวิธีคำนวณผลขาดทุนโครงการจำนำข้าว 425,000 ล้านบาทนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้แสดงไว้ในการบรรยายในหัวข้อ “จำนำข้าวเสียหายใหญ่หลวง ใครได้ประโยชน์” ในงานงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โครงการอาจารย์ป๋วย จริยธรรม กับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ในชื่อ “มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม 212 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ทำประเทศเสียมากที่สุด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าตั้งแต่มีประเทศไทยเป็นต้นมา โครงการของรัฐบาลที่ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุดคือ โครงการจำนำข้าว 15,000 บาทต่อเกวียน การรับจำนำข้าวมีมานานแล้ว แต่ในช่วงแรกไม่ได้สร้างความเสียหายที่มากมาย เพราะเป็นการจำนำที่แท้จริง คือรับจำนำในราคา 80% ของราคาตลาด ถ้าราคาตลาดเพิ่มขึ้น ชาวนาสามารถไถ่ถอนข้าวออกไปขายในตลาดที่ราคาสูงกว่าได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องขาดทุนจากการขายข้าว รับผิดชอบเฉพาะค่าใช้จ่ายดำเนินการตามโครงการเท่านั้น

การรับจำนำที่แท้จริงทำเรื่อยมาจนถึงฤดูการผลิต 2546/47 ซึ่งมีมนุษย์หัวใสคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งคิดว่า ถ้าตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด จะดึงดูดให้ชาวนาเอาข้าวมาจำนำมากขึ้น จนข้าวเหลืออยู่ในมือเอกชนน้อยลง และเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ เมื่อข้าวเพื่อส่งออกลดน้อยลง ราคาข้าวในตลาดโลกก็น่าจะสูงขึ้น ข้าวที่รับจำนำหรือซื้อมาถ้าขายออกก็ทำกำไรอีก

“ผมได้ฟังเล็คเชอร์นี้จากมนุษย์หัวใสคนนี้ เขาคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการตลาด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

เมื่อราคาตลาดโลกไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้ ประกอบกับข้าวที่เข้ามาอยู่ในมือรัฐบาลจำนวนมากขายได้ช้า และคุณภาพเสื่อมลง ขณะที่เมื่อรัฐบาลออกมาประกาศจะประมูลล็อตใหญ่ราคาก็ลดลง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลขายข้าวออกก็เกิดความเสียหายมากมาย

สูตรคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าวคือ “ต้นทุน-รายรับ”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เวลาคิดผลสูญเสียจากโครงการจำนำข้าวจะคำนวณจาก “ต้นทุน” ลบ “รายรับ” (ดูภาพประกอบ)

สูตรคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าว ที่แสดงถึงผลสูญเสียของการดำเนินการในโครงการจำนำข้าว  ที่มา :  มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
สูตรคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าว ที่แสดงถึงผลสูญเสียของการดำเนินการในโครงการจำนำข้าว ที่มา: มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

โดยข้อมูลจริงที่คำนวณจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ณ 31 มกราคม 2556 ซึ่งคิดจากสูตรที่คำนวณข้างต้นพบว่า ในฤดูการผลิตปี 2554/55 มีข้าวที่รับจำนำ 21.64 ล้านตัน เขาคิดผลสูญเสียทั้งหมด 136,800 ล้านบาท ตามสูตรที่อธิบายตอนแรก

แต่ว่าคณะกรรมการปิดบัญชีฯ หยุดโลกไว้แค่ 31 มกราคม 2556 กล่าวคือ ดอกเบี้ยคิดแค่ 31 มกราคม 2556 ณ วันนั้นเหลือข้าวสารประมาณ 9 ล้านเกวียน เขาเอาข้าว 9 ล้านกว่าเกวียนคูณราคาตลาด ณ วันที่ 31 มกราคม 2556

ในอดีตข้าวในสต็อกมี 6 ล้านเกวียน กว่าจะขายหมดใช้เวลา 4-5 ปี แต่ผมเชียร์ว่ารัฐบาลจะขายหมดใน 3 ปี คือสิ้นปี 2558 ขายข้าวออกได้หมด เพราะฉะนั้นจะมีค่าใช้จ่ายหลักๆ เพิ่มขึ้นอีก คือ

ถ้าคิดดอกเบี้ยต่ออีก 3 ปี เฉลี่ยปีละไม่เกิน 4% จะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท

ถ้าเก็บข้าวไว้ ราคาก็จะลดต่ำลงอีก เพราะเก็บข้าวไว้คุณภาพจะเสื่อมลง ซึ่งวงการโรงสีบอกว่า ถ้าเก็บข้าวดีปีแรกคุณภาพบวกน้ำหนักที่หายไปจะทำให้มูลค่าลดลง 2% จากนั้นปีที่ 2 จะเพิ่มเป็น 10% และจากนั้นก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% แต่ผมคิดเฉลี่ยที่ 10% จะขายทุนเพิ่มขึ้นอีก 35,000 ล้านบาท

และมีค่าเก็บ ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปี ส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขกลมๆ อีก 9,200 ล้านบาท

“เพราะฉะนั้น รวมแล้วขาดทุน 205,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขขาดทุนทางบัญชี ซึ่งยังไม่นับรวมผลสูญเสียจากสต็อกที่ขาดหายไป ซึ่งขณะนี้ตัวเลขจากกรมตำรวจตรวจทั้งประเทศสรุปแล้วหายไปกว่า 1 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นเงินก็อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท และยังไม่รวมการเล่นแร่แปรธาตุไว้ในนี้ด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ผลขาดทุนจำนำข้าวปี 2554/56

แฉกลโกงทำรัฐสูญรายได้ 2,000 ล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ยกตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่มีการ “เล่นแร่แปรธาตุ” ซึ่งระบุว่าเป็นรายการที่เพิ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา คือมี “คนกลาง” เจรจาขายข้าวให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวตันละ 11,000 บาท แต่คนกลางขายให้ผู้ส่งออกตันละ 13,000 บาท

สมมติจำนวนข้าวที่ขาย 1 ล้านตัน เวลาจ่ายเงินคนกลางบอกผู้ส่งออกจ่ายเงินให้กระทรวงพาณิชย์โดยตรง เพราะฉะนั้น ถ้าข้าว 1 ล้านตัน คูณด้วยราคา 11,000 บาทต่อตัน เป็น 11,000 ล้านบาท เช็คใบนั้นโอนสั่งจ่ายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ก็มอบข้าวมา 1 ล้านตัน

ทุกอย่างก็ดูไม่มีปัญหา ถูกต้อง แต่ข้าว 1 ล้านตันที่ออกมา คนกลางบอกผู้ส่งออกซื้อ 13,000 บาทต่อตัน ก็เอา 13,000 บาท หารจำนวนเงิน 11,000 ล้านบาท ผู้ส่งออกที่จ่ายเงินก็จะรับข้าวไป 846,154 ตัน

เพราะฉะนั้น 1 ล้านตันที่ผู้ส่งออกได้มาต้องหักออก 846,154 ตัน เหลือ 153,846 ตัน ส่วนนี้คือคนกลางที่เจรจาได้ไป

ตัวอย่างวิธีเล่นแร่แปรธาตุกรณีขายข้าว  ที่มา : มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ตัวอย่างวิธีเล่นแร่แปรธาตุกรณีขายข้าว ที่มา: มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

“นี่คือของจริง คือข้อเท็จจริง แต่อีกนัยหนึ่ง ถ้ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวโดยตรงกับผู้ส่งออก 13,000 บาทต่อตัน กระทรวงพาณิชย์จะได้เงินอีก 2,000 ล้านบาท นี่คือการขาดทุนส่วนเพิ่มจากการเล่นแร่แปรธาตุ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

โดยสรุป ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ที่บอกขาดทุน 205,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุน “อย่างต่ำที่สุด” ยังไม่ได้รวมการเล่นแร่แปรธาตุอย่างนี้ ถ้ารวมก็คงขาดทุนปีละ 250,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น รวม 2 ปี ก็อาจจะขาดทุนถึง 500,000 ล้านบาท

แจงวิธีคำนวณขาดทุน 2 ปี มี 2 ทาง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ตัวเลขจำนำข้าวปี 2454/55 นิ่งแล้ว ส่วนปี 2555/56 ผมใช้ประมาณการ 2 ทาง ทางแรก “เทียบบัญญัติไตรยางศ์” ธรรมดา คือ ปี 2554/55 มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ 21.64 ล้านตัน ขาดทุนอย่างต่ำ 205,000 ล้านบาท พอปี 2555/56 มีเข้าโครงการรับจำนำ 22.23 ล้านตัน เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์ จะได้ตัวเลขขาดทุน 220,000 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น วิธีเทียบบัญญัติไตรยางศ์ รวมแล้วขาดทุน 2 ปี อย่างต่ำ 425,000 ล้านบาท

การคำนวณผลขาดทุน 2 ปี โดยวิธีเทียบบัญญัติไตรยาง จะได้ผลขาดทุนอย่างต่ำ 425,000 ล้านบาท
การคำนวณผลขาดทุน 2 ปี โดยวิธีเทียบบัญญัติไตรยาง จะได้ผลขาดทุนอย่างต่ำ 425,000 ล้านบาท

ตัวเลขขาดทุน 2 ปี อย่างต่ำ 245,000 ล้านบาท ผิดปกติหรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรตั้งคำถามและอธิบายวิธีคิดทางที่สอง ใช้วิธี “ต้นทุน-รายรับ” วิธีเดียวกับการคำนวณผลขาดทุนในปี 2554/55 โดยจากข้อมูลของคณะกรรมการปิดบัญชีฯ ซึ่งปิดบัญชีอีกครั้งเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556 ปรากฏว่าเฉพาะข้าวนาปี 2554/55 กับ 2555/56 รวมแล้วมีข้าวเข้าโครงการจำนำ 36.38 ล้านเกวียน ตัวเลขนี้คณะกรรมการฯ สรุปมาแล้วขาดทุน 274,000 ล้านบาท ซึ่งใช้วิธีคิดเหมือนที่แสดงไว้ในครั้งแรก

จะเห็นว่าผลขาดทุนที่คณะกรรมการปิดบัญชีฯ ณ 31 มกราคม 2556 กับ ณ 31 พฤษภาคม 2556 แตกต่างกันมาก เพราะว่าราคาข้าวจากมกราคมมาถึงพฤษภาคมปรับลดลงมาก คณะกรรมการปิดบัญชีฯ ก็คำนวณโดยเอาราคาข้าว ณ วันนั้น (31 พ.ค.2556) คูณด้วยสต็อกข้าวคงเหลือ จึงขาดทุนเพิ่มขึ้น

แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ หยุดโลกไว้วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 แต่ถ้าขายข้าวหมด สมมติ ข้าวปี 2554/55 ขายหมดในปี 2558 และข้าวปี 2555/56 ขายหมดปี 2559 เมื่อบวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ คือ

ดอกเบี้ยไม่เกิน 4% จนถึงวันขายข้าวหมด จะมีภาระดอกเบี้ยอีก 55,000 ล้านบาท

ราคาข้าวที่ลดลงจากคุณภาพข้าวเสื่อมอีก 60,000 ล้านบาท

ค่าเก็บรักษาข้าว และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 20,000 ล้านบาท

รวมแล้ววิธีนี้ขาดทุน 470,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับที่คิดแบบบัญญัติไตรยางศ์ขาดทุน 425,000 ล้านบาท

การคำนวณผลขาดทุน 2 ปี โดยวิธีคำนวณต้นทุน – รายรับ  ที่มา : มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
การคำนวณผลขาดทุน 2 ปี โดยวิธีคำนวณต้นทุน – รายรับ ที่มา: มหกรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

“เพื่อให้คุยกับรัฐบาลและให้ฟังรู้เรื่อง ผมใช้ตัวเลขขาดทุน 425,000 ล้านบาทก็พอแล้ว หรือ อย่างน้อย 425,000 ล้านบาท” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

จ้างบริษัทสำรวจเจาะลึกชาวนา 6 จังหวัด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า รัฐบาลบอกว่าโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา ผมก็เห็นด้วยต้องช่วยชาวนา แต่ปัญหาคือชาวนาได้จริงๆ เท่าไร ส่วนที่เหลือหายไปอยู่ที่ไหน และชาวนาได้จริงๆ เท่าไร

“ชาวนาได้จริงเท่าไร ไม่มีตัวเลขทางการ ผมก็ลงทุนจ้างบริษัทที่เก่งเรื่องการสำรวจความเห็นประชาชน โดยออกไปคุยกับประชาชนต่างจังหวัด ซึ่งผมเลือกตัวอย่างมาประมาณ 6 จังหวัดที่มีการจำนำข้าวมาก คือ เชียงราย พิจิต สุพรรณ ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เพื่อให้บริษัทสำรวจข้อมูล ถามความเห็นชาวนา โดยสุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติแน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ปรากฏว่าได้ข้อมูลที่ได้มาน่าสนใจมากคือ ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำ ชาวนาต้องขายข้าวตามคุณภาพจะได้ราคาเฉลี่ยต่ำกว่าถ้าเข้าไปเข้าโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้

ข้าวเจ้า ถ้าขายเองจะได้ราคาเฉลี่ย 7,783 บาทต่อเกวียน ถ้าเข้าโครงการจะขายได้ราคาเฉลี่ย 12,003 บาทต่อเกวียน

ข้าวหอมมะลิ ขายเองจะได้ราคาเฉลี่ย 9,945 บาทต่อเกวียน ถ้าเข้าโครงการจะขายได้ราคาเฉลี่ย 17,503 บาทต่อเกวียน

ข้าวเหนียว ขายเองจะได้ราคาเฉลี่ย 8,126 บาทต่อเกวียน ถ้าเข้าโครงการจะขายได้ราคาเฉลี่ย 11,836 บาทต่อเกวียน

“เงินที่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการจำนำข้าว ชาวนาพอใจ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ชาวนาได้ส่วนเพิ่มจากจำนำข้าว 1.03 แสนล้านบาท

ที่มา : มหกรรรมจำนำข้าว โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ที่มา: มหกรรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอธิบายว่า ส่วนต่างที่ชาวนาได้เป็นเงินเท่าไร ก็ต้องดูว่าข้าวที่รับจำนำ 21.64 ล้านตันในปี 2554/55 เป็นข้าวประเภทไหนบ้าง แล้วนำเอาราคาจากตลาดที่ไม่จำนำคูณเข้าไป ก็จะได้เงินที่เขาได้รับ โดยถ้าเขาขายในตลาดจะได้ 176,756 ล้านบาท ในขณะที่จากการจำนำเข้าได้รับ 280,033 ล้านบาท

ผลต่างระหว่างเงินที่ชาวนาได้รับจากการขายในตลาดเองกับเข้าโครงการจำนำข้าว คือ ส่วนเพิ่มที่ชาวนาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากโครงการรับจำนำ 103,277 ล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า จากการสำรวจจะเห็นว่า ในปี 2554/55 ชาวได้ประโยชน์ส่วนเพิ่ม 103,277 ล้านบาท แต่ขาดทุน 205,000 ล้านบาท แล้วเงินหายไปไหน

“ผมก็ตามไปดู ว่าในขณะที่จากการจำนำเขาได้รับ 280,033 ล้านบาท แต่เมื่อไปดูที่ ธ.ก.ส. พบว่าจ่ายออกไป 337,000 ล้านบาท ส่วนต่างหายไปไหน 56,967 ล้านบาท ตรงนี้ต้องตกไปที่อื่นซึ่งไม่ใช่ชาวนาแน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ที่มา : มหกรรรมจำนำข้าว โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ที่มา: มหกรรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ทำไม ธ.ก.ส. จ่ายเงินออกไป 337,000 ล้านบาท แต่ถึงมือชาวนาเพียง 280,000 ล้านบาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอธิบายว่า เรื่องนี้สมมติว่า ถ้ารับจำนำข้าวทั้งหมดโดยไม่หักความชื้น ไม่หักสิ่งเจือปน ธ.ก.ส. จ่ายเต็มอัตรา ก็เอาปริมาณข้าวที่รับจำนำ 21.64 ล้านตัน คูณด้วยราคาจำนำเต็มอัตรา ตัวเลขออกมา ธ.ก.ส. ต้องจ่าย 341,860 ล้านบาท แต่ว่าจ่ายจริงๆ 337,000 ล้านบาท แสดงว่าเกือบไม่หักความชื้น ไม่หักสิ่งเจือปน

เงินที่ ธ.ก.ส. จ่าย เทียบกับเงินที่จ่ายเต็มไม่หักความชื้น ไม่หักสิ่งเจอปนเลย เท่ากับ 98.5% คือ หักความชื้น หากสิ่งเจอปนไม่ถึง 5% แต่ผมไปคุยกับชาวนา เขาบอกเขาถูกหักเยอะ คือเขาได้ประมาณ 82% หรือถูกหักประมาณ 18% และที่ถามโรงสีทั่วไปเขาก็บอกว่า เป็นไม่ได้ที่จะหักแค่ 1.5% เพราะปกติจะหักประมาณกว่า 10%

“แล้วทำไม ธ.ก.ส. โง่จ่าย ก็จ่ายตามใบประทวนที่ออกมา ฉะนั้น ใครได้ไปก็คิดเอาเอง ที่เปลี่ยนคุณภาพข้าว ที่หักความชื้น หักสิ่งเจอปนจาก 18% เหลือ 1.5% ใครได้บ้างคิดเอาเอง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ชาวนา 1.8 ล้านครัวเรือน ไม่ได้ประโยชน์จากจำนำข้าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เงินที่ชาวนาได้ประโยชน์ส่วนเพิ่ม 103,277 ล้านบาท จากการเข้าร่วมโครงการรับจำนำปี 2554/55 ซึ่งปีนี้มีข่าวลือว่ามีข้าวเขรมเข้ามาด้วย แต่ผมหาไม่ได้ว่ามีข้าวเขรมเข้ามาเท่าไร ผมก็ยกประโยชน์ให้ว่าชาวนาไทยได้ไปทั้งหมด แต่ชาวนาได้ครบทุกครัวเรือนหรือไม่

จำนวนครัวเรือนชาวนาที่เข้าและไม่เข้าโครงการจำนำข้าว ที่มา : มหกรรรมจำนำข้าว โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
จำนวนครัวเรือนชาวนาที่เข้าและไม่เข้าโครงการจำนำข้าว ที่มา: มหกรรรมจำนำข้าว โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

จากข้อมูลจำนวนครัวเรือนชาวนาทั้งหมด (ตารางข้างบน) ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เป็นข้อมูลจัดทำตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ลงทะเบียนด้วยการให้ชาวนามาเปิดบัญชีที่ ธ.ก.ส. พบว่าชาวนาที่ทำนาปีมีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน ส่วนนาปรังมีจำนวน 5.8 หมื่นครัวเรือน แต่ความจริงมีครัวเรือนซ้อนกัน เพราะในที่นี้ถ้าครัวเรือนไหนทำนาปี กับนาปรัง เขานับเป็น 2 ครัวเรือน รวมแล้วกลายเป็น 4,002,000 ครัวเรือน

ผลของการสำรวจของผมปรากฏออกมาว่า มีครัวเรือนที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวได้เงินไปสำหรับปี 2554/55 จำนวน 2,163,000 ครัวเรือน และในปี 2555/56 จำนวน 2,108,000 ครัวเรือน แต่มีครัวเรือนที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว ปี 2554/55 จำนวน 1,839,000 ครัวเรือน และในปี 2555/56 จำนวน 1,894,000 ครัวเรือน

“นี่คือตัวเลขของจริงทั้งหมด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ชาวนาฐานะดีได้ประโยชน์มากกว่าชาวนาจน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า จากการสำรวจทำให้ทราบว่าครัวเรือนประเภทไหนได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว

ผลสำรวจครัวเรือนชาวนาที่ได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว ที่มา : มหกรรรมจำนำข้าว โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ผลสำรวจครัวเรือนชาวนาที่ได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว
ที่มา: มหกรรรมจำนำข้าว โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

จากผลการสำรวจ (ตารางข้างบน) ปรากฏว่ามีครัวเรือนที่เข้าโครงการ 76% เป็นกลุ่มที่มีที่นา 20 ไร่ขึ้นไป และที่มีนาต่ำกว่า 20 ไร่ลงมา เข้าโครงการ 24%

ส่วนครัวเรือนที่ไม่เข้าโครงการ คือกลุ่มที่มีที่นาต่ำกว่า 20 ไร่ เกือบทั้งหมด 97% ไม่เข้าโครงการ ส่วนที่เข้าโครงการมีเพียง 3%

ถ้าดูที่รายได้ของชาวนายิ่งชัดเจน โดยครัวเรือนที่เข้าโครงการมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 43% สูงกว่า 15,000–29,000 บาท จำนวน 32% และรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป จำนวน 25%

แต่พวกที่ไม่เข้าโครงการ 100% เป็นครัวเรือนที่ต่ำกว่า 15,000 บาท

“เพราะฉะนั้น โครงการนี้ชัดเจน เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์กับครัวเรือน หรือชาวนามีฐานะดี ได้ประโยชน์เต็มที่ ชาวนาที่ฐานะไม่ดีไม่ได้ประโยชน์เลย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

สรุปผล 2 ปีจำนำข้าว “ใครได้ ใครเสีย”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลที่หน่วยราชการประกาศออกมา จากข้อมูลในวงการค้าข้าวของเอกชน และจากการสำรวจข้อมูลจากชาวนาเพิ่มเติม สามารถสรุปผลของการรับจำนำใน 2 ปีที่ผ่านมาได้ดังนี้

สรุป 2 ปีโครงการจำนำข้าว-1

“ข้อมูลที่ผมนำเสนอข้างต้นนี้ คิดจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้โดยข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐมีอยู่ แม้แต่ผลการปิดบัญชีของคณะทำงานฯ ของรัฐ ก็สอดคล้องรองรับความถูกต้องของตัวเลขผลสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

อ่านเพิ่มเติมจดหมายเปิดผนึกม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล