ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังออกกฎหมาย PPP ใหม่ รับโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน มีผลบังคับใช้ มี.ค. นี้

คลังออกกฎหมาย PPP ใหม่ รับโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน มีผลบังคับใช้ มี.ค. นี้

14 กุมภาพันธ์ 2013


นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) - ภาพจาก ไทยพีบีเอส
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) – ที่มา: ไทยพีบีเอส

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.PPP) ได้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยนายกรัฐมนตรีได้นำร่าง พ.ร.บ. ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว คาดว่าจะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ปีนี้

เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจน ทำให้เกิดคดีความต่างๆ มากมาย โดยตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมาย มีเรื่องที่เกี่ยวกับการร่วมทุนต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความถึง 120 เรื่อง ประกอบกับมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้การร่วมทุนเกิดความล่าช้า หลายโครงการในอดีตจึงมีการหลีกเลี่ยง ซึ่งเอื้อให้เกิดการทุจริต

“ใน พ.ร.บ.PPP ฉบับใหม่ จึงได้ไปยกเลิก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับเก่า ซึ่ง พ.ร.บ.PPP ฉบับใหม่นี้จะมีหลักการที่ให้ภาครัฐกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีคณะกรรมการนโยบาย (คณะกรรมการ PPP) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (แผน PPP) และกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศภายในระยะเวลาทุกๆ 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” นายประสงค์กล่าว

พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ จะมีทั้งหมด 72 มาตรา โดยมี สคร. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ PPP ทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบจากเดิมที่ไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูล และมีการวางแผนยุทธศาสตร์ทุก 5 ปี โดยในปีแรก คาดว่าจะเน้นให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก และมีด้านสังคมเป็นลำดับความสำคัญรองลงมา

โดยกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ให้ตั้งคณะกรรมการ PPP ขึ้นมา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี รมว.คลัง ข้าราชการ และเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน ในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป โดย รมว.คลังสามารถออกกฎกระทรวงเพื่อปรับลดมูลค่าโครงการได้หากเห็นว่าโครงการนั้นๆ มีประโยชน์และทำให้เกิดความคล่องตัว นายประสงค์คาดว่า การมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยจะทำให้การพิจารณาเกิดความโปร่งใสมากขึ้น

“กฎหมาย PPP ฉบับใหม่ จะปิดช่องโหว่เรื่องการทุจริต เพราะที่ผ่านมารัฐต้องเสียประโยชน์จากการมีสัญญาโครงการที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษาโครงการ ในกฎหมายฉบับใหม่จึงกำหนดให้มีการออกแบบสัญญาที่เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ และมีการกำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษา ที่ต้องมีการขึ้นบัญชีให้ถูกต้อง และมีข้อห้ามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ไม่ให้ไปทำงานร่วมกับเอกชนคู่สัญญาในระยะเวลา 2 ปี หากทำผิดจะมีโทษสูงสุดถึงจำคุก และ สคร. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูแลสัญญาโครงการ ไปจนถึงการเปิดซองประมูล ซึ่งจะทำให้ปัญหาการทุจริตลดน้อยลง” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์ยังกล่าวอีกว่า ในกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ได้มีการปรับลดขั้นตอนลง ทำให้การพิจารณาโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น คือ ไม่เกิน 7–8 เดือน จากเดิมที่ขั้นตอนของโครงการตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ไปจนถึงการประมูล อาจใช้เวลานานถึง 4 ปี

โครงการรถไฟความเร็วสูง
โครงการรถไฟความเร็วสูง

โดยกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ได้มีการตั้ง “กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ” เพื่อสนับสนุนการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ เริ่มต้นจากการใช้งบประมาณปี 2557 จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินในกองทุนไปใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้และใช้ในการทำ TOR ได้เลย โดยไม่ต้องของบมาจ้างที่ปรึกษาเหมือนในอดีต ทำให้เกิดความรวดเร็ว และเมื่อมีการประมูลโครงการเสร็จสิ้น ผู้ที่ประมูลได้จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนเข้ากองทุน ทำให้เงินในกองทุนคงที่

“ข้อดีของการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนคือ การไม่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ สำหรับโครงการที่มีประโยชน์ จะช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องรองบประมาณ และการให้เอกชนเข้ามาจัดการอาจทำให้เกิดประสิทธิภาพ มีต้นทุนถูกกว่าการให้รัฐบริหารจัดการ ในบางโครงการ หากทำในตอนนี้อาจทำได้ถูกกว่าในอนาคต และทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เร็วขึ้น” นายประสงค์กล่าว

ทางหลวงบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/
ทางหลวงบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/

ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ในช่วงเดือน มี.ค. ของปี กระทรวงการคลังต้องทำการออกกฎหมายลูกอีก 16 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 6 เดือน โดยกิจการของรัฐโครงการแรกที่คาดว่าจะเข้าข่ายมีผลบังคับใช้ใน พ.ร.บ.PPP ฉบับใหม่นี้คือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ที่ประเมินว่าจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนประมาณ 3–4 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าโครงการ

“โครงการที่จะเห็นเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ คือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า ทางหลวงสายต่างๆ อาทิ บางปะอิน-นครราชสีมา แลที่รัฐจะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ รัฐจะลงทุนในระบบราง โดยให้เอกชนลงทุนเรื่องเครื่องจักรและการดูแลรักษา ในสัญญาจะมีเรื่องการแบ่งผลประโยชน์และความเสี่ยงที่ชัดเจน สำหรับโครงการที่มีความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนภาคเอกชนก็จะน้อยตามไปด้วย” นายประสงค์กล่าว